ทำไม บิ๊ ก โจ๊ก โดน ย้าย

หลังจากลือกันทั่วเมืองตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาว่า "บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล" ถูกสั่งย้ายฟ้าผ่าจากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) พร้อมกับการหายไปของบัญชีในโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

>> ลือสะพัด! เด้งฟ้าผ่า "บิ๊กโจ๊ก" เข้ากรุ เพจเฟซบุ๊กปลิวตั้งแต่เมื่อวาน

จนเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (6 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวหลายสำนักได้เห็นเอกสารคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ "บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา" ผบ.ตร. ลงนามสั่งย้าย บิ๊กโจ๊ก จากตำแหน่ง ผบช.สตม. ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) เป็นอันยืนยันชัดเจนจากข่าวลือกลายเป็นข่าวจริง!

>> คอนเฟิร์มชัด! เปิดคำสั่งเด้งฟ้าผ่า "บิ๊กโจ๊ก" เข้ากรุ หลังลือสะพัดข้ามคืน

จะว่าไปแล้วเส้นทางรับราชการในแวดวงสีกากีของ เดอะโจ๊ก ถือว่าไม่ธรรมดาและน่าจับตาไม่น้อย เพราะนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 47 (นรต.47) ผู้นี้ได้ชื่อว่าติดยศเป็นนายพลอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเลยทีเดียว (สถิตินี้ไม่นับเมื่อครั้งยังเป็นกรมตำรวจ)

จากพื้นเพที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นคนสงขลา เกิดในครอบครัวของตำรวจชั้นประทวนซึ่งทำหน้าที่ดูแลใกล้ชิด พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ อดีตนายตำรวจคนดังผู้เป็นบิดาของทั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ (อดีต ผบ.ตร.) และนางพจมาน ณ ป้อมเพชร (อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร) แต่ใครจะคาดคิดว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล จะก้าวหน้าในชีวิตราชการภายใต้ยุค คสช. เรืองอำนาจ

หลังจากเป็นผู้กำกับการ สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ติดยศ พ.ต.อ.ตั้งแต่ 20 พ.ย. 2551 อยู่ 4 ปีกว่า ก็ได้ขยับมาเป็น รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และเมื่อได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลพื้นที่ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้รับสิทธิการนับอายุราชการแบบทวีคูณ ส่งผลให้สามารถติดยศ พล.ต.ต. เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2558 ในวัยยังไม่ครบ 45 ปี ในตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังไม่น้อยในเวลานั้น

ก่อนจะขยับมาเป็น ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ในวาระแต่งตั้งประจำปี 2558 แล้วในวาระโยกย้ายประจำปี 2559 สไลด์ไปเป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือผู้การ 191 ด้วยผลงานปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ เมื่อถึงวาระแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2560 ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนไปเป็นรองผู้บัญชาการถึง 2 กองบัญชาการ คือ ครั้งแรกที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ก่อนที่ในการประชุม ก.ตร.ในอีกสัปดาห์ต่อมา มีมติให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกองบัญชาการที่เพิ่งได้รับการยกระดับขึ้นมาจากกองบังคับการ

และเมื่อโยกย้ายประจำปี 2561 จากรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รอง ผบช.ทท.) ซึ่งสร้างผลงานมากมายทั้งจากหน้างานรับผิดชอบปกติและงานในหน้าที่ของศูนย์เฉพาะกิจต่างๆ ที่บิ๊กโจ๊กได้รับมอบหมาย ทำให้ได้รับเสนอชื่อเลื่อนขึ้นมาติดยศ พล.ต.ท. เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ซึ่งถือเป็นกองบัญชาการเกรดเอแห่งหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเลยทีเดียว

จนสื่อมวลชนจำนวนมากในสายอาชญากรรม การเมือง และความมั่นคง เชื่อกันว่าเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ของเดอะโจ๊ก ไม่น่าจะหนีหายไปไหนได้ เพราะด้วยความที่เจ้าตัวเกิดในวันที่ 29 ต.ค. 2513 จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 2574 (เกิดหลัง 30 ก.ย. จะทบเวลาราชการให้อีกหนึ่งปีจากปกติเกษียณด้วยอายุ 60 เป็น 61) หรืออีก 13 ปี มีเวลาเหลือเฟือที่จะได้เป็นเบอร์หนึ่งแห่งกรมปทุมวัน

>> ส่องเส้นทาง "เทพโจ๊ก" เหลืออีก 3 ขั้นสู่เก้าอี้ "ผู้นำสีกากี"

>> บิ๊กโจ๊ก ผู้ฝากผลงานไว้เพียบ! แลกกับค่าแรงที่ทำจน "ตัวลีบ" ถือว่าคุ้มมั้ย

แต่แล้วเอกสารคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 5 เม.ย. 2562 ที่ ผบ.ตร. สั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ ศปก.ตร. แบบขาดจากตำแหน่งเดิม จะส่งผลให้เส้นทางหรือจังหวะก้าวในการขึ้นไปเป็นหัวแถวของวงการสีกากีสะดุดหยุดลงหรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากข่าวลือแพร่สะพัด ว่าเขาอาจจะถูก “เด้ง” กระทั่งกระจ่างชัดในเวลาต่อมา ด้วยคำสั่งให้เข้ามาปฏิบัติราชการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นได้มีคำสั่งต่อมาให้พ้นจากหน้าที่ที่รับผิดชอบในทุกศูนย์เฉพาะกิจตำรวจที่เคยทำมา ต่อมา ก็มีคำสั่งมาตรา 44 ให้ย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ มาประจำสำนักนายรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทผู้บริหารระดับสูง

ถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครทราบว่า การโยกย้ายครั้งนี้มาจากฐานความผิดในเรื่องใด แต่เมื่อมองย้อนดูประวัติของ “บิ๊กโจ๊ก” ก็จะมีข่าวลือและคำครหามากมาย อาทิ เป็น พลตำรวจตรี ใหญ่กว่า พลตำรวจเอก เป็นมือจัดโผตำรวจ จนมีนายตำรวจจำนวนมากวิ่งเข้าหา ก่อนการแถลงข่าวกวาดล้างชาวต่างชาติทำผิดกฎหมาย

“ที่นี่มีแต่สถานที่ทำงาน ใครจะมาวิ่งเต้นให้กลับไปเลย..”

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล

จะว่าไป ข่าว “ซื้อขายตำแหน่ง” ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นั้นไม่ถือเป็นเรื่องใหม่อะไร เพราะที่ผ่านมา ก็มีอดีตตำรวจหลายคนเคยกล่าวถึง โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีต ผกก. สภ.อ.ลำลูกกา ที่เรียกร้องการปฏิรูปตำรวจมาโดยตลอด มองปัญหากรณีบิ๊กโจ๊ก ว่า ก่อนหน้านี้มีการโยกย้ายไป ที่ ศปก.ตร. ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่านี่คือ “ปัญหาในการปฏิบัติราชการ” อยู่แล้ว แต่เมื่อมีคำสั่งโอนให้ขาดจากความเป็นตำรวจ ก็ยิ่งสะท้อนความผิดปกติ โดยคำสั่ง คสช. ที่ 2/2562 ยังพันกับคำสั่ง คสช. 16/2558 ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยการนำคนที่กำลังถูกตรวจสอบเรื่องทุจริต มาเปิดตำแหน่งนี้เอาไว้

“การมีคำสั่งในลักษณะนี้ก็ต้องมีเรื่องปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่อย่างไรตาม ช่วงนี้มีเสียงคำร่ำลือเยอะ แต่อยากให้ฟังข้อมูลการชี้แจงจากทางราชการ ซึ่งหากราชการไม่ชี้แจงก็คงยากที่จะห้ามผู้คนเล่าลือต่างๆ นานาที่อาจกระทบกับความเชื่อมั่นกับตำรวจทั้งประเทศ”

ปัญหา “ซื้อขายตำแหน่ง” ที่มาจากการใช้ “อำนาจรวมศูนย์”

อดีตตำรวจชื่อดัง มองประเด็นปัญหานี้ว่า ที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครมายืนยัน ซึ่งรากของปัญหานี้อยู่ที่ระบบเปิดโอกาสให้การแต่งตั้งทำได้อย่างเสรี ไม่มีกฎเกณฑ์ ปัญหาระบบส่วนหนึ่งมาจากคน ซึ่งหลังจาก คสช. ยึดอำนาจมา แล้วมีคำสั่งให้การแต่งมารวมศูนย์ เปิดกว้างแต่งตั้ง ไม่จำกัดภาค จำกัดจังหวัด ส่งผลให้มีการวิ่งเต้นค่อนข้างรุนแรง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการใช้ทรัพย์สิน เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง

“ถ้าเราถามว่า ทำไมข้าราชการในระบบกระทรวงยุติธรรมหน่วยงานอื่น ทำไมไม่เคยได้ยินเรื่องการวิ่งเต้น เป็นเพราะมันมีกฎเกณฑ์ชัดเจน ทุกคนก็เจริญก้าวหน้าไปตามสายงานของตัวเอง แต่การรวมศูนย์อำนาจ ถามว่า คนที่อยู่ส่วนกลาง ไม่รู้เรื่องอะไรเขาเลย ว่าเขาทำงานในพื้นที่อย่างไร แต่มีอำนาจไปแต่งตั้ง จึงเป็นที่มาให้เกิด “ผิดฝาผิดตัว” เช่น ไปย้ายคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องมารับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้มันกระทบกับระบบรักษากฎหมายโดยรวมของประเทศ”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวถึงทางออกของปัญหา คือ ท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ควรจะนำร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ฉบับของ ท่าน มีชัย ฤชุพันธุ์ ผ่านสภาโดยเร็ว ซึ่งคณะที่ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา ท่านก็เป็นคนตั้งขึ้นมาเอง หรือว่าจะใช้ ม.44 ก็ยังได้เลย แต่ที่ผ่านมา กลับมีปัญหา เพราะไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ตามกฎเกณฑ์ ซึ่งมันก็เลยส่งผลตามมา

มีชัย ฤชุพันธุ์

ข้อดีของ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ดังกล่าวนั้น มีการกำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่เปิดช่องให้แต่งตั้งได้ตามความพอใจ โดยมีคำว่าคนนั้นเก่ง คนนั้นดี ซึ่งหากมีการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีหลักเกณฑ์ที่ดี การวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง มันก็หมดไปโดยปริยาย เพราะมีการจำกัดพื้นที่ เช่น ย้ายในจังหวัดเท่านั้น หรือ มีกฎเกณฑ์ เช่น ให้ไปเริ่มต้นที่โรงพัก ชั้น 3 ก่อน อีก 2 ปีก็มาที่โรงพักชั้น 2 เป็นต้น

“ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นที่มาของการคัดค้านของตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางนาย เพื่อสกัดกั้น พ.ร.บ.ตำรวจชุดนี้เข้าสู่สภา ในทางกลับกัน ตำรวจชั้นผู้น้อยกลับอยากให้ผ่าน แต่ตำรวจชั้นผู้น้อยเสียงไม่ค่อยดังพอ”

วิ่งซื้อขายตำแหน่ง บางตำแหน่งกว่า 10 ล้าน? พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า เป็นเสียงที่ประชาชน หรือ ตำรวจก็พูดกันเยอะแยะ แต่จะจริงหรือไม่ก็คงรู้กันระหว่างคนซื้อหรือรับประโยชน์ แต่ไม่มีใครยืนยันได้แม้แต่คนใกล้ชิดตำรวจ ซึ่งเรื่องนี้เขาไม่พูด...ได้แต่เดาๆ หรือ บางคนที่พ้นราชการไปแล้ว ก็อาจจะมาพูด แต่เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ชัดเจนหรือมีหลักฐาน แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า คนที่ไม่วิ่ง ไม่เต้น โอกาสได้ตำแหน่งที่ต้องการก็เป็นไปไม่ได้เลย..

การโยกย้ายที่พึงจะเป็น แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ

1.เติบโตตามสายงาน
2.เติบโตตามพื้นที่
3.ระบบอาวุโส ซึ่งระบบนี้ไม่ใช่ว่าแก่ แต่เป็นการครองตำแหน่งมาก่อน เช่น เป็นรอง ผู้กำกับ มา 8 ปี แต่อีกคนเป็น รองฯ มา 4 ปี จะมาบอกว่า คนที่เป็น รองฯ มา 4 ปีเก่งกว่า แต่คำถามคือ คนที่เป็นมาแล้ว 8 ปี เขาเสียหายตรงไหน เวลามีตำแหน่งว่างทำไมไม่ได้เลื่อน ขวัญกำลังใจ ความอับอาย บางคนจะได้ขึ้นก็ถูกย้ายออก เพื่อเปิดทางให้คนอื่น...

ศปก.ตร. หรือ สุสานตำรวจ

เมื่อถามว่า เพราะเหตุใด ตำรวจที่ถูกสงสัยว่ากระทำผิดมักถูกย้ายไป ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อดีตตำรวจ ฉายา “ผู้กำกับกระดูกเหล็ก” หัวเราะเล็กน้อย ก่อนกล่าวว่า ศปก.ตร. คือศูนย์ปฏิบัติการ มันควรจะคัดเลือกคนเก่งมาอยู่ แต่กลับกลายเป็นว่า คนที่มาอยู่เป็นคนที่ถูกเม้าท์ว่ามีปัญหาทุจริต หรือ บกพร่องต่อหน้าที่ ซึ่ง ศปก. ก็มีหลาย ศปก. ทั้งภาค ศปก.ตำรวจแห่งชาติ ศปก.ตร.ภาค ศปก.ตร.จังหวัด ซึ่งถือเป็นเรื่องตลก ที่ประเทศไทยมี ศปก. แม้กระทั่งสถานีตำรวจ ซึ่งคนทำงานก็มีทั้งผู้กำกับ หรือ รองผู้กำกับ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ย้ำเสียงหนักแน่นว่า ศูนย์ปฏิบัติการ ที่แท้จริง ควรจะถูกตั้งขึ้นเป็น เฉพาะกิจ หรือ เฉพาะการ มีเหตุการณ์ที่จะต้องเร่งคลี่คลาย แต่เมื่อแก้ปัญหาแล้ว ศปก. ก็ควรจะหายไป เพราะโครงสร้างตำรวจก็มีอยู่แล้ว ทั้ง ผบ.ตร. ผู้ใต้บังคับบัญชาต่างๆ

“ผมอยากจะถามว่า ศปก. นี่เป็นศูนย์ปฏิบัติการ หรือ สุสานตำรวจกันแน่ (กล่าวติดตลก) เพราะชื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการ แต่ข้อเท็จจริงนั้นอาจจะเป็นสุสาน คนที่ถูกย้ายมาส่วนมากก็มีปัญหา มีร่องรอยการทุจริต ก็ไม่รู้ว่ามีงานอะไรให้ทำ”

ตั๋ว เงิน ผลงาน ใบเบิกทางตำรวจก้าวขึ้นตำแหน่งฝัน

ที่ผ่านมา ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เคยสัมภาษณ์ อดีต ผบช.ภาค 9 อย่าง “วิสุทธิ์ วานิชบุตร” ก็เคยออกมาเปิดเผยเบื้องลึกการวิ่งเต้น

อดีตนายตำรวจชื่อดัง กล่าวว่า สมัยก่อน สน.ปทุมวัน ขึ้นชื่อว่าเป็นเกรด A+ เนื่องจากว่าในพื้นที่นั้นมีสนามม้า มีโต๊ะเถื่อนรับพนันมากมาย อีกทั้งเมื่อก่อนต้องจ่ายต่ำๆ สัปดาห์ละ 1 ล้านบาท โดยคนจ่ายคือหัวหน้าวิน ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมเงินจากโต๊ะพนันม้ามาจ่าย ส่วนเงินที่ได้มาแล้ว ก็ต้องส่งขึ้นระดับบน การส่งนั้นเงินนั้น ก็อยู่ที่เกรดของโรงพักอีก ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นโรงพักเกรด A+ อาจจะจ่าย 50% ของรายได้ เกรด A จ่าย 40% ของรายได้ ซึ่งแต่ละโรงพักจะมีการทำบัญชีกันไว้ และรู้กันในวงการว่า โรงพักไหนเกรดอะไร

เหตุผลหลักๆ ของการซื้อตำแหน่ง เพราะเป็นการแลกผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน บางรายที่ซื้อเพราะคุณสมบัติไม่ได้หรือไม่ครบ รวมไปถึง มีคู่แข่งในการขึ้นตำแหน่งเยอะ จึงใช้เงินในการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ การจะวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งนั้น จะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ คือ มีเงิน มีเส้น มีผลงาน ถ้ามีครบทั้ง 3 ประการ ถึงจะเรียกได้ว่าครบเครื่อง

วิสุทธิ์ วานิชบุตร

หากมี “ตั๋ว” เรียกว่า มีเส้นสาย บางครั้งอาจจะไม่ต้องจ่าย หรือจ่ายไม่เต็มจำนวน แต่ถ้าไม่มีตั๋ว ก็ต้องใช้เงินจ่ายอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวยิงคำถามว่า "การซื้อขายตำแหน่งมีจริงหรือไม่..? ผู้การวิสุทธิ์ นิ่งคิดไปสักครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า ให้ลองไปถามประชาชน เชื่อว่าร้อยละ 90 เชื่อว่ามีการซื้อขายจริง โดยเฉพาะตำแหน่งข้าราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การถูกโยกย้ายของ “บิ๊กโจ๊ก” ในวันนี้ จะมีสาเหตุมาจากเรื่องใดกันแน่ คงต้องรอดูทาง สตช. แถลงกันต่อไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน