ข่าว ภัย พิบัติ ทางธรรมชาติ น้ำท่วม

การเกิดอุทกภัยมาจากหลายสาเหตุ ทั้งโดยทางธรรมชาติและเกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งอาจเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในบางครั้งอาจทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม การเกิดอุทกภัยจากน้ำทะเลหนุน เขื่อนพัง ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอุทกภัยได้ ซึ่งอุทกภัยทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ รวมไปถึงความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจด้วย

อุทกภัยมีความรุนแรง และรูปแบบต่าง ๆ กันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ และสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่โดยมีลักษณะดังนี้

  1. น้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลัน มักจะเกิดขึ้นในที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มบริเวณใกล้ ภูเขาต้นน้ำ อันเกิดขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักเหนือภูเขาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้จำนวนน้ำ สะสมมีปริมาณมากจนพื้นดินและต้นไม้ดูดซับไม่ไหว ทำให้น้ำไหลบ่าลงสู่ที่ราบต่ำเบื้องล่าง อย่างรวดเร็ว มีอำนาจทำลายล้างอย่างรุนแรง ทำให้บ้านเรือนพังเสียหายและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  2. น้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง เป็นลักษณะอุทกภัยที่เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำสะสมจำนวนมากที่ ไหลบ่าในแนวระนาบจากที่สูงไปยังที่ต่ำ เข้าท่วมอาคารบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหาย หรือ เป็นสภาพน้ำท่วมขังในเขตเมืองใหญ่ ที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีสาเหตุมาจากระบบการระบายน้ำไม่ดีพอ มีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ หรือเกิดน้ำทะเลหนุนสูงกรณีพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล
  3. น้ำล้นตลิ่ง เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำจำนวนมากที่เกิดจากฝนหนักต่อเนื่อง ที่ไหลลงสู่ลำน้ำ หรือแม่น้ำมีปริมาณมากจนระบายลงสู่ลุ่มน้ำด้านล่างหรือออกสู่ปากน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาตามสองฝั่งน้ำ จนได้รับความเสียหาย ถนนหรือสะพานอาจชำรุดทางคมนาคมถูกตัดขาดได้

  1. วิธีแรกไม่ต้องลดปริมาณน้ำในแม่น้ำแต่พยายามกันน้ำออกจากพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงโดยการสร้างคันกั้นน้ำ (Levees) ด้วยการใช้ถุงทราย, คอนกรีตหรือวัสดุอื่นๆ ข้อควรระวัง คือ คันกั้นน้ำพัง เมื่อคันกั้นน้ำพังแล้วน้ำจะไหลผ่านรอยแตก (Crevass) ในคันกั้นน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมเลวร้ายกว่าเดิม
  2. ทำให้ระดับน้ำลดต่ำลงโดยขุดร่องน้ำคู่ขนานลำน้ำ เมื่อน้ำขึ้นในระยะน้ำท่วม น้ำจะผ่านไปทางน้ำล้นไหลเข้าไปในร่องน้ำที่ขนานกัน ลงสู่แหล่งน้ำที่กักเก็บน้ำ หนองนำ หรือลงสู่ทะเลสาบต่อไป
  3. พยายามลดปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำหลังฝนตกหนัก โดยการสร้างเขื่อนกั้นต้นน้ำและสาขาของแม่น้ำ แล้วเก็บน้ำไหลล้นที่มากเกิน ลงสู่อ่างเก็บน้ำ และปลูกป่าทดแทนพืชธรรมชาติที่มนุษย์ทำลาย

  1. ติดตามฟังข่าวอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและประกาศเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เมื่อศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติประกาศเตือนให้อพยพ ควรรีบอพยพไปอยู่ในที่สูงหรืออาคารที่มั่นคงแข็งแรง ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง เพราะการอยู่ที่ราบ น้ำป่าที่หลากจากภูเขาหรือที่ราบสูงลงมา กระแสน้ำรุนแรงจะรวดเร็วมาก
  2. ควรสังเกตเมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกันบนภูเขาหลายๆ วัน ให้เตรียมตัวอพยพขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงไว้ที่สูง
  3. ถ้าอยู่ริมน้ำให้เอาเรือหลบเข้าฝั่งไว้ในที่จะใช้งานได้ เมื่อเกิดน้ำท่วม เพื่อการคมนาคม
  4. มีการวางแผนอพยพว่าจะไปอยู่ที่ใด พบกันที่ไหน เพราะเมื่อมีกระแสน้ำหลาก จะทำลายวัสดุก่อสร้าง เส้นทางคมนาคม ต้นไม้ พืชไร่ และระวังกระแสน้ำพัดพาไป
  5. อย่าขับรถยนต์ฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก แม้บนถนนก็ตาม อย่าลงเล่นน้ำ เพราะกระแสน้ำหลากอาจมีความรุนแรง อาจทำให้เกิดอุบัติภัยอื่นๆ อีกได้
  6. หลังจากน้ำท่วมจะมีขัง จะเกิดโรคระบาดในระบบทางเดินอาหารทั้งคนและสัตว์ ให้ระวังน้ำบริโภค ควรสะอาด ต้มสุกเสียก่อน

ก่อนเกิดภัย

  • ศึกษาวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์น้ำท่วม และเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในสถานการณ์น้ำท่วม ได้แก่ น้ำดื่ม ยารักษาโรค อาหารกระป๋อง วิทยุ ไฟฉายและถ่ายไฟฉาย
  • เตรียมแผนฉุกเฉินในครอบครัว ควรเตรียมวางแผนอพยพจากบ้าน ที่ทำงาน หรือโรงเรียน ไปยังสถานที่อพยพหรือสถานที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม โดยกำหนดจุดนัดหมายไว้ล่วงหน้าร่วมกัน
  • เคลื่อนย้ายเอกสาร สิ่งของสำคัญ ของมีค่า ไปไว้ในสถานที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม
  • พิจารณาการทำประกันภัยน้ำท่วม เลือกประกันภัยที่ครอบคลุมความเสียหายจากภัยน้ำท่วม เพื่อปกป้องทรัพย์สินของท่าน

ระหว่างเกิดภัย

  • ออกจากพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วมได้ เช่น ที่ต่ำ หุบเขา อพยพไปยังพื้นที่สูง
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำไหลเชี่ยว ไม่ข้ามแม่น้ำลำธาร กระแสน้ำไหลเร็วสามารถทำให้เราล้มได้แม้จะมีความลึกแค่ระดับหน้าแข้งก็ตาม
  • ไม่ขับขี่ยานพาหนะฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก น้ำไหลเร็วและแรงความลึกแค่ระดับต้นขาก็สามารถพัดพารถกระบะยกสูงไปตามกระแสน้ำได้
  • ไม่เข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ ควรอยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า ปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ อย่างน้อย ๒ เมตร
  • ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น ติดตามคำเตือนเกี่ยวกับลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และประกาศเตือนภัยจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

หลังเกิดภัย

  • ตรวจสอบความเสียหายและความปลอดภัยของตัวบ้านก่อนที่จะกลับเข้าไปในบ้าน เช่น ระบบไฟฟ้า ท่อประปา แก๊ซ รวมถึงสัตว์มีพิษที่อาจเขามาอาศัยในบ้าน
  • ทิ้งสิ่งของที่มีราขึ้น กำจัดสิ่งของที่เปียกในหัวข้อดังต่อไปนี้ทันทีที่กลับเข้าบ้าน ประกอบด้วย พรมเปียก เฟอนิเจอร์ ที่นอน และสิ่งของที่เก็บความชื้นทำให้เกิดเชื้อราได้ภายใน ๒๔ ถึง ๔๘ ชั่วโมง
  • พยายามทำให้บ้านแห้งสนิท เช่น ใช้เครื่องดูดความชื้น(ถ้ามี) ใช้เครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมช่วยลดความชื้นภายในห้องหรือตัวอาคาร
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสิ่งของทุกอย่างที่ถูกน้ำท่วม อาหารที่ถูกน้ำท่วมให้นำไปทิ้งทั้งหมด ห้ามนำไปรับประทาน ถ้าท่านใช้น้ำประปาเพื่อการบริโภคให้นำไปต้มก่อน (ในกรณีที่ประกาศว่าน้ำประปามีการปนเปื้อน)
  • วางแผนก่อนซ่อมแซมบ้าน ก่อนที่คุณจะทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้าน คุณควรประเมินความเสียหาย โดยทำตามขั้นตอนดังนี้ก่อน ประกอบด้วย ตรวจสอบและถ่ายรูปบริเวณบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เรียกบริษัทประกันภัยและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อประเมินความเสียหาย วางแผนการซ่อมแซมสิ่งใดจำเป็นต้องทำก่อน-หลัง เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย