ข้อใดคือองค์ประกอบของหลัก 4 รู้ สู่ความมั่งคั่ง

ในช่วงต้นปีแบบนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ reserve magazine จะชวนทุกคนมาต่อยอดความมั่งคั่งให้สินทรัพย์ที่มีอยู่นั้นงอกเงยและยั่งยืนด้วยการวางแผนอย่างมีระบบ อันดับแรกเรามาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนครับว่า “ความมั่งคั่ง” คืออะไร แล้วต้องมีสินทรัพย์มากแค่ไหนถึงจะเรียกว่ามีความมั่งคั่งได้

แน่นอนครับ ความมั่งคั่งสามารถวัดค่าได้จากมูลค่าของสินทรัพย์ที่เราถือครอง แต่ต้องไม่ลืมหักหนี้สินทั้งหมดออกไปด้วย เพื่อที่จะได้รู้ “มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ” ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดที่สามารถบอก “ความมั่งคั่ง” ได้อย่างแท้จริงนั่นเองครับ เมื่อความมั่งคั่งวัดได้จากมูลค่าของสินทรัพย์สุทธิ ในต้นปีนี้คุณอาจจะลองคิดคำนวณความมั่งคั่งของปีที่ผ่านมาหรือลองย้อนกลับไปราว 2-3 ปี เพื่อจะได้ประเมินพัฒนาการความมั่งคั่งของตนเอง อ่านมาถึงตรงนี้ reserve magazine เลยอยากชวนทุกคนมาวางแผนต่อยอดความมั่งคั่งอย่างไม่รู้จบ ด้วย 4 องค์ประกอบหลักซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารความมั่งคั่งกันครับ

ข้อใดคือองค์ประกอบของหลัก 4 รู้ สู่ความมั่งคั่ง

1. การสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation)

หัวใจแห่งความมั่งคั่งองค์ประกอบแรก ได้แก่ “การสร้างความมั่งคั่ง” หรือการหารายได้จากความสามารถ จากการประกอบธุรกิจ แล้ววางแผนการใช้จ่ายเงิน วางแผนชำระหนี้สิน ซึ่งไม่ควรเกิน 40 % ของรายได้ เพื่อให้มีเงินเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเงินออม ควรเก็บออม 10% ของรายได้ โดยแบ่งเป็น 4 บัญชี ได้แก่ บัญชีฉุกเฉินเพื่อสำรองไว้รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน, บัญชีเงินออมระยะสั้นถึงระยะกลาง สำหรับการใช้จ่ายในการสร้างความมั่งคงในชีวิต, บัญชีเงินออมระยะยาว เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ และบัญชีเงินออมเพื่อการลงทุนเพื่อต่อยอดเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้ในอนาคต

2. การปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Preservation)

เมื่อสร้างความมั่งคั่งได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว หัวใจสำคัญต่อมาก็คือ “การปกป้องความมั่งคั่ง” ไม่ให้สินทรัพย์ที่หามาทั้งหมดนั้นต้องถูกหยิบมาใช้ไปกับความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ ปัญหาสุขภาพ หรือเรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ ซึ่งหากเราไม่ได้เตรียมพร้อมสร้างหลักประกันไว้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ สินทรัพย์ที่เก็บสะสมมาก็อาจได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่จะช่วยเราในการวางแผนรับมือได้คือการมาพิจารณากันครับว่าแผนประกันที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันธุรกิจที่เคยทำไว้ยังให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมความเสี่ยงในปัจจุบันอยู่หรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถปกป้องสินทรัพย์และความมั่งคั่งในชีวิตของเรา

3. การเพิ่มพูนความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation)

และแล้วก็มาถึงหัวใจสำคัญที่นับว่าเป็นตัวแปร ที่เปรียบเสมือนตัวเร่งความมั่งคั่งเลยก็ว่าได้นะครับ นั่นก็คือ “การเพิ่มพูนความมั่งคั่ง” ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการวางเป้าหมายและวางแผนการลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว สินทรัพย์ของบุคคล จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากออมทรัพย์ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน, สินทรัพย์ส่วนตัว เช่น บ้าน รถยนต์ เครื่องประดับ และอื่น ๆ ที่มีไว้โดยไม่ตั้งใจเอาไว้ขายเพื่อลงทุน และสินทรัพย์ประเภทสุดท้ายที่เรากำลังพูดถึง ได้แก่ สินทรัพย์ลงทุน เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น กองทุนรวม และหลักทรัพย์ชนิดต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้เร็วขึ้น ได้มูลค่าที่สูงขึ้น เนื่องจากสินทรัพย์จากการลงทุน มีมูลค่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ง่ายกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นจากราคาตลาดที่เปลี่ยนไปของสินทรัพย์ลงทุนรวมถึงสินทรัพย์จากการลงทุนยังให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น เงินปันผล หรือดอกเบี้ย เป็นต้นครับ เพราะฉะนั้นการวางแผนการลงทุน จึงเป็นเคล็ดลับสู่การต่อยอดความมั่งคั่งอย่างแท้จริง ซึ่งมี 2 หลักการง่าย ๆ ที่เราสามารถใช้ประกอบการวางแผนการลงทุนดังต่อไปนี้

การลงทุนตลอดชีวิต
หากเรามีสินทรัพย์ลงทุนอยู่แล้ว เช่น การลงทุนในกองทุนรวมเราก็ไม่ควรลงทุนเพียงครั้งเดียว แล้วปล่อยให้ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนอนอยู่นิ่ง ๆ แต่ควรหมั่นเติมเงินในพอร์ตการลงทุนให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจใช้วิธีการลงทุนในรูปแบบของ DCA (Dollar-Cost Averaging) ซึ่งเป็นการลงทุนที่ถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยเราจะลงทุนอย่างต่อเนื่องในแต่ละงวดด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่า ๆ กัน เพื่อให้ได้ลงทุนสม่ำเสมอและไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการจับจังหวะลงทุน ซึ่งนับเป็นตัวช่วยในการต่อยอดความมั่งคั่งเพิ่มโอกาสให้สินทรัพย์การลงทุนของเราเติบโตสูงขึ้น

การกระจายไข่ไว้ในตะกร้าหลายใบ
การนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หลายรูปแบบ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงเพราะเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตะกร้าใบใดใบหนึ่ง ก็ยังมีตะกร้าใบอื่นที่มีไข่เหลืออยู่ แต่สิ่งที่สำคัญและมองข้ามไม่ได้เลยคือความรู้และความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุนเพื่อจะได้สามารถดำเนินแผนการลงทุนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

4. การส่งมอบความมั่งคั่ง (Wealth Transfer)

มาถึงองค์ประกอบสุดท้ายกันแล้วนะครับ หลังจากที่เราได้พูดถึงการสร้างและสะสมความมั่งคั่งไปแล้ว ตอนนี้ก็มาถึงขั้นตอนของการ "การส่งมอบความมั่งคั่ง" ที่จะช่วยให้สิ่งที่เราสร้างมาถูกจัดสรร และได้รับการส่งต่อไปตามเจตนารมณ์ โดยทั่วไปแล้วการส่งมอบความมั่งคั่งสามารถทำได้ทั้งการส่งมอบสินทรัพย์ให้กับทายาท และการส่งความมั่งคั่งคืนสู่สังคม เช่น การบริจาคให้มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล หรือให้กับผู้ด้อยโอกาส ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนว่าต้องการเลือกส่งมอบความมั่งคั่งทางไหน หรือจะเลือกส่งมอบทั้ง 2 ทางเลยก็ได้เช่นเดียวกัน สำหรับการส่งต่อความมั่งคั่งสู่ทายาท หัวใจสำคัญอยู่ที่การ "วางแผนมรดก" ที่จะช่วยส่งผ่านความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น แถมยังช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมดจะถูกสืบทอดไปตามเจตนารมณ์ สำหรับในขั้นตอนนี้ เราควรให้ความสำคัญกับภาษีมรดก และค่าธรรมเนียมการโอนต่าง ๆ ด้วยนะครับ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการมรดก ได้ที่ www.ttbbank.com/th/ttb-reserve/life-style/detail/inheritance-tax

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับ 4 หัวใจของการบริหารความมั่งคั่งให้ต่อยอดได้ไม่รู้จบ ตั้งแต่ การสร้างความมั่งคั่ง, การปกป้องความมั่งคั่ง, การเพิ่มพูนความมั่งคั่ง และการส่งมอบความมั่งคั่ง เชื่อว่าหากให้ความสำคัญกับทั้ง 4 องค์ประกอบนี้แล้ว เป้าหมายความมั่งคั่งที่คุณวางแผนไว้ย่อมบรรลุผลสำเร็จ และสามารถต่อยอดเพิ่มพูนได้อย่างไม่สิ้นสุดแน่นอนครับ

ที่มา :
www.set.or.th/set/financialplanning/knowledgedetail.do?contentId=550&type=article
www.set.or.th/set/financialplanning/knowledgedetail.do?contentId=526
www.set.or.th/education/th/start/start_start.pdf