สื่อที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

Posted by: krutassanee | พฤศจิกายน 20, 2012

สื่อกับพัฒนาการของวัยรุ่น

ให้นักเรียนอ่านบทความต่อไปนี้ พร้อมทั้งนำเสนอความคิดเห็นของตนเองในฐานะที่เป็นวัยรุ่นที่มีต่อสื่อในสังคมปัจจุบันลงในช่อง  ” ให้ความเห็น ” อย่างน้อย 10  บรรทัด  ด้วยถ้อยคำที่สุภาพ  ใช้เวลาประมาณ  20  นาที

สื่อที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

บทความเรื่อง  วัยรุ่นกับสื่อ  ภาพสะท้อนของผู้ใหญ่ในอนาคต

วัยรุ่นควรรับและใช้สื่ออย่างไรเพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต

วัยรุ่นควรเปิดรับและใช้สื่ออย่างหลากหลาย ตรงกับความสนใจของตนเองมากกว่าเปิดรับตามกระแส และควรนำเอาสิ่งดีๆทีได้จากสื่อมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ เข้าใจธรรมชาติและจุดประสงค์ของสื่อ รวมถึงการรู้จักควบคุมจิตใจของตนเองในการรับและใช้สื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้วัยรุ่นต้องระมัดระวังการใช้สื่อออนไลน์ ควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากบุคคลที่เราไม่รู้จัก ทั้งนี้ผู้ปกครองเด็กวัยรุ่นต้องคอยแนะนำการเลือกรับสื่อ ต้องเข้าใจ เข้าถึง ตามทัน และรู้เท่าทันสื่อเช่นเดียวกัน

  คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความ


“วัยรุ่นกับสื่อ : ภาพสะท้อนผู้ใหญ่ในอนาคต”

 
เมื่อสื่อกลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตวัยรุ่น วัยรุ่นควรบริโภคสื่ออย่างไรให้ได้ทั้งสุขและประโยชน์ในปัจจุบันถึงอนาคต

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนวันวาเลนไทน์โครงการมีเดียมอนิเตอร์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษาร่วมกับมูลนิธิไทยพีบีเอสและแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จัดกิจกรรมการสัมมนาเรื่อง “วัยรุ่นกับสื่อ : ภาพสะท้อนผู้ใหญ่ในอนาคต” ที่ลานกิจกรรม สสส.อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ชั้น 35 เพื่อให้ตัวแทนวัยรุ่นในช่วงวัย 15-20 ปีได้ระดมความคิดเห็นต่อประเด็นหรือโจทย์การสัมมนา

จากรายงานผลการศึกษาของ เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของวัยรุ่นต่างกลุ่ม” ที่เก็บข้อมูลด้วยวิธีการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับวัยรุ่นช่วงอายุ 15-20 ปีที่มีความแตกต่างกันทางด้านวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ผลการศึกษาพบว่า วัยรุ่นกลุ่มที่มีฐานะดีจะมีความ “ก้าวล้ำ” ติดตามสื่อ มีความพร้อมที่จะเปิดรับสื่อใหม่และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เปรียบเป็น “คุณหนูไซเบอร์” ส่วนวัยรุ่นที่มีฐานะปานกลางจะเลือกรับสื่อตามกระแสสังคม กับพยายามเข้าถึงสื่อทันสมัยซึ่งเปรียบเป็น กลุ่ม “ไฮเทค-เด็กแนว” สำหรับวัยรุ่นที่ทำงานหาเลี้ยงตนเองและศึกษานอกระบบ จะนิยมเปิดรับสื่อดั้งเดิมที่ง่ายต่อการเข้าถึง จุดมุ่งหมายเพื่อความบันเทิง มีเพื่อนเป็นสื่อใกล้ตัวที่สุด จึงเปรียบเป็นหรือเรียกได้ว่ากลุ่ม “แซบเว่อร์ เกลอแก๊ง”
“เพื่อน”เป็นสื่อบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อวัยรุ่นทุกกลุ่ม และเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปิดรับสื่อของวัยรุ่น ที่เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองและกลุ่มเพื่อน โดยสื่อที่วัยรุ่นนิยมเปิดรับ คือ สื่ออินเทอร์เน็ตซึ่งปัจจุบันกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของวัยรุ่นกลุ่มฐานะดีและฐานะปานกลางซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้อิสระในการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่น ในขณะที่วัยรุ่นกลุ่มที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพและศึกษานอกระบบจะนิยมเปิดรับสื่อโทรทัศน์มากกว่า
นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่มักเปิดรับสื่อมากกว่า 1 ประเภทในเวลาเดียวกัน เช่น การฟังวิทยุพร้อมเล่นเกม และการเล่นอินเทอร์เน็ตพร้อมดูโทรทัศน์ ทั้งวัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมเปิดรับเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมมากกว่าฟรีทีวี สำหรับบุคคลต้นแบบของวัยรุ่นที่ปรากฏในสื่อ คือ ดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง

สำหรับการศึกษาเรื่อง “ภาพวัยรุ่นในสื่อยอดนิยม” วิเคราะห์ภาพวัยรุ่นที่สะท้อนผ่านเนื้อหาสื่อที่วัยรุ่น (ช่วงอายุ 13-21 ปี) นิยมเปิดรับ โดยการศึกษานิยม 5 อันดับแรกของสื่อ 5 ประเภท คือ
•   สื่อภาพยนตร์ จากผลสำรวจของ Box Office เดือนมกราคม 2553-เมษายน 2554
•   สื่อเว็บไซต์ จากผลสำรวจของwww.truehits.net ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554
•   สื่อวิทยุ จากผลสำรวจของ AC Nielsen “สถานีวิทยุที่กลุ่มอายุ 12-14 ปี นิยมฟังมากที่สุดประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554”
•   สื่อนิตยสาร จากผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ “สุดยอดความนิยมของวัยรุ่นประจำปี 2552”
•   สื่อโทรทัศน์ จากผลสำรวจของ AC Nielsen “25 อันดับรายการยอดนิยมของผู้ชมที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ในฟรีทีวีประจำเดือนเมษายน 2554”
จากผลการศึกษาสามารถสรุปภาพวัยรุ่น 9 ลักษณะ ที่สะท้อนผ่านสื่อยอดนิยม คือ
1.วัยรุ่นสวย-หล่อ คือวัยรุ่นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอัตลักษณ์ทางกาย (Physical Identities) โดยผู้หญิงสวยต้องผิวขาว หน้าใส หุ่นผอมเพรียว แต่งตัวตามกระแสนิยม ผู้ชายหล่อต้องรูปร่างล่ำสัน แต่งตัวตามกระแสนิยม ต้นแบบความสวย-หล่อคือนักร้อง นักแสดงที่ปรากฏในสื่อ
2.วัยรุ่นวุ่นรัก คือ วัยรุ่นที่ต้องการความรัก ความสนใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องของความรักระหว่างหนุ่ม-สาว การมีแฟน มองความรักเป็นบทเรียนของชีวิต แม้ว่าจะอกหัก ผิดหวัง แต่ความผิดหวังนั้นจะทำให้เติบโต แข็งแกร่ง และมีมุมมองชีวิตใหม่ๆ
3.วัยรุ่นกลุ่มแก๊ง  คือ วัยรุ่นที่ให้ความสำคัญกับเพื่อน มักใช้เวลาส่วนใหญ่กับกลุ่มเพื่อนเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ  ไว้ใจ เชื่อใจในการปรึกษาและระบายเรื่องราวปัญหาต่างๆ ให้เพื่อนรับฟังและช่วยกันหาทางแก้ไข
4.วัยรุ่นนักช็อป  คือ  เป็นภาพวัยรุ่นที่สะท้อนผ่านโฆษณาและคอลัมน์ในสื่อยอดนิยม แสดงให้เห็นถึงความพยายามของวัยรุ่นในการสร้างตัวตน โดยการปรุงแต่งภาพลักษณ์ภายนอก ผ่านการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ จนเกิดเป็นพฤติกรรมบริโภคนิยม
5.วัยรุ่นไทยหัวใจเกาหลี  คือ วัยรุ่นที่นิยมเปิดรับวัฒนธรรมและค่านิยมเกาหลีจากละคร เพลง และภาพยนตร์ จนเกิดเป็นกระแส K-POP หรือ Korean Popular Culture ที่วัยรุ่นไทยพยายามลอกเลียนแบบดารา นักร้องเกาหลี ทั้งเรื่องหน้าตา ทรงผม การแต่งกาย การกิน เที่ยว การศึกษา
6.วัยรุ่นที่ชัดเจนในตัวเอง   คือ วัยรุ่นที่กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมายของตนเอง รู้ว่าตนเองชอบหรือต้องการในสิ่งใด ตามลักษณะคนวัย Generation Why (Y) ที่ต้องการการเรียนรู้ที่หลากหลายและพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีความคิดสร้างสรรค์ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีเป้าหมายในอาชีพการงาน หรือการเรียนที่ชัดเจน ตัวอย่างบุคคลต้นแบบของวัยรุ่นกลุ่มนี้ คือ นักร้อง นักแสดง
7.วัยรุ่นวัยเอ็กซ์  คือ วัยรุ่นที่สนใจเรื่องเพศ ตั้งแต่การปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศผ่านภาพถ่ายแฟชั่น อัลบั้มภาพ ไปจนถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งตามพัฒนาการช่วงวัยของวัยรุ่นนั้นจะเริ่มสนใจ และ เริ่มมีความต้องการทางเพศ เริ่มแสวงหาวิธีการแสดงออกทางเพศที่เหมาะสม แต่เนื้อหาที่สื่อยอดนิยมนำเสนอส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม
8.วัยรุ่นกับเรื่องลี้ลับ  คือ วัยรุ่นที่สนใจเนื้อหาความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ เรื่องลี้ลับที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ การทำนาย การพยากรณ์ดวงชะตา ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อความบันเทิง อาจเพราะช่วงวัยรุ่นเป็นวัยแห่งความอยากรู้อยากเห็น อยากแสวงหาคำตอบ ขณะที่เรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบตายตัว จึงเป็นที่สนใจของวัยรุ่น
9.วัยรุ่นกลุ่มทางเลือก  คือ วัยรุ่นที่มีความสนใจในเรื่องที่แตกต่าง เป็นประโยชน์ และไม่ตามกระแสวัยรุ่นส่วนใหญ่ แต่ภาพวัยรุ่นกลุ่มนี้มักได้รับพื้นที่ในสื่อยอดนิยมน้อยมาก อาจจำแนกวัยรุ่นกลุ่มทางเลือก ออกเป็น 1.วัยรุ่นหัวสร้างสรรค์ คือ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถประดิษฐ์สิ่งของที่มีอยู่เดิมให้แตกต่าง สวยงามในลักษณะ D.I.Y (Do It Yourself) 2.วัยรุ่นนอกกระแส (เด็กแนว) เป็นวัยรุ่นที่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ตามกระแส (แต่ไม่ต่อต้าน) รักการเรียนรู้ สนใจเรื่องราวที่หลากหลาย แตกต่างไปจากกระแสส่วนใหญ่ของสังคม 3.วัยรุ่นใฝ่รู้ คือ วัยรุ่นที่สนใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและเรื่องราวรอบตัวที่ส่งเสริมสติปัญญา ความรู้รอบตัว เช่น ข่าว เกร็ดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ 4.วัยรุ่นใฝ่ธรรม-ดี คือ วัยรุ่นที่สนใจในเรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การทำความดีที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
เมื่อ ภาพวัยรุ่นที่สะท้อนจากสื่อยอดนิยม มาเปรียบเทียบกับภาพอนาคตและคุณลักษณะคนไทย ที่มีผู้ทำการศึกษาไว้  คือ “มีทักษะด้านการรู้คิด รู้จักเลือกรับข้อมูลมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ มีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี รู้จักปรับตัว มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ ให้ความสำคัญกับจิตใจมากกว่าภาพลักษณ์ภายนอก เห็นคุณค่าความเป็นไทย มีจิตสำนึกประชาธิปไตยและจิตสาธารณะ” อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่วัยรุ่นวันนี้ พึงพัฒนาในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่ผู้ใหญ่ คือ “ความใฝ่รู้ ความสนใจเหตุการณ์รอบตัว ความสามารถเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการรับส่งข้อมูล ข่าวสารความบันเทิง ที่ไม่ใช่เพียงเพื่ออารมณ์ความรู้สึก เท่านั้น  ทั้งควรให้คุณค่าด้านจิตใจ ไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์ภายนอก มีความรู้ ความเข้าใจ และเท่าทันวิถีแห่งบริโภคนิยม และ อัตลักษณ์แห่งกลุ่มคนและเชื้อชาติ”

      สำหรับความเห็นของวิทยากรผู้ร่วมเสวนา อาจสรุปได้ ดังนี้

“ควรสนับสนุนสื่อพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของวัยรุ่น”

นางสาวไพรำ เอรัสสะ (น้องฟาง) นักเรียนโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ และตัวแทนกลุ่มลูกหว้า กล่าวว่า สังคมควรให้ความสนใจกับสื่อพื้นบ้านอย่าง หนังตะลุง ละครชาตรี เพราะสื่อพื้นบ้านช่วยสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้คนมารวมตัวกัน ในขณะที่สื่อกระแสหลักไม่ได้ส่งเสริมเรื่องดังกล่าว เพราะต่างคนต่างเปิดรับสื่อกันคนละที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จากการจัดกิจกรรม “เพชรบุรีดีจัง” ของกลุ่มลูกหว้า พบว่าวัยรุ่นค่อนข้างให้ความสนใจกับสื่อพื้นบ้าน แต่ผู้ผลิตสื่อกระแสหลักขาดการนำเสนอในส่วนนี้

                                                      “หัวใจสำคัญในการบริโภคสื่อ คือ การคิด วิเคราะห์ แยกแยะ”

นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวถึงเรื่องสื่อพื้นบ้านว่าหากมีการวางแผนจัดการดีๆ ก็สามารถนำสื่อพื้นบ้านมาพัฒนาได้ ซึ่งจะทำให้เกิดสื่อที่หลากหลายและอาจเป็นการจุดประกายกระแส T-POP (Thai Popular Culture) ให้เป็นที่นิยมแทนกระแส K-POP (Korean Popular Culture) ในปัจจุบัน
   สื่อกับวัยรุ่น ปัญหาของเด็กวัยรุ่นปัจจุบัน คือ ขาดการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้วัยรุ่นสนุกกับการคิด วิเคราะห์ แยกแยะผ่านสื่อต่างๆ เราสามารถประยุกต์เรื่องเหล่านี้เข้าไปในสื่อบันเทิง หรือนำความบันเทิงเข้ามาสอดแทรกในสื่อที่มีสาระได้หรือไม่ รวมถึงการสนับสนุนให้เด็กวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อพัฒนาศักยภาพทางความคิดของเด็ก

“การตัดสินใจเปิดรับสื่อของวัยรุ่นเป็นการตัดสินใจตามเหตุผล อารมณ์ หรือตามกระแส”
คุณนิรมล เมธีสุวกุล กรรมการบริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด กล่าวว่าวัยรุ่นช่วงอายุ 12-15 น่าสนใจเพราะเป็นช่วงวัยที่ยังต้องการปรึกษาพึ่งพาพ่อแม่ครูอาจารย์ ส่วนวัยที่ทำการศึกษากว่า คือ ช่วง 15 – 20 ปีเป็นวัยที่เริ่มมีชีวิตเป็นของตัวเองแล้ว ดังนั้นพฤติกรรมการรับสื่อของวัยรุ่นกลุ่มนี้อาจสะท้อนพฤติกรรมการรับสื่อของคนช่วงวัยอื่นๆ ได้เช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ วัยรุ่นสามารถแยกแยะการรับสื่อได้เองจริงหรือไม่ วัยรุ่นบางคนบอกรู้เท่าทันสื่อแต่ก็ยังทำตามสื่อเป็นเพราะต้องการทำตามกระแสหรือความต้องการของตัวเอง ในขณะที่บางคนรู้เท่าทันสื่อและเลือกรับสื่อที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับตนเอง สุดท้ายแล้วการตัดสินใจเปิดรับสื่อของวัยรุ่นเป็นการตัดสินใจตามเหตุผล อารมณ์ หรือตามกระแส
   วัยรุ่นควรใช้ชีวิตให้เหมือนนก ที่บินอยู่บนท้องฟ้า เห็นอะไรน่าสนใจก็โฉบลงไป  แล้วบินต่อเพื่อมองหาสิ่งที่น่าสนใจต่อไปเพราะถ้าเรารู้มากเราก็จะมีทางเลือกมาก และถ้าวัยรุ่นอยากเห็นสื่อในฝันก็ต้องลงมือทำ

“วัยรุ่นปัจจุบันกำลังตกเป็นเหยื่อของทุนนิยม”
คุณสุผจญ กลิ่นสุวรรณ รองบรรณาธิการฝ่ายข่าวภาคภาษาอังกฤษ สถานีไทยพีบีเอส กล่าวว่า วัยรุ่นในปัจจุบันกำลังตกเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมผ่านการบริโภคสินค้าซึ่งมีการโฆษณาผ่านสื่อกระแสหลักที่หวังผลกำไรจากผู้บริโภค การตลาดในปัจจุบันให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การสร้างชื่อเสียง (reputation) สินค้าหลายแบรนด์ค้นหาวิธีการเพื่อให้ผู้บริโภคจดจำและเกิดความประทับใจ จนนำไปสู่การเลือกบริโภค เช่น บริษัท apple ผลิต free application ออกมาให้เป็นที่รู้จัก ให้เห็นถึงความพิเศษของสินค้าเพื่อดึงดูดให้คนซื้อ iPhone ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ เราจะต้องรู้เท่าทันสื่อและสามารถต่อต้านสื่อที่ไม่ดีได้ ส่วนเรื่องสื่อพื้นบ้าน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำสื่อสมัยใหม่มาผสมผสานกับสื่อพื้นบ้าน เช่น การผสมผสานเพลงไทย-สากลกับเพลงลูกทุ่งหมอลำ แต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดและผลกำไรเป็นหลักเนื่องจากทางบริษัทผู้ผลิตได้ทำการสำรวจตลาดแล้วว่าเพลงเหล่านี้สามารถขายได้

                                   “วัยรุ่นทุกคนที่รับสื่อต่างก็มีทางเลือก แต่จะทำอย่างไรให้วัยรุ่นได้สิทธิเหล่านี้”
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบัน ราชานุกูล กล่าวว่า กระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะสื่อของ วัยรุ่นอาจเกิดได้ยาก เนื่องจากสื่อปัจจุบันมีหลากหลายประเภท หลายช่องทาง และเกือบทั้งหมดค่อนข้างชี้นำวัยรุ่นไปในทางเดียวกัน คือ สื่อสร้างกรอบ วิธีคิด และภาพบางอย่างให้กับคนรุ่นว่าอะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ ดังนั้นผู้รับสื่อจึงไม่เกิดการคิดวิเคราะห์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ววัยรุ่นทุกคนที่รับสื่อต่างก็มีทางเลือก แต่จะทำอย่างไรให้วัยรุ่นได้สิทธิเหล่านี้
สื่อควรเป็นทางเลือกที่จะทำให้วัยรุ่นได้รับประสบการณ์บางอย่างที่ถูกต้องและชัดเจน สื่อควรให้มุมมองที่แตกต่างไปจากที่เรามี เพื่อให้เกิดการผสมผสานระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ สื่อควรเปิดพื้นที่แบบกลุ่มเพื่อน และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้วัยรุ่นสามารถเลือกเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้สื่อยังควรป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ความสุข สื่อควรให้พื้นที่เพื่อตอบสนอง หรือให้ความรู้ความเข้าใจกับวัยรุ่นในเรื่องความรัก เรื่องเพื่อน เรื่องการเรียน เรื่องความสัมพันธ์กับครอบครัวและผู้ใหญ่
   

“ถ้าเราไม่อยากให้สังคมในอนาคตเต็มไปด้วยคนที่มีปัญหาเรื่องเพศ เรื่องการบริโภค เราก็ต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้”
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานกรรมการมูลนิธิไทยพีบีเอส กล่าวว่า สมองของวัยรุ่นอยู่ในช่วงเวลาของการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ในปัจจุบันเป็นการเรียนรู้แบบผิดๆ ที่มาจากสื่อและเพื่อน ดังนั้นทางออกที่จะทำให้วัยรุ่นเรียนรู้ได้ดี คือ การสร้างสื่อสาธารณะที่เข้มแข็งเพราะปัจจุบันสื่อกระแสหลักของไทยเป็นสื่อพาณิชย์ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบมาก
   การสนับสนุนให้วัยรุ่นทำกิจกรรมตามความชอบและความสนใจจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องค่านิยมของวัยรุ่นที่เกิดจากสื่อไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางเพศ หรือค่านิยมทางวัตถุ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเราไม่อยากให้สังคมในอนาคตเต็มไปด้วยคนที่มีปัญหาเรื่องเพศ เรื่องการบริโภค เราก็ต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ในยุคแห่งสื่อทางเลือกในปัจจุบันสามารถเปิดช่องทางให้วัยรุ่นผลิตสื่อได้เอง ซึ่งสื่อที่ผลิตจากวัยรุ่นสู่วัยรุ่นจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี เพราะคนผลิตและคนรับมีความคิดความต้องการที่ตรงกัน

ในช่วงของการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นของวัยรุ่นที่เข้าร่วมการเสวนา วัยรุ่นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มภาคอีสาน กลุ่มเพชรบุรี กลุ่มกาญจนบุรี กลุ่มชลบุรี และกลุ่มกรุงเทพฯ ได้สะท้อนมุมมอง ต่อ 4 ประเด็น สรุปได้ดังนี้

1.ภาพวัยรุ่นที่สะท้อนออกมาในสื่อเป็นอย่างไร
   กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่มองว่าภาพวัยรุ่นที่สื่อสะท้อนออกมาไม่ใช่ภาพวัยรุ่นในความเป็นจริงทั้งหมด สื่อนำธรรมชาติบางส่วนของวัยรุ่นมาต่อยอดทางความคิดเพื่อสร้างกระแสนิยมจูงใจให้เกิดการบริโภคสินค้า เช่น ใช้ความสนใจเรื่องรูปร่างหน้าตา การมีผิวขาวของวัยรุ่นมาเป็นจุดขายผลิตภัณฑ์ การนำเรื่องการเรียนของวัยรุ่นมาเป็นจุดขายเครื่องดื่มบำรุงสมอง นอกจากนี้สื่อยังหยิบยกวัยรุ่นเพียงกลุ่มเดียวมานำเสนอ คือ วัยรุ่นสวย หล่อ หุ่นดี
   ในขณะที่บางกลุ่มมองว่าภาพวัยรุ่นที่ปรากฏในสื่อไม่ได้สะท้อนภาพวัยรุ่นจริงๆ แต่วัยรุ่นถูกเจ้าของธุรกิจนำมาใช้เป็นพรีเซนเตอร์ในการขายของโดยการสร้างบุคลิกลักษณะขึ้นมา ทั้งที่วัยรุ่นในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

2.วัยรุ่นทางเลือกควรจะเป็นอย่างไร และทำอย่างไรวัยรุ่นจึงจะเท่าทันสื่อ
   กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าวัยรุ่นทางเลือกต้องเป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าทำสิ่งต่างๆตามความชอบและความสนใจของตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ทันสมัย แต่ไม่ตามกระแสนิยมมากเกินไป การเลียนแบบไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องรู้จักเลือกเลียนแบบอย่างถูกต้องและเหมาะสม อะไรที่ดีก็ควรนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง และสังคม ส่วนอะไรที่ไม่ดีก็ไม่ควรทำตาม
   อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นทางเลือกหรือเด็กแนวในปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่วัยรุ่นทางเลือกที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการพยายามทำตัวให้เหมือนเด็กแนวผ่านการแต่งกายและการแสดงท่าทางซึ่ง
”ความแนว” เป็นเพียงภาพภายนอกเท่านั้น
   ประเด็นเรื่อง “ทำอย่างไรวัยรุ่นจะเท่าทันสื่อ” กลุ่มวัยรุ่นเสนอว่า วัยรุ่นควรลงมือทำสื่อด้วยตัวเองเพราะจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการทั้งหมด ทำให้รู้ว่าสื่อให้กลยุทธ์อย่างไรในการจูงใจ ทำให้เข้าใจจุดประสงค์ของสื่อ อย่างไรก็ดี มีข้อเสนอว่า วัยรุ่นควรการเปิดรับสื่ออย่างหลากหลาย แต่วัยรุ่นควรได้รับการพัฒนาให้รู้ท่าทันสื่อ เพื่อสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดีในสื่อ การรู้เท่าทันสื่อจะเป็นภูมิคุ้มกันให้วัยรุ่นพร้อมรับมือกับสื่อ และสามารถเปิดรับสื่อได้ทุกรูปแบบ

3.วัยรุ่นต้องการสื่อแบบไหน และควรใช้สื่ออย่างไรเพื่อให้เกิดความสุข (ในปัจจุบัน)
   กลุ่มวัยรุ่นต้องการสื่อที่รายงานความจริง ไม่นำเสนอข่าวสารด้านเดียว สื่อที่สนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาการและสามารถตอบสนองความต้องการและความสนใจของวัยรุ่นได้อย่างหลากหลาย สื่อที่ให้ความบันเทิงควบคู่ไปกับสาระความรู้ ทั้งเรื่องของการศึกษา ประเพณี วัฒนธรรม สื่อที่ไม่มีความรุนแรง สื่อที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเป็นช่องทางให้กลุ่มที่มีจิตอาสาได้รวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม รวมถึงการสนับสนุนให้มีรายการปรึกษาปัญหาวัยรุ่นที่มีผู้ดำเนินรายการเป็นวัยรุ่นด้วยกัน เหมือนพูดคุยปรึกษาปัญหากับเพื่อน การที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ติดเฟซบุ๊ค เป็นเพราะเหงา ไม่มีเพื่อนพูดคุย
   การใช้สื่อให้เกิดความสุขควรใช้เพื่อเป็นช่องทางแสดงความสามารถของตนเองในทางสร้างสรรค์ และควบคุมระยะเวลาการเปิดรับสื่อให้เหมาะสม ไม่ใช้สื่อมากเกินไปจนเกิดการเสพติดสื่อ อีกทั้งวัยรุ่นควรมองสื่อให้ลึกถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ผลิตสื่อ มองเห็นแง่คิดและคติสอนใจต่างๆที่แฝงมาในสื่อ ไม่ใช่เปิดรับเฉพาะความบันเทิงเท่านั้น

4.วัยรุ่นควรรับและใช้สื่ออย่างไรเพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต
   วัยรุ่นควรเปิดรับและใช้สื่ออย่างหลากหลาย ตรงกับความสนใจของตนเองมากกว่าเปิดรับตามกระแส และควรนำเอาสิ่งดีๆทีได้จากสื่อมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ เข้าใจธรรมชาติและจุดประสงค์ของสื่อ รวมถึงการรู้จักควบคุมจิตใจของตนเองในการรับและใช้สื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้วัยรุ่นต้องระมัดระวังการใช้สื่อออนไลน์ ควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากบุคคลที่เราไม่รู้จัก ทั้งนี้ผู้ปกครองเด็กวัยรุ่นต้องคอยแนะนำการเลือกรับสื่อ ต้องเข้าใจ เข้าถึง ตามทัน และรู้เท่าทันสื่อเช่นเดียวกัน

สรุปสาระสำคัญจากการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการสัมมนาที่เป็นวัยรุ่น
คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สรุปสาระสำคัญจากการนำเสนอของกลุ่มเยาวชนซึ่งมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น คือ ภาพวัยรุ่นในสื่อ วัยรุ่นมีธรรมชาติของตัวเอง ภาพวัยรุ่นที่ปรากฏในสื่อไม่ได้ครอบคลุมความเป็นวัยรุ่นทั้งหมด สิ่งที่สื่อนำเสนออาจเป็นความจริงเพียงบางส่วน และบางสื่อเลือกนำเสนอภาพวัยรุ่นที่ไม่ตรงกับความจริง ภาพลักษณ์วัยรุ่นภายนอกที่ดูเหมือนบริโภคนิยมตามกระแส แต่ความจริงแล้ววัยรุ่นไม่ได้ตามกระแสหมดทุกเรื่อง ไม่ได้ซื้อหรือเลียนแบบสื่อทุกอย่าง

วัยรุ่นควรจะเป็นอย่างไร วัยรุ่นต้องมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองไม่ตามกระแส มีความมั่นใจ รู้ความต้องการหรือค้นพบจุดเด่น จุดที่ดีของตัวเอง วัยรุ่นต้องทันสมัยไม่ตกยุค รู้จักใช้ รู้จักเลือก การใช้เทคโนโลยีสื่อสารต้องใช้อย่างรู้เท่าทัน สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะสิ่งที่สื่อนำเสนอได้ 

การรู้เท่าทันสื่อ การรับสื่อจะต้องหาข้อมูลจากหลายๆ ด้านอย่ารับข้อมูลเพียงด้านเดียว ติดตามสื่อและเปิดรับสื่ออย่างหลากหลายทั้งสื่อดีและไม่ดีเพื่อให้เห็นความแตกต่าง แต่ต้องเลือกรับในส่วนที่ดีและเป็นประโยชน์กับตัวเอง ต้องรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะเนื้อหาสื่อ และต้องใช้เวลากับสื่ออย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้เวลามากเกินไปจนไม่ได้ทำกิจกรรมอย่างอื่น การรู้เท่าทันสื่อของวัยรุ่นจะต้องมีการสร้างให้เกิดกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ เช่น การจัดอบรม การมีหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียน การมีผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างที่ดี พ่อแม่ต้องให้คำแนะนำกับลูกได้

สื่อแบบไหนที่วัยรุ่นต้องการ สื่อในความต้องการของวัยรุ่น ต้องเป็นเรื่องที่วัยรุ่นสนใจ ไม่ใช่เป็นความสนใจของผู้ใหญ่หรือของผู้ผลิต ผู้ผลิตสื่อต้องเข้าใจความสนใจของวัยรุ่นตามวัยว่ามีอะไรบ้าง วัยรุ่นต้องการสื่อที่มีความบันเทิงควบคู่ไปกับสาระ แต่ต้องไม่รุนแรง ต้องการสื่อที่ช่วยเสริมศักยภาพการพัฒนา ซึ่งอาจจะเป็นกีฬา ดนตรี โดยเฉพาะสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียน และต้องไม่มีโฆษณาแฝง วัยรุ่นต้องการพื้นที่สื่อที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถ และหากได้มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อด้วยจะทำให้เกิดการเรียนรู้และได้สื่อที่ตรงกับความต้องการของวัยรุ่นจริงๆ 

การใช้สื่อเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิตปัจจุบันและอนาคต การใช้สื่อจะต้องเข้าใจและรู้จักใช้อย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้เวลากับสื่อบางสื่อมากไป เช่น อินเทอร์เน็ต ทีวี ควรเปิดรับสื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อดี สื่อไม่ดี และต้องรู้จักเลือกสิ่งที่ดีนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ระวังอย่าให้ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นเครื่องมือการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อหรือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งบางทีอาจจะเกิดผลกระทบในระยะยาวที่เราคาดไม่ถึง

                                                      “”””””””””””””””””””
ข้อมูลข่าวจาก   สัมมนาเรื่อง “วัยรุ่นกับสื่อ : ภาพสะท้อนผู้ใหญ่ในอนาคต” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมามีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับมูลนิธิไทยพีบีเอส และแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)   โดยสาระสำคัญในการสัมมนาเป็นเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนในช่วงวันวาเลนไทน์

สื่อที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

อัจฉราวดี บัวคลี่

เคยเขียนข่าว สารคดี เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ เคยรายงานข่าววิทยุ สำนักข่าวไทย อสมท. ตอนนี้เป็นทำงานอยู่สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส ทำข่าว ข้อมูล ประสานเครือข่าย ฝีกอบรม สร้างพื้นที่สื่อสารสาธารณะ

สื่อใดมีอิทธิพลต่อการใช้ความรุนแรงของวัยรุ่นมากที่สุด

๑) สื่อลามก เช่น หนังสือโป๊หนังสือการ์ตูนลามก หนังสือที่มีภาพ โป๊วีซีดีลามกซึ่งสื่อเหล่านี้หาซื้อได้ง่าย และเมื่อวัยรุ่นส่วนใหญ่ได้เสพสื่อ เหล่านี้แล้ว ก็เป็นเหตุที่จะนาไปสู่การกระทารุนแรงทางเพศได้ ๒) ภาพยนตร์ที่นาเสนอความรุนแรง เช่น วีซีดีหรือดีวีดีภาพยนตร์ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อสู้ ฆ่าฟันกัน

สื่อที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในวัยรุ่นมีกี่ประเภท

สื่อโฆษณามีรูปแบบหลากหลายในการจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการ ของตนโดยผ่านสื่อหลายประเภท สื่อโฆษณาที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของวัยรุ่น มีดังนี้ 1. โทรทัศน์ 2. วิทยุ 3. สื่อสิ่งพิมพ์ 4. สื่ออินเทอร์เน็ต สื่อโฆษณาที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ วัยรุ่นดูสื่อโฆษณา

สื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นอย่างไร

โทรทัศน์มีความสัมพันธ์สูงต่อการมีทัศนคติที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่นหรือต่อต้านสังคม การดูโทรทัศน์มากเกินไปนำไปสู่การบริโภคเกินความจำเป็น อิทธิพลของโทรทัศน์มีผลต่อการบ่มเพาะค่านิยมและพฤติกรรมทางเพศ เด็กที่ติดโทรทัศน์จะเป็นเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวน ขี้โมโห เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมและทัศนคติแบบผิดๆ

สื่อที่มีอิทธิพลต่อการใช้ความรุนแรงมีอะไรบ้าง

3. สื่อทางลบ คือ สื่อที่อาจทาให้ผู้เสพเกิดพฤติกรรมทางลบได้ สื่อทางลบที่เป็นปัญหา อยู่ในสังคมไทย มีดังนี้ 1. สื่อลามก 2. ภาพยนตร์ที่นาเสนอความรุนแรง 3. ละครโทรทัศน์ที่นาเสนอความรุนแรง 4. ข่าวเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง 5. หนังสือพิมพ์ที่มีภาพและเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงและการโฆษณาชวนเชื่อ