ฎีกา เลิกจ้างระหว่างทดลองงาน

ฎีกา เลิกจ้างระหว่างทดลองงาน
โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ไม่ใช่แช่งนะ เป็นเพราะอดห่วงน้องๆไม่ได้ เศรษฐกิจมันแย่จริงๆ ตอนแรกก็หวังรางๆว่าไทยเราคุม Covid ได้ดีมาก น่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว เศรษฐกิจจะได้เดินหน้ากันต่อไป แต่ดันมาเจอเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ควรเกิดอย่างยิ่งกับกรณีแขก VIP ทำเราป่วนไปทั้งระยองและ กทม. ไม่รู้จะต้อง lock down รอบสองอีกรึป่าว ถ้าจริงก็คงเหมือนที่แชร์กันขำๆแบบเศร้าระกำว่า lock down ครั้งนี้ไม่ต้อง work from home อีกแล้ว เพราะไม่มี home ให้ work

คนที่ยังว่างงานก็ขอให้ได้งานเร็วๆนะ คนที่มีงานทำอยู่ ก็ขอให้ได้ทำงานต่อไปอย่าสะดุด แต่ถึงแม้จะสะดุด ก็ยังมีประกันสังคมและกฎหมายคุ้มครองแรงงานคอยช่วยอยู่ (ขออย่าได้ต้องใช้บริการประกันสังคมกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานเลยเนอะ) ห่วงก็แต่น้องๆที่เพิ่งได้งานยังไม่พ้นทดลองงาน ถูกเลิกจ้างไปซะก่อน เสียกำลังใจ ต้องเริ่มหางานใหม่อีก แถมยังไม่ได้เงินชดเชยอะไรเลย งั้นเรามาคุยกันดีกว่านะ ว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานคุ้มครองน้องๆที่ถูกเลิกจ้างช่วงทดลองงานหรือไม่ อย่างไร

ลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างตามกฎหมายแล้วจะได้เงินชดเชยจากนายจ้าง 2 อย่าง คือ

• ค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดไว้ดังนี้

1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
2. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
3. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
4. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
5. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

•ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

ค่าชดเชยตามกฎหมาย
จะเห็นนะว่าค่าชดเชยตามกฎหมาย ลูกจ้างจะได้ก็ต่อเมื่อทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป ดังนั้นบริษัทส่วนมากจะกำหนดระยะเวลาการทดลองงานไว้ไม่ถึง 120 วัน เช่น 90 วัน ก็เพื่อที่หากเลิกจ้างจะไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้าง 30 วันสุดท้าย เป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างนั่นเอง

ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
เรื่องของทดลองงานนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 มาตรา 17 กำหนดไว้โดยให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ทำให้การเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือหากไม่บอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้นายจ้างจะอ้างว่า การทำสัญญากำหนดการทดลองงาน 120 วันนั้น เป็นเหมือนทำสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา ดังนั้นเมื่อครบกำหนด 120 วัน หากผลงานไม่ดีก็เลิกจ้างได้เลย โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะครบกำหนดตามสัญญาแล้ว อย่างไรก็ดี ศาลเคยมีการตีความที่ต่างออกไปซึ่งมีแนวฎีกาออกมาแล้ว

ไม่ถือว่าสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาทดลองงาน เช่น กำหนดการทดลองงานแบบ “ไม่เกิน 120 วัน” เป็น “สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา” เหตุก็เพราะในช่วงระหว่าง 120 วันที่ว่านี้ นายจ้างมีสิทธิจะเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ หรือไม่เลิกจ้างก็ได้

ในเมื่อเป็นแบบนี้แล้วศาลจึงไม่ถือว่า สัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาทดลองงาน เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา

สรุปก็คือบริษัทสามารถเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างทดลองงานได้ เพียงแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสืออย่างน้อยหนึ่งงวดค่าจ้าง เช่น หากมีการจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือนต้องบอกก่อนสิ้นเดือนนี้ ลูกจ้างก็จะทำงานต่อถึงสิ้นเดือนหน้าถึงค่อยลาออกไป แต่หากบริษัทต้องการให้ลูกจ้างออกทันทีก็ทำได้เช่นเดียวกัน โดยให้จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแทน เช่น หากเราให้ลูกจ้างลาออกสิ้นเดือนนี้เลย ก็จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าถึงแค่สิ้นเดือนถัดไป ก็คือ ค่าจ้างหนึ่งเดือนนั่นเอง

ตัวอย่างคดีที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในกรณีของการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานนี้ เป็นคำพิพากษาฎีกา 9046/2551 โจทก์ที่เป็นลูกจ้างได้ฟ้องจำเลยที่เป็นนายจ้างว่าเลิกจ้างในช่วงทดลองงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ อีกทั้งค่าจ้างก่อนหน้านั้น 2 เดือน โจทก์ยังได้หักไว้เดือนละ 1,000 บาท รวมเป็น 2,000 บาท โดยบอกว่าเป็นประกันการทำงาน เมื่อเลิกจ้างก็ไม่คืนให้ด้วย

รายละเอียดในการจ้างงาน โจทก์เริ่มทำงานในวันที่ 2 มกราคม 2557 มีอัตราเงินเดือนที่ 25,000 บาท ค่าจ้างจ่ายทุกสิ้นเดือน ระยะเวลาการทดลอง 119 วัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 โดยไม่ได้ทำหนังสือบอกกล่าว แต่เป็นการโทรศัพท์มาบอกและได้มีคนนำใบลาออกมาให้เซ็นแต่โจทก์ไม่ได้เซ็นไป และโจทก์ก็ไม่ไปทำงานในวันถัดไป 1 มีนาคม 2547 นอกจากนั้นปกติงวดค่าจ้างจะตัดทุกวันที่ 25 ของเดือน แต่สำหรับงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โจทก์ได้รับค่าจ้างเต็มเดือนจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งก็เป็นการแสดงถึงเจตนาว่าจำเลยต้องการเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ในขณะที่จำเลยก็บอกว่าในช่วงที่โจทก์ทดลองงานอยู่ก็ได้มีการประเมินผลและเห็นว่าการทำงานไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรับเข้าเป็นพนักงาน แต่ก็ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด แต่โจทก์เป็นคนละทิ้งงานไปเอง โดยไม่ได้มาทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์เรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวจากจำเลย คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาให้จำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งให้คืนเงิน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ด้วย

จำเลยทำเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้น จำเลยก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับโจทก์ตั้งแต่งวดเงินเดือนนี้ถึงงวดเงินเดือนหน้าคือสิ้นเดือนมีนาคม 2557 ก็คือ ค่าจ้างหนึ่งเดือน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนเรื่องอื่นเช่นเงิน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยก็ให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาลแรงงานกลาง

แต่ถึงแม้จะมีฎีกาออกมาเป็นแนวไว้แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าการถูกเลิกจ้างจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าทุกกรณี เพราะตามมาตรา 119 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจ่ายเงินชดเชยใด ๆ ไม่ว่าลูกจ้างจอยู่ในช่วงทดลองงาน หรือถูกบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้วก็ตาม

สรุปแล้ว การเลิกจ้างลูกจ้างระหว่างทดลองงานจึงแยกเป็น 2 กรณีใหญ่ ๆ คือ

1.กรณีที่ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือกรณีที่ลูกจ้างได้กระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 119 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิด 6 อย่าง คือ
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(๒) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับวามเสียหายอย่างร้ายแรง
(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง
(๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

2.กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือการไม่ผ่านการทดลองงาน เนื่องจากผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะอาจขาดความรู้ ความสามารถหรือคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวด การจ่ายค่าจ้าง เช่น ถ้าจ่ายเงินทุก 15วัน ก็ต้องบอกล่วงหน้า 15วัน ถ้าจ่ายทุก 30วัน ก็ต้องบอกล่วงหน้า 30วัน หากไม่บอกล่วงหน้า อยากให้ออกทันที นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยแทนค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยที่นายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย แล้วยังถูกบังคับให้เขียนใบลาออก แลกกับค่าจ้างในวันที่ทำงานไปแล้ว ลูกจ้างก็ไม่ควรเขียนหนังสือลาออก เพราะการลาออกเป็นสิทธิของลูกจ้าง ถ้าเขียนหนังสือลาออกแล้ว จะเรียกร้องเงินเลิกจ้างลำบาก และถ้ามีการฟ้องว่าถูกบังคับให้เขียนหนังสือลาออก ผู้มีอำนาจพิจารณาคือ ผู้พิพากษาของศาลแรงงาน

ดังนั้น ถ้านายจ้างยกค่าจ้างมาเป็นข้ออ้างให้ลูกจ้างเขียนหนังสือลาออก แม้ลูกจ้างไม่เขียน แต่ถ้าค่าจ้างถึงกำหนดชำระแล้วนายจ้างไม่จ่าย ลูกจ้างก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างได้