การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย-ญี่ปุ่น” (High-Level Policy Dialogue Forum on Thailand-Japan’s New Dimension of Economic Cooperation)

ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (กระทรวงเมติ) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และเจโทร กรุงเทพฯ โดยมีการเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน ในมิติใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลก เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นายสินิตย์ กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทย และญี่ปุ่นที่มากประสบการณ์ ร่วมนำเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในรูปแบบใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ข้อริเริ่มการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นนโยบายการลงทุนใหม่ของญี่ปุ่น โดยเน้นการเป็นหุ้นส่วนร่วมสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมของทั้งสองประเทศและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมของกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์

นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะประโยชน์จากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และเสนอแนวทางการกระชับความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในรูปแบบใหม่

“กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่างานสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น และหน่วยงานภาครัฐของไทยที่จะวางกลยุทธ์ขยายการค้าและดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างแน่นอน”

นายสินิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และ RCEP ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง JTEPA และ AJCEP กว่า 80% ของมูลค่าการส่งออก สำหรับสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ เนื้อไก่ กุ้งปรุงแต่ง ปลาทะเลปรุงแต่ง และแป้งมันสำปะหลัง

การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

สำหรับความตกลง RCEP จะลดและยกเลิกภาษีเพิ่มเติมจากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่เดิมแล้ว รวมถึงยังทำให้พิธีการศุลกากรยืดหยุ่นขึ้น และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นยังมีความร่วมมือด้านการค้าในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นในการพัฒนาสินค้าเกษตรไทย และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผ่านทางออนไลน์

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยยาวนานกว่า 600 ปี ทั้งในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน โดยเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทยมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท โดยในปี 64 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 60,670.63 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11.26% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่นอันดับ 3 มูลค่า 24,985.35 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ส่วนไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นอันดับ 2 มีมูลค่า 35,685.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากญี่ปุ่น อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

ไทย-ญี่ปุ่น ฉลองความสัมพันธ์135ปี  เดินหน้าติดอาวุธการค้าเชิงลึกให้ผู้ประกอบการ MSMEs หนุนใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนอย่างเต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนที่ใหญ่ขึ้นให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น กรมจึงได้ร่วมกับสำนักงานเจโทร ประจำกรุงเทพฯ เพื่อเร่งส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP

การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

โดยติดอาวุธความรู้ด้านการค้าเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการ MSMEs เกี่ยวกับเกณฑ์การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ขั้นตอนการออกหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ RCEP และระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) การจัด Workshop ครั้งนี้ สอดรับกับผลการสำรวจความเห็นภาคเอกชน ประจำปี 2565 ของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (EABC)

ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพิกัดศุลกากรและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP เพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยกรมได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการไทยและชาวญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทย เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญในปีนี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ด้านนายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความตกลง RCEP สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจหลายประการ คือ 1) ช่วยเสริมสร้างซัพพลายเชนที่หลากหลาย ทำให้เกิดความยืดหยุ่นกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตในภูมิภาคมากขึ้น 2) ความตกลง RCEP มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เอื้อต่อผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่ง่ายขึ้น

การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

3) ช่วยให้การค้าราบรื่นยิ่งขึ้นจากการที่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิก RCEP ทุกประเทศ ใช้แบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน 4) มีระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และ 5) มีข้อกำหนดด้านพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น สินค้าเน่าเสียง่ายต้องตรวจปล่อยภายใน 6 ชั่วโมง เป็นต้น

การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่นและไทยมีความตกลงการค้าเสรีที่เป็นภาคีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 2565 ไทยมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 46.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง เสื้อคาร์ดิแกน เสื้อกั๊ก และปลาปรุงแต่ง ขณะที่ไทยขอใช้สิทธิ์ RCEP นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ไฮโดรควีโนน เชื้อประทุไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิด ปลาหมึกยักษ์ ด้ายโพลิยูรีเทน และลูกชิ้นปลา”

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 30,478.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 12,714.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 17,763.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์