ใคร จะ เป็น นายก คน ต่อ ไป

ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

|

25 ส.ค. 2565 เวลา 0:11 น. 17.3k

เปิด 5 รายชื่อแคดิเดตนายกฯใหม่ มีใครบ้าง จากพรรคไหน เพราะอะไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้ว

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

5 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯใหม่ อนุทิน ชาญวีรกุล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ

จากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติต่อคำร้องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้ สองประการคือ

  • รับเรื่องไว้พิจารณาด้วยเสียงเอกฉันท์ 9-0
  • สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดการ ปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 5-4
  • ให้นายกรัฐมนตรี ยื่นคำชี้แจงภายใน 15 วัน

ทำให้พอจะคาดการณ์ได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัยภายในช่วง 15-30 วันนับจากนี้ ซึ่งจะเป็นได้สองกรณีคือ

  • นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ จะถึงปี 2568 หรือถึงปี 2570 ก็แล้วแต่กรณี

  • นายกรัฐมนตรี จะต้องหยุดการปฎิบัติหน้าที่เป็นการถาวร ทำให้รองนายกรัฐมนตรีที่รักษาการ จะต้องทำหน้าที่ต่อไปในระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็นคือ ก่อนที่รัฐสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ขั้นตอนที่ผู้คนสนใจตามมาก็คือ ถ้ามีความจำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในที่ประชุมรัฐสภา อันประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. จำนวนรวมกัน 750 คนนั้น ชื่อผู้ที่จะถูกพิจารณาจะประกอบด้วยใครบ้าง ใช้หลักดังนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ

และเมื่อได้จำนวนส.ส. แล้ว ให้พิจารณารายชื่อเฉพาะพรรคที่มี ส.ส.เกินกว่า 5% คือ 25 คนขึ้นไป

ซึ่งก็จะเหลือพรรคที่มีส.ส.เกิน 25 คนเพียง 5 พรรค ได้แก่

  • พรรคเพื่อไทย
  • พรรคพลังประชารัฐ
  • พรรคภูมิใจไทย
  • พรรคก้าวไกล
  • พรรคประชาธิปัตย์

โดยรายชื่อของพรรคเพื่อไทยซึ่งเสนอไว้ 3 ชื่อ ประกอบด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัยเกษม นิติสิริ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อเดียวคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

พรรคภูมิใจไทยเสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกุล

พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอชื่อไว้ เพราะจัดตั้งขึ้นภายหลัง

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันพรรคเพื่อไทย คงจะเหลือชื่อเดียวคือชัยเกษม นิติสิริ พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกุล พรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กล่าวโดยสรุป

5 ชื่อที่จะถูกนำมาพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ประกอบด้วย

  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
  • ชัยเกษม นิติสิริ
  • สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
  • อนุทิน ชาญวีรกุล
  • อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว จะเหลือเพียง 3 ชื่อคือ

  • ชัยเกษม นิติสิริ
  • อนุทิน ชาญวีรกุล
  • อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่ถ้าที่ประชุมไม่สามารถจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อดังกล่าวได้ ก็จะไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือ

การขอยกเว้น แล้วเสนอชื่อนายกฯจากนอกบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งต้องใช้เสียงเห็นชอบด้วยอย่างน้อย 500 เสียงจาก 750 เสียง ซึ่งถ้ามีโอกาสจะได้เขียนรายละเอียดให้ทราบกันต่อไป
 


คำถามที่ถูกถามมาตอนนี้คือ รัฐบาลจะยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ส่วนตัวผมจะตอบว่า เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะยังไม่ยุบสภาฯ ตอนนี้ แต่หลายพรรคก็เริ่มส่งสัญญาณออกมาว่ามีการเตรียมพร้อมที่จะเลือกตั้งกันแล้ว

หลายพรรคเริ่มเปิดตัวว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยฝั่งฝ่ายค้านนั้นชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลจะชูธงหัวหน้าพรรคคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งประกาศแล้วว่าจะยึดพื้นที่ในภาคอีสานเขตอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยให้ได้ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง ยังคงรอทักษิณ นายใหญ่จากดูไบเคาะว่าจะเป็นใคร

ส่วนฝั่งรัฐบาลตอนนี้นั้นมีพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศก่อนใครว่าจะผลักดันนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐนั้นก็น่าจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาต่อไป เพียงแต่มีปัญหาว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่อยู่ได้ไม่เกิน 8 ปีออกมาอย่างไร

แต่ก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบทความเรื่องอนาคตที่มองไม่เห็นของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการสะท้อนว่า โอกาสในการกลับมาเป็นพรรคการเมืองที่จะได้เสียงข้างมากนั้นไม่มีเลย แถมจะรักษาที่นั่งครั้งนี้ไม่ให้น้อยลงในการเลือกตั้งข้างหน้าก็คงจะยาก ดังนั้น โอกาสที่นายจุรินทร์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นยังมองไม่เห็น ถึงตอนนี้ผมก็ยังยืนยันความคิดนี้อยู่

แม้ว่าอยู่ๆ มีโพลถึงสองโพลที่สร้างความประหลาดใจมาก คือ สวนสุนันทาโพล และซูเปอร์โพล ที่บอกว่า นายจุรินทร์ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสองรองจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่แปลกที่นิด้าโพลได้สำรวจความนิยมนายกรัฐมนตรีมาเป็นระยะไม่เคยมีชื่อของจุรินทร์เกิดขึ้นในลำดับต้นเลย

ผลสำรวจของสวนสุนันทาโพล ระบุว่า ผลสำรวจจากคำถามที่ว่า ใครเหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนต่อไป พบว่า อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 16.68% อันดับ 2 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 16.26% อันดับ 3 สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 16.19% อันดับ 4 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 12.10% อันดับ 5 อนุทิน ชาญวีรกูล 9.85% และอื่นๆ 28.92%

ส่วนซูเปอร์โพลเผยผลประเมินความเหมาะสมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับแรกได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 2 ร้อยละ 59.3 ระบุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อันดับ 3 ที่ตามมาติดๆ ร้อยละ 58.6 ระบุ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อันดับ 4 ได้แก่ ร้อยละ 58.5 ระบุ นายกรณ์ จาติกวณิช อันดับ 5 ได้แก่ ร้อยละ 54.4 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล อันดับ 6 ร้อยละ 53.9 ระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอันดับ 7 ร้อยละ 46.7 ระบุ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม

นิด้าสำรวจความเห็นว่าใครคือบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 32.61 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 17.54 ระบุว่า เป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 3 ร้อยละ 11.15 ระบุว่า เป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อันดับ 4 ร้อยละ 11.05 ระบุว่า เป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อันดับ 5 ร้อยละ 9.07 ระบุว่า เป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อันดับ 6 ร้อยละ 7.48 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 7 ร้อยละ 2.58 ระบุว่า เป็น นายกรณ์ จาติกวณิช อันดับ 8 ร้อยละ 2.33 ระบุว่า เป็น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อันดับ 9 ร้อยละ 1.54 ระบุว่า เป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อันดับ 10 ร้อยละ 1.24 ระบุว่า เป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ไม่น่าเชื่อว่าผลโพลของนิด้าโพลซึ่งนายจุรินทร์มีความนิยมต่ำมากจะแตกต่างกับสุนันทาโพลและซูเปอร์โพลซึ่งความนิยมพุ่งขึ้นมาขนาดนี้

นิด้าโพลอ้างว่า สำรวจจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,018 หน่วย

ซูเปอร์โพลอ้างว่า สำรวจจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,348 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 11-16 ตุลาคม

สวนสุนันทาโพล อ้างว่า สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศในระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคม จำนวนทั้งสิ้น 1,421 ตัวอย่าง สุ่มตัวอย่างจากในเขตอำเภอเมือง 822 ตัวอย่าง ต่างอำเภอ 599 ตัวอย่าง ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

เมื่อพิจารณาจากนิด้าโพลที่ทำมาก่อนเพียง 2 สัปดาห์น่าสงสัยว่าชื่อของนายจุรินทร์กระโดดพรวดขึ้นมาใน 2 โพลที่ทำไล่เลี่ยกันได้อย่างไร แต่ถ้าเราติดตามข่าวสารจะเห็นว่าในระยะเวลานั้น พรรคประชาธิปัตย์พยายามประโคมข่าวออกมาว่าพรรคจะประกาศตัวนายจุรินทร์เป็นนายกรัฐมนตรีในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ ในเพจของพรรคมีการนำเสนอประวัติและผลงานของนายจุรินทร์ออกมาอย่างคึกคัก

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาทั้งสามโพลจะยังไม่ปรากฏชื่อตัวแทนของพรรคเพื่อไทย แม้จะมีชื่อของนายสมพงษ์ หัวหน้าพรรคที่ได้คะแนนนิดหนึ่งจากนิด้าโพลก็เป็นที่รู้กันว่า พรรคเพื่อไทยคงจะไม่เสนอชื่อนายสมพงษ์อย่างแน่นอน

ดังนั้นความน่าเชื่อถือของโพลยังไม่สามารถบอกอะไรได้ในตอนนี้ ต้องรอให้ทักษิณเคาะเสียก่อนว่าจะส่งใครลงมาเป็นนายกรัฐมนตรีในโควตาของพรรคเพื่อไทย

แต่ถ้าเราพิจารณาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งคนออกเป็นสองฝ่าย และมีกำลังก้ำกึ่งกันระหว่างฝ่ายอำนาจรัฐรวมกันกับพรรคฝ่ายค้านรวมกันในตอนนี้ ผลสำรวจจากตัวเลือกสองฝั่งก็น่าจะออกมาก้ำกึ่งกันมาก

พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์จะแย่งคะแนนในฐานมวลชนกลุ่มเดียวกัน และพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลก็จะแย่งคะแนนในฐานมวลชนกลุ่มเดียวกัน

ฝั่งของพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ชะตากรรมผูกไว้กับคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะให้ไปต่ออีกสมัยหรือไม่ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยังได้ไปต่อก็เชื่อว่า คะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐจะออกมาเหนือกว่าไม่ต่างกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ฝั่งพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลนั้นก็จะเป็นการต่อสู้ที่พรรคเพื่อไทยประมาทไม่ได้เลย เพราะวันนี้กระแสของพรรคก้าวไกลในมวลชนฝั่งนี้นั้นมาแรงมาก แต่มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะสร้างกระแสว่า ไม่เลือกเราเขามาแน่ คือถ้าไม่เลือกพรรคเพื่อไทยให้ชนะเด็ดขาดสุดท้ายแล้วก็จะพ่ายแพ้แก่ฝั่งรัฐบาลตอนนี้อย่างแน่นอน

แต่อย่าลืมว่า อำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว.ยังอยู่ ถ้าพรรคฝ่ายค้านจะกดดัน ส.ว.ให้ใช้ความอิสระในการเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคฝ่ายค้านก็จะต้องชนะเลือกตั้งให้มาก เพื่อกดดัน 250 ส.ว.ว่าประชาชนต้องการให้ฝ่ายนี้เป็นรัฐบาล แต่ถ้ายังก้ำกึ่งกันแบบการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็เชื่อว่าขั้วอำนาจรัฐก็ยังเป็นฝั่งเดิม ส่วนนายกรัฐมนตรีก็ต้องรอดูชะตากรรมของพล.อ.ประยุทธ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังคงอยู่ ฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่งก็จะออกมาขับไล่ ยิ่งถ้าฝ่ายอำนาจรัฐปัจจุบันไม่ชนะให้เด็ดขาดและยังพึ่งพิงชัยชนะจาก 250 ส.ว.แล้วก็กล่าวหาเรื่องสืบทอดอำนาจก็จะยังคงถูกใช้เป็นชนวนต่อไป

ยังมองไม่ออกเลยว่า เราจะกลับไปสู่สภาวะปกติที่จะออกจากความขัดแย้งได้อย่างไร ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan