แสดงถึงอิทธิพลของดนตรีกับบุคคล

ในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น นอกจากเราจะต้องการปัจจัยสี่ ในการดำเนินชีวิตแล้วเราก็ยังต้องการสิ่งที่ จะมาจรรโลงใจอีกด้วยเพราะบ่อยครั้ง ที่เรามักจะเกิดความไม่สบายใจ เกิดความเหงา ความกังวลใจ มีความเครียด หรือเกิดความหวาดกลัว เสียงดนตรีจึงกลายเป็นสิ่งหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะแทบจะไม่มีวันไหนเลยใช่ไหมล่ะค่ะ ที่เราจะไม่ได้ยินเสียงดนตรี ซึ่งเราคงจะคุ้นเคยกับดนตรี กันมาช้านาน แต่อาจจะยังไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว ดนตรี มันคืออะไร กันแน่

ความหมายของดนตรี ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เสียงที่ประกอบกันเป็นทำนองเพลง เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดังทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศกหรือรื่นเริง” ดนตรีจึงถูกนำมาใช้เป็นสื่อ ที่ในการบ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้ขับร้อง หรือบรรเลงดนตรี ที่สามารถสัมผัสถึงผู้ฟัง ให้รับรู้ได้ง่าย และยังช่วยทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน และเกิดความสุขจากการฟังดนตรีอีกด้วย ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ดนตรีได้มีบทบาทสำคัญ ในการทำกิจกรรมต่างๆแทบทุกกิจกรรม ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ด้านต่างๆ ดังนี้

          ดนตรี กับศาสนา และพิธีกรรม ในศาสนา และพิธีกรรมตามความเชื่อของ แต่ล่ะบุคคล ดนตรีได้ถูกนำมาใช้ เช่น ใช้ในบทสวด หรืออธิษฐานขอพร การบวงสรวง บูชา ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ใช้ทำสมาธิ และใช้เป็นส่วนประกอบของพิธีการต่างๆ เช่น การเปิดงาน ปิดงาน

          ดนตรี กับวัฒนธรรมประเพณี แต่ล่ะท้องถิ่น ก็จะมีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกันไปดนตรีก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป สำหรับประเพณีไทยดนตรีจะถูกนำมาใช้ทั้งงานรื่นเริงและงานที่แสดงถึงความโศกเศร้า หรือแม้แต่ประเพณีที่เกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ  ก็ล้วนมีดนตรีมาเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

          ดนตรี กับการศึกษา ในการเรียน การสอน ได้นำดนตรีมาใช้เป็นสื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ เกิดความสนุกสนาน พัฒนาสติปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในการเรียน  ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ดนตรียังช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี นาฏศิลป์ และการขับร้องอีกด้วย

          ดนตรี กับสุขภาพ ดนตรีมีผลต่อ สุภาพร่างกายของคนเรา ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต และระบบต่างๆของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆ และยังลดหรือบรรเทาความเจ็บปวดของร่างกายได้ดีอีกด้วย

          ดนตรี กับสังคม และสถาบันต่างๆ ดนตรีช่วยให้เราเกิดความรัก ความสามัคคี มีความยึดมั่น เคารพเทิดทูนในสถาบันของตนเอง เป็นเครื่องบำรุงจิตใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ร่วมกับผู้อื่นได้ดี และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างกัน อีกด้วย

          ดนตรี กับจิตวิทยา ดนตรีมีผลอย่างมากต่อจิตใจของคนเราค่ะช่วยให้เราเปลี่ยนจากนิสัยที่ก้าวร้าว เป็นอ่อนโยนลงได้ ทำให้เรามีสติ มีสมาธิมากขึ้น ช่วยจรรโลงใจ ส่งเสริมสุขภาพจิตและช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น

          ดนตรี กับอาชีพ ธุรกิจ ดนตรีช่วยให้เรา สามารถสื่อสารกับผู้รับได้ดี มากกว่าการสื่อสารโดยการพูด หรือการบรรยาย ช่วยให้ธุรกิจของเราเป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้ประกอบการประชาสัมพันธ์ หรือการโฆษณา ช่วยกระตุ้นให้ เราสามารถทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เรามีโอกาสประสบผลสำเร็จ ในการประกอบอาชีพได้มากยิ่งขึ้น

          ดนตรี กับกีฬา  ดนตรีได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของการเล่นกีฬา ต่างๆ เพราะทำให้เกิดความครึกครื้น สนุกสนาน สร้างความฮึกเหิม ในการแข่งขันสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีมและช่วยให้ผู้เล่นมีกำลังใจ ในการแข่งขันมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าดนตรี เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนเราตั้งแต่เกิดจนตายเพราะไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมใดก็ล้วนมีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้นเลยล่ะค่ะดนตรีเป็นสุนทรียศาสตร์ เมื่อเราได้ฟังดนตรี เราจะเกิดความสบายอกสบายใจเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจให้เกิดความสุข สนุกสนานสงบและผ่อนคลาย เราจึงได้พัฒนา สร้างสรรค์ดนตรีควบคู่กับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ เป็นศิลปะในการสื่อสาร ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ไปสู่ ผู้ฟัง ที่ง่ายต่อการสัมผัส ดนตรีจึงเป็นภาษาสากล ที่ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด ก็สามารถรับรู้ และเข้าใจ อรรถรสของดนตรีได้เป็นอย่างดี

แสดงถึงอิทธิพลของดนตรีกับบุคคล

แสดงถึงอิทธิพลของดนตรีกับบุคคล

เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อมนุษย์

                เสียง(Sound) มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ สมอง ประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมของสังคม วิถีชีวิต จากทฤษฎีของเสียงที่พิสูจน์ได้ว่าเสียงมีอำนาจ มีอำนาจอยู่ที่ไหน ก็จะมีเสียงอยู่ที่นั่น มีเสียงอยู่ที่ไหนอำนาจก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ดังนั้น พิธีกรรมของมนุษย์ทุก ๆ พิธีกรรมจึงประกอบด้วยเสียง (ดนตรี) ตั้งแต่เสียงสวดมนต์ภาวนาเสียงตีเกราะเคาะไม้ เสียงดีดสีตีเป่า แม้แต่เสียงจุดประทัด ในเทศกาลตรุษจีน หรือจุดประทัดของชาวเรือประมง ที่จะออกทะเลเพื่อหาปลา เสียงปืนใหญ่ยิงเพื่อยกย่องในงานศพของวีรบุรุษ เสียงกลองยาว แตรวงงานบวช

ซึ่งล้วนเป็นเสียงแสดงถึงอำนาจและเป็นหุ้นส่วนของพิธีกรรมทั้งสิ้น

                จากทฤษฎีของเสียงมีอำนาจ อำนาจของเสียงสร้างเป็นพลังงานที่เปลี่ยนจากเสียงสร้างให้เกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา เมื่อมีการพัฒนามาก ๆ

ก็จะสร้างให้เกิดความเจริญ ยิ่งพัฒนามากก็ยิ่งเจริญมากขึ้นด้วยทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์ต้องการความเจริญ ความเจริญเป็นความหวังเป็นความปรารถนาของชีวิต และความเจริญเป็นความมีชีวิตชีวา

                เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อร่างกาย เมื่อร่างกายสัมผัสต่อเสียงดนตรี จังหวะดนตรีมีอิทธิพลทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวขยับตามจังหวะ เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นปัจจุบัน ทำให้นึกถึงอดีต และทำให้นึกถึงอนาคต  ดนตรีทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปตามมิติของของกาล อาจจะเป็นอารมณ์ที่หวนรำลึกถึงอดีต อาจจะเป็นการสร้างอารมณ์ปัจจุบันและอาจจะสร้างให้เกิดจินตนาการได้

                เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อจิตใจ “เสียงใส ใจสะอาด” เป็นอิทธิพลที่เกี่ยวกับเสียงโดยตรง เนื่องจากเสียงออกมาจากจิตใจ เมื่อใจรู้สึกเป็นอย่างไรก็จะถ่ายทอดเป็นเสียงออกมาเป็นอย่างนั้น ในขณะเดียวกันเสียงที่ออกมาจากจิตใจ ความสุขและความทุกข์ ได้อาศัยเสียงระบายออกมาภายนอกซึ่งทำให้จิตใจผ่อนคลายลงได้ โดยธรรมชาติ ดนตรีจึงเป็นหุ้นส่วนของชีวิตและจิตใจ

                เสียงดนตรีทำให้สมองรับรู้ เส้นประสาทสมองขยายตัวเมื่อสัมผัสกับเสียงดนตรีที่ดี ทำให้สมองตื่นตัวกับเสียง

ที่ได้ยิน เสียงดนตรีบ่งบอกประวัติศาสตร์ บ่งบอกความเป็นมา บ่งบอกประเพณี บ่งบอกวัฒนธรรมของสังคมและบ่งบอกวิถีชีวิตของคนในแต่ละสังคมนั้น ๆ

                เสียงดนตรี(Music) เป็นเสียงที่ไพเราะเป็นเสียงที่ละเอียดสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจด้วยการประดิษฐ์เสียงอย่างประณีตและบรรจง มนุษย์สร้างเสียงขึ้นเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันฟัง มนุษย์เป็นผู้สร้างมาตรฐานของความไพเราะ โดยอาศัยความรู้สึกที่ดีเอาเสียงที่ไพเราะงดงาม นำแต่ละเสียงมาเรียงร้อยให้ปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นบทเพลงที่ไพเราะ ดนตรีเป็นศิลปะที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ตามความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งดนตรีอาจจะรับใช้ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม หรือดนตรีอยู่ในฐานะของความบันเทิง

                เสียงหยาบ(Noise) เป็นเสียงรบกวนและเป็นเสียงที่มนุษย์ไม่ปรารถนา การแยกแยะระหว่างเสียงที่ชอบและเสียงที่ไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับอำนาจว่ามีสิทธิ์ที่จะชอบหรือมีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบเพราะความชอบและความไม่ชอบขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและรสนิยม อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเสียงที่หยาบ  (ดัง แรง กระด้าง ) แต่เสียงก็เป็นจุดศูนย์รวมของอำนาจด้วยเหมือนกัน

                มนุษย์จะเลือกเสียงที่อบอุ่นละมุนละไมเลือกเสียงที่กังวานเลือกเสียงที่ไพเราะ เลือกเสียงที่ชอบมากกว่าที่จะเลือกเสียงกระด้าง ดังนั้นเสียงที่ไพเราะหรือจะเรียกว่าเสียงดนตรี จึงมีอำนาจมากกว่าเสียงรบกวน

สุกรี เจริญสุข. ดนตรีเพื่อพัฒนาศักยภาพของสมอง.วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พุทธมณฑล ศาลายา นครปฐม พ.ศ.2550 : 62-63