หลักฐานชั้นต้นของถนนเจริญกรุง

ถนนเจริญกรุง : ถนนสมัยใหม่แห่งแรกของไทย

บทนำ

        ความจริง  เมืองไทยได้มีถนนมาช้านานแล้ว  ตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ในสมัยสุโขทัย  ได้มีถนนพระร่วง  ใช้เป็นทางคมนาคม  ระหว่างกรุงสุโขทัย กับ เมืองกำแพงเพชรสายหนึ่ง และระหว่างกรุงสุโขทัย กับเมืองศรีสัชนาลัย  อีกสายหนึ่ง  ดังที่ปราฏซากเหลือให้เห็นเป็นบางตอนในปัจจุบัน และในสมัยอยุธยา ก็ได้ความ มีถนนอยู่หลายสายเหมือนกัน ดังมีหลักฐานปรากฏว่า นายแพทย์ เองเกลเบิร์ก  แคมป์เฟอร์ ชาวเยอรมัน ที่เข้ามาเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2233 ในรัชสมัย สมเด็จพระเพทราชา  บันทึกสภาพกรุงศรีอยุธยา  มีความตอนหนึ่งว่า 

     "...ถนนสายกลาง ซึ่งแล่นเหนือขึ้นไปยังพระราชวังนั้น มีผู้คนอยู่อย่างคับคั่งที่สุด แน่นขนัดไปด้วยร้านค้า ร้านช่างศิลปะและหัตถกรรมต่าง ๆ..."

       ส่วนในสมัยของรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชกาล  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีถนนในพระนครอยู่หลายสายเหมือนกัน แต่ถนนส่วนใหญ่ เป็นถนนดินแคบและสั้น เมื่อถึงฤดูแล้งก็เป็นฝุ่น พอถึงฤดูฝนก็เฉอะแฉะเป็นโคลนตม ถึงแม้ว่าบางถนนจะใช้อิฐเรียงตะแคง แต่ก็เอาทรายและดินถมเป็นหน้าถนน ถนนดังกล่าวจึงมีสภาพไม่ต่างกับถนนดินเท่าใดนัก สาเหตุที่ถนนไม่ได้รับการพัฒนานั้น เนื่องมาจากการคมนาคมในสมัยนั้น ยังคงใช้ทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นจะสร้างถนนจึงไม่มี  ซึ่งจะสังเกตได้ว่าก่อนหน้านั้นขึ้นไปจะไม่มีการสร้างถนนเลย  มีแต่การให้ขุดคลองแม้ในรัชกาลต่อมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม่น้ำลำคลองก็ยังมีบทบาทสำคัญในการคมนาคมอยู่

ถนนเจริญกรุง (อังกฤษ: New Road) 

        เริ่มตั้งแต่ถนนสนามไชยถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถนนตก กรุงเทพมหานคร เป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก ปัจจุบันผ่านพื้นที่เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางรัก เขตสาทร และเขตบางคอแหลม

หลักฐานชั้นต้นของถนนเจริญกรุง

        ถนนเจริญกรุงเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้นเนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกงสุลต่างประเทศ ได้เข้าชื่อทำเรื่องถวายว่า

       "ชาวยุโรปเคยขี่รถ ขี่ม้า เที่ยวตากอากาศได้ตามสาบาย ไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้า พากันเจ็บไข้เนือง ๆ ได้ทรงทราบหนังสือแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า พวกยุโรป ได้เข้ามาอยู่ในกรุงมากขึ้น ทุกปี ๆ  ด้วยประเทศบ้านเมืองเขา มีถนนหนทางก็เรียบรื่นสะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง บ้างเมืองของเรามีแต่รกเรี้ยว หนทางก็เป็นตรอกเล็กซอยน้อย หนทางใหญ่ ก็เปรอะเปื้อน ไม่เป็นที่เจริญตา ขายหน้าแก่ชาวนานาประเทศเขาว่า เข้ามาเป็นการเตือนสติ เพื่อจะให้บ้านเมืองงดงามขึ้น"

         ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้สร้างถนนเจริญกรุงตอนนอกกำแพงเมืองขึ้นเพื่อจะให้พวกฝรั่งได้มีถนนสำหรับขี่ม้าเที่ยวเล่นตามที่ได้กราบทูลร้องทุกข์ไว้ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นใน (คือคลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน) ตรงลงไปต่อกับถนนตรงหรือถนนหัวลำโพง ที่คลองผดุงกรุงเกษม สายหนึ่ง และตัดถนนแยกจากถนนใหม่ตรงเหนือวัดสามจีน (วัดไตรมิตรฯ) ตรงลงไปหลังบ้านฝรั่ง จนตกฝั่งแม่น้ำที่ตำบลดาวคะนอง อีกสายหนึ่ง เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง ๕ วา ๔ ศอก โดยมีนายเฮนรี อาลบัสเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน และในปี พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) พระพรหมบริรักษ์ รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมล มังคลารามถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) กว้าง ๔ วาต่อกับถนนเจริญกรุง ตอนนอกกำแพงเมือง โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

หลักฐานชั้นต้นของถนนเจริญกรุง

         เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้นยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียก ซินพะโล้ว แปลว่าถนนตัดใหม่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ถนนเจริญกรุง ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน

        อนึ่ง พร้อมกับการสร้างถนนเจริญกรุง ก็โปรดฯ ให้ขุดคลองขวาง ตั้งแต่บางรัก ไปจนถึงถนนตรง (ถนนวัวลำพอง) ตรงศาลาแดง ด้วยการขุดคลองขวางนี้ ก็ทำเช่นเดียวกับการขุดคลองถนนตรง คือขุดเอาดินมาถมทำถนน โดยการทิ้งดินทางฝั่งใต้ของคลองถนนนี้ ภายหลังฝรั่งได้มาทำการตั้งโรงสีลม จึงได้ชื่อว่า ถนนสีลม มาตั้งแต่นั้น    

        ถนนทั้ง 3 สาย ดังกล่าว สร้างมีขนาดเท่ากัน คือ กว้าง 5 วา 2 ศอก ถมดินสูง 2 ศอกคืบ เป็นระยะทางรวมกันทั้งสิ้น 281 เส้น 5 วา สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมด เป็นเงิน 28,038 บาท ส่วนค่าขุดคลองถนนสีลม เป็นเงิน 8,194 บาท

หลักฐานชั้นต้นของถนนเจริญกรุง
ถนนบำรุงเมือง

        และในช่วงเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนครโดย โปรดให้ พระพรหมบริรักษ์ เป็นนายงาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2406 คือถนนบำรุงเมือง ขยายทางตั้งแต่สนามไชย ผ่านเสาชิงช้า ไปจนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ประตูผี) เป็นระยะทาง 29 เส้น 14 วา 3 ศอก สิ้นเงินค่าก่อสร้างพูนดิน ถมถนน และก่ออิฐเป็นคัน รวมทั้งทำท่อน้ำ 2 ข้างถนน เป็น 15,092 บาท สำหรับถนนเฟื่องนครขยายทาง ตั้งแต่กำแพงพระนครทางด้านทิศใต้ ที่มุมวัง กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ เป็นถนนขวาง ผ่านบ้านหม้อ ผ่านถนนเจริญกรุง ผ่านถนนบำรุงเมือง ไปจดกำแพงพระนครทางด้านทิศเหนือ ตรงวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นระยะทางยาว 50 เส้น สิ้นค่าก่อสร้าง ถมที่ทำถนน เป็นเงินทั้งสิ้น 20,042 บาท แล้วโปรดฯ ให้สร้างตึกแถว ทรงพระราชอุทิศให้เป็นสมบัติของวัดบวรนิเวศหนึ่งแถว ของวัดราชประดิษฐ์หนึ่งแถว ส่วนเงินที่เอามาสร้างถนนดังกล่าว มาจากเงินพระคลังข้างที่ส่วนหนึ่ง กับเงินปี้จีน ซึ่งชาวจีนต้องเสีย เป็นภาษีอีกส่วนหนึ่ง

        การสร้างถนนทั้งหมด ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้มีการฉลองที่หน้าพระที่นั่งไชยชุมพล ถึง 3 วัน พร้อมทั้งพระราชทานนามถนนใหญ่ ทั้งตอนในพระนคร และตอนนอกพระนครว่า "ถนนเจริญกรุง" ถนนที่ผ่านเสาชิงช้า พระราชทานนามว่า "ถนนบำรุงเมือง" (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนกัลยาณไมตรี) และถนนขวาง พระราชทานนามว่า "ถนนเฟื่องนคร"

บทส่งท้าย


หลักฐานชั้นต้นของถนนเจริญกรุง
จากอดีต
หลักฐานชั้นต้นของถนนเจริญกรุง
สู่ปัจจุบัน

        ครั้นถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว กรุงเทพฯ ก็ได้มีถนนมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ถนนเหล่านั้น สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขี่ม้า และรถม้าเป็นพาหนะ ดังนั้น ถนนส่วนใหญ่ จึงสร้างไม่มั่นคงและแข็งแรงเหมือนอย่างปัจจุบัน   ดังนั้นเมื่อเมื่อมีรถยนต์เข้ามาวิ่งในกรุงเทพฯ เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ถนนหนทางจึงได้ทำมั่นคงแข็งแรงขึ้น และปลายรัชกาลนี้เอง ที่ได้มีถนนลาดยางมะตอยเกิดขึ้น และได้มีการสร้างและพัฒนาถนนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

         ทุกคนครับ ถนนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ หากประเทศใดมีถนนดี ประเทศนั้นจะสามารถขนส่งหรือถ่ายโอนสินค้าและบริการได้ดีมากขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นดีขึ้นเป็นลำดับ จนนำไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนของประเทศนั้น ฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของถนนที่เราใช้กันทุกวันและช่วยกันดูแลรักษาถนน เช่น ไม่ทิ้งขยะลงบนถนน ขับขี่ยานพาหนะอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ถนนสึกกร่อน ส่วนผู้สร้างถนนก็ควรเอาใจใส่ในการสร้างถนนให้มีคุณภาพ มีอายุการใช้งานนาน เพียงเท่านี้คุณก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาปัจจัยสำคัญของชาติแล้วครับ



หลักฐานชั้นต้นของถนนเจริญกรุง
รวบรวมโดย นาย ชวัลวิทย์  เหล่าอำนวยชัย ม.5 ห้อง 936 เลขที่ 22
ผู้สอน อ.ประพิศ  ฝาคำ
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา




ถนนเจริญกรุงมีความสำคัญอย่างไร

ถนนสายนี้เป็นจุดเริ่มต้นของย่านการค้าขาย โดยเฉพาะการค้าขายของชาวจีน เนื่องจากถนนเจริญกรุง ฝั่งใกล้ถนนสนามไชย เป็นเส้นที่คู่ขนานกับชุมชนเยาวราช ชุมชนใหญ่ของชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานจากประเทศจีนมาอยู่อาศัยในเมืองไทย

ถนนเจริญกรุงสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด

ถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกของเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จในพ.ศ. 2407 สาเหตุของการสร้างถนนสายนี้เนื่องจากชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ สมัยนั้น รวมทั้งพวกกงสุลได้ เข้าลงชื่อขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ โดยอ้างว่า ...

ถนน เจริญกรุง เริ่มจากไหน

ถ้าจะบอกจุดเริ่มต้นให้เพื่อน ๆ เข้าใจก็คือถนนเจริญกรุงเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณ ถนนสนามไชย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือบริเวณวงเวียน รด. หน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ยาวมาตัดเลียบกับถนนเยาวราช และยาวไปจนสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนตก หรือบริเวณโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์นั่นเอง

ถนนเจริญกรุงมีชื่อเดิมว่าอะไร

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว (จีน: 新打路) แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า "ถนนเจริญกรุง" ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง ...