สถาบันการศึกษามีบทบาทสําคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร

บทบาท

สถาบันการสร้างชาติมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมโดยการสร้างให้ผู้คนในสังคมตกผลึกทางความคิด จัดระบบ และบริบทให้เอื้ออำนวย เพื่อหนุนให้การสร้างชาติเกิดขึ้นจริงผ่านสถาบันฯ

สร้าง “คน” ให้เป็นผู้นำไปขับเคลื่อนการสร้างชาติ
สถาบันการสร้างชาติให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและการสร้างระบบไปควบคู่กัน แต่ให้น้ำหนักความสำคัญกับการพัฒนาคนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สถาบันฯ ได้ออกแบบไว้

การสร้างคน คือ การสร้างชาติ
คนเป็นแหล่งของปัญหา ความสุข ความทุกข์ คนดีทำให้เกิดความสุข คนที่ไม่ดีทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นสถาบันฯ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างคน ให้เป็นคนดี มีคุณภาพ มีอุดมการณ์ เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างชาติ และเป็นตัวการ (Change Agent) ในการลงไปขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เข้าใจจะเกิดความตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองและลงมือทำโดยไม่ต้องให้ใครสั่งหรือบีบบังคับ
นอกจากนี้การสร้างคนโดยการเปลี่ยนแปลงความคิดคน ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพราะ เมื่อเปลี่ยนความคิด ชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลง เมื่อชีวิตเปลี่ยนย่อมเปลี่ยนโลกได้ วิธีการบังคับหรือการลงโทษได้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากไม่มีการบังคับและไม่มีการลงโทษ คนมีแนวโน้มที่จะกลับไปดำเนินชีวิตเหมือนเดิม ดังนั้นถ้าจะเปลี่ยนประเทศ จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนชีวิตให้ได้ และหากต้องการเปลี่ยนชีวิต ต้องเปลี่ยนความคิดให้ได้ สถาบันการสร้างชาติจึงเน้นการเปลี่ยนความคิดตามหลักอารยะ

สถาบันการสร้างชาติสร้างคนอย่างไร?
สถาบันการสร้างชาติคัดสรรและเลือกผู้นำในสังคมมาร่วมก่อนเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพมาเป็นแกนนำสำคัญ ควบคู่กับการสร้างเด็กและเยาวชนต่อไป ซึ่งทางสถาบันฯ สร้างคนด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยทุกสิ่งที่ทำมีเหตุผลตามหลักการวางที่ได้กลั่นกรองไว้แล้ว เช่น

1) การบรรยายให้ได้ความรู้ในการสร้างชาติ
สถาบันฯ ถ่ายทอดหลักคิด / ปรัชญาที่เป็นรากฐานการสร้างชาติ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สอนกันทั่วไปในสถาบันการศึกษาโดยทั่วไป ซึ่งเป็นส่วนที่สังคมยังขาดอยู่ โดยได้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศมาให้ความรู้และประสบการณ์ เพื่อวางพิมพ์เขียวทางความคิด (Blueprint) แนะนำหลักคิด หลักปรัชญา หลักวิชา หลักการ หลักปฏิบัติ ซึ่งช่วยให้นักศึกษาสามารถนำไปต่อยอดขยายผลได้

2) การใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน เพื่อช่วยรักษาอุดมการณ์ ตักเตือนกัน ให้กำลังใจกัน เป็นแบบอย่างที่ดีต่อกัน ทำให้เกิดพลัง
เนื่องจาก สถาบันการสร้างชาติเป็นที่รวมของผู้นำที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่หลากหลาย (รัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ) อายุที่หลากหลาย (ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นใหม่) ประสบการณ์การทำงาน พื้นภูมิที่หลากหลาย เป็นพื้นที่ให้คนหลากหลายมาเจอกัน จำลองบริบทสังคมเอาไว้ ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยแนวทางของสถาบัน มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ แบ่งบทบาท จัดกลไกการบริหารจัดการ ให้ผู้เรียนได้ลองปฏิบัติ เพื่อสามารถนำไปใช้ในองค์กรของตัวเองได้ เป็นต้น

3) การทำโครงการ Cap-Corner Stone (CCS)
สถาบันการสร้างชาติกำหนดโจทย์ให้นักศึกษาที่เข้าร่วมหลักสูตรได้คิดว่า ถ้าหากนักศึกษาเป็นนายกรัฐมนตรี มีเรื่องที่ต้องทำจำนวนมากเพื่อพัฒนาประเทศ เรื่องแรกที่นักศึกษาอยากทำคืออะไร โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ CCS คือ
ก. เพื่อให้นักศึกษาได้ประยุกต์ความรู้ ความสามารถ ทรัพยากรที่มีสร้างโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำเสนอแนวคิดใหม่ (new idea) เป็นโครงการที่ทะลุทะลวงทางความคิด ที่ไม่เคยทำมาก่อน ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศหรือองค์กรในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเจาะจง (specific issue) เป็นเรื่องที่มีผลเพื่อส่วนรวม และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง (implementable) ลงมือทำในระดับขนาดเล็กที่สุดก่อนเพื่อวัดผลกระทบ ดูว่าขยายผลได้หรือไม่ เป็นโครงการที่มีผลกระทบสูง (high impact)
โครงการ CCS สร้างความรู้ใหม่ เป็นนวัตกรรม ซึ่งเมื่อนักศึกษาได้ทดลองทำและพัฒนากระบวนการคิดจนเป็นนิสัย นักศึกษาสามารถนำสิ่งที่ได้จากการทำโครงการ CCS ไปทำ หากทำส่วนตัว ตนเองย่อมได้ประโยชน์ และหากทำเพื่อส่วนรวม ส่วนรวมจะได้ประโยชน์ต่อไปด้
ข. การทำ CCS ช่วยเปิดพื้นที่การถกแถลงแลกเปลี่ยนระหว่านักศึกษาในกลุ่มประเทศ นักศึกษาได้ปฎิสังสรรค์ทางความคิดร่วมกัน เนื่องจาก ในห้องเรียนอาจจะมีเวลาจำกัด แต่ในกลุ่มย่อยนั้น นักศึกษาสามารถถกแถลงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันภายในกลุ่ม ผูกพันกันด้วยอุดมการณ์ที่ดีงาม
ค. เป็นเหมือนห้องแล็บให้ได้ทดสอบการทำงานร่วมกันระหว่างสามภาคกิจ: รัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ โดยในห้องแล็บนี้นักศึกษาต้องเรียนรู้การใช้ศิลปะในการนำ ศิลปะในการจูงใจเพื่อนนักศึกษาคนอื่นให้ร่วมกันทำสิ่งที่ดีงาม เนื่องจาก ในห้องแล็บนี้ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจในองค์กรมาใช้สั่งการได้ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาขยายตัวเองให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพสูง
ง. เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเรียนรู้ด้วยวิธีการแบบ project-based, innovation-based, problem solving ซึ่งสถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิรูปการศึกษาได้

การสร้างผู้นำของสถาบันการสร้างชาติเชื่อมโยงกับการสร้างคนในชาติอย่างไร?
การจัดหลักสูตรของสถาบันฯ เป็นการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยซึ่งเสริมการศึกษาในระบบ โดยที่หลักสูตรสอนในสิ่งซึ่งไม่มีสอนหรือมีอยู่น้อยมากที่สอนในการศึกษาในระบบปัจจุบัน ซึ่งได้แก่เรื่องการสร้างชาติในด้านต่างๆ และลงลึกในเชิงปรัชญา ช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม
ในอนาคตสถาบันมีแผนการเปิดหลักสูตรการสร้างชาติร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาโดยผู้สำเร็จการศึกษาสามารถโอนเปลี่ยนเป็น
หน่วยกิตบางส่วน เพื่อใช้ร่วมกับการเรียนในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมมือกับสถาบันการสร้างชาติได้ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (e-learning) อีกด้วย