การมีประชากรน้อยส่งผลเสียอย่างไร

นักวิจัยด้านประชากรเตือนให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรับมือกับอัตราเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงจนน่าตกใจ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ทุกประเทศทั่วโลกมีประชากรลดลงเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 โดยมีอย่างน้อย 23 ประเทศที่ประชากรจะลดลงถึงครึ่ง ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

สิ่งที่จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับประชากรลดลง ก็คือจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

อัตราการเจริญพันธุ์หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงหนึ่งคนกำลังลดลง เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศตกลงต่ำกว่าประมาณ 2.1 จำนวนประชากรจะเริ่มหดตัวลง

ในปี 1950 ในช่วงชีวิตหนึ่งของผู้หญิงมีลูกเฉลี่ย 4.7 คน สถาบันเมตริกส์สุขภาพและการประเมินผล มหาวิทยาลัยวอชิงตัน รายงานว่า อัตราเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 2.4 คนเมื่อปี 2017 รายงานชิ้นล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ก.ค. คาดว่าอัตราเจริญพันธุ์จะตกลงเรื่อยจนเหลือแค่ 1.7 คน ในปี 2100

จากการคำนวณนี้ นักวิจัยคาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นไปถึง 9.7 พันล้านคนในราวปี 2064 หรืออีก 44 ปีข้างหน้า จากนั้นจะลดลงเหลือ 8.8 พันล้านคนเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21

"การที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ทีเดียว" ศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้ทำวิจัยกล่าวกับบีบีซี

"ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากมากที่เราจะคิดถึงปัญหานี้ได้อย่างครอบคลุมหรือตระหนักอย่างแท้จริงว่าสถานการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่แค่ไหน เราต้องยกเครื่องสังคมทั้งหมดเพื่อรับมือกับเรื่องนี้"

ทำไมอัตราเจริญพันธุ์ถึงลดต่ำลง

อัตราเจริญพันธุ์ที่ตกลงนี้ไม่เกี่ยวกับจำนวนตัวอสุจิหรือเรื่องอื่น ๆ ที่คนมักนึกถึงเมื่อพูดเรื่องการเจริญพันธุ์ แต่เป็นผลมาจากการศึกษาและการทำงานของผู้หญิง รวมถึงการเข้าถึงยาคุมกำเนิด ที่ทำให้ผู้หญิงมีลูกน้อยลง

อัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำลงนี้ ในด้านหนึ่งก็นับว่าเป็นความสำเร็จของการคุมกำเนิด

ประเทศไหนได้รับผลกระทบมากสุด

คาดว่าอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำลงจะทำให้ 23 ประเทศมีประชากรลดลงถึงครึ่งหนึ่งในปี 2100 ในจำนวนนี้มี สเปน โปรตุเกส ไทย เกาหลีใต้ อิตาลี และญี่ปุ่น

มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงจาก 128 ล้านคนในปี 2017 เหลือเพียงไม่ถึง 53 ล้านคนในช่วงปลายศตวรรษนี้

อิตาลีก็จะมีประชากรลดฮวบลงไม่แพ้ญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะลดจาก 61 ล้านคน เหลือ 28 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

"ตัวเลขนี้ทำให้ผมถึงกับอ้าปากค้าง" ศ.เมอร์เรย์กล่าว

มาดูประเทศที่มีประชากรมากอย่างจีนและอินเดียกันบ้าง

จีนซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มเป็น 1.4 พันล้านคนในอีก 4 ปีข้างหน้า ก่อนจะลดลงเกือบครึ่งเหลือ 732 ล้านคนในปี 2100 ส่งผลให้อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลกแทน

"ประชากรของ 23 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไทย สเปนและยูเครน จะลดลงราว 50% หรือมากกว่านั้น แม้การลดลงของประชากรจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอายุประชากรมักจะส่งผลทางลบในด้านอื่น ๆ" งานวิจัยระบุ

ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นปัญหา

หลายคนอาจคิดว่าการที่ประชากรลดลงจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม เพราะเมื่อคนน้อยลง การปล่อยคาร์บอน การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่การเกษตรก็จะลดลงด้วย

"ประชากรลดลงอาจดีต่อสิ่งแวดล้อมก็จริง แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนอายุประชากร คือมีคนชรามากกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านอื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง" ศ.เมอร์เรย์ให้ความเห็น

ในประเด็นเกี่ยวกับอายุประชากรนี้ งานวิจัยคาดว่า

  • จำนวนประชากรโลกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะลดจาก 681 ล้านคนในปี 2017 เหลือ 401 ล้านคนในปี 2100
  • จำนวนประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 80 ปี จะเพิ่มจาก 141 ล้านคนในปี 2017 เป็น 866 ล้านคนในปี 2100

คำถามก็คือหากโลกเต็มไปด้วยผู้สูงวัย แล้วใครจะทำงานเพื่อจ่ายภาษี ใครจะแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ใครจะดูแลคนชรา แล้วคนจะหยุดทำงานเมื่อเข้าสู่วัยชราได้หรือไม่

"เราต้องเตรียมรับมือกับปัญหานี้ไว้แต่เนิ่น ๆ" ศ.เมอร์เรย์กล่าว

หลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรหาวิธีเพิ่มจำนวนประชากรและชดเชยอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำงด้วยการเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศ แต่เมื่อถึงจุดที่ทุกประเทศต่างก็มีประชากรลดลง วิธีการนี้ก็จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่าสิ้นเดือนกันยายน 2560 อัตราเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 1.46 คือ ผู้หญิงไทย 1 คน ให้กำเนิดบุตรเฉลี่ย 1.46 คน และคาดการณ์ว่าประชากรไทยจะลดลงเหลือ 69 ล้านคนในปี 2593 และเหลือ 47 ล้านคนในปี 2643

"จากเดิมที่แต่ละประเทศเลือกที่จะเปิดหรือไม่เปิดรับผู้อพยพ ในอนาคตเราจะได้เห็นการแย่งกันรับดึงดูดคนต่างชาติให้เข้ามาในประเทศ เพราะประชากรมีไม่พอ" ศ.เมอร์เรย์คาด

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่หลายประเทศใช้ เช่น ออกนโยบายสนับสนุนให้พ่อและแม่ลางานเพื่อเลี้ยงลูก จัดสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กฟรี ให้เงินอุดหนุน หรือให้สิทธิจ้างงานเพิ่ม แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าวิธีการไหนจะดีที่สุด

ที่ผ่านมาจำนวนการเกิดต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ตัวเลขนี้น่ากลัวและแนวโน้มของกราฟคงไม่ดีขึ้นแน่ นอกจากนี้ปีที่ผ่านมาอัตราการตายสูงกว่าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย คาดการณ์ไม่ถูกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

วันนี้ (28 มกราคม 2565) รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึง อัตราเกิดหรือจำนวนเด็กแรกเกิดของประเทศไทยที่ลดลงนั้น เริ่มต้นและลดลงเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่มีประชากรเกิดมากกว่า 1 ล้านคน ในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2506-2526 ซึ่งเรียกการเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงนั้นว่ายุค Baby Boom จากนั้นก็เริ่มลดลงจนกระทั่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป

สำหรับอัตราการเกิดที่ต่ำกว่าการตายนั้น จะทำให้ประชากรไทยลดลงเรื่อยๆ จนกว่าจะมีจำนวนเด็กแรกเกิดสูงกว่าหรือเท่ากันกับจำนวนประชากรที่ตายไปอีกครั้ง แต่จากข้อมูลสถิติผลการสำรวจศึกษาและวิจัย พบว่าแนวโน้มที่อัตราเกิดจะเพิ่มขึ้นในภาวการณ์เช่นปัจจุบันคงเป็นไปได้ยาก เพราะตัวเลขการเกิดที่ลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว หากเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า

“ในปี 2554 เรายังมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 8.5 แสนคน ในขณะที่ 10 ปีผ่านไป ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 5.5 แสนคน กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตัวเลขการเกิดลดลงมากกว่า 1 ใน 3 โดยใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น อีกทั้งยังมีการคาดการณ์กันอีกด้วยว่า จากจำนวนประชากรไทยในปัจจุบันที่มีไม่ถึง 70 ล้านคน จะลดลงมาเหลือเพียงครึ่งเดียวคือไม่เกิน 35 ล้านคน หรือคนไทยเราจะหายไปครึ่งหนึ่งเพราะเด็กเกิดใหม่น้อย ในขณะที่มีคนสูงอายุที่จะทยอยกันตายไปตามอายุขัยภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี ซึ่งต้องกล่าวว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ในหลายประเทศก็อยู่ในภาวการณ์เช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากตัวเลขการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หรือที่ในทางประชากรเรียกว่า ‘ภาวการณ์เจริญพันธุ์ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราทดแทน’ กล่าวคือจำนวนเด็กที่เกิดใหม่ไม่ได้สัดส่วนที่จะทดแทนคนรุ่นพ่อและแม่ได้ โดยมีผลกระทบระยะสั้นคือ

1. คนจะลดลง ด้วยตัวเลขการเกิดต่ำกว่าตัวเลขการตาย จำนวนประชากรจึงลดลง ส่งผลให้อะไรก็ตามที่เตรียมไว้สำหรับการรองรับคนจำนวนที่มากขึ้นจะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและบริการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเกษตรกรรมจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากๆ จะเสียเปล่า

2. ครอบครัวจะเปลี่ยนไป ครอบครัวขยายจะหายไป กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันไม่กี่รุ่น การอยู่ลำพังและตายจากอย่างโดดเดี่ยวหรือมีแต่เพื่อนญาติห่างๆ จะมีมากขึ้น และความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกถ่างขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุจากการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร รวมถึงความต้องการชีวิตส่วนตัวและมีอิสระที่มากขึ้น

3. สังคมจะเปลี่ยนแปลง นอกจากความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมแล้ว การที่คนลดน้อยลง โดยหากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้นด้วยความไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อกัน แตกต่างจากสังคมในอดีตที่ใกล้ชิดผูกพันในเชิงเครือญาติที่ยังพอสืบทราบที่มาได้บ้าง

สำหรับผลกระทบระยะยาว แน่ชัดว่าจะเกิดปัญหาและภาวการณ์หลายสิ่งอย่างที่จะต้องเตรียมการรับมือและพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ และปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลทุกชุดรับทราบสถานการณ์นี้ดี แต่ยังไม่สู้จะมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนและต่อเนื่องเด็ดขาดในการแก้ไขหรือเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนเมื่อได้เห็นตัวเลขการเกิดที่ลดลงและต่ำกว่าการตายจึงเริ่มที่จะเป็นกระแสอีกครั้ง

“สิ่งที่สามารถทำได้และหลายประเทศได้ดำเนินการไปก่อนหน้า เช่น การมีนโยบายส่งเสริมการเกิดผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี การสนับสนุนให้มีบุตรโดยรัฐดูแลค่าใช้จ่ายในการคลอดและสงเคราะห์บุตร การให้ทุนการศึกษา การให้สิทธิ์การเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินเดือนทั้งพ่อและแม่ การส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ทำความรู้จักก่อนเข้าสู่การทำงาน”

นอกจากนี้ การเลื่อนอายุเกษียณเพื่อชะลอการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองหรือช่วยดูแลในยามสูงอายุผ่านการออมเงิน การลงทุนในการทำประกัน กองทุน หรือรูปแบบอื่นใด เพื่อให้ใช้ชีวิตในยามสูงวัยอย่างมีอัตภาพและคุณภาพ ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการหรือนโยบายรัฐที่ใช้กันโดยทั่วไปในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ ‘กรอบความคิด’ (Mindset) ต่อการมีบุตรจำเป็นต้องทำให้เกิดความรับรู้และเข้าใจก่อนตัดสินใจจะมีคนรัก มีคู่ครอง จนกระทั่งเป็นคู่ชีวิตที่พร้อมจะสร้างครอบครัวให้เกิดกรอบคิดทางบวกและลบเพื่อร่วมกันคิดอ่านก่อนการมีบุตร โดย รศ.ดร.ธีระ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าทัศนคติต่อการมีบุตรหลายสิบปีที่ผ่านมาถูกป้อนความคิดในเชิงลบ ทั้งในเชิงมโนทัศน์และข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏผ่านสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าการมีลูกนั้นเป็นทั้งภาระและขาดอิสระ ต้องมีห่วงทั้งหน้า คือเลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตไปดีมีคุณภาพ และห่วงทั้งหลัง คือยังมีพ่อแม่พี่น้องหนี้สินภาระที่ดูแลจะทำอย่างไร ซึ่งความกดดันบีบคั้นทางสังคมที่ถูกสร้างโดยคำว่า ‘ลูกมากยากจน’ ‘ไม่มีคู่/ลูกเป็นลาภอันประเสริฐ’ ‘รักสนุกแต่ไม่ผูกพัน’ ‘มีลูกเหมือนเอาโซ่ตรวนมาคล้องคอ’ และอีกหลายวาทะที่ยังติดตรึงอยู่ในความรับรู้ของคนยุคพ่อแม่ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันยังไม่ได้สร่างซาไป

“การปรับเปลี่ยนกรอบคิดเช่นนี้จึงมีความสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ไม่เพียงเพื่อให้ประชากรกลับมาอยู่ในภาวะสมดุลหรืออยู่ในระดับภาวะทดแทนได้ หากแต่ยังช่วยให้เห็นสังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยประชากรที่เกิดมาใหม่นั้นเป็นพลังบวกและเป็นความหวังให้กับคนรุ่นก่อนหน้าได้อีกด้วย แม้ไม่อาจทำให้เปลี่ยนได้ในทันที แต่ต้องเริ่มในทันที”