บริษัทที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง


 ประเด็นสำคัญ

•    การลงทุนของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศโดยการสร้างรายได้
     และการจ้างงานและยังก่อให้เกิดผลดีทางอ้อมผ่านทางการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต 
•    การศึกษาบทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบและประโยชน์ที่ธุรกิจและ
      ประเทศได้รับจากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ 
•    ประเด็นหลักที่บทความนี้ต้องการเน้นคือขนาดของประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการลงทุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายและปัจจัย
     พื้นฐานของประเทศด้วยเช่นความพร้อมของอุตสาหกรรมและทรัพยากรมนุษย์ในประเทศซึ่งในจุดนี้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควร
     ให้การสนับสนุนและส่งเสริม นอกจากนี้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมไฮเทคและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเพิ่ม 
     ก็เป็นอีกช่องทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมภายในประเทศ 


* สรุปและเรียบเรียงจากรายงานการวิจัยโครงการบทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยของดร.เดือนเด่นนิคมบริรักษ์และคณะ (2550) และเอกสารประกอบอื่นๆ (ศศิเพ็ญภูวพานิช: ผู้สรุปและเรียบเรียง)

1. บทนำ 

             การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ1980sหลังจากข้อตกลงPlaza Accord (1985) บริษัทข้ามชาติ (MNEs) ส่วนใหญ่จากญี่ปุ่นมีการโยกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ไทยใช้นโยบายส่งเสริมการส่งออกช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศทำให้การส่งออกขยายตัวอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจไทยเติบโตสูงเฉลี่ยจนถึงก่อนวิกฤติการเงินในเอเชียในอัตราประมาณร้อยละ10 ต่อปี 

              การกระจายตัวของการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยมีการกระจุกตัวอยู่ในสาขาการผลิตเช่นยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงอุตสาหกรรมที่สนับสนุน 2อุตสาหกรรมข้างต้นและภาคบริการเช่นธุรกิจการค้าโดยประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยได้แก่ญี่ปุ่นสหรัฐฯกลุ่มประเทศยุโรปและอาเซียนแม้ว่าในภาพใหญ่ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยแต่การที่บริษัทข้ามชาติมีการกระจุกตัวอยู่ในหลายภาคเศรษฐกิจและในหลายกรณีมีแนวโน้มที่จะมีผลประกอบการที่ดีกว่าบริษัทของคนไทยเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับประโยชน์ที่คนไทยได้รับจากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในประเทศในปัจจุบันที่กระแสเงินลงทุนจากสหรัฐฯญี่ปุ่นยุโรปและประเทศอื่นๆในเอเชีย เข้ามาในไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นการทำความเข้าใจกับการทำธุรกิจของบริษัทข้ามชาติและผลกระทบต่อไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกับการวางแผนและนโยบายของภาครัฐเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์จากการเข้ามาของธุรกิจต่างชาติมากที่สุด    

              บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยมีเนื้อหาที่นำเสนอแบ่งออกเป็น3 ส่วนหลักๆส่วนแรกเป็นบทบาทของบริษัทข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนที่สองเป็นการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติผ่านการมองการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยีส่วนที่สามเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
 


1Plaza Accord (1985) เป็นข้อตกลงร่วมระหว่าง5ประเทศคือ สหรัฐฯเยอรมันฝรั่งเศสญี่ปุ่นและอังกฤษเพื่อแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโดยการลดค่าเงินดอลลาร์ซึ่งมีผลทำให้หลังจากนั้นเกิดกระแสที่บริษัทญี่ปุ่นออกมาลงทุนนอกประเทศเป็นจำนวนมาก 

2. บทบาทของบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมไทย

            ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นไปในรูปแบบที่แทบจะเรียกได้ว่าไร้พรมแดนธุรกิจมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแรงงานการผลิตการตลาดในประเทศที่เข้าไปลงทุนโดยบางธุรกิจอาจใช้รูปแบบเครือข่ายการผลิตข้ามชาติ (Global Production Network) ในการวางแผนลงทุนในประเทศต่างๆตามกลยุทธ์ของบริษัทแม่ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งนี้ตามคำนิยามของ UNCTAD บริษัทข้ามชาติคือบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดน (มากกว่า 1 ประเทศ) โดยการดำเนินงานเป็นไปภายใต้กลยุทธ์และนโยบายของบริษัทแม่ซึ่งโดยทั่วไปในการนับบริษัท/หน่วยธุรกิจที่เป็นเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติมักใช้เกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไปหรือเทียบเท่าซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มีผลต่ออำนาจในการบริหาร

             ในประเทศไทยเนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการผลิตที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปในภูมิภาคบทบาทของบริษัทข้ามชาติในไทยจึงเห็นได้ค่อนข้างชัดในแง่ของการส่งออกจากตารางที่ 1 ในภาคอุตสาหกรรมบริษัทต่างชาติมีส่วนแบ่งการส่งออกโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 58.9 ของการส่งออกทั้งหมดโดยในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องอุปกรณ์ขนส่งที่รวมกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณร้อยละ 37 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศในสองอุตสาหกรรมนี้บริษัทต่างชาติมีส่วนแบ่งในการส่งออกสูงถึงร้อยละ 88.1 และร้อยละ 86.4 ตามลำดับ กล่าวได้ว่าบริษัทข้ามชาติเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการส่งออกและสร้างรายได้ให้กับประเทศซึ่งกำไรส่วนหนึ่งอาจถูกนำกลับมาลงทุนต่อในแง่มหภาคผลจากการลงทุนต่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลดีต่อดุลการค้าและดุลการชำระเงินของไทยนอกจากนี้ภาครัฐยังได้ประโยชน์ในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งบริษัทต้องจ่ายในอัตราร้อยละ30 ของผลกำไร


ตารางที่ 1: บทบาทของบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมไทย

บริษัทที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง

ที่มา: เดือนเด่นนิคมบริรักษ์และคณะ (2550)

           แม้ว่าบริษัทข้ามชาติมีการกระจุกตัวสูงเมื่อดูจากส่วนแบ่งผลผลิตในหลายสาขาอุตสาหกรรมดังที่แสดงในตารางแต่การที่มีบริษัทข้ามชาติหลายบริษัทในอุตสาหกรรมก็ทำให้ไม่เกิดการผูกขาดของตลาด เนื่องจากมีการแข่งขันระหว่างบริษัทข้ามชาติด้วยกันเองเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทไทยบริษัทข้ามชาติมีแนวโน้มที่จะมีผลประกอบการที่เหนือกว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะการประหยัดต่อขนาดประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารอย่างไรก็ตามในงานของKohpaiboon (2009) พบว่าข้อสรุปที่ว่าผลิตภาพแรงงานในโรงงานที่เป็นของบริษัทต่างชาติสูงกว่าในโรงงานไทยอาจไม่เป็นจริงเสมอไป เนื่องจากตัวผลิตภาพขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการใช้ทุนต่อแรงงานด้วยโดยโรงงานที่เป็นของต่างชาติมีการใช้ทุนเข้มข้น (Capital Intensive) ในขณะที่โรงงานไทยยกเว้นกลุ่มที่มีเจ้าของเป็นบริษัทใหญ่มักมีการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าดังนั้นสัญชาติของกิจการจึงอาจไม่ใช่ปัจจัยตัดสินแต่เป็นลักษณะของการผลิตและการลงทุนที่มีผลต่อผลิตภาพและการดำเนินงานของกิจการนั้นๆ  

           นอกเหนือไปจากรายได้จากการส่งออกและภาษีผลกระทบทางด้านบวกอีกประการจากการที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในไทยคือการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งตามเงื่อนไขของสำนักตรวจคนเข้าเมืองบริษัทต้องจ้างแรงงานคนไทย 4 คนต่อแรงงานต่างชาติ 1 คน (อัตราส่วน 4:1) ยกเว้นกรณีที่บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยการที่บริษัทต่างชาติมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยร้อยละ 34.9 ของการจ้างงานทั้งหมดซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าส่วนแบ่งของผลผลิตเฉลี่ยร้อยละ 48.3 สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของการผลิตของบริษัทข้ามชาติที่เป็นแบบเน้นใช้ทุนเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทไทยทว่าในอีกด้านตัวเลขการจ้างงานที่ประเมินจากสำมะโนอุตสาหกรรมอาจเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากในการพิจารณาผลกระทบทางด้านการจ้างงานควรต้องมีการนับรวมผลของการจ้างงานทางอ้อมซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศหรือLinkage Effectร่วมด้วยเช่นการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ก่อให้เกิดผลดีต่อการจ้างงานในภาคการผลิตยางรถยนต์และการปลูกยางซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องด้วยเป็นต้น

            ด้านผลกระทบทางสังคมในงานศึกษาของ เดือนเด่นนิคมบริรักษ์และคณะ (2550) ที่ได้มีการวิเคราะห์บทบาทของบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมไทยใน7อุตสาหกรรม (อาหารแปรรูปและผักผลไม้กระป๋อง,ผลิตภัณฑ์ยาง,กิจการขยายพันธุ์พืชยานยนต์และชิ้นส่วน,บริการด้านกฎหมาย,บริการด้านบัญชี,ธุรกิจพลังงาน) จากการศึกษาพฤติกรรมและวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดนอกจากจะไม่พบว่าบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในอุตสาหกรรมข้างต้นมีพฤติกรรมการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันแต่อย่างใดตามที่ได้กล่าวไปแล้วทางด้านผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมก็พบว่ากฎระเบียบภายในประเทศเป็นปัจจัยที่กำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมมากกว่าสัญชาติของบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างชาติต่างก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ที่เข้มงวดจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการบรรเทาหรือลดผลกระทบของการลงทุนผลิตต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 

3. การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกิดขึ้นจริงหรือ

3.1    การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศ

         การวิเคราะห์ผลกระทบของภาคการผลิตต่อระบบเศรษฐกิจทำได้โดยการมองการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมผ่านซัพพลายและดีมานด์ของสินค้าขั้นกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2แบบแบบที่หนึ่งคือการเชื่อมโยงไปข้างหน้า(Forward linkage) เกิดขึ้นเมื่อสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทข้ามชาติ (MNEs) ถูกใช้เป็นวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตของผู้ผลิตไทยการเชื่อมโยงไปข้างหน้านี้มักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการลงทุนในภาคการเกษตรและการผลิตสินค้าขั้นปฐมภูมิในอุตสาหกรรมต้นน้ำเช่นเหล็ก โดยสินค้าที่ผลิตได้จะถูกนำไปใช้เป็นสินค้าขั้นกลางในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของผู้ผลิตในประเทศซึ่งในประเทศไทยด้วยลักษณะของการลงทุนของบริษัทข้ามชาติที่มักเข้ามาในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเพื่อส่งออกและการผลิต/ประกอบสินค้าขั้นสุดท้ายทำให้ผลกระทบต่อุตสาหกรรมภายในประเทศผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้าจึงอาจไม่เด่นชัดนักเมื่อเปรียบเทียบกับความเชื่อมโยงในรูปแบบต่อไป

          ในการเชื่อมโยงรูปแบบที่สองซึ่งคือ ความเชื่อมโยงไปข้างหลัง(Backward linkage) เกิดขึ้นจากการที่ MNEs ใช้สินค้าขั้นกลางที่ผลิตโดยผู้ผลิตท้องถิ่นทำให้ซัพพลายเออร์ในประเทศได้รับประโยชน์จากการลงทุนผลิตของMNEs ตัวอย่างเช่นโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตรถยนต์ในไทยผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นบริษัทต่างชาติหรือร่วมทุนจำนวนประมาณ 23 บริษัท มีซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ใน tier ต่างๆจำนวนกว่า 2,289 รายโดยบริษัทไทยและบริษัทที่ไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีสัดส่วนร้อยละ 53 ของจำนวนซัพพลายเออร์ในtier-1 ทั้งหมดและที่เหลือเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในtier-2 และ 3 ลงไป 
 

รูปที่ 1: ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

บริษัทที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง
ที่มา: Thailand Auto Parts & Accessories (TAPA 2010) ASEAN Auto Parts Sourcing Hub, A Frost & Sullivan Whitepaper

           ความเชื่อมโยงในแต่ละอุตสาหกรรมมีระดับที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการตั้งแต่ลักษณะของอุตสาหกรรมความพร้อมของคลัสเตอร์ซัพพลายเออร์ในประเทศไปจนถึงนโยบายของภาครัฐในอุตสาหกรรมเช่นอิเล็กทรอนิกส์ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมมีความเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในภูมิภาคมากกว่ากับผู้ประกอบการในประเทศสาเหตุเนื่องจากการผลิตต้องใช้ชิ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีสูงและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุนเช่นงานโลหะ แม่พิมพ์พลาสติกไม่สามารถซัพพลายได้เพียงพอหรือสินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการทำให้ต้องใช้สินค้าขั้นกลางนำเข้าเป็นสัดส่วนที่สูงโดยการนำเข้าได้รับประโยชน์ทางภาษีเนื่องจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนขณะที่ทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะการผลิตรถปิคอัพมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (local content) ค่อนข้างสูง ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์มีความพิเศษกว่าอุตสาหกรรมอื่นตรงที่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสนับสนุนมีรากฐานจากการใช้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศช่วงก่อนบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในยุคนั้นที่ไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศได้จึงต้องพัฒนาซัพพลายเออร์ในประเทศเองส่งผลให้มีการใช้ชิ้นส่วน/ส่วนประกอบในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

3.2 การถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัทข้ามชาติ

           ประโยชน์ทางอ้อมจากการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประโยชน์ทางตรงซึ่งเกิดจากรายได้และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Spillover effect) ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) และความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาวการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศมีช่องทางหลักในการส่งผ่าน 3 ช่องทางด้วยกัน ช่องทางแรกผ่านการเรียนรู้โดยการเลียนแบบจากการเห็นบริษัทต่างชาติใช้เทคโนโลยีวิธีการผลิตหรือการตลาดนั้นๆ (Demonstration effect) เช่นในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูป (สับปะรดกระป๋อง,ทูน่า) ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ1 ของโลกนั้นเดิมทีผู้ประกอบการไทยไม่เห็นโอกาสในการผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อการส่งออกจนกระทั่งบริษัทต่างชาติเข้ามา และการเข้ามาของบริษัทต่างชาติผลักดันให้ผู้ผลิตในประเทศต้องกระตือรือร้นในการปรับปรุงวิธีการผลิตและดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Competition effect) 

           ช่องทางที่ 2 การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหรรมเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีในแนวตั้ง (Vertical spillover) ผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตในขั้นต่างๆ โดยที่พบส่วนมากจะเน้นไปที่ความเชื่อมโยงไปข้างหลังของMNEs กับการผลิตขั้นกลางต้นน้ำเช่นกรณีของบริษัทข้ามชาติสัญชาติญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งบริษัทมีความต้องการใช้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบจากซัพพลายเออร์ในประเทศทำให้ซัพพลายเออร์เหล่านี้ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตและการจัดการเพื่อรองรับความต้องการซึ่งนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพโดยทาง MNEs อาจมีการฝึกอบรมและให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคแก่ซัพพลายเออร์เพื่อให้ผลิตสินค้าได้สินค้าที่ได้คุณภาพตามคำสั่งซื้อสำหรับรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างMNEs กับซัพพลายเออร์นั้นไม่จำเป็นที่MNEs จะต้องมีส่วนในกิจการของซัพพลายเออร์เสมอไปเช่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอาหารแปรรูปที่ MNEs อาจเป็นเพียงผู้ซื้อและไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทย แต่ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อให้ซัพพลายเออร์ไทยสามารถผลิตสินค้าส่งตามที่ต้องการได้ 

           สุดท้ายเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการเคลื่อนย้ายแรงงานเกิดจากการที่บุคลากรที่เคยทำงานในบริษัทข้ามชาติถูกว่าจ้างให้มาทำงานกับบริษัทท้องถิ่นหรือออกมาประกอบกิจการเป็นของตนเองและได้นำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในที่เก่ามาใช้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเช่นกรรมวิธีในการผลิตการบริหารจัดการขึ้น 

            อย่างไรก็ดีการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีจากบริษัทข้ามชาติข้างต้นไม่ได้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติแต่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอาทิ ช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างบริษัทต่างชาติและผู้ประกอบการในประเทศและความสามารถในการเรียนรู้ (Absorptive ability) ของบริษัทไทยนอกจากนี้นโยบายการค้าและการลงทุนของประเทศก็มีส่วนกำหนดว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเดียวกันจะมีขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยการใช้นโยบายการค้าและการลงทุนแบบเสรีมีแนวโน้มช่วยสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากกว่าการใช้นโยบายแบบปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่อาจทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่มีความกระตือรือร้นเท่าที่ควรในการรับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆและปรับตัวได้ช้า (Kohpaiboon 2009)
 


2ซัพพลายเออร์ใน tier-1 ผลิตส่วนประกอบยานยนต์เช่นเครื่องยนต์ระบบเบรคระบบไฟฟ้า การตกแต่งภายในฯลฯส่วนซัพพลายเออร์tier-2,3 เป็นซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนเช่นพลาสติกยางรวมถึงการเชื่อมและหล่อโลหะเป็นต้น 
3จากข้อมูลจากรายงานการศึกษาโครงการพัฒนาฐานข้อมูลอุตสาหกรรมเปรียบเทียบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2551 โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสัดส่วนการใช้วัตถุดิบ/ชิ้นส่วนในประเทศ (local content) ของอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ(HDD) อยู่ที่ร้อยละ 30-40 การผลิตชิ้นส่วนวงจรรวม (IC) ประมาณร้อยละ 25 อุตสาหกรรมการประกอบแผ่นวงจรพิมพ์ (PCBA)ร้อยละ 14.78 การผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ร้อยละ 48.33

4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

             •    การเข้ามาของทุนต่างประเทศในรูปของบริษัทข้ามชาติเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยโดยการลงทุนสร้างรายได้จากการส่งออกและการจ้างงานขึ้นในประเทศอย่างไรก็ตามสำหรับผลต่อการเชื่อมโยงระหว่างMNEs กับอุตสาหกรรมในประเทศและผลทางอ้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับธุรกิจในประเทศนั้นเพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์มากที่สุดในแง่ของนโยบายภาครัฐควรต้องคงนโยบายการค้าและการลงทุนเสรีเพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและให้ธุรกิจไทยเผชิญกับการแข่งขันเพื่อให้มีการปรับตัว โดยภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพของซัพพลายเออร์และอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยในการดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

             •    เพื่อกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มากขึ้นในประเทศแทนที่จะให้ธุรกิจไทยเป็นเพียงหน่วยรับจ้างผลิตหน่วยหนึ่งของบริษัทข้ามชาติ นอกจากการเร่งพัฒนาคลัสเตอร์ในประเทศให้มีความเข้มแข็งและสนับสนุนให้มีการยกระดับซัพพลายเออร์ในประเทศจากOEMเป็น ODM แล้วภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจควรต้องมีนโยบายที่ให้แรงจูงใจกับบริษัทข้ามชาติโดยอาจเป็นการใช้มาตรการทางด้านภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแก่ธุรกิจในประเทศนอกจากนี้การดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคและธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้เข้ามาลงทุนในไทยก็เป็นช่องทางสำคัญอีกช่องทางหนึ่งซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศได้

             •    ด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรายได้ ทำให้ประเทศไทยไม่อาจแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนด้วยการเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกได้อีกต่อไปการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรืออีกนัยหนึ่งคือแรงงานที่มีคุณภาพซึ่งปัจจุบันเริ่มมีความขาดแคลนในบางอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้เทคโนโลยีและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับอุตสาหกรรมไทย  

เอกสารอ้างอิง

เดือนเด่นนิคมบริรักษ์และคณะ (2550) โครงการบทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย. สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย

Kohpaiboon, Archanun (2009) Vertical and Horizontal FDI Technology Spillover: Evidence from Thai Manufacturing, ERIA Discussion Paper Series No.2009-08.

Kohpaiboon, Archanun (2008) MNEs and the Global Integration of Thailand’s Processed Food Exports: A Firm-Level Study, Asian Journal of Agriculture and Development Vol.4 No.1: 40-58.

Liu, Zhiqiang (2008) Foreign Direct Investment and Technology Spillovers: Theory and Evidence, Journal of Development Economics 85: 176-193.

Punyasavatsut, Chaiyuth (2008) SMEs in the Thai Manufacturing Industry: Linking with MNEs, In ASEAN SMEs and Globalization, ERIA Research Project Report 2007 No.5.