ใคร ยกทัพมาช่วย พม่า รบกับไทย

๑. เนื้อหาการทำสงคราม ในเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย เป็นเหตุการณ์ปรากฏอยู่ที่ไหน

ตอบ เป็นเหตุการณ์ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย

๒. เหตุการณ์การทำสงครามที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ดังกล่าว มีบันทึกไว้ในที่ไหน

ตอบ มีบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

๓. ทำไมพระเจ้านันทบุเรง จึงมีรับสั่งให้พระมหาอุปราชาพระโอรสยกทัพมารุกรานไทย

ตอบ เพราะทรงทราบว่าสมเด็จพระธรรมราชาเสด็จสวรรคต กรุงศรีอยุธยาอาจมีเหตุการณ์วุ่นวายแย่งชิงบัลลังก์กัน ถ้าได้เปรียบก็จะฉวยโอกาสเข้าตี

๔. พระมหาอุปราชาเดินทัพเข้าไทยทางไหน

ตอบ ทางด่านเจดีย์สามองค์ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

๕. กองทัพพม่าที่นำโดยพระมหาอุปราชา เข้าตีเมืองใดก่อน

ตอบ เมืองกาญจนบุรี

๖. ขณะนั้น พระมหากษัตริย์ใดเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา

ตอบ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

๗. ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชครองกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเอกาทศรถทรงดำรงตำแหน่งเป็นอะไร

ตอบ เป็นอุปราช

๘. ในช่วงเวลาที่พระนเรศวรมหาราชครองกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมทัพไปรบกับประเทศอะไร

ตอบ เขมร

๙. กองทัพไทยกับกองทัพพม่าได้ปะทะกันที่ไหน

ตอบ ที่ตำบลตะพังตรุ จังหวัดกาญจนบุรี

๑๐. ทำไมช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และของสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงวิ่งเตลิดเข้าไปกลางกองทัพพม่า

ตอบ เพราะช้างทั้งสองกำลังตกมัน พอได้เสียงกลองศึกก็คึกคะนองแล้ววิ่งเข้าไปในกองทัพพม่า

๑๑. เมื่อตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถเข้าไปอยู่ในวงล้อมของพม่านั้น ได้มีใครติดตามไปด้วย

ตอบ มีเพียงสมเด็จพระเอกาทศรถ ควาญช้างและกลางช้างตามเสด็จไปด้วยเท่านั้น ไม่มีแม่ทัพนายกองตามไปด้วยสักคน

๑๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสังเกตเห็นพระมหาอุปราชาประทับอยู่ที่ใด

ตอบ ใต้ต้นข่อย

๑๓. สิ่งใดช่วยให้การสังเกตของสมเด็จพระนเรศวรเกี่ยวกับสถานที่ประทับของพระมหาอุปราชาได้แม่นยำขึ้น

ตอบ ฉัตร ๕ ชั้น มีทหารห้อมล้อมมากและมีการตั้งเครื่องสูงครบครัน

๑๔. เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบว่าพระมหาอุปราชาเสด็จประทับอยู่ใต้ต้นข่อย พระองค์ทำอย่างไร

ตอบ เสด็จเข้าไปเชิญพระมหาอุปราชาให้ออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน

๑๕. เหตุผลใดทำให้พระมหาอุปราชาของพม่ายอมทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร

ตอบ หมดเลี่ยง ต้องจำใจออกรบ

๑๖. เมื่อเสร็จศึก เสด็จกลับอยุธยาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีรับสั่งให้ลงโทษแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทัน แต่เหตุใดจึงได้ทรงอภัยโทษเสีย

ตอบ เพราะสมเด็จพระวันรัตได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทนนายทหารเหล่านั้น

๑๗. เนื้อหาลิลิตตะเลงพ่าย เฉพาะส่วนที่มาจากจินตนาการของกวีได้แก่อะไร

ตอบ ได้แก่ บทครวญแสดงความอาลัยรักของพระมหาอุปราชาที่ต่อพระสนม เพราะใจจริงแล้ว พระมหาอุปราชาไม่ต้องการรุกรานไทย แต่ขัดรับสั่งของพระบิดาไม่ได้

๑๘. พระบิดาของพระมหาอุปราชา พระนามว่าอะไร

ตอบ พระนามว่าพระเจ้านันทบุเรง หรือพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง

๑๙. กวีมีกลวิธีอย่างไร จึงทำให้มีความโดดเด่นทั้งเนื้อหาและสำนวนโวหาร

ตอบ ใช้ลีลาแบบการแต่งนิราศ

๒๐. เนื้อหาส่วนไหนที่เพิ่มความมีชีวิตชีวา และความน่าอ่านให้แก่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์   การทำสงครามยุทธหัตถี

ตอบ การที่กวีนำธรรมชาติที่พระมหาอุปราชาได้พบเห็นมาเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อสนมเพื่อถ่ายทอดความรักความอาลัยที่มีต่อนาง

๒๑. กวีได้นำธรรมชาติสิ่งใดมาเชื่อมโยงกับอารมณ์

ตอบ นำชื่อดอกไม้ ต้นไม้ มาเป็นสื่อในการพรรณนาความรักและความอาลัยของพระมหาอุปราชาที่มีต่อพระสนม

๒๒. จินตนาการของกวี ส่งผลอะไรต่อผู้อ่าน

ตอบ ช่วยตรึงใจผู้อ่านไว้ได้

ใคร ยกทัพมาช่วย พม่า รบกับไทย

วันยุทธหัตถี ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ สงครามยุทธหัตถี ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2135 เมื่อพระเจ้านันทบุเรง ได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา หวังจะเอาชนะให้ได้โดยเด็ดขาด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งในการต่อสู้กันครั้งนั้น ระหว่างที่การรบกำลังติดพัน ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถ ก็พากันไล่ล่าศัตรูอย่างเมามัน จนพาทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึกโดยไม่รู้ตัว มีเพียงจตุลังคบาท (ผู้รักษาเท้าทั้งสี่ของช้างทรง)และทหารรักษาพระองค์เท่านั้นที่ติดตามไปทัน แม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ แต่พระองค์ก็มีพระสติมั่น ไม่หวั่นไหว ทรงมีพระปฏิภาณว่องไวเกิดขึ้น โดยพระอุปนิสัยว่า พระองค์จะรอดได้มีเพียงทางเดียวคือ เชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำ ยุทธหัตถี ซึ่งพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีจนได้ชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับแต่นั้นมา ก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย มีแต่ฝ่ายไทยยกไปปราบปรามข้าศึก และทำสงครามขยายอาณาเขตให้กว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน


สำหรับช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มีชัยแก่ข้าศึกในสงครามยุทธหัตถี แต่เดิมมีชื่อว่า “พลายภูเขาทอง” เมื่อขึ้นระวางได้เป็น “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และเมื่อมีชัยก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสา” ส่วนพระแสงของ้าวที่ทรงฟันพระมหาอุปราชา มีชื่อว่า “เจ้าพระยาแสนพลพ่าย” และพระมาลาที่ถูกฟันขาดลงไป ตอนทรงเบี่ยงหลบ มีชื่อว่า “พระมาลาเบี่ยง” สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธี และอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธ ที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน อาวุธที่พระองค์ได้แสดงความสามารถให้ประจักษ์มาแล้ว ได้แก่

ปืน เช่น เหตุการณ์ที่แม่น้ำสะโตง ที่ทรงยิงพระแสงปืนกระบอกหนึ่งยาว 9 คืบถูกสุรกรรมา ผู้บังคับกองฯของพม่าตายอยู่กับช้าง แสดงว่าทรงปืนแม่นมาก
ดาบ เป็นอาวุธที่พระองค์ทรงชำนาญในการรบประชิด เช่น เมื่อครั้งปีนค่ายพม่า จนมี “พระแสงดาบคาบค่าย”
ทวน ในกรณีสังหารลักไวทำมู ทหารพม่าที่จะมาจับพระองค์
ง้าว เช่นในคราวสงครามยุทธหัตถี ที่ทรงใช้พระแสงของ้าวฟันถูกพระอังสะ(ไหล่) พระมหาอุปราชาจนขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีความสามารถในการใช้อาวุธทั้งสี่ประเภท ได้อย่างดีเยี่ยม ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆ ที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชา ผู้คนก็สิทธิ์ขาดรี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน


ตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ 15 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2133 จนเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2148 ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัย ให้กับการศึกสงคราม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา กล่าวกันว่าทรงนำทหารเข้ารบและทำศึกสงคราม มากกว่า 15 ครั้ง แต่การรบที่สำคัญและเด่นๆ มี 3 ครั้ง คือ เมื่อ พ.ศ. 2126 ที่ไปตีเมืองคัง ได้แสดงออกถึงพระปรีชาสามารถในการดำเนินกลศึก จนสามารถจับเจ้าเมืองคังถวายพระเจ้าหงสาวดีได้ ครั้นปี พ.ศ. 2129 คราวพม่ายกล้อมกรุง ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีเสด็จมาเอง โดยมีกำลังพลถึง 250,000 คน และเป็นทัพกษัตริย์ถึง 3 ทัพคือ ทัพพระเจ้าหงสาวดี, ทัพพระมหาอุปราชา และทัพพระเจ้าตองอู ครานั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ใช้ยุทธศาสตร์การเดินทหารด้วยทางเส้นในจนได้รับชัยชนะ โดยพม่าไม่มีโอกาสเข้ามาประชิดกำแพงเมืองเลย และอีกครั้งคือ คราวสงครามยุทธหัตถี ตามที่กล่าวมาแล้ว และแม้แต่วาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ก็ยังทรงอยู่ในระหว่างการรบ คือทรงยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์ และเป็นพิษจนสวรรคตไปเสียก่อน

ใคร ยกทัพมาช่วย พม่า รบกับไทย