ยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลไหน

ไฟไม่ได้ติดๆ ดับๆ แต่ขาวโพลนประหนึ่งสถานพยาบาลทั่วไป ที่ตั้งอาคารไม่ได้อยู่ในซอกหลืบ แต่สูงเด่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนแม้จากระยะไกล .. ภาพจำของสถานที่ยุติการตั้งครรภ์อาจถูกทำให้ดูไม่น่าเข้าใกล้ แต่ในความเป็นจริงนั้น มันก็เป็นเพียงสถานให้บริการด้านสุขภาพเฉกเช่นบริการอื่นๆ นั่นแหละ

 

‘การยุติการตั้งครรภ์’ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอในทั่วโลก ด้วยข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันไปตามบริบทสังคมและประสบการณ์

อย่างในประเทศไทยเอง ก็มีการปรับแก้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 โดยกำหนดให้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยไม่มีความผิด และปรับลดอัตราโทษกรณีที่หญิงยุติตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ และไม่เข้าเหตุยกเว้นความผิดตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่แก้ไขกฎหมายแล้วยังไงต่อ หากอยากเข้ารับบริการต้องทำยังไง ติดต่อใครได้บ้าง วิธีในการยุติการตั้งครรภ์มีแบบไหนบ้าง? … คำถามเหล่านี้ยังลอยค้างอยู่กลางอากาศ เพราะปัญหาการกล่าวโทษหญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ในบริบทสังคมที่เคยเป็นมาตลอด ทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างเปิดเผยนัก

The MATTER จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมอ่านขั้นตอนในการเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างละเอียด และทำความเข้าใจว่า กฎหมายในปัจจุบันเป็นอย่างไร ทำไมสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้ามไป

 

ยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลไหน

 

ขั้นตอนแรก: พบนักสังคมสงเคราะห์

ฉากกั้นตรงกระจกหน้าต่างช่วยปิดบังสายตาจากคนภายนอก เพื่อให้คนที่เข้าพบนักสังคมสงเคราะห์ไม่ต้องระแคะระคายว่าจะถูกแอบมอง พร้อมด้วยโต๊ะขนาดใหญ่ไว้สำหรับการพูดคุย

นี่คือขั้นแรกที่ผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ต้องเข้ารับ

“ถ้าไม่เคยเป็นคนไข้ของที่นี่ ก็ต้องลงทะเบียน ทำประวัติของโรงพยาบาลก่อน” ศศิธร มูลสิงห์ นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกล่าว

ยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลไหน

ใบกรอกข้อมูลสำหรับการลงทะเบียนรับบริการนี้ มีทั้งภาษาไทย ภาษาต่างชาติ ศศิธรเล่าว่า มีหลายครั้งที่แรงงานข้ามชาติมาขอยุติการตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะมีล่ามช่วยแปลความให้ เพื่อให้การสื่อสารไม่คลาดเคลื่อน

จากนั้น นักสังคมสงเคราะห์ก็จะค่อยๆ เสนอคำปรึกษาในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของการตั้งครรภ์ต่อ และการยุติการตั้งครรภ์ โดยจะให้ข้อมูลที่ครบถ้วนก่อน แล้วจึงให้ผู้รับบริการเป็นคนตัดสินใจเอง

“บริการของเราเป็นการบริการแบบองค์รวม นักสังคมฯ จะประเมินดูเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม ปัญหาของคนไข้ เราจะดูว่าคนไข้ไม่สบายใจหรือมีความเครียด มีความวิตกกังวลอะไรไหม ถ้าประเมินแล้วมีความเครียด เราก็จะส่งให้แผนกที่จิตเวชต่อ เข้ารับคำปรึกษากับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาต่อ”

“หรือถ้าเกิดคนไข้เค้าตัดสินใจที่จะยุติ ก็คือให้พบคุณหมอสูติก่อน แล้วค่อยพบคุณหมอจิตแพทย์ทีหลังก็ได้ แต่ว่าบางคนที่ยังลังเล ไม่แน่ใจ หรือว่ายังเครียด ตัดสินใจไม่ได้ เราก็จะให้พบคุณหมอจิตเวชก่อน ว่าคนไข้เป็นยังไง เพื่อให้คนไข้ตัดสินใจได้อย่างแน่นอน”

ความแตกต่างในบริบทของผู้รับบริการ ทำให้รายละเอียดของบทสนทนาแตกต่างกันออกไป โดยศศิธรเล่าว่า บางครั้งก็พบเคสที่พ่อแม่พาลูกมาเข้ารับบริการ เธอก็ต้องคอยสังเกตความสัมพันธ์ว่ามีปัญหาอะไรกันไหม หากเห็นว่ามีปัญหาก็จะแยกกันคุย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่มีสิทธิเลือกว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ ก็คือตัวผู้ที่ตั้งครรภ์เอง

“ตาม พ.ร.บ.หญิงตั้งครรภ์ ก็คือหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป มีสิทธิตัดสินใจที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ได้ แต่เราก็จะพยายามพูดคุยให้ผู้ปกครองเข้าใจ และทำความเข้าใจว่า แต่ละคนมีความคิด มีการตัดสินใจที่แตกต่างกันออกไป”

จากประสบการณ์ของศศิธร ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้คนเลือกยุติการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่คนจำนวนมากต้องกลายเป็นคนว่างงาน รายได้ที่เคยเลี้ยงครอบครัวไหวก็เกิดติดขัด รวมถึงบางคนก็ทำงานในสายอาชีพที่ไม่สะดวกต่อการตั้งครรภ์ เมื่ออยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงก็อาจทำให้ถูกเลิกจ้างงานได้ จึงเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์เสียดีกว่า

ขณะเดียวกัน ศศิธรก็ชวนดูข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการหญิงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2564 – พฤษภาคม ปี 2565 ซึ่งพบว่า ช่วงอายุที่เข้ารับบริการมากที่สุด คือช่วง 24-40 ปี โดยมี 58 คนจากทั้งหมด 94 คนที่มาเข้ารับบริการ คิดเป็น 61.7% จากทั้งหมด ขณะที่ผู้มาใช้บริการที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีเพียง 10 ราย หรือคิดเป็น 10.6% ของทั้งหมด

นอกจากนี้ เธอยังเล่าถึงเคสที่เคยยุติการตั้งครรภ์มาก่อนแล้ว แล้วจะขอเข้ารับบริการซ้ำอีกรอบ ซึ่งพอพูดคุยแล้วถึงได้ทราบว่า ปัญหาเกิดจากการไม่ได้วางแผนคุมกำเนิด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก

 

ขั้นตอนที่สอง: พบกับคุณหมอเพื่ออัลตราซาวด์

หลังพูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ และยืนยันแล้วว่าต้องการยุติการตั้งครรภ์ ลำดับต่อมาก็คือการพบกับคุณหมอ เพื่อตรวจดูว่า อายุครรภ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้หรือเปล่า

ตามประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน ผู้ตั้งครรภ์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต อีกทั้ง ในกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องหรือดำเนินคดีกับผู้ทำผิดด้วย อีกทั้ง กฎหมายยังขยายในการยุติการตั้งครรภ์ให้เป็นอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และอายุครรภ์มากกว่า 12-20 สัปดาห์ที่ผ่านการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

“การอัลตราซาวด์ ทำไปเพื่อยืนยันว่า การตั้งครรภ์นั้นอยู่ในโพรงมดลูกไหม และอายุครรภ์เท่าไหร่ เพราะว่าการยุติการตั้งครรภ์ต้องยืนยันว่า ตำแหน่งของการตั้งครรภ์อยู่ในโพรงมดลูกจริงๆ ถึงจะสามารถทำได้ หากเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือฉีดยา ดังนั้น เพื่อจะรักษาคนไข้ได้อย่างถูกวิธี ก็ต้องยืนยันอายุครรภ์และตำแหน่งของการตั้งครรภ์ก่อน” พญ.พัชยาพรรณ ภูมิศิริวิไล สูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกล่าว

ยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลไหน

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วการนับอายุครรภ์ต้องทำอย่างไร คุณหมออธิบายไว้ว่า ให้นับจากประจำเดือนวันแรกของรอบสุดท้าย แต่บางครั้งประจำเดือนก็อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ดังนั้น การอัลตราซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

พญ.พัชยาพรรณยังเล่าอีกว่า โดยส่วนมากแพทย์จะอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง นอกจากกรณีที่อายุครรภ์น้อยกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะทำให้มองไม่เห็นถุงการตั้งครรภ์ หรือไม่แน่ใจว่าถุงการตั้งครรภ์นั้นอยู่ตำแหน่งไหน แพทย์ก็จะอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อยืนยันอีกที

“ส่วนใหญ่จะรู้ผลอัลตราซาวด์ทันที นอกจากว่า อัลตราซาวด์แล้วไม่เห็นถุงการตั้งครรภ์เลย เราก็จะบอกตำแหน่งและอายุครรภ์ไม่ได้ อันนั้นต้องมาเจาะเลือดหรือมาติดตามอัลตราซาวด์อีกที เพื่อยืนยันว่าการตั้งครรภ์นั้นอยู่ในโพรงมดลูกจริงๆ”

คุณหมอยังยกตัวอย่างด้วยว่า ในกรณีที่อายุครรภ์ 3-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะอัลตราซาวด์แล้วไม่พบ ซึ่งถ้ามาพบหมอเร็วเกินไป ก็ต้องนัดเพื่อติดตามเรื่อยๆ เพราะหากยังไม่แน่ใจว่าตำแหน่งของการตั้งครรภ์อยู่ตรงไหน ก็ไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

หรือบางกรณี ก็อาจจะตรวจครรภ์แล้วขึ้น 2 ขีดตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งคุณหมอเล่าว่าการขึ้น 2 ขีด สามารถเกิดได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ แต่อาจใช้เวลา 5-6 สัปดาห์กว่าจะอัลตราซาวด์แล้วตรวจพบ ซึ่งจะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อตรวจและยืนยันได้แล้ว

 

ขั้นตอนที่สาม: ยุติการตั้งครรภ์

วิธีในการยุติการตั้งครรภ์มี 2 แบบ คือ ใช้ยา และใช้เครื่องดูดสุญญากาศ

“หมออาจจะแนะนำเขาว่าสามารถเลือกได้ทั้ง 2 อย่าง หรือว่าอยู่ที่คนไข้ด้วย ถ้าไม่มีโรคประจำตัวอะไรเลย ไม่ได้กินยาอะไรเลย ก็สามารถเลือกได้ทั้ง 2 วิธี ก็เลือกร่วมกันระหว่างหมอกับคนไข้”

พญ.พัชยาพรรณ อธิบายว่า โดยส่วนมากจะเลือกวิธีใช้ยาเป็นหลัก ยาดังกล่าวคือยา Mifepristone เป็นยาที่ต้านฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมภาวะไข่ตก การมีประจำเดือน และคอยควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย ขณะเดียวกัน ก็มียา Misoprostol ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้ปากมดลูกนิ่มขึ้น เพิ่มการหดรัดและการบีบตัวของมดลูก ที่ใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

ส่วนวิธีการใช้ยานั้น สามารถอมยาไว้ใต้ลิ้นหรือสอดทางช่องคลอดก็ได้  โดยจะใช้ยาทั้งหมด 5 เม็ด เม็ดแรกสามารถกลืนเข้าไปได้เลย หลังจากนั้น 24-48 ชั่วโมงถัดมา แพทย์ก็จะพิจารณาว่าจะให้ใช้ยาที่เหลือแบบไหน จะเหน็บยาที่ช่องคลอดหรืออมไว้ใต้ลิ้น ซึ่งต้องพิจารณาตามอายุครรภ์

หลังจากอมยาไว้ใต้ลิ้น หรือเหน็บยาไว้แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งใช้เวลาราว 6-12 ชั่วโมง แตกต่างกันไปตามอายุครรภ์

“อาการของการที่จะมียุติการตั้งครรภ์คือ มีอาการปวดท้อง มีเลือดออกแต่ไม่นาน ซึ่งหากอายุครรภ์น้อยกว่า 6-7 สัปดาห์ ก็จะมีเลือดออกมาคล้ายกับประจำเดือน เป็นก้อนเล็กๆ แต่ถ้าอายุครรภ์เยอะหน่อย ก็จะออกมาเป็นถุงเล็กๆ คล้ายกับถุงพุงปลา”

“เราจะแนะนำคนไข้เสมอว่า เวลาที่มีอะไรออกมาจากช่องคลอด ให้พยายามสังเกตดูว่ามีอะไรออกมาบ้าง ให้ถ่ายรูปไว้ก็ได้ จะได้รู้ว่าออกมาหมดหรือยัง” คุณหมอกล่าวย้ำ

เมื่อใช้ยาเสร็จแล้ว ก็จะมีการนัดมาตรวจอัลตราซาวด์อีกครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ถัดมา เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างสมบูรณ์หรือไม่ หากยังไม่สมบูรณ์ดี ก็อาจจะใช้ยาอีกโดสหนึ่ง หรือเปลี่ยนไปใช้วิธีดูดสุญญากาศแทนก็ได้

ส่วนการยุติการตั้งครรภ์แบบใช้เครื่องดูดสุญญากาศนั้น หากจะเริ่มใช้ตั้งแต่แรก ในความหมายว่า ไม่ได้ใช้ยามาก่อน ก็จะใช้กับอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งมีข้อดีตรงที่สามารถทำให้เสร็จและจบได้ในวันเดียว (หลังทำเสร็จ ต้องสังเกตอาการ 2 ชั่วโมง) แต่ก็มีโอกาสที่ผู้รับบริการจะปวดมากกว่า เพราะต้องนำอุปกรณ์เข้าไปในโพรงมดลูก

ยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลไหน

“ถ้าอายุครรภ์เยอะกว่า 12 สัปดาห์ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ที่บ้านเองได้ แต่ว่าเราก็ใช้เครื่องดูดตั้งแต่แรกไม่ได้ ต้องเป็นยาเท่านั้น ใช้ยาจนกว่าจะหลุด ซึ่งถ้ายังไม่หมด ไม่ครบ รกค้าง ก็จะใช้เครื่องดูดช่วย มีโอกาสที่จะค้างได้มากกว่าอายุครรภ์น้อย แต่ว่าก็จะเกิดได้ไม่มาก”

ขึ้นชื่อว่าเครื่องดูดสุญญากาศที่ต้องสอดเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็ฟังดูน่ากลัวอยู่ไม่ใช่น้อย คุณหมอจึงเล่าถึงวิธีช่วยบรรเทาความเจ็บจากการใช้เครื่องดูด ซึ่งสามารถใช้การฉีดยาเข้ามาช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้

“ไม่มีอาการทุรนทุรายขนาดนั้น ส่วนใหญ่เราจะให้ยาก่อนอยู่แล้ว หลังให้ยาไปบางคนก็ยังมีอาการเจ็บอยู่บ้าง แต่มันแค่แปบเดียว การใช้เครื่องดูดมันกินเวลาไม่นาน ถ้าเกิดว่าเริ่มตั้งแต่กระบวนการที่ใช้อุปกรณ์เข้าไปในโพรงมดลูก ไม่เกิน 5-10 นาที”

เครื่องดูดสุญญากาศนี้ ถือเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้โดยทั่วไปอยู่แล้ว เช่น คนที่แท้งลูกเอง หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ ดังนั้น จึงถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เป็นแนวทางในการรักษาอยู่แล้ว

ภาพจำอย่างหนึ่งที่เรามักเห็นจากสื่อบันเทิงก็คือ การยุติการตั้งครรภ์จะดูเป็นเรื่องน่ากลัว อาจมีเลือดออกมาเป็นจำนวนมาก เจิ่งนองไปทั่วพื้น ซึ่งคุณหมอบอกว่า ในความเป็นจริงแล้ว เลือดจะออกมาในปริมาณเดียวกับประจำเดือน ไม่ได้เยอะขนาดนั้น

“ตามละครสมัยก่อน ส่วนใหญ่ก็จะเอาภาพที่มันชัดเจน ก็เลยต้องเอาให้มันดูเยอะ แต่ถ้าอายุครรภ์น้อยๆ เนี่ยส่วนใหญ่เลือดไม่เยอะ ตามประจำเดือนปกติ เลือดจะเยอะก็ต้องอายุครรภ์เยอะมากๆ แล้วมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ มีรกเกาะต่ำ มีตกเลือด แต่ส่วนใหญ่การยุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยจะไม่เป็นอย่างนั้น”

คุณหมอยังย้ำด้วยว่า โอกาสที่เลือดจะออกเยอะหลังจากยุติการตั้งครรภ์นั้น คือ 0.1% เท่านั้น นอกจากว่าผู้รับการยุติการตั้งครรภ์จะมีภาวะแทรกซ้อน หรือมีโรคประจำตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อนอยู่แล้ว

 

เรื่องราวหลังยุติการตั้งครรภ์ .. ต้องเสียเงินเท่าไหร่ ชิ้นเนื้อจะไปไหนต่อ?

“โรงพยาบาลรัฐ คนไทยสามารถเบิกสิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย แต่ว่าเขาจะให้สิทธิแค่หนึ่งคนหนึ่งครั้งต่อหนึ่งปี ฉะนั้น ถ้าเกิดยุติการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ในปีเดียวกัน ก็อาจจะเบิกไม่ได้”  พญ.พัชยาพรรณ กล่าว

แต่ถ้าเบิกไม่ได้ ค่าใช้จ่ายก็จะอยู่ที่ราว 3,000-5,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการนำยากลับไปใช้เองที่บ้าน แต่สำหรับเคสที่ต้องดูดชิ้นเนื้อในโพรงหมดลูก ก็ต้องนอนโรงพยาบาล และจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นราว 5,000-10,000 บาท

พญ.พัชยาพรรณ ย้ำว่า ค่าบริการดังกล่าวจะรวมถึงการคุมกำเนิดไปด้วย ซึ่งหากเป็นการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร ไม่ว่าจะเป็นการฝังยา การใส่ห่วงคุมกำเนิด หลังจากยุติการตั้งครรภ์ก็สามารถเบิกได้ สปสช.จะให้เบิกได้ แต่ถ้าไม่ได้ยุติการตั้งครรภ์มาแต่อยากเบิกสิทธิคุมกำเนิด ก็ต้องใช้สิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิบัตรทอง เป็นต้น

ส่วนเศษซากที่ออกจากช่องคลอด หลังยุติการตั้งครรภ์ หากอายุครรภ์ยังไม่มากก็จะไม่ได้ออกมาเป็นตัว เศษซากเหล่านี้จะถูกนำไปรวมกับขยะติดเชื้อทางการแพทย์และนำไปกำจัดทิ้งตามกระบวนการ แต่หากอายุครรภ์เยอะ เริ่มมีลักษณะที่คล้ายตัวอ่อนแล้ว ก็จะส่งไปที่ห้องพักศพ (แต่ยังเป็นขยะติดเชื้อทางการแพทย์อยู่ดี) ซึ่งก็จะไปรวมกับชิ้นเนื้อทางการแพทย์ และถูกกำจัดทิ้งตามกระบวนการของห้องพักศพ

ยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลไหน

 

ทำไมการยุติการตั้งครรภ์ถึงสำคัญ

ไม่มีวิธีคุมกำเนิดตัวไหนในโลกนี้ที่เพอร์เฟคและได้ผล 100%

ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า อย่างห่วงอนามัยซึ่งเป็นเครื่องมือในการคุมกำเนิดรูปแบบหนึ่ง และมีอัตราความล้มเหลว 1.5-3% ซึ่งหากนำตัวเลขนี้เทียบกับหญิงที่แต่งงานแล้วทุกคนในสหรัฐฯ ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบนี้ จะเท่ากับว่า ในช่วงเวลา 1 ปีจะมีผู้หญิงอีกอย่างน้อย 350,000-700,000 คนที่ตั้งครรภ์โดยไม่เต็มใจอยู่ดี

แต่ปัญหาก็คือ ประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคมทั่วโลก เนื่องด้วยความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่มีจุดร่วมคล้ายคลึงกันว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องผิดบาป

“เรามีข้อมูลมาตลอดว่า การที่เขาตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์นั้น ถ้าไม่ได้ให้บริการที่ถูกต้อง เขายอมแม้แต่เสียชีวิตที่จะยุติการตั้งครรภ์ ด้วยการไปทำเถื่อน ทั้งที่รู้ว่ามันอาจเกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตได้ แต่เขาก็ยอม เขายอมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เพื่อที่จะไม่ให้ตั้งครรภ์ต่อ”

“ในมุมของหมอนะ หากเกิดเคสแบบนั้น เราก็ต้องมารักษาอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นอีก เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด มดลูกทะลุ เราต้องรักษาเขา ทั้งที่จริงๆ เราสามารถทำให้เขาดีๆ ได้ตั้งแต่แรก โดยที่ไม่เขาไม่ต้องไปเจอกับสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องวนกลับมาให้เรารักษาตอนที่มันไม่ดีแล้ว”

พญ.พัชยาพรรณ ย้ำว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องตัดสินใจเอง และเธอเข้าใจดีถึงความเชื่อส่วนบุคคลที่ต่างกันไป ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะมีความเชื่อหลากหลาย แต่ในฐานะแพทย์นั้น ก็คือการรักษาชีวิตคนเอาไว้ ไม่ให้เสียชีวิตหรือเจออันตราย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากเขาไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

“เราอยากให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการอย่างหนึ่งทางการแพทย์ ความเชื่อหรือศาสนาควรจะอยู่นอกเหนือการบริการให้การรักษา ถ้าเรามองว่า การบริการยุติการตั้งครรภ์เป็นการรักษาอย่างนึง เราก็จะให้บริการกับเขาได้”

ดังนั้นแล้ว การผลักดันทางกฎหมายก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสำหรับประเทศไทย มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ฉบับแก้ไขใหม่ในราชกิจจานุเบกษามาได้ปีกว่าแล้ว ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมานี้ ราชกิจจานุเบกษาก็เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งกำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ สามารถเข้ารับการตรวจและคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ก่อนตัดสินใจยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้การตัดสินใจของหญิงนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน

ถึงอย่างนั้น หลายคนก็ยังไม่รู้ว่า หากจะเข้ารับบริการจะต้องเริ่มอย่างไร ไปที่ไหน และทำได้ในอายุครรภ์เท่าไหร่

สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายเดิมที่เคยเอาผิดผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้มานาน 114 ปี และแม้ว่าปัจจุบันจะมีการแก้ไขกฎหมายโดยเปิดช่องให้ผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถกระทำได้อย่างไร้ความผิด แต่ก็ยังมีส่วนที่เอาผิดหญิงที่ยุติการตั้งครรภ์อยู่

ยิ่งกว่านั้น ที่มาของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า เป็นการแก้ไขเพียงเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 (ว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์) ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 28 (ว่าด้วยสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย) จึงต้องเร่งแก้ไขกฎหมายภายใน 360 วัน เพื่อไม่ให้กฎหมายอาญามาตรา 301 ตกไปเท่านั้นหรือเปล่า เพราะหากกฎหมายฉบับนี้ตกไป รัฐบาลก็จะตกที่นั่งลำบาก

นอกจากนี้ ข้อคิดเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุถึงคำว่า ‘สิทธิของทารกในครรภ์’ ซึ่งเป็นคำที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ที่มองว่า สิ่งที่อยู่ในครรภ์ยังไม่มีชีวิต เป็นเพียง ‘ตัวอ่อน’ เท่านั้น และการอ้างว่า ต้องคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์นั้น อาจเป็นปัญหาต่อการคุ้มครองสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้ตั้งครรภ์แทนด้วย

อีกทั้งกระบวนการในการแก้ไขประมวลกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังถูกตั้งคำถาม เพราะให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก และไม่รวมเอาเสียงของผู้มีประสบการณ์ยุติการตั้งครรภ์ไปเข้าร่วมด้วย ทั้งยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับรองรับการดำเนินงานต่างๆ ภายหลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายแล้ว

ด้วยสาเหตุทั้งหมดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ของไทยในปัจจุบันจะยังถูกตั้งคำถามอยู่ว่า เป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อใคร?