จะเข้เป็นเครื่องดนตรีในประเภทใด

ารบรรเลงโดยวางราบไปตามพื้น เพื่อสะดวกในการนั่งบรรเลง โดยเหตุที่ตัวพิณแต่เดิมทำเป็นรูปร่างอย่างจระเข้ ขุดกลวงเป็นโพรงข้างในเพื่อช่วยให้เกิดเสียงก้องกังวาน จึงเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ตามรูปร่างว่า “จะเข้” เช่นเดียวกับพิณของอินเดียที่ทำตอนตัวพิณเป็นรูปนกยูงตอนปลายเป็นหางนกยูง ก็เรียกพิณชนิดนั้นว่า “มยูรี” แต่จะเข้ที่สร้างขึ้นตอนหลังนี้ ได้คิดปรับปรุงแก้ไขขึ้นใหม่ ไม่ทำเป็นรูปจระเข้ทีเดียว แต่ถ้าพิจารณาด้วยมีความคิดคำนึงเข้าช่วยด้วยก็มีเค้าคล้ายๆ จระเข้ ที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปนี้ เข้าใจว่าเพื่อประโยชน์ในทางเสียงและเพื่อความสะดวกเป็นส่วนใหญ่ตัวจะเข้ทำเป็น ๒ ตอน ตอนตัวและหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาราว ๑๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕๒ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๒๙ เซนติเมตรตอนหางยาวประมาณ ๗๘-๘๐ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๑๑.๕ เซนติเมตร รวมทั้งท่อนหัวและท่อนหางซึ่งทำด้วยไม้แก่นขนุนท่อนเดียวขุดเป็นโพรงตลอดถึงกัน ก็ยาวประมาณ ๑๓๐-๑๓๒ เซนติเมตร มีแผ่นไม้ปิดท้องเบื้องล่างจะเข้ตัวหนึ่งมีเท้ารองตอนตัว ๔ และปลายหาง ๑ สูงจากปลายเท้าวางพื้นถึงหลังประมาณ ๑๙ เซนติเมตร ทำหลังนูนกลาง สองข้างลาดลง ขึ้นสายโยงเรียดไปตามหลังตัวจะเข้ จากทางหัวไปทางหางสามสาย สาย ๑ ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก ๒ สาย เป็นสายเอ็นมีลูกบิดประจำสาย ๆ ละ ๑ อัน สำหรับเร่งเสียงมี “หย่อง” รับสายทางหาง ระหว่างตัวจะเข้มาทาง “หย่อง” มีแป้นไม้ที่เรียกกันว่า “นม” สำหรับรองนิ้วกด ๑๑ อัน ติดไว้บนหลังจะเข้ นมอันหนึ่ง ๆ สูงเรียงระดับกันไปตั้งแต่ ๒ เซนติเมตร ขึ้นไปจนสูง ๓.๕ เซนติเมตร เมื่อบรรเลง ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยกระดูกสัตว์หรือด้วยงาประมาณ ๕-๖ เซนติเมตร เคียนด้วยเส้นด้ายติดกับปลายนิ้วของผู้ดีดและใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลังดันเวลาบัดมือส่ายไปมา เครื่องดนตรีชนิดนี้บางชิ้นสร้างขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจง เช่น เลี่ยมและฝังงาเป็นลายงดงาม ไทยเราเห็นจะรู้จักเล่นจะเข้มานานไม่น้อยกว่าสมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา จึงมีกล่าวถึงในกฏมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ปรากฏว่า เพิ่งนำเข้าผสมวงเครื่องสายและวงมโหรี เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เองที่ไม่ปรากฏว่าได้นำจะเข้เข้ามาเล่นร่วมวงมาแต่ก่อนนั้น บางทีเครื่องดนตรีชนิดนี้จะเหมาะสำหรับเล่นเดี่ยวและมีบางท่านกล่าวว่า จะเข้ของเขมรก็มี เขาทะรูปร่างอย่างจระเข้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ว่า “จะเข้แต่เดิมเป็นเครื่องสังคีตของมอญ” อาจเป็นจริงก็ได้ เพราะได้เคยไปเห็นจะเข้แกะสลักทำเป็นรูปจระเข้ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานในนครย่างกุ้ง รวมไว้กับจะเข้อย่างใหม่ แต่ใน สหภาพพม่าไม่มีใครเล่นจะเข้ได้เมื่อเรานำไปดีดให้ฟังเขาเห็นเป็นของแปลกและไพเราะน่าฟัง แต่จะเป็นเครื่องดนตรีที่ไทยเราได้แบบอย่างมาจากใครก็ตาม ปัจจุบันนี้นับว่าเป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีดของไทย ที่มีกระแสเสียงก้องกังวานเกิดความไพเราะมากและเป็นที่นิยมกันแพร่หลายอยู่ในวงการดนตรีไทยในปัจจุบัน (พิพัฒน์ สอนใย,๒๕๔๗ หน้า ๒)

ซึ่งประวัติและความเป็นมาของจะเข้นั้น ได้มีผู้รู้ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของจะเข้ไว้หลากหลาย สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของจะเข้ ไว้ในหมวด จะเข้: เครื่องดนตรี ไว้ดังนี้ (มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, ๒๕๔๒ หน้า ๑๓๗๙)

“จะเข้นี้ สันนิษฐานกันว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ไทยเราได้แบบมาจากมอญ ก็น่าจะเป็นจริง เพราะเคยได้เห็นจระเข้ของมอญ ซึ่งทำรูปตอนด้านกระพุ้งเสียงเป็นหัวจระเข้ ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองย่างกุ่ง สหภาพพม่า บอกว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่มาก ถ้าของเดิมมีรูปเป็นเช่นนี้คงเรียกว่าจระเข้มาก่อนเช่นเดียวกับพิณอินเดีย ซึ่งมีรูปเป็นนกยูง และเรียกว่า “มยุรี” ภายหลังคงเกรงว่าจะเรียกชื่อไขว้เขว จึงทำให้บัญญัติชื่อเสียใหม่ว่า “จะเข้” จะได้ไม่ซ้ำกับ “จระเข้” สัตว์มีชีวิต”

อุดม อุดมรัตน์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของจะเข้ ในหนังสือเรื่อง ดุริยางคดนตรีจากพระพุทธศาสนา โดยมีใจความสรุปได้ว่า จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีที่เปล่งเสียงโดยใช้ไม้ดีด เรียกว่า โคธะ ซึ่งตามรูปศัพท์หมายถึงเหี้ย หรือ ดังนั้นรูปร่างของจะเข้แต่เดิมจึงคล้ายกับจระเข้ ซึ่งได้กล่าวไว้ในมหาชาติคำหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตอนหนึ่งว่า “…โคธาปริวเทนฺติกา แจรงทรอทรไนสารนยงยิ่ง จเข้ดิ่งสารสวรรค์…” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพวกรามัญหรือพวกมอญ จึงทำให้สันนิษฐานว่าจะเข้รับมาจากมอญ และการถ่ายเทวัฒนธรรมกันนั้น สิ่งที่ถือว่าเป็นของชาติใด ย่อมมีการแกะสลักหรือวาดภาพไว้ ส่วนจะเข้นั้น มิได้ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังใดเลย ดังนั้นจึงถือว่าจะเข้เป็นของต่างชาตินั้นเอง (อุดม อุดมรัตน์, ๒๕๒๙ หน้า ๑๐๔ -๑๐๖)

พูนพิศ อมาตยกุล ได้กล่าวถึงความเป็นมาของจะเข้ ในหนังสือเรื่อง ดนตรีวิจักษ์ ไว้ดังนี้ (พูนพิศ อมาตยกุล, ๒๕๒๙ หน้า ๓๘)

“จะเข้ เป็นเครื่องดีดที่วางราบไปตามพื้น เวลาดีดนั่งขวางกับตัวจะเข้ มีสามสาย เสียงไพเราะ และมีเทคนิคการดีดมากมายหลายแบบ ชวนให้เกิดความน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง เดิมใช้เล่นเดี่ยว เพิ่งจะนำมาประสมวงเป็นวงในสมัยรัชกาลที่๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง”

เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี ได้กล่าวถึงจะเข้ ในหนังสือ สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย ไว้ดังนี้ (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, ๒๕๓๐ หน้า ๒๓)

“…จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากกระจับปี่ ซึ่งตามปกติแล้วการเล่นกระจับปี่คล้ายกับการเล่น Guitar โดยต้องเอาตัวของกระจับปี่วางบนตักแล้วดีด ภายหลังคิดว่าได้นำมาวางตามแนวนอนแล้วลองดีดดูจึงพบว่าสะดวกกว่าการดีดตามแนวตั้งมาก จึงได้เกิดจะเข้ขึ้นมาในที่สุด”

เกียรติศักดิ์ ทองจันทร์ ได้กล่าวถึงจะเข้ ไว้ในเอกสารประกอบการสอน รายวิชา ประวัติการดนตรีไทย เรื่องประวัติวงมโหรี ซึ่งปรากฏจะเข้ชัดเจนในวงมโหรีเครื่อง ๘ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ไว้ดังนี้ (เกียรติศักดิ์ ทองจันทร์, ๒๕๔๖ หน้า ๑๙ – ๒๐)

“ …เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตสินทร์ จึงได้นำเอาระนาดแก้ว และกระจับปี่ออก เนื่องจากกระจับปี่นั้นเวลาบรรเลงต้องตั้งขึ้น ทำให้ไม่สะดวกกับอีกทั้งเสียงเบา เมื่อบรรเลงรวมกันแล้วแทบจะไม่ได้ยิน เพราะถูกเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ กลบเสียงหมด ดังนั้นกระจับปี่จึงถูกลดบทบาทลงในวงมโหรี โดยเอาจะเข้เข้ามาประสมแทน ซึ่งจะเข้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม คือ มีลักษณะวางราบกับพื้นสามารถบรรเลงได้สะดวกและมีเสียงดังชัดเจน ทำให้ขนาดของวงขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และเสียงของวงมีความหนักแน่นขึ้น”

จากความเป็นมาของจะเข้ตามที่ผู้รู้ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถสรุปได้ว่า จะเข้ เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พัฒนามาจากพิณหรือกระจับปี่ ซึ่งได้รับแบบมาจากของมอญปรากฏหลักฐานในบทมหาชาติคำหลวง ซึ่งเดิมทีรูปร่างจะเข้นั้นคงมีลักษณะคล้ายกับจระเข้ และมีการประสมวงในวงเครื่องสายในหมู่ราษฎร์เพื่อความสนุกบันเทิงเท่านั้นยังไม่เป็นแบบแผน ในสมัยนั้นจะเข้มีความนิยมแพร่หลายมาก แม้แต่ในเขตพระราชฐานจึงมีกฎหมายห้ามปรากฏหลักฐานในกฎมณเฑียรบาล สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปรากฏจะเข้ในวงมโหรีขึ้น ด้วยคุณสมบัติของจะเข้ ที่มีลักษณะวางราบกับพื้นเอื้อต่อการบรรเลงได้อย่างสะดวก มีเสียงดังชัดเจน จึงทำให้กระจับปี่ซึ่งเป็นเครื่องดีดในวงมโหรีแต่เดิมนั้นถูกลดบทบาทลง จะเข้จึงได้รับการพัฒนาทั้งในรูปร่างให้มีความสวยงามมากขึ้น ตลอดจนกลวิธีในการบรรเลงต่าง ๆ ทำให้จะเข้มีบทบาทมากขึ้นในวงเครื่องสาย และวงมโหรีจนถึงปัจจุบัน

วิธีการบรรเลงจะเข้และแบบฝึกหัดสำหรับจะเข้

๑ ดีดไม้ออกไม้เข้า ด้วยการดีดไม้ดีด “ออก” และ “เข้า” สลับกันโดยเริ่มที่ไม้ดีดออกก่อน มีทั้งดีดสายเปล่าและดีดกดสาย ให้มีน้ำหนักเสียงเท่ากัน การประเมินมีดังนี้

๑ . ๑ การดีดสายเปล่า

– ทดสอบโดยให้ดีดตั้งแต่ ๒ ครั้งขึ้นไป ไม้ดีดต้องจบด้วยไม้เข้าเสมอ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการใช้ไม้ดีดออก – เข้า ให้ถูกต้องกับทำนองเพลง

– น้ำหนักมือในการดีดออกและดีดเข้าต้องได้เสียงดังเท่ากัน

๑ . ๒ การดีดกดสาย ชนิดดีดเรียงเสียง หรือไล่เสียงขึ้นลง

– ตำแหน่งของนิ้วที่กดบนนมถูกต้อง คืออยู่ชิดนมด้านซ้าย

– ใช้นิ้วไล่เสียงตามตำแหน่งของนมทั้ง๑๑นมได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์

– ดีดได้เสียงถูกต้อง

– ดีดได้เสียงชัดเจน

๑ . ๓ การดีดเสียงทิงนอยหรือการเล่นสายลวดประกอบสายเอก คือตามปกติสายจะเข้ทั้ง ๓ สายจะมีเสียงเท่ากันหมด จึง สามารถดีดเดี่ยวในแต่ละสายได้ ฟังสายเอก สายทุ้ม สายลวด ( สายเอก เล่นเสียงสูง สายทุ้ม มักจะเล่นเสียงต่ำ สายลวดเสียงจะแปร่ง ) แต่ถ้าจะให้เสียงไพเราะและฟังดูแปลกออกไปมักจะดีด ควบคู่กันไปทีละ ๒ สาย คือสายเอกจะเป็นเสียง “นอย” และสายลวดจะเป็นเสียง “ทิง” ( จะใช้นิ้วกดที่ ๒ สายนี้เท่านั้น ไม่กดสายทุ้ม ) การเล่นสายลวดเพียงสายเดียว จะเปลี่ยนเป็นใช้หลังเล็บของนิ้วหัวแม่มือที่โดยปกติไม่ค่อยใช้บังคับเสียง

– – – ซ– – – ล– – – ดํ– – – รํ– – – มํ– – – รํ– – – ดํ– – – ล– ซ – –– ล – –– ดํ – –– รํ – –– มํ – –– รํ – –– ดํ – –– ล – –