สภาพแวดล้อมภายนอก มีอะไรบ้าง

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ต.ค. 2565

| 142,068 view

การวิเคราะห์ SWOT หรือ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์สำหรับการประกอบธุรกิจ ซึ่งช่วยให้ผู้บริหารรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนจากสภาพแวดล้อมภายใน มองเห็นโอกาสและอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจทุกประเภท

 

ความหมาย SWOT

จุดแข็ง (Strengths) : จุดเด่นหรือจุดแข็ง (ข้อได้เปรียบ) เป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เป็นข้อดีที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในบริษัท เช่น จุดแข็งด้านการเงิน และข้อได้เปรียบด้านการผลิต และด้านทรัพยากรบุคคล โดยบริษัทจะต้องใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในการกำหนดกลยุทธ์การตลาด  

จุดอ่อน (Weaknesses) : จุดด้อยหรือจุดอ่อน ข้อเสียเปรียบเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในต่าง ๆ ของบริษัท เช่น การขาดเงินทุน นโยบายและทิศทาง การบริการที่ไม่แน่นอน หรือบุคลากรที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งบริษัทจะต้องหาวิธีในการปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือขจัดให้หมดไปอันจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท  

โอกาส (Opportunities) : เกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกของบริษัทเอื้อประโยชน์ หรือส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัท โอกาสแตกต่างจากจุดแข็งตรงที่โอกาสเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก แต่จุดแข็งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายใน ผู้ประกอบการที่ดีจะต้องแสวงหาโอกาสอยู่เสมอ โดยการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตลอดเวลา เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีและการแข่งขันในตลาด และใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้น  

อุปสรรค (Threats) : เกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลเสียต่อธุรกิจ เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้อง และพยายามขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้  

การประเมินสภาพแวดล้อมภายใน

การวิเคราะห์และพิจารณาทรัพยากรและความสามารถภายในบริษัททุก ๆ ด้านเพื่อที่จะระบุจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจ แหล่งที่มาเบื้องต้นของข้อมูลเพื่อการประเมินสภาพแวดล้อมภายใน คือระบบข้อมูลเพื่อการบริหารที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างระบบ ระเบียบ วิธีปฏิบัติงาน บรรยากาศในการทำงานและทรัพยากรในการบริหาร (คน เงิน วัสดุ การจัดการ) รวมถึงการพิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทเพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์และผลกลยุทธ์ก่อนหน้านี้ด้วย

การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอก

ภายใต้การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกของบริษัท ทำให้สามารถค้นหาโอกาสและอุปสรรค การดำเนินงานของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นโยบาย การเงิน การงบประมาณ สภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น ระดับการศึกษา การตั้งถิ่นฐานและการอพยพของประชาชน ลักษณะชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อและวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมทางการเมือง เช่น บทบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ มติคณะรัฐมนตรี และสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยี หมายถึงกรรมวิธีใหม่ ๆ และพัฒนาการทางด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริการ

การวิเคราะห์สถานการณ์ (SWOT Analysis) การประกอบธุรกิจในฟินแลนด์

จุดแข็ง

1. การจัดตั้งบริษัทง่ายและกฎระเบียบไม่ซับซ้อน

2. รัฐมีระบบการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับการเริ่มประกอบธุรกิจ

3. การประกอบธุรกิจมีความชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้

จุดอ่อน

1. ผู้ประกอบการควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษา และพฤติกรรมการบริโภคของชาวฟินแลนด์

2. ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายแรงงานของฟินแลนด์ 

3. มีกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่นายจ้างจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เช่น การทำประกันสังคมและ ประกันสุขภาพ รวมถึงประกันอุบัติเหตุจากการจ้างงานซึ่งทำให้มีต้นทุนสูงในการประกอบธุรกิจ

โอกาส

1. การประกอบธุรกิจที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยจะดึงดูดลูกค้าได้มากกว่า เนื่องจากชาวฟินแลนด์ให้ความสนใจประเทศไทยเป็นอย่างมาก

2. ธุรกิจสามารถเติบโต สร้างความมั่นคง และสร้างเงินหมุนเวียนได้

3. ชาวฟินแลนด์มีรายได้ดี และกำลังซื้อสูง

4. การเลือกประกอบธุรกิจในทำเลที่ดีจะสามารถสร้างเงินหมุนเวียนได้สูงและมีลูกค้าประจำ

อุปสรรค

1. ชาวฟินแลนด์มีความรอบคอบในการเลือกที่จะบริโภคสินค้าราคาถูกที่มีปริมาณมาก

2. ชาวฟินแลนด์ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม การสื่อสาร เป็นสิ่งที่ชาวฟินแลนด์ให้ความสนใจมากกว่า

3. พื้นที่เช่าในทำเลย่านธุรกิจมีการแข่งขันสูงทำให้หาพื้นที่ทีมีศักยภาพดียากขึ้น หรืออาจหาได้ในราคาที่สูงเกินไป

4. ผู้ประกอบการควรต้องรู้ภาษาท้องถิ่น แม้ว่าชาวฟินแลนด์มากกว่าร้อยละ 85 สามารถ สื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่ก็คาดหวังที่จะได้รับการบริการและการสื่อสารในภาษาท้องถิ่น

สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ

พลังของสภาพแวดล้อมภายนอกกิจการจะอยู่นอกขอบเขตขององค์การ  ดังนั้นผู้บริหารจึงไม่สามารถที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมได้โดยตรง  แต่พลังเหล่านี้จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินงานและการบรรลุเป้าหมายขององค์การ  ทำให้ผู้บริหารทุกระดับต้องมีความเข้าใจและตระหนักถึงพลังของสภาพแวดล้อมภายนอกกิจการและสามารถวิเคราะห์ผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีต่อกิจการ  โดยที่เราสามารถแบ่งสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การออกเป็น 2 ระดับดังต่อไปนี้

1. สภาพแวดล้อมทั่วไป  พลังของสภาพแวดล้อมทั่วไป  ซึ่งหมายถึงอิทธิพลทางการเมืองการปกครองอิทธิพลทางเศรษฐกิจ  อิทธิพลทางเทคโนโลยี  อิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรม  และอิทธิพลจากนานาประเทศ  ซึ่งมีอิทธิพลทั่วไปต่อองค์การ  ถึงแม้ว่าอิทธิพลเหล่านี้จะไม่มีผลกระทบโดยตรงในการดำเนินงานประจำวันขององค์การก็ตาม  แต่ก็มีความสำคัญมากด้วยเหตุผลหลายประการคือ

ประการที่ 1 แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับแนวโน้มที่สำคัญซึ่งมีผลถึงเป้าหมายในระยะยาวขององค์การ  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือ  เมื่อประชาชนมีความสนใจในเรื่องการประหยัดน้ำ  เพราะทรัพยากรน้ำกำลังเริ่มขาดแคลน  กิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ  ก็มีความตื่นตัวและปรับตัวตามสภาพแวดล้อมนี้  โดยการผลิตและส่งเสริมการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ชนิดต่างๆ  ที่ช่วยประหยัดน้ำ  ซึ่งช่วยส่งผลให้กิจการมีกำไรระยะยาว  เป็นต้น

ประการที่ 2สถานการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยพลังของสภาพแวดล้อมทั่วไปสามารถทำให้องค์การต้องสนใจบรรยากาศทั่วๆ  ไปได้  ตัวอย่างเช่น  องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย  ซึ่งเคยเป็นกิจการที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ผูกขาดเรื่องกิจการการโทรศัพท์  เมื่อรัฐบาลอนุมัติให้เอกชนเปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และให้องค์การธุรกิจของเอกชนมาประมูลการให้บริการทางโทรศัพท์  องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงได้มีความเคลื่อนไหวในการปรับปรุงโครงสร้างองค์การ  วิธีการให้บริการ  และฝึกอบรมพนักงานให้มีความคล่องตัวเพื่อรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเป็นต้น

ประการที่ 3พลังจากสภาพแวดล้อมทั่วไปจะมีผลกระทบโดยตรง  โดยส่งผลมาทางสภาพแวดล้อมใน การดำเนินงาน  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศไทยสมัยที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจประมาณ ปี พ. . 2532-2533 ราคาที่ดินและราคาสิ่งก่อสร้างสูงขึ้นมากจนมีการซื้อที่ดินและทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำโรมากมาย  แต่ในระยะเวลาต่อมาสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลง  ส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้ซบเซาและประสบความขาดทุนจนหลายธุรกิจต้องปิดตัวลงเป็นต้น

โดยสภาพแวดล้อมทั่วไปที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญได้แก่

          1. อิทธิพลทางการเมือง  ประกอบด้วย  รัฐบาลนโยบายทางการเมือง  กฎหมายและสถาบันในระดับชาติระดับจังหวัด  และระดับท้องถิ่น  รวมไปจนถึงระเบียบข้อบังคับภาษีอากร  การตัดสินใจทางกฎหมาย  และนโยบายของพรรคการเมือง  อิทธิพลทางการเมืองมีผลต่อบรรยากาศขององค์การธุรกิจโดยอิทธิพลทางการเมืองจะเป็นตัวช่วยเหลือและส่งเสริมกิจกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายการเมืองของรัฐบาลในสมัยนั้นตัวอย่างเช่น  เมื่อประเทศไทยส่งเสริมการพัฒนาประเทศในแง่การลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรม  รัฐบาลก็จัดทั้งให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) หรือ BOI ขึ้น  ตลอดจนมีการลดหย่อนภาษีนำเข้าของเครื่องมือเครื่องจักรและวัตถุดิบ  และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ  ที่เอื้อต่อการนี้  เป็นต้น

        สำหรับองค์การธุรกิจที่ดำเนินการนอกประเทศบ้านเกิดของตน  อิทธิพลทางการเมืองจะอยู่ในรูปของกฎระเบียบทางการค้า  หรือการส่งเสริมของรัฐบาลในเรื่องของแรงงานในท้องถิ่น หรือวัตถุดิบในท้องถิ่น  ในบางครั้งอิทธิพลทางการเมืองมีผลทำให้กิจการข้ามชาติต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง  ตัวอย่างเช่น  มีการปฏิวัติรัฐบาลประหาร โค่นล้มรัฐบาลเก่า  ทำให้มีการตั้งกฎระเบียบทางการค้าของกิจการจากนอกประเทศขึ้นมาใหม่  กิจการนั้นๆ  จึงต้องปรับตัวตามอิทธิพลทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป  หรืออาจจะต้องถอนตัวจากการดำเนินงานในประเทศเจ้าบ้านเป็นต้น

2. อิทธิพลทางเศรษฐกิจ  ประกอบด้วยทรัพยากรที่มีอยู่หรือขาดแคลนและแนวโน้มทั่วๆไปของเศรษฐกิจที่มีผลต่อองค์การ  หากมองภาพให้กว้างขึ้น  ปัจจัยทางเศรษฐกิจจะเกี่ยวของกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ   บางประเทศมีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism) เช่น  ประเทศจีนและประเทศคิวบาจะมีการวางแผนทางเศรษฐกิจและควบคุมโดยรัฐบาลกลาง  ในประเทศเหล่านี้รัฐบาลจะกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับเจ้าของกิจการโรงงานอุตสาหกรรมผลผลิตการซื้อวัตถุดิบราคาและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ  ในทางตรงกันข้ามสหรัฐอเมริกาและประเทศในโลกเสรีส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) จะมีตลาดการค้าที่มีการแข่งขัน  ที่เสรี  ดังนั้น  องค์การธุรกิจต่างๆจะซื้อขายสินค้าตามกลไกตลาดที่กำหนดโดยอุปทาน (Supply) และอุปสงค์ (Demand) ในปัจจุบันนับได้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีความสำเร็จในสังคมมนุษย์  ทำให้ประเทศต่างๆ   หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากขึ้น  สำหรับประเทศไทยนั้นใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) ซึ่งผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบควบคุมจากส่วนกลางกับระบบทุนนิยม  นั่นคือกิจการส่วนใหญ่เอกชนเป็นเจ้าของที่มีอำนาจในการตัดสินใจและตั้งราคาตามกลไกตลาด  แต่ยังมีสาธารณูปโภคและสินค้าบางอย่างที่รัฐบาลต้องควบคุมในเรื่องราคาและเข้าดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย  โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยในประเทศ  ตลอดจนการกระจายความเท่าเทียมกันในสังคม

สิ่งที่ผู้บริหารธุรกิจต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจคือ  วิกฤตการณ์เงินเฟ้อ  อัตรา  ดอกเบี้ยภาวะการว่างงาน  รายได้ประชาชาติ  อำนาจในการซื้อของผู้บริโภค  อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา  และพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกมากมาย  ตัวอย่างเช่น  เมื่อเกิดวิกฤตการณ์เงินเฟ้อ  องค์การต้องจ่ายเงินมากขึ้นเป็นค่าวัตถุดิบและแรงงา  และหลายๆ  กิจการต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อให้คุ้มกับต้นทุน  หรือถ้าวิกฤตการณ์เงินเพื่อเพิ่มขึ้นสูงมากจนอาจมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  รัฐบาลจะใช้นโยบายควบคุมราคาสินค้าบางชนิดและค่าจ้างแรงงาน  ซึ่งองค์การทางธุรกิจต้องปฏิบัติตาม  เป็นต้น

3. อิทธิพลทางเทคโนโลยี  ประกอบด้วยผู้ชำนาญการ  กระบวนการ  และระบบ  ซึ่งองค์การใช้เพื่อปรับปรุงการผลิตสินค้าและบริการ  โดยที่มีการวิจัยและทดลองทางวิทยาศาสตร์มาก่อน  การนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ  และทำให้องค์การมีเครื่องมือและโอกาสที่จะผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ตัวอย่างเช่น  โรงงานทอผ้าในประเทศไทยปรับปรุงเครื่องมือทอผ้าจากเครื่องมือแบบเก่าเป็นเครื่องมือแบบใหม่ ทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง และใช้แรงงานคนน้อยลงมาก เป็นต้น

            ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์การธุรกิจ  ยิ่งกว่านั้นคอมพิวเตอร์ยังทำให้การออกแบบสินค้า  งานวิศวกรรม  การผลิต  การขนส่ง  และวัตถุดิบ  มีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก  คอมพิวเตอร์สำหรับผู้บริหารสามารถให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน  เกี่ยวกับลูกค้า  และเกี่ยวกับคู่แข่งขัน  เพื่อการตัดสินใจได้มากมาย  ถูกต้อง  และรวดเร็ว  นอกจากนี้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ยังทำให้การติดต่อในการตัดสินใจง่ายและรวดเร็ว  ทำให้เกิดบริการใหม่ๆ  ในระดับธุรกิจข้ามชาติได้

อิทธิพลทางเทคโนโลยีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์การ  ทำให้องค์การต้องพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา  โดยองค์การต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักร  เครื่องมือหรือระบบงานที่ล้าสมัยจนไม่อาจสู้กับคู่แข่งขันได้  นอกจากนี้องค์การยังต้องส่งเสริมและพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้  ทักษะ  และความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่  ตลอดจนพัฒนาระบบงานและโครงสร้างองค์การให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ด้วย

4. อิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรม  ประกอบด้วย  ค่านิยม  ทัศนคติ  ความต้องการและลักษณะเฉพาะของคนในสังคมที่องค์การไปประกอบการอยู่  เชื่อกันว่าค่านิยมเป็นตัวกำหนดรูปแบบทัศนคติของบุคคลและของกลุ่มบุคคล  ค่านิยมและทัศนคติเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลและมีอิทธิพลต่อความปรารถนาของบุคคล  ซึ่งองค์การธุรกิจต่างๆ จะต้องพยายามทำสินค้าและบริการมาสนองให้  ตัวอย่างเช่น  วัฒนธรรมในการบริโภคของคนไทยที่หันไปนิยมการดื่มนมกันมากขึ้น  เพราะได้เรียนรู้ว่าการดื่มนมเป็นแหล่งโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายทำให้ธุรกิจการผลิตนมรุ่งเรืองขึ้นเป็นต้น

ลักษณะเกี่ยวกับประชากรเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรม  ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากร  พฤติกรรมทางด้านศาสนา  และความเชื่อ  การที่ผู้หญิงออกจากบ้านไปทำงานมากขึ้นทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรลดลงในหมู่คนที่มีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจดี  หรือการที่คนมีอายุยืนขึ้นล้วน  แล้วแต่มีผลต่อผลิตภัณฑ์และบริการขององค์การธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป  ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัด  เช่น  อาหารถึงสำเร็จรูป  อาหารสำหรับคนชรา  สถานพักฟื้นคนชรา  หรือสถานบริการรับเลี้ยงดูเด็กวัยก่อนเข้าเรียน  ล้วนเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไปทั้งสิ้น

5. อิทธิพลจากนานาประเทศ  อิทธิพลที่มาจากภายนอกประเทศแม่ของกิจการและมีอิทธิพลต่อคนและองค์การเรียกว่า  อิทธิพลจากนานาประเทศ  บริษัทที่ทำธุรกิจกับประเทศอื่นจะรู้สึกถึงผลกระทบของอิทธิพลจากนานาประเทศหลายประการ  รวมทั้งการขึ้นลงของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและคู่แข่งขันในระดับท้องถิ่นและระดับโลก  ยิ่งกว่านั้นบริษัทอาจชื่อวัตถุดิบได้ถูกกว่าจากต่างประเทศ  หรืออาจไปทำการผลิตในประเทศหนึ่งที่มีค่าแรงงานถูกกว่าแล้วขายสินค้าสำเร็จรูปไปทั่วโลก

กิจการต่างประเทศที่ทำธุรกิจข้ามชาติที่เข้ามามีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย  เช่น โตโยต้าไอบีเอ็ม  แมคโดนัลด์  และโตชิบา  เป็นต้น  โดยธุรกิจเหล่านี้เข้ามาทำการผลิตและขายสินค้าในประเทศไทย      มีผลทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าและมีผลต่อการขึ้นลงของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา  อันส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น

2. สภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน  แตกต่างจากสภาพแวดล้อมทั่วไปในแง่ที่ว่าสภาพแวดล้อมทั่วไปจะมีอิทธิพลทั่วๆ ไปต่อองค์การ  แต่สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อองค์การและความสำเร็จขององค์การมากกว่า โดยสภาพแวดล้อมใน การดำเนินงานที่สำคัญมี 6 ประการคือ

1. ลูกค้า  คือปัจจัยหลักที่มีความสำคัญในสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน  เพราะการชื่อหรือการใช้สินค้าหรือบริการจะเป็นเครื่องบ่งชี้ให้ทราบได้ว่าองค์การจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว  เนื่องจากวัตถุประสงค์ของธุรกิจคือการสร้างและการรักษาลูกค้าไว้และเป็นข้อเท็จจริงทั้งสำหรับองค์การที่หวังกำไร  และองค์การที่ไม่ได้หวังกำไร และเพราะว่าลูกค้าไม่ใช่กลุ่มคนที่เหมือนกันหรือมีความประพฤติแบบเดียวกันตลอดเวลาองค์การจึงต้องใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อเข้าใจความต้องการ  ความปรารถนา  และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

องค์การสามารถรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าได้หลายทาง  และเมื่อองค์การได้รับความคิดเห็นจากลูกค้าแล้วก็สามารถนำเอาความคิดเห็นนั้นๆ มาปรับปรุงสินค้าและบริการให้ดีขึ้นได้ปัจจุบันบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือบริษัทที่พยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้ดีขึ้นได้มีการสอบถามหรือรับฟังข้อร้องเรียนหรือข้อคิดเห็นจากลูกค้าและผู้ใช้บริการตัวอย่างเช่นบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีแบบสอบถามไว้ที่ที่นั่งของผู้โดยสารทุกคน  เป็นต้น

2. คู่แข่งขัน  คือ  ผู้ที่อยู่ในองค์การอื่นที่เสนอสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน  หรือใช้แหล่งการผลิตที่เป็นจำพวกเดียวกันกับที่กิจการใช้อยู่  กิจการทั่วๆ ไปจะมีคู่แข่งขันอย่างน้อย 1 ราย  แต่ปกติแล้วจะมีมากกว่านั้น  โดยเฉพาะถ้าพิจารณาถึงผู้ที่มีโอกาสจะมาเป็นคู่แข่งขัน (Potential Competitor) และสินค้าทดแทน (Substitute Products) ด้วยตัวอย่างเช่น  ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) อาจพิจารณาว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ  ในประเทศไทยเป็นคู่แข่งขันของตน แต่ความจริงแล้วนอกจากธนาคารพาณิชย์เหล่านี้แล้วยังมีธนาคารจากต่างประเทศ  บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์  บริษัทประกันภัย  หรือแม้แต่การเล่นแชร์ล้วนเป็นคู่แข่งได้ทั้งสิ้นเป็นต้น

ผู้บริหารจะต้องดำเนินการในทุกเรื่องที่คู่แข่งขันกำลังดำเนินการอยู่  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา  ผลผลิต   การให้บริการลูกค้า  แหล่งวัตถุดิบและทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง  แต่เพราะว่าคู่แข่งขันมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งในโลก  พลังของคู่แข่งขันจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องประเมินวิธีที่จะทำได้คือต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขันทั้งหมด  รวมทั้งการเข้าร่วมประชุมในวงการที่เกี่ยวข้อง  อ่านวารสาร  การค้าตรวจสอบรายงานประจำปี  ตรวจดูการโฆษณา  วิธีการวิเคราะห์และติดตามความเคลื่อนไหวของคู่แข่งขันอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ผู้บริหารสามารถวางแผนการพัฒนาสำหรับการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ผู้ขายวัตถุดิบ  เป็นบุคคลหรือองค์การผู้นำส่งทรัพยากรสำหรับป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือบริการ ผู้ขายวัตถุดิบจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากในสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธุรกิจในปัจจุบัน เพราะองค์การจะต้องมีแหล่งที่ส่งทรัพยากรให้อย่างต่อเนื่อง  เพื่อทำการผลิตหรือให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง  การทำงานอย่างมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ขายวัตถุดิบจะช่วยให้องค์การบรรลุเป้าหมายได้

มุมมองของธุรกิจปัจจุบันผู้ชายวัตถุดิบอาจเป็นผู้ส่งทรัพยากรที่ไม่ใช่วัตถุดิบโดยตรงเช่นหาเงินทุน  ข้อมูลและลูกค้า  อาจกล่าวได้ว่าธนาคาร  ผู้ถือหุ้น  หรือผู้ลงทุนรายย่อย  เป็นแหล่งวัตถุดิบด้านเงินทุนสำหรับองค์การในขณะที่นิตยสาร  หนังสือพิมพ์  และผู้ทำวิจัยเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านข้อมูลขององค์การและกิจการหาพนักงานและหน่วยจัดหางานของมหาวิทยาลัยก็เป็นผู้ตั้งวัตถุดิบด้านกำลังคน

4. แรงงาน  คือ  ผู้คือผู้ที่มีความพร้อมจะให้ว่าจ้างไปทำงาน  แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน  เพราะกลายเป็นส่วนที่องค์การจะว่าจ้างมาฝึกหัดและรักษาเอาไว้ได้ยากมากโดยเฉพาะเพื่อให้มาเป็นผู้ให้บริการลูกค้าที่ดี  เนื่องจากแรงงานหายากจึงทำให้ทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนต้องค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการเพื่อดึงดูดแรงงาน  แต่ในปัจจุบันประเทศไทยก็ยังขาดแคลนแรงงานอยู่  โดยเฉพาะแรงงานถึงฝีมือและแรงงานมีฝีมือในปัจจุบันมีการว่าจ้างแรงงานจากต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์  อินเดีย  และพม่า      ทั้งในรูปแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ในบางประเทศ  เช่น  สหรัฐอเมริกา  สหภาพแรงงาน (Labor Union) เป็นหน่วยงานที่สำคัญมากสำหรับแต่ละองค์การในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับพนักงาน  แต่ในประเทศไทยอิทธิพลของสหภาพแรงงานยังมีไม่มากเพราะมีกฎหมายบังคับไว้

5. กฎระเบียบ  คำว่ากฎระเบียบจะรวมทั้งหน่วยงานของรัฐบาล  เจ้าหน้าที่  และผู้ชำนาญการพิเศษ     ที่จะสร้าง  มีอิทธิพล  หรือบังคับใช้แนวทางควบคุมทางกฎหมาย  หรือนโยบายที่มีผลต่อกิจกรรมขององค์การแม้ว่าพลังทางการเมืองจะเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมทั่วไป  แต่กฎระเบียบต่างๆ ที่นักการเมืองออกมาใช้บังคับองค์การจัดเป็นสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานด้วย  เพราะกฎระเบียบเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจปฏิบัติตาม  อันมีผลทันทีต่อการดำเนินการขององค์การ

จะเห็นว่ากฎระเบียบต่างๆของหน่วยงานราชการในประเทศไทยมีมากมาย  ทั้งนี้เพื่อควบคุมให้องค์การและกิจการต่างๆ ดำเนินการโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม  ไม่เอาเปรียบลูกค้าและแรงงาน  ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนทั่วไป  อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ  สังคม  และความสงบเรียบร้อยทั่วไป 

6. หุ้นส่วน  สภาพแวดล้อมในงานขององค์การจะรวมหุ้นส่วนเข้าไปด้วย  องค์การที่ดำเนินธุรกิจร่วมกันไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการจะส่งเสริมซึ่งกันและกันให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยการที่องค์การเสาะแสวงหาหุ้นส่วนทั้งชั่วคราวและถาวรนั้นมีเหตุผลหลายประการดังต่อไปนี้

1. หุ้นส่วนสามารถช่วยลดความเสี่ยงของบางโครงการหรือเพิ่มผลผลิตบางอย่างได้อย่างทวีคูณ

2. หุ้นส่วนสามารถรวมทรัพยากรและความร่วมมือเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถทำกิจกรรมซึ่งไม่สามารถทำคนเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือที่เรียกว่าการรวมพลัง (Synergy)

3. หุ้นส่วนอาจจะมีความรู้พิเศษทางด้านเทคโนโลยี  โดยเฉพาะเมื่อมีบางกิจการในบางประเทศต้องการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ  กิจการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศจำเป็นต้องเข้าหุ้นกับบริษัทต่างชาติ  เพื่อขยายตลาดและขีดความสามารถในการให้บริการในประเทศต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น  เนื่องจากการมีแต่ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยด้วยกันเท่านั้นจะทำให้การบริการระดับนานาชาติทำได้ไม่เต็มที่

รูปที่ 2.4 สภาพแวดล้อมในการดำเนินการ