ใครที่สามารถเป็นผู้จัดการมรดก

ใครที่สามารถเป็นผู้จัดการมรดก

ชื่อตอน : หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดก มีหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี และแบ่งปันทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และที่สำคัญ ผู้จัดการมรดก ต้องเป็นบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก

ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดก และทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์ แก่มรดก จะทำนิติกรรมใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้
หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1719 มาตรา 1728มาตรา 1729

มรดก คือ ทรัพย์สินของผู้ที่ถึงแก่กรรมตกถอดถึงทายาท ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบไหนก็ถือว่าเป็นมรดกเช่นกัน และการจะจัดการมรดก เพื่อแจกแจงหรือดำเนินการต่างๆในกองมรดกของเจ้ามรดกแล้วนั้น ก็ต้องมีผู้ทำหน้าที่อันสำคัญนี้คือ ผู้จัดการมรดก อันเป็นบุคคลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือ คำสั่งศาลเห็นชอบสมควรให้มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการแจกแจงแบ่งทรัพย์มรดกให้ถูกต้อง โดยครั้งนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปดูกันว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ที่จะร้องขอต่อศาลจัดตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นมา

 

ใครที่สามารถเป็นผู้จัดการมรดก

ใครที่มีสิทธิเป็น ผู้จัดการมรดก และสามารถร้องขอต่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งได้

ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดกจะเป็นใครก็ได้ แต่ผู้ที่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ต้องเป็น ทายาทโดยชอบธรรม ของเจ้ามรดก เช่น ผู้สืบสันดาน, บิดามารดา, พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน , คู่สมรส(ที่ทำการจดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น) หรือจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ แต่ต้องมีส่วนได้เสียร่วมกัน เช่น เจ้าของร่วมทรัพย์สิน

หรือหากมีพินัยกรรมก็ให้เป็นไปตามที่พินัยกรรมได้ระบุไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ศาลก็ไม่จำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมระบุไว้ได้ด้วยเช่นกัน อาจตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นที่เหมาะสมกว่าก็ได้ และการจัดตั้งผู้จัดการมรดก ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งขึ้นมาแค่เพียงคนเดียวด้วย สามารถตั้งหลายคนได้ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ที่สามารถให้ผู้จัดการมรดกคนใดคนนึงสามารถเป็นผู้ดำเนินการเพียงลำพังได้ ในขณะที่ผู้จัดการคนอื่นไม่สะดวก

 

ผู้จัดการมรดกที่ถูกแต่งตั้งโดยพินัยกรรม ไม่พร้อมที่จะรับหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1717 ได้ระบุว่า ในเวลาใดๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย แต่ต้องเป็นเวลาภายหลังที่เจ้ามรดกตายแล้วสิบห้าวัน ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง จะแจ้งความถามไปยังผู้ที่ถูกตั้งเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมว่าจะรับเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งความมิได้ตอบรับเป็นผู้จัดการมรดกภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับแจ้งความนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นปฏิเสธ แต่การรับเป็นผู้จัดการมรดกนั้น จะทำภายหลังหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

 

ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติจะมาเป็นผู้จัดการมรดก

ตามจริงแล้วหากมีคุณสมบัติเป็นทายาทหรือเป็นบุคคลที่มีส่วนได้เสียต่อเจ้ามรดกที่ถึงแก่กรรมไปแล้วก็สามารถได้รับการแต่ตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกได้หมด เว้นเสียแต่บุคคลต่อไปนี้ ที่ไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 กำหนดไว้

  1. ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
  2. บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
  3. บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

 

จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดก จะต้องทำอย่างไร ?

ก่อนอื่นเลย ผู้ที่ต้องการจะแต่งตั้งตนเองหรือแต่งตั้งผู้อื่นผู้ใดขึ้นมาเป็นผู้จัดการมรดก จะต้องเขียนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ต่อศาลเสียก่อน โดยจะต้องมีหลักการบรรยาย ดังนี้

  1. ผู้ร้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับผู้ตายอย่างไร
  2. ผู้ตายถึงแก่ความตายที่ไหน เมื่อไร
  3. ขณะถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด
  4. ผู้ตายมีทายาทกี่คน ใครบ้าง
  5. ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ และ มีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง
  6. มีเหตุขัดข้องอย่างไรในการจัดการมรดก
  7. ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดหารมรดก
  8. ขอให้ตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดก
  9. คำลงท้าย

 

นอกจากนี้ หากท่านยังไม่ทราบท่านเป็นทายาทลำดับที่เท่าไหร่ที่จะได้รับมรดก สามารถที่จะตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่…..

การแบ่ง มรดก กับทายาทโดยชอบธรรม ที่มีสิทธิรับมรดก

 

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก

  • TAGS
  • กฎหมายมรดก
  • การรับมรดกที่ดิน
  • ผู้จัดการ มรดก
  • มรดก
  • มรดก ที่ดิน

Previous article10 ขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองในปี 2562 แบบง่ายๆ

Next article5 แนวโน้มสำคัญที่ทำให้ ประชากรจะขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2562

About the author

Taweewat

http://www.dotproperty.co.th

ทัวร์ หรือ ทวีวัฒน์ จงหมายกลาง ผู้ดูแลคอนเทนท์บนเว็บไซต์ Dotproperty หากสนใจพูดคุยหรือปรึกษาทุกเรื่องราวอสังหาฯ ติดต่อมาได้ตามช่องทางติดต่อด้านล่างเลยครับ