แบบรายงานการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน กม

เนื่องจากผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทน วท. ไปเข้าร่วมประชุม คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า กม. ทั้งในส่วนของ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) ระดับกระทรวง และ คณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจ กม. คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของ กม. และคณะทำงานกำหนดแนวทางการจัดตั้งและบริหารกองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้าน  ของกระทรวงมหาดไทย ที่ดำเนินการโดย 3 กรมหลัก ๆ คือ กรมการปกครอง กรมปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ก.วิทย์  หากต้องการนำ วทน. ลงสู่หมู่บ้าน/ชุมชน  เราคงต้องเรียนรู้ว่า ทางมหาดไทย คิดอย่างไร และมีนโยบายจะดำเนินการที่เกี่ยวกับ กม. อย่างไร ผมเลยนำข้อมูลจากการประชุมมาเล่าสู่กันฟัง

ก่อนอื่นต้องรู้จักก่อนว่า กม. คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร

กม. หรือคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นองค์กรที่ถูกเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2486 และมีการปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจ หน้าที่ใหม่ ตามมาตรา 28 ตรี แห่งพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 โดยมอบให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน กม. โดยตำแหน่ง ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจบทบาท หน้าที่ของ กม. ให้มากขึ้นเพื่อการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านในการนำ วทน. ไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

บทบาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่บ้าน/ชุมชน

เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้งในส่วนครัวเรือนและชุมชน โดยต้องร่วมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่บ้าน/ชุมชน และติดตามให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งการช่วยเหลือสนับสนุน แก้ปัญหาให้สมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยใช้กลไกคณะทำงานด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการติดตาม และสนับสนุนการปฏิบัติในหมู่บ้าน/ชุมชน และการประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้าน/ชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) จึงควรคำนึงถึงสิ่งที่ควรดำเนินการในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อสนับสนุนบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ดังนี้

1.    สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือน และขยายผลให้ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม

2.    ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในลักษณะการบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ในหมู่บ้าน/ ชุมชน

3.   ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ด้วยการรวมกลุ่มอาชีพ การพัฒนาความรู้ การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการส่งเสริมด้านการตลาด

4.  พัฒนาสินทรัพย์หมู่บ้าน/ชุมชน เช่น ทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตทางสังคม เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือความหลากหลายทางชีวภาพให้มีคุณค่าและมูลค่าสูงขึ้น

5.   ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในหมู่บ้าน/ชุมชน

6.   จัดทำระบบฐานข้อมูล เศรษฐกิจของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อนำมาใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ

7.   สร้างระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจให้หมู่บ้าน/ชุมชน

8.  ใช้กลไกในหมู่บ้าน/ชุมชน ขับเคลื่อนการพัฒนา เช่น คณะทำงานส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของหมู่บ้าน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

โดย กม. ต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่บ้าน/ชุมชน และต้องมีการติดตามช่วยเหลือสนับสนุนให้การดำเนินการตามแผนบรรลุผลสำเร็จ มีการติดตามประเมินผลการดำเนินการ และออกติดตามช่วยเหลือเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่สมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชนอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญ คือการประสานความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกลไกภาคประชาชนในพื้นที่ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน และสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ที่มา : เอกสารสรุปการบรรยายพิเศษวิชาบทบาทคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้าน/ชุมชน