โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอ ร์ โน บิล อยู่ใน ประเทศ

จากเหตุการณ์สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” พี่ทุยเชื่อว่าเราคงได้ยินข่าวที่รัสเซียบุกยึดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในยูเครนกันมาบ้าง ทั้งโรงไฟฟ้าที่เคยระเบิดและกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของโลก “เชอร์โนบิล” และโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่าง “ซานปอริซเซีย”

วันนี้พี่ทุยจะมาเปิดประวัติของโรงไฟฟ้าทั้งสองว่าที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมถึงกลายเป็นเป้าหมายการบุกยึดของรัสเซีย

ย้อนรอยมหันตภัย “เชอร์โนบิล”

พูดถึงอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสารกัมมันตรังสี ที่โด่งดังและรุนแรงที่สุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็คงต้องเป็น “เชอร์โนบิล” ที่พื้นที่โดยรอบถูกปิดเป็นเขตหวงห้าม ไม่อนุญาตให้ทั่วไปอยู่อาศัย แม้จะผ่านมาเกือบ 36 ปีแล้ว

ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” (Chernobyl) ก็ได้มีเตาปฏิกรณ์ที่ 1 และ 2 ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1970 – 1977 ส่วนเตาที่ 3 และ 4 สร้างเสร็จในปี 1983 ตั้งอยู่ในเมืองพริเพียต (Pripyat) ในยูเครน ซึ่งห่างจากเมืองหลวงเคียฟไปทางเหนือ 130 กิโลเมตร และใกล้กับชายแดนเบลารุส ประมาณ 20 กิโลเมตร ถูกก่อสร้างตั้งแต่ครั้งที่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ภัยพิบัติครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 26 เม.ย. 1986 ได้มีการทดสอบระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ที่ 4 ซึ่งระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน และเกิดกระแสไฟกระชาก ทำให้เกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้น ส่งผลให้แกนของเตาปฏิกรณ์ที่ 4 หลอมละลาย และเกิดการระเบิดปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา

การระเบิดของเชอร์โนบิลรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก จัดอันดับความรุนแรงไว้ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (การระเบิดที่โรงไฟฟ้าที่ฟุกุชิมะเป็นอีกครั้งที่ความรุนแรงถูกจัดที่ระดับ 7)

การระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 คน และเชื้อเพลิงในเตาปฎิกรณ์ที่ 4 ก็เผาไหม้ต่อไปอีก 9 วัน กว่าจะสามารถดับลงได้

การระเบิดทำให้เกิดการปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่สิ่งแวดล้อมถึง 14 EBq ซึ่งมีนิวไคลด์กัมมันตรังสีสองชนิดสำคัญที่คุกคามชีวิตผู้คน ได้แก่ ไอโอดีน-131 อายุสั้น (ครึ่งชีวิต 8 วัน) และซีเซียม-137 อายุยาว (ครึ่งชีวิต 30 ปี) แพร่กระจายครอบคลุมถึงเบลารุส รัสเซีย และยูเครน และมีบ้างรายงานระบุว่าเศษฝุ่นขนาดเบาที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลอยไปไกลถึงสแกนดิเนเวียและยุโรปด้วย

หลังจากนั้นใน 3 เดือนก็มีการยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่และหน่วยดับเพลิงเสียชีวิต 30 คน จากเหตุการระเบิดครั้งนี้ และมีรายงานจำนวนคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเข้าข่ายอาการของรังสีเฉียบพลัน (ARS) 237 คน ซึ่งอยู่ในสถานที่และเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการซากปฏิกรณ์หลังเกิดเหตุ และพบการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ในผู้ป่วยที่เป็นเด็กในขณะนั้น ซึ่งคาดว่าเกิดจากการได้รับสารกัมมันตรังสีไอโอดีนที่ปลดปล่อยออกมา

มีการอพยพประชากรในเมือง Pripyat ทันที 45,000 คน และไม่กี่สัปดาห์ต่อมาก็ย้ายผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 30 กิโลเมตรอีก 116,000 คน

อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลในปี 1986 เป็นผลมาจาก “การออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ที่มีข้อบกพร่องซึ่งดำเนินการด้วยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมไม่เพียงพอ เป็นผลพวงมาจากการแบ่งแยกในสงครามเย็นที่ทำให้ขาดการแบ่งปันข้อมูลด้านความปลอดภัยของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์”

ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

จากสรุปรายงานการศึกษา Chernobyl Forum ในปี 2005 สอดคล้องกับรายงานของ UNSCEAR ปี 2000 เห็นตรงกันว่า นอกจากผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงถึงการเจ็บป่วยจากกัมมันตภาพรังสีอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังจากเกิดเหตุ 14 ปี

มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่า การได้รับรังสีทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานของการเกิดมะเร็งดังกล่าวอย่างแน่ชัด

นอกจากนี้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่กล่าวอ้างว่า เป็นอัมพาตจากการรับรังสี ก็เป็นเพียงเรื่องราวที่เข้าใจผิด ส่วนใหญ่การเจ็บป่วยเหล่านั้นกลับมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่และดื่มสุรา แต่ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือปัญหาด้านโภชนาการและสุขภาพจิตที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเหมือนกับเวลาเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ

เรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นอีกอย่าง คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอุบัติเหตุในเชอร์โนบิล ทำให้ช่วงเวลานั้นแพทย์ในยุโรปได้มีการแนะนำให้สตรีมีครรภ์ที่ได้รับรังสีทำแท้ง แม้ว่าปริมาณรังสีที่ได้รับจะต่ำกว่าระดับที่จะทำให้ทารกมีอวัยวะพิการ มีการประมาณจากผู้เชี่ยวชาญว่ามีการยุติการตั้งครรภ์มากกว่า 1 ล้านครั้งในสหภาพโซเวียตและยุโรป อันเป็นผลมาจากคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องของแพทย์

ส่วนบริเวณโดยรอบพื้นที่เชอร์โนบิล เพราะก็ได้รับรังสีนิวเคลียร์ทำให้ต้นไม้แถบนั้นใบไม้กลายเป็นสีน้ำตาลแดง จนมีชื่อเรียกใหม่ว่า “ป่าแดง” และเพราะการอพยพคนออกทั้งหมด ทำให้พื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าร้างคนหลายสิบปี สิ่งมีชีวิต สัตว์ป่า ระบบนิเวศน์ตรงนั้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ ผลการตีพิมพ์ของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ปี 2015 พบว่าประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเขตหวงห้าม มีการเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์แม้ในสิ่งแวดล้อมมีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีก็ตาม

การฟื้นฟู และปัจจุบันที่กองกำลังรัสเซียเข้ายึดครอง “เชอร์โนบิล”

หลังจากการระเบิด สิ่งก่อสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาคลุมเตาปฏิกรณ์ที่ 4 อย่างรวดเร็วภายในปี 1986 เพื่อกักกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีแพร่กระจายสู่ภายนอกเพิ่มเติม และมีการสร้างที่กักกันใหม่ที่คงทนกว่าอีกครั้งในปี 2017

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีการใช้งบประมาณกว่า 400 ล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงเครื่องปฏิกรณ์ที่เหลืออยู่อยู่ในเชอร์โนบิล เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อ เพราะปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ก่อนที่จะปิดการทำงานของเตาที่ 1 ในปี 1997 เตาที่ 2 ถูกปิดตัวลงในปี 1991 และปิดเตาปฏิกรณ์ที่ 3 ในเดือน ธ.ค. ปี 2000 ซึ่งขั้นตอนการรื้อถอนเตาปฏิกรณ์ทั้ง 3 เตาจะใช้เวลาแล้วเสร็จในปี 2064

ปี 2011 เชอร์โนบิลได้รับการประกาศให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ในบริเวณใกล้ ๆ ซึ่งมีปริมาณการปนเปื้อนรังสีน้อยลงในระดับที่ปลอดภัยแล้ว และมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมจำนวนมาก

ซึ่งล่าสุดเดือน ก.พ. 2022 ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียได้เข้ายึดเชอร์โนบิล โดยทางการยูเครนได้ตรวจวัดปริมาณรังสีแกมมาในเขตเชอร์โนบิลและพบว่าปริมาณเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุน่าจะเป็นเพราะการรบกวนบนชั้นดินจากการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรทางทหารหนักจำนวนมากผ่านเขตหวงห้าม แต่สภาพของโรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง

รัสเซียบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ซานปอริซเซีย”

หลังจากยึดเชอร์โนบิลได้แล้ว ไม่กี่วันต่อมากองกำลังรัสเซียจากทางใต้ก็โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ที่อยู่ทางใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่สุดในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียมีเครื่องปฏิกรณ์ผลิตพลังงาน 6 เครื่อง เริ่มผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 1984 สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 4 – 4.2 หมื่นล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 20-25% ของการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปีในยูเครน

ซึ่งในวันที่ 3 มี.ค. 2022 เกิดเพลิงไหม้ในโรงไฟฟ้า บางรายงานบอกว่าไหม้ในจุดที่ใกล้กับเครื่องปฏิกรณ์เครื่องหนึ่งที่ปิดปรับปรุงอยู่ ทำให้ทั่วโลกจับตามองด้วยความกังวลใจ เพราะกลัวเกิดระเบิดหรือกัมมันตรังสีรั่วไหลซ้ำรอยกับเชอร์โนบิลเมื่อ 36 ปีที่แล้ว

หลังจากเหตุการณ์ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ก็ประกาศว่าการโจมตีของรัสเซียครั้งนี้อาจทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับเชอร์โนบิล ซึ่งครั้งนั้นเป็นเพียงการระเบิดของเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 เพียงเครื่องเดียว แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียมีเตาปฏิกรณ์ถึง 6 เครื่อง

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ก็เตือนเช่นกันว่า หากโรงไฟฟ้าระเบิด ผลกระทบอาจมากกว่าภัยพิบัติเชอร์โนบิลถึง 10 เท่า หากลองจินตนาการตามที่รัฐมนตรีพูด อาจจะมีผู้เสียชีวิตถึงหลักร้อย ฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนรังสีอาจลอยไปไกลครอบคลุมทั้งยุโรปและรัสเซียได้เลย

ส่วนสาเหตุที่รัสเซียเลือกโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย นักวิเคราะห์ออกความเห็นว่า ถ้าไม่ใช่ต้องการสร้างหายนะจากกัมมันตรังสี ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ในการควบคุมแหล่งพลังงานไฟฟ้าของยูเครน เพราะโรงไฟฟ้านี้ผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 20 – 25% ของไฟฟ้าทั้งหมดในยูเครน หากสามารถหยุดการผลิตไฟฟ้าได้ จะส่งผลให้ประชาชนชาวยูเครนไม่มีไฟฟ้าใช้

สถานการณ์สงคราม “รัสเซีย – ยูเครน” ยังคงต้องติดตามต่อไป แต่ไม่ว่าสุดท้ายแล้วชัยชนะจะตกเป็นของใคร ความสูญเสียของประชาชนทั้งชาวยูเครนและรัสเซียได้เกิดขึ้นแล้ว สินทรัพย์ที่สูญไปอาจมีโอกาสหากลับคืนได้ แต่ชีวิตของผู้คนนับร้อยนับพันที่เสียไปไม่อาจย้อนกลับคืนได้อีกแล้ว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอ ร์ โน บิล อยู่ใน ประเทศ

อ่านเพิ่ม

  • [สรุป] ประวัติ ปูติน – เซเลนสกี ผู้นำในสงครามรัสเซียและยูเครน
  • รัสเซียบุกยูเครน นักลงทุนควรรับมืออย่างไร