คํา สอน ให้รู้จัก ประมาณตน

การเจริญกรรมฐานทำให้เกิดความสำเร็จในชีวิต และแก้ปัญหาของชีวิต ทำให้มีความ “ขยัน” คนไหนขาดสติ สัมปชัญญะจะ “ขี้เกียจ” จะไม่อยากเอางานเอาการ เห็นแก่ตัวมาก

คนที่มีกรรมฐานตั้งสติไว้ได้ กำหนดได้จะมีแต่ความขยันและประหยัด ทำอะไรยืนหยัดอดทน

อดกลั้น อดออม อดทนตรากตรำต่อความลำบากได้ และอดทนต่อความ “เจ็บใจ” ของคนอื่นได้ อดทนเข้าไว้ นี่สิกรรมฐาน เป็นความสำเร็จทำคนเชื่อถือได้

ถ้าท่านมีสติสัมปชัญญะ “ควบคุมจิตได้” ไปไหนมีคนเชื่อถือท่าน มีคนเคารพนับถือด้วย แถมยัง “อ่อนน้อมถ่อมตน” อีก ท่านมีสติสัมปชัญญะจะอ่อนน้อมถ่อมตนต่อท่าน “ผู้ใหญ่”

ถ้าท่านเป็นผู้ใหญ่จะอ่อนน้อมต่อ “ผู้น้อย” จะพูดอะไรก็อ่อนน้อมต่อผู้น้อยเหมือนกัน โอนเอียงเข้าไปหา วาจาก็เพราะ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน

นักกรรมฐานต้องมีรู้จัก “ประมาณตน” ว่าตนคืออะไร ฐานะตนเป็นอย่างไร ถ้าโยมกำหนดจิตได้ทุกคนนะ จะรู้จักประมาณตน จะอยู่ด้วยความเรียบร้อย ไม่ฟุ้งเฟ้อ และฟุ่มเฟือย อยู่ด้วยการประมาณตน รู้จักตน รู้จักท่าน รู้จักตัวเอง รู้จักการประหยัดอย่างนั้น

คนที่มีสติสัมปชัญญะจะตั้งปณิธานในใจเสมอ ตั้งโครงการของชีวิตเสมอ

จะทำอะไรก็ตั้งโครงการเสมอ คนที่ไร้ธรรมะ ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ทำอะไรก็ “หละหลวม” ไม่มีปณิธานในใจเลยนะ

คนที่ปฏิบัติได้ เจริญสติได้ จะเข้าถึง “จิตใจของผู้อื่น” ได้ จะรู้ “วาระจิตของเขา” ได้ รู้จักปลง รู้จักปรับ คนที่รู้จักปลงคือคนที่มีสติดี

ปลงมันตกแล้ว “ไม่ถือตัว” แล้ว จะเสียเงินเสียทองก็ปลงแล้ว จะได้บ้าง เสียบ้าง อะไรก็ปลงตก และจะไม่ว่าใครสกปรกลามก จะ “ไม่ว่าใคร” ปลงตัวได้แล้ว

และก็ปรับตัวเข้ากับ “เด็ก” ก็ได้ เข้ากับ “ผู้ใหญ่” ก็ได้ เข้ากับ “คนโน้น” ก็ได้ เข้ากับ “คนนี้” ก็ได้ เรียกว่า “เข้าถึงจิตใจผู้อื่น” ถ้า “เจริญกรรมฐานได้” ต้องทำได้อย่างนั้น

ถ้าทำไม่ได้เป็น “ครู” สอนเขาไม่ได้ “ผล” เพราะตัวเองไม่รู้จักจิตใจ วาระจิตของคนอื่น ไม่รู้ทิฐิสามัญ ไหนเลยล่ะจะได้ผล

อีกประการหนึ่ง คนที่มีสติสัมปชัญญะสูงขึ้นในกรรมฐาน จะ “ไม่โลภ” อยากได้ของใครเปล่า จะไม่อยากได้ของใครเลย จะอยากได้เฉพาะทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความลำบากของตนเอง ด้วยสติปัญญาของตน จะอยู่ด้วยความสันโดษไม่อยากได้ของใคร เว้นแต่สมบัติของตนเองจะรักษาให้มั่นคงต่อไป นี่เรียกว่า “สันโดษ”

คนที่เจริญกรรมฐานได้จะอยู่ด้วยความ “เด็ดเดี่ยว” หนึ่งไม่มีสอง ตัวเองก็มั่นคง ต้องเป็น “ตัวของตัวเอง” พูดแล้ว “ต้องทำ” ไม่มีเดี๋ยว เด็ดเดี่ยวแล้ว จิตใจก็มั่นคงด้วย

มั่นคงต่อความดีเสมอ จิตใจจะไม่เหลวแหลกแตกราญไปสู่ความชั่วอีกต่อไป จะปิดประตู “อบาย” ได้ จะไม่เป็นเปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน อีกต่อไป

จิตมั่นคงเพราะมีสติดีสัมปชัญญะดี จะโดดเดี่ยวมั่นคงต่อชีวิตของตน และตนเองจะไม่หละหลวมต่อคนอื่นต่อไป ใครจะพูด “ขึ้นห้วยลงเขา” ก็ไม่สนใจ เรียกว่ามั่นคง โดดเดี่ยว มั่นคงในใจของตน นี่แหละกรรมฐานเป็นอย่างนั้น

อีกประการหนึ่งเป็นคน “ใจกว้าง” ถ้าญาติโยมมีสติสัมปชัญญะ นั่งกรรมฐานได้ เข้าสู่สภาวะ “ธรรมวิเศษ” สัก ๑ นาที หรือ ๕ นาที แค่ “วูบลงไป” โยมจะเป็นคนใจเมตตา ใจคอกว้างขวางออกไป

จะไม่เป็นคนใจแคบ จะเป็นคนมีอัธยาศัย ใจคอกว้างขวาง มีเมตตาปรานี อารีเอื้อเฟื้อ ขาดเหลือคอยดูกัน เป็นเมตตาธรรมอันสำคัญ

โยมก็อยู่ด้วยความกว้างขวาง เมตตาขยายเขตออกไปกว้างขวาง จะรักลูก รักผัว รักเมีย พ่อแม่รักลูกคิดปลูกฝัง ลูกก็รักพ่อแม่ สามัคคีกันและเมตตากว้างขวางออกไป

จากหมู่บ้านเป็นตำบล จากตำบลเป็นอำเภอ จากหลายอำเภอเป็นจังหวัด หลายจังหวัดก็กว้างออกไปหลายเขตแห่งประเทศไทย เรียกว่าใจคอกว้างขวาง ถ้าหากตรงกันข้ามนะ คนขาดธรรมะ หัวใจล้มเหลว งานการล้มเหลว จะออกมาอย่างนี้เลย ตรงกันข้ามอย่างที่กล่าวมา

๑. ไม่เข้าใจผู้อื่น ใส่ร้ายป้ายสีเขา

๒. ไม่รู้จักประมาณตน ไม่รู้ว่าตนมีหลักทรัพย์เท่าไรจ่ายไม่พัก และไม่รู้จักประมาณตนว่ามั่นคงแต่ประการใด ไม่รู้เดียงสาต่องาน งานการทำไปทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เพราะขาดสติสัมปชัญญะ

๓. ไม่มีสำนึกผิดชอบ คนที่ไร้กรรมฐานจะไม่รับผิดชอบอะไรใครทั้งนั้น มีข้าวของก็ไม่ดูแล ไม่รับผิดชอบด้วยประการทั้งปวง มีแต่ความโลภโมโทสัน มีแต่โมโหโทโส

“ว่าคนนั้น ว่าคนนี้” ตลอดรายการ ถ้าโยมมีกรรมฐานจะไม่เป็นเช่นนั้นนะ ถ้าโยมมีกรรมฐานดี จะไม่เย่อหยิ่ง จะไม่จองหอง จะไม่ยโสโอหังแต่ประการใด จะมีแต่จิตใจแช่มชื่น มีแต่จิตใจเมตตา มีแต่ความปรารถนาดีตลอดรายการ อยู่ตรงนี้เป็นหลักสำคัญและจะไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อแต่ประการใด จะไม่โกหก จะไม่มดเท็จต่อใครอีกต่อไป จะพูดแต่ความจริงใจ จะพูดแต่สิ่งที่แสดงออกจากจิตใจด้วยความมั่นคง และคบค้าแต่บัณฑิต ไม่คบค้าคนเสเพล

คนมีสติกรรมฐาน จะไม่เกียจคร้านต่องานการของตน จะไม่ขยันนอกหน้าที่ จะขยันเฉพาะในการงานที่เป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น จะไม่ก่อ “หนี้ล้นพ้น”

ถ้ามีกรรมฐานดีแล้ว จะไม่หูเบาเฉาปัญญา หูจะหนักใครจะพูดอย่างไรจะไม่เชื่อใครทั้งนั้น แก้ไขปัญหาตลอดไม่ทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้ จะมีสติสัมปชัญญะตลอด จะมีแต่เมตตา

จะไม่ “ไร้สัจจะ” พูดจริงทำจริงตลอดรายการ ไม่คิดคดล่อลวงใคร

จะไม่สุรุ่ยสุร่ายในการจ่ายทรัพย์ ไม่ไร้อุดมการณ์ ไม่หลงเล่นการพนัน ไม่หุนหันพลันแล่น จิตใจไม่โลเลอีกต่อไป

จะเป็นคนไม่อิจฉาริษยาใคร จะไม่นอกรีต ดื้อดึง ดื้อรั้นต่อผู้มีบุญคุณ มีแต่เมตตาการุณหนุนนำตลอดรายการ

ขอฝากญาติโยมไว้ด้วย “ความล้มเหลวกับความสำเร็จ” มันอยู่ที่กรรมฐานนะ

ถ้าเราตรงกันข้ามแล้วจะกลายเป็น “ล้มเหลว และล้มละลาย” เสียงานการ และเกิดมาเสียชาติเกิด ไม่ประเสริฐตรงไหน

เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ไม่สามารถเอาความบริสุทธิ์ได้ ไหนเกิดมาทั้งทีก็เอาดีไม่ได้ ไหนตายจากโลกมนุษย์ทั้งทีก็ไม่มีดีฝากใครไว้ได้ และไม่สามารถจะดีติดวิญญาณไปในสัมปรายภพได้

นี่แหล่ะการเจริญกรรมกฐานจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าญาติโยมทำได้ ไม่โลเล กระตือรือร้น “อยากเป็นเศรษฐี” แต่ไม่กระตือรือร้น หาเงินหาทองโดยทุจริตผิดศีลธรรม ฉ้อราษฎร์บังหลวงอีก ท่านจะร่ำรวยได้อย่างไรหรือ

การมีความรักจริงจังในสิ่งที่ต้องการก็ไม่มี เมตตาปรานีก็ไม่มีแล้ว ท่านทั้งหลายจะเอาอะไรมาเป็น “หลัก” อยากได้อะไรก็อย่าทิ้ง ผูกจิตมั่นคงอยู่กับงานนั้น งานท่านจะสำเร็จอย่างแน่นอน งานกรรมฐานไม่ยากเลย

แต่คน “ไร้บุญวาสนา” เหมือนคนมีบุญแต่กรรมบัง ไม่อยากทำ มันทำให้ขี้เกียจ นั่นแหละกรรมบังละ คนที่มีบุญวาสนา กรรมไม่บัง เขาจะมองเห็นเป็น “ฉาก” เป็น “ช่องคู” ไป จะทำอะไรก็ได้ผล ทำอะไรก็ได้อานิสงส์สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ เป็นผลงานที่ท่านต้องการทุกวันนี้...