เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ศูนย์การศึกษาพัฒนาฯ
ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่

สาขางานวิจัย
การพัฒนาเกษตรกรรม(พืช) ,
อื่นๆ

ความเป็นมาและความสาคัญของปัญหา

การผลิตพืชอินทรีย์

            การผลิตพืชอินทรีย์เป็นระบบการผลิตพืชที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สมดุลธรรมชาติ และ ความหลากหลายทางชีวภาพ มีการจัดการระบบนิเวศที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและสารสังเคราะห์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช หรือ ฮอร์โมนต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งการไม่ใช้พันธุ์พืชที่เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการตัดต่อสารพันธุกรรม การผลิตพืชอินทรีย์จึงเป็นการผลิตพืชที่เน้นการใช้วัสดุอินทรีย์ซึ่งสามารถสลายตัวให้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยชีวภาพ ในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้ต้นพืชเจริญเติบโตและมีความแข็งแรง สามารถต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตนเอง ผลผลิตที่ได้จึงปราศจากอันตรายของสารตกค้าง ทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัจจุบันมีประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก รวมพื้นที่ได้ 143.75 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และละตินอเมริกา โดยมีตลาดผู้บริโภคที่สำคัญคือ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะยังคงมีพื้นที่ในการผลิตพืชอินทรีย์ที่ได้การรับรองโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มากนักก็ตาม แต่ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรส่งออกจากการผลิตสินค้าเกษตรทั่วไปให้เป็นการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากมีความได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายของชนิดพืชและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกพืชเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์

ความสำคัญของเกษตรอินทรีย์

         ในอดีตเกษตรกรไทยทำเกษตรกรรมในหลายรูปแบบและพึ่งพิงสมดุลตามธรรมชาติ จึงกล่าวได้ว่าคนไทยรู้จักการทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว และสามารถพึ่งตนเองในการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้ทรัพยากรในพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมต่อเนื่องกันมาจนได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าเป็นพื้นที่ผลิตอาหารของภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2500 ธนาคารโลก (World Bank) ได้ส่งคณะสำรวจสภาวะเศรษฐกิจมายังประเทศไทยเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาประเทศไทย ปีต่อมาธนาคารโลกได้เสนอรายงานโครงการพัฒนาของรัฐบาลสำหรับประเทศไทย และปีถัดจากนั้นได้มีการใช้ข้อเสนอของธนาคารโลกฉบับนั้นเป็นแนวทางการร่างนโยบายการเกษตรของไทยโดยปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1-7 (พ.ศ. 2504-2539) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้น ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก เช่น ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ เครื่องจักรกลทางการเกษตร การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เป็นต้น ทำให้การผลิตเปลี่ยนจากการผลิตแบบการรวมกลุ่มของเกษตรกรซึ่งผลิตสินค้าการเกษตรที่หลากหลายไปเป็นการผลิตเพื่อการพาณิชย์และการส่งออก มีการขยายพื้นที่การเกษตรโดยการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ การเกษตรได้ถูกปรับเปลี่ยนโดยเน้นการผลิตพืชเชิงเดี่ยว (monoculture) โดยเฉพาะพืชไร่ที่ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง โดยมีเป้าหมายหลักในการส่งออกเพื่อป้อนสินค้าเกษตรสู่ประเทศอุตสาหกรรมที่เลี้ยงสัตว์ เช่น ญี่ปุ่น และ ยุโรป เป็นต้น และในปี พ.ศ. 2503 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศทศวรรษแห่งการพัฒนา (Development Decade ; พ.ศ. 2503-2513) จึงทำให้ดูเหมือนว่าแนวทางการพัฒนาดังกล่าวข้างต้นได้ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการเพิ่มผลผลิต แต่การพัฒนาดังกล่าวนั้นได้มีผลในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยซึ่งเคยพึ่งตนเองมาตลอดเปลี่ยนไปพึ่งการนำเข้าจนกลายเป็นการไม่สามารถพึ่งตนเองจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปถึง 110 ล้านไร่ในเวลาของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในทางลบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบอันใหญ่หลวงที่เกิดกับเกษตรกรไทยนั้นคือความยากจน และเกิดสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอันเป็นผลร้ายต่อเกษตรกรรม

         ผลกระทบด้านการลงทุนและผลตอบแทน การเกษตรในลักษณะการปฏิวัติเขียวที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและใช้สารเคมีทั้ง ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนสารควบคุมและกำจัดวัชพืช เป็นสารเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงตามลำดับเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรต้องจ่ายเงินเพิ่มในการลงทุนแต่ละครั้งในขณะที่ผลลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรจำหน่ายนั้นไม่ได้สูงขึ้นตามสัดส่วนของราคาสารเคมีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขาดทุนและเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

         ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านนี้เกิดขึ้นมากมายหลายลักษณะ เช่น 1) ทำให้ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชมีสภาพความเป็นกรดสูงขึ้นมากและทำให้ธาตุอาหารในดินหลายชนิดไม่เกิดประโยชน์ต่อพืช 2) มีการเผาทำลายเศษซากพืชหลังการเก็บเกี่ยวส่งผลให้ดินขาดอินทรียวัตถุอย่างวิกฤต 3) ดินที่เพาะปลูกพืชต้องการปุ๋ยเคมีเพิ่มในปริมาณที่มากขึ้นทุกปีเพื่อรักษาปริมาณผลผลิตให้เท่าเดิม ทำให้ดินเป็นกรดและขาดอินทรียวัตถุมากขึ้น 4) ทำให้มีการเพิ่มชนิดของศัตรูพืชและทวีความรุนแรงของการระบาดเนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นไม่ได้กำจัดศัตรูพืชเพียงอย่างเดียวแต่ฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกเป็นจำนวนมาก เป็นการทำลายสมดุลตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต 5) ศัตรูพืชสามารถสร้างความต้านทานต่อสารเคมีที่ใช้กำจัด ทำให้ต้องใช้สารเคมีเหล่านั้นในปริมาณมากและใช้ในความเข้มข้นที่มากขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองและเพิ่มอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และ6) สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีผลในการทำลายสัตว์และสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่เป็นอาหารของมนุษย์

       ผลกระทบด้านสุขภาพ ผลกระทบด้านนี้เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคโดยตรง กล่าวคือ เกษตรกรได้รับพิษในไร่นาจากการสัมผัสโดยตรงกับสารเคมีที่เป็นพิษ ส่วนผู้บริโภคนั้นได้รับพิษจากการบริโภคผลผลิตที่มีสารตกค้างในอาหารที่ปรุงจากผลผลิตการเกษตรที่ใช้สารเคมีนั้นๆ ทำให้ป่วยไข้หรือพิการได้

      ผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ผลกระทบด้านนี้เกิดจาก 1) การกีดกันสินค้าเกษตรที่ส่งออกจากประเทศไทยโดยประเทศผู้นำเข้า เนื่องจากมีสารเคมีตกค้างในสินค้ามากกว่าปริมาณที่รับได้ ทำให้ต้องส่งสินค้ากลับประเทศหรือทำลายสินค้า ณ. จุดนำเข้า 2) ประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้าที่เป็นสารเคมีเพื่อการเกษตรปีละหลายหมื่นล้านบาท ทั้ง ๆ ที่มีปัจจัยการผลิตที่ปลอดภัยและสามารถใช้ทดแทนสารเคมีได้อยู่ภายในประเทศ 3) รัฐต้องเสียงบประมาณในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมสารเคมีการเกษตรตามกฎหมายปีละหลายพันล้านบาท และ4) รัฐต้องเสียงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยไข้เนื่องจากสาเหตุของการสัมผัสสารเคมีเหล่านั้นโดยตรงหรือจากสาเหตุของการบริโภคอาหารที่มีสารพิษตกค้าง โดยที่งบประมาณดังกล่าวนี้มีมูลค่าที่ประเมินมิได้

นโยบายของรัฐต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์

            รัฐได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรโดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางภาคเกษตรในตลาดโลก โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน เกษตรกรรมทางเลือก และ เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกรเพื่อรองรับการเปิดตลาดเสรีของสินค้าเกษตรในอนาคต ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์และเป็นครัวโลก

ความหลากหลายของเกษตรอินทรีย์

             สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้คำกำจัดความของเกษตรอินทรีย์ไว้ว่า “เกษตรอินทรีย์ (organic agriculture) หมายถึง ระบบการจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพ โดยเป็นการใช้วัสดุธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจากการสังเคราะห์และไม่ใช้พืชสัตว์หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม (genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน”

แนวทางเกษตรอินทรีย์

                  แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ คือ การทำการเกษตรแบบองค์รวมซึ่งแตกต่างอย่างยิ่งกับระบบเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตเฉพาะพืชที่ปลูก ซึ่งเป็นแนวคิดแบบแยกส่วนเพราะให้ความสนใจเฉพาะแต่ผลผลิตของพืชหลักที่ปลูกโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรการเกษตรหรือนิเวศการเกษตร สำหรับเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นการเกษตรแบบองค์รวมจะให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด และ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์มเพราะแนวทางการเกษตรอินทรีย์อาศัยกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศในการผลิต

             เกษตรอินทรีย์ปฏิเสธการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี เพราะมีผลกระทบต่อกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของวงจรธาตุอาหาร การประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์ระบบนิเวศการเกษตร และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ จึงถือได้ว่าเกษตรอินทรีย์เป็นการบริหารจัดการฟาร์มเชิงบวก ดังนั้นเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและการบริหารจัดการฟาร์มของตนเพิ่มขึ้นด้วย โดยการพัฒนาความสามารถในการสังเกต ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ของตนเอง ทั้งในด้านกายภาพซึ่งประกอบด้วยลักษณะของดิน ภูมิอากาศ และ ภูมินิเวศ และด้านเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เพื่อที่จะพิจารณาคัดสรรและพัฒนาแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เฉพาะและเหมาะสมกับฟาร์มของตนเองอย่างแท้จริง

       นอกจากนี้เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญต่อเกษตรกรผู้ผลิตและชุมชนท้องถิ่นโดยมุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรตลอดจนการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรม วิถีการผลิตของเกษตรอินทรีย์เป็นวิถีการผลิตที่เกษตรกรจะต้องโน้มเข้าหาวิถีธรรมชาติด้วยการดัดแปลงระบบการผลิตของตนเองจากการเลียนแบบและอาศัยกลไกธรรมชาติ พึ่งพิงธรรมชาติในการผลิต ซึ่งสอดคล้องและกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรพื้นบ้านของสังคมไทยแต่ในขณะเดียวกันเกษตรอินทรีย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธการผลิตเพื่อการค้า เพราะตระหนักว่าครอบครัวเกษตรกรส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาการจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นรายได้ในการดำรงชีพ ขบวนการเกษตรอินทรีย์จึงพยายามส่งเสริมการทำการตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ โดยการตลาดท้องถิ่นอาจจะมีรูปแบบที่หลากหลายตามแต่เงื่อนไขทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้น เช่น ชุมชนสนับสนุนการเกษตร (Community Support Agriculture : CSA) หรือระบบอื่น ๆ ที่มีหลักการในลักษณะเดียวกัน ส่วนตลาดที่ห่างไกลออกไปจากผู้ผลิตก็มีการพัฒนามาตรฐานการผลิตและระบบการตรวจสอบรับรองที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าในทุกขั้นตอนของการผลิตการแปรรูป และ การจัดการนั้น นอกจากจะควบคุมการรักษาคุณภาพของผลผลิตให้เป็นธรรมชาติที่สุดแล้วยังมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมๆ กัน

              แนวทางเกษตรอินทรีย์ดังกล่าวมาข้างบนนี้ให้หลักในการปฏิบัติเกษตรอินทรีย์โดยการประยุกต์เพื่อปรับใช้กลไกนิเวศธรรมชาติสำหรับการทำเกษตรกรรม โดยมีแนวทางที่สำคัญ คือ 1) การหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน 2) การสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน 3) การสร้างความสัมพันธ์แบบสมดุลของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย 4) การอนุรักษ์และฟื้นฟูนิเวศการเกษตร 5) การพึ่งพากลไกธรรมชาติในการทำการเกษตร และ6) การพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิต

               การหมุนเวียนธาตุอาหาร ในป่าธรรมชาติต้นไม้ พืชพรรณได้รับธาตุอาหารจากดินและอากาศ โดยธาตุอาหารในดินจะถูกดูดซึมผ่านทางราก ส่วนธาตุอาหารในอากาศพืชได้รับจากการหายใจทางใบ เมื่อพืชได้รับแสงจะเกิดการสังเคราะห์แสงได้สารอาหารซึ่งต่อมาได้มีการสร้างสารประกอบต่างๆ ร่วมกับธาตุอาหารนานาชนิดที่พืชได้รับผ่านรากขึ้นไปให้พืชใช้ในการเจริญเติบโตและการเพิ่มชีวมวล (biomass) ของพืชเอง ไม่ว่าจะเป็นลำต้นที่ขยายใหญ่ขึ้น กิ่งก้านและใบที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น และเมื่อใบตลอดจนกิ่งเหล่านั้นแก่ลงก็ร่วงหล่นลงดินหรือบางส่วนของพืชอาจจะถูกสัตว์หรือแมลงกัดแทะ และเมื่อสัตว์ถ่ายมูลออกมา มูลเหล่านั้นก็กลับคืนลงสู่ดิน ชีวมวลจากพืชและมูลของสัตว์ที่กินพืชเมื่อกลับคืนสู่ดินจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาเพื่อให้รากพืชดูดซึมกลับไปปรุงและเปลี่ยนรูปเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีพและเป็นโครงสร้างของส่วนต่าง ๆ ในร่างกายพืชต่อไป วัฏจักรของธาตุอาหารหรือวงจรธาตุอาหารที่หมุนเวียนอย่างสมดุลอยู่ในระบบนิเวศเช่นนี้ทำให้ต้นพืชในป่าสามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี

          การทำเกษตรกรรมไม่ว่าจะเพื่อยังชีพหรือเพื่อรายได้ก็ตามย่อมมีส่วนทำให้ธาตุอาหารส่วนหนึ่งสูญหายไปจากระบบนิเวศการเกษตร ดังนั้นเกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการหาธาตุอาหารจากภายนอกฟาร์มมาชดเชยส่วนที่สูญหายไป หากอาศัยหลักการทางธรรมชาติมาใช้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในฟาร์มแล้วควรจะต้องเป็นการใช้วัสดุอินทรีย์ที่เป็นเศษเหลือใช้หรือของเสียในฟาร์มมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ในรูปแบบอื่น ๆ มาใส่ให้กับต้นพืชเพื่อให้มีการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ดินและปลดปล่อยธาตุอาหารคืนลงไปในดิน รวมทั้งการหมุนเวียนอินทรียวัตถุในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การคลุมหน้าดินด้วยวัสดุอินทรีย์ อันได้แก่ เศษซากของพืชชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชปลูกหรือวัชพืชก็ตาม หรือการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ตลอดจนการปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น

              ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นหัวใจของเกษตรอินทรีย์ จากธรรมชาติจะเห็นว่าผิวดินในระบบนิเวศป่าจะมีเศษซากพืชและใบไม้ปกคลุมอยู่ตลอดเวลา วัสดุอินทรีย์ดังกล่าวนอกจากจะช่วยป้องกันการกัดเซาะและการพังทลายของหน้าดินแล้วยังรักษาความชุ่มชื้นในดินโดยการป้องกันการระเหยน้ำที่ผิวดินอีกด้วย แต่ที่สำคัญที่สุด คือ วัสดุอินทรีย์เหล่านั้นเมื่อมีความชื้นที่พอเหมาะบริเวณผิวดินก็จะมีการย่อยสลายเศษซากวัสดุอินทรีย์เหล่านั้น ตลอดจนเศษซากของสัตว์ขนาดเล็กโดยจุลินทรีย์ดินให้กลายเป็นอินทรียวัตถุซึ่งสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารและเพิ่มปริมาณฮิวมัสลงไปในดิน ทำให้ดินนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

            ความหลากหลายที่สัมพันธ์กันอย่างสมดุลในระบบนิเวศ พืชพรรณและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในนิเวศป่าธรรมชาตินั้นอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหล่านี้มีทั้งที่พึ่งพาอาศัยกัน แข่งขันกัน หรือเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง แต่ต่างก็สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ พืชพรรณต่าง ๆ แม้จะมีแมลงหรือศัตรูที่กินพืชนั้นเป็นอาหารบ้างแต่ก็ไม่ได้ทำลายพืชนั้นจนเสียหายไปทั้งหมด ทั้งนี้เพราะพืชเองก็มีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองจากการทำลายของศัตรู และเมื่อมีแมลงศัตรูพืชเกิดขึ้นมาก ก็จะมีสิ่งมีชีวิตอื่นที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติมาควบคุมประชากรของศัตรูพืชให้ลดลงอยู่ในภาวะที่สมดุล ดังนั้นในการทำเกษตรอินทรีย์จึงต้องหาสมดุลของการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชร่วมกันหลายชนิดในเวลาเดียวกันหรือเหลื่อมเวลากัน ตลอดจนการปลูกพืชหมุนเวียนต่างชนิดกัน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ในลักษณะของการเกษตรผสมผสาน นับเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการลดการเสี่ยงภัยจากการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชอีกด้วย การไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชนั้นมีส่วนช่วยให้ศัตรูธรรมชาติสามารถแสดงบทบาทในการควบคุมศัตรูพืช ทำให้ช่วยสร้างสมดุลให้กับนิเวศการเกษตรด้วยอีกวิธีหนึ่ง เพราะการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะทำลายศัตรูธรรมชาติของพืชนั้น ๆ ในสัดส่วนที่มากกว่าศัตรูพืช ทำให้ศัตรูพืชยิ่งระบาดรุนแรงได้มากขึ้น

            การอนุรักษ์และฟื้นฟูนิเวศการเกษตร แนวทางสำคัญของเกษตรอินทรีย์ก็คือการอนุรักษ์ระบบนิเวศการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ด้วยการหยุดใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด เพราะปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ทำลายสมดุลของนิเวศการเกษตรและส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ว่าจะเป็นสารเคมีฆ่าแมลง สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา และสารเคมีกำจัดวัชพืช ล้วนแต่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่ในฟาร์ม ทั้งอยู่บนผิวดินและใต้ดิน เช่น สัตว์ แมลง และ จุลินทรีย์ เป็นต้น ในกลไกธรรมชาติสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลของนิเวศการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงศัตรูพืชหรือการพึ่งพาอาศัยกันในการดำรงชีวิต เช่น การผสมเกสร และ การช่วยย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่กล่าวถึงนี้ส่วนใหญ่มีประโยชน์ต่อพืชปลูกหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้สร้างผลเสียให้กับพืชปลูกแต่อย่างใด อนึ่งการใช้สารเคมีนั้นไม่ได้กำจัดเพียงสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูพืชแต่เพียงอย่างเดียวแต่มีผลในการทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งหมดโดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ ในขณะที่โรคและแมลงศัตรูพืชมักจะมีความสามารถพิเศษในการพัฒนาภูมิต้านทานต่อสารเคมี ดังนั้นเมื่อมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แมลงที่เป็นประโยชน์จึงถูกทำลายได้โดยง่าย ในขณะที่แมลงศัตรูพืชสามารถอยู่รอดได้โดยไม่เป็นอันตราย แม้แต่ปุ๋ยเคมีก็มีผลเสียต่อจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตในดิน ทำให้สมดุลของนิเวศดินเสียไป การอนุรักษ์ดินโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการใช้วิธีการใด ๆ ที่เป็นการเพิ่มวัสดุอินทรีย์ลงไปในดินเพื่อให้เกิดการย่อยสลายและเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินจะเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ ซึ่งดินที่ผ่านการฟื้นฟูด้วยระบบอินทรีย์จะมีส่วนช่วยให้พืชผลมีรสชาติดีขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นาก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดการเกื้อกูลทางชีวภาพและเกิดสมดุลในระบบนิเวศ ช่วยเสริมสร้างกระบวนการและพลวัตทางธรรมชาติที่เกื้อหนุนต่อการทำเกษตรอินทรีย์อีกต่อหนึ่ง วิธีการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพอาจจะทำได้หลายรูปแบบ เช่น การปลูกพืชร่วม พืชแซม พืชหมุนเวียน ไม้ยืนต้น หรือการฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติในไร่นาและบริเวณใกล้เคียง

           การพึ่งพากลไกธรรมชาติในการทำการเกษตร เกษตรอินทรีย์ตั้งอยู่บนปรัชญาแนวคิดที่ว่า การเกษตรที่ยั่งยืนต้องเป็นการเกษตรที่เป็นไปตามวิถีของธรรมชาติ ไม่ใช่การเกษตรที่ฝืนวิถีธรรมชาติหรือพยายามเอาชนะธรรมชาติหรือดัดแปลงธรรมชาติเพื่อการเพาะปลูก แต่ควรจะเป็นการเรียนรู้จากธรรมชาติและปรับระบบการเกษตรให้เข้ากับวิถีธรรมชาติ กลไกในธรรมชาติที่สำคัญต่อการทำเกษตรอินทรีย์ได้แก่ วงจรการหมุนเวียนธาตุอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงจรไนโตรเจนและคาร์บอน วงจรการหมุนเวียนของน้ำ พลวัตของภูมิอากาศและแสงอาทิตย์ รวมทั้งการพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิตอย่างสมดุลในระบบนิเวศ ทั้งในเชิงของการเกื้อกูล การพึ่งพา และ ห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากพื้นที่เกษตรต่าง ๆ ย่อมมีระบบนิเวศและกลไกตามธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้ วิเคราะห์ และ ทดลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในแต่ละแห่งแต่ละรายได้ประโยชน์จากกลไกตามธรรมชาติและนิเวศท้องถิ่นอย่างเต็มที่

            การพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิต เกษตรอินทรีย์มีแนวทางที่มุ่งให้เกษตรกรพยายามผลิตปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ และ อื่น ๆ ด้วยตนเอง ในฟาร์มของตนเองให้ได้มากที่สุด แต่ในกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น มีพื้นที่ในการผลิตไม่เพียงพอ หรือการลงทุนสูงเกินกว่าที่จะจัดหาได้ เกษตรกรก็สามารถซื้อหาปัจจัยการผลิตจากภายนอกฟาร์มได้แต่ก็ควรจะเป็นภายในท้องถิ่น แนวทางนี้เป็นไปตามหลักการสร้างสมดุลของวงจรธาตุอาหารที่กระตุ้นให้เกษตรกรพยายามจัดสมดุลของวงจรธาตุอาหารในระบบที่เล็กที่สุด และมีความสอดคล้องกับนิเวศของท้องถิ่นจึงจะช่วยสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนของระบบการผลิตในระยะยาว นอกจากนี้การเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขนย้ายปัจจัยการผลิตเป็นระยะทางไกล ๆ นอกจากนี้การพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิตยังมีนัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ กล่าวคือ เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เทคนิคการผลิตแต่เป็นวิถีชีวิตและขบวนการทางสังคม จากประสบการณ์ของการพัฒนาระบบเกษตรเคมีที่ผ่านมาเกษตรกรสูญเสียการเข้าถึงและการควบคุมปัจจัยการผลิตและกระบวนการผลิตในเกือบทุกขั้นตอน จำเป็นต้องพึ่งพิงองค์กรภาครัฐและธุรกิจของเอกชนในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตเกือบทุกขั้นตอนจนเกษตรกรเหมือนกับเป็นแรงงานรับจ้างอยู่ในฟาร์มของตนเอง การส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร

ความเป็นมาของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย

          เกษตรอินทรีย์เริ่มมีความสำคัญในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 การเริ่มงานเกษตรอินทรีย์ของไทยดำเนินการโดยเกษตรกรไทยจากการผลักดันขององค์กรพัฒนาเอกชน แต่ยังไม่เป็นเกษตรอินทรีย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบันหน่วยงานที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ คือ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

         สินค้าเกษตรอินทรีย์รายการแรกที่ภาครัฐส่งเสริมการผลิต คือ ข้าว ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2535 โดยเป็นการร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับบริษัทในเครือนครหลวงค้าข้าวและบริษัทเครือสยามวิวัฒน์ เพาะปลูกในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา ได้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ 1,200-1,500 ตันต่อปี เป็นสินค้าเพื่อการส่งออกภายใต้การควบคุมดูแลและการให้คำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้รับการรับรองจากองค์กรตรวจสอบคุณภาพในประเทศอิตาลีซึ่งเป็นสมาชิกของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์สากล (International Federation of Organic Agriculture Movement : IFOAM) และข้าวในโครงการนี้เป็นที่ยอมรับของประเทศในยุโรป

มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของประเทศไทย

         มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของประเทศไทยมีประเด็นหลักที่สำคัญดังนี้ 1) ที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด 2) พื้นที่ปลูกต้องไม่มีสารเคมีสังเคราะห์ตกค้าง 3) ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต 4) ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่คลุกสารเคมีสังเคราะห์ 5) ไม่ใช้สิ่งที่ได้จากการตัดต่อทางพันธุกรรม 6) ไม่ใช้มูลสัตว์ที่เลี้ยงอย่างผิดมาตรฐาน 7) ปัจจัยการผลิตจากภายนอกต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน 8) กระบวนการผลิตต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนสารเคมีสังเคราะห์ 9) ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และ 10) ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างเป็นทางการ

หลักในการเลือกพื้นที่เพื่อผลิตพืชอินทรีย์

           ในการผลิตพืชอินทรีย์มีหลักในการเลือกพื้นที่เพาะปลูกพืชดังนี้ 1) เลือกพื้นที่ที่ปลอดจากการเกษตรเคมีมาอย่างน้อย 3 ปี 2) พื้นที่เป็นที่โล่ง ค่อนข้างดอน และได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่ 3) อยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม 4) อยู่ห่างจากแปลงเพาะปลูกพืชที่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในรูปของปุ๋ยและสารควบคุมศัตรูพืช 5) อยู่ห่างจากถนนหลวงสายหลัก และ 6) มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ

ขั้นตอนในการปลูกพืชอินทรีย์

         การปลูกพืชอินทรีย์โดยเฉพาะพืชล้มลุก เช่น พืชผัก มีขั้นตอนในการพิจารณาและปฏิบัติโดยสังเขป ดังนี้

        1. เตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูกโดยการเก็บตัวอย่างดิน ทั้งดินบนและดินล่าง อย่างละ 1 กิโลกรัม นำไปวิเคราะห์พร้อม ๆ กับหาชนิดและปริมาณของธาตุอาหารที่มีในดินทั้ง 2 ชั้นนั้น

       2. แหล่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกจะต้องเป็นแหล่งน้ำอิสระ เก็บตัวอย่างน้ำ 1 ลิตรไปวิเคราะห์เพื่อหาสารปนเปื้อนที่ขัดต่อหลักการผลิตพืชอินทรีย์

      3. วางรูปแบบแปลงผลิต จัดให้มีการขุดร่องล้อมรอบแปลงปลูกเพื่อใช้ดักน้ำหรือป้องกันน้ำที่มีสารปนเปื้อนไหลบ่ามาท่วมแปลงในฤดูฝน ร่องคูรอบแปลงควรมีความกว้าง 2 เมตรและลึก 1 เมตร พร้อมกับปลูกหญ้าแฝกริมร่องโดยรอบทั้งด้านนอกและด้านในของร่อง รากหญ้าแฝกจะเป็นกำแพงกรองน้ำเสียที่จะซึมผ่านเข้าไปในดินที่ปลูกพืช

      4. ในการเตรียมแปลงครั้งแรกให้ใช้รถไถเดินตามได้แต่ในครั้งต่อ ๆ ไปให้ใช้แรงงานคนเพื่อป้องกันมลพิษตกค้างในดินที่มาจากเครื่องยนต์ ตลอดจนป้องกันการเกิดปฏิกิริยาที่เป็นพิษต่อพืช รวมทั้งห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในแปลงปลูกพืชด้วย

     5. การไถพรวน จัดวางรูปแบบแปลงไปตามตะวันเพื่อให้ได้แสงแดดเต็มที่เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรคในดิน เมื่อไถพรวนเสร็จแล้วแต่ยังไม่พร้อมที่จะปลูกพืชให้หว่านเมล็ดถั่ว เช่น ถั่วเขียว หรือ ถั่วมะแฮะ เพื่อใช้เป็นถั่วคลุมดินและใช้เป็นปุ๋ยพืชสดไปในตัว เป็นการปรับปรุงดินและป้องกันแมลงมาวางไข่ในพงหญ้า

     6. หลังจากดินพร้อมที่จะใช้ปลูกพืชให้ปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการไล่แมลงลงไปในแปลงปลูกก่อนที่จะใช้ปลูกพืชหลัก และเสริมการป้องกันโดยการปลูกพืชยืนต้นหรือไม้พุ่มที่เป็นสมุนไพร เช่น สะเดา ชะอม ตะไคร้หอม และ ข่า ห่างกัน 2 เมตร โดยรอบพื้นที่และปลูกแบบไล่ระดับความสูงต่ำของต้นพืชคุ้มกันลงมาจากด้านนอกของแปลงปลูกเข้าไปหาด้านใน โดยที่ต้นพืชไล่แมลงที่ปลูกด้านในสุดจะเป็นพืชสมุนไพรที่มีทรงพุ่มเตี้ย เช่น ดาวเรือง กระเพรา โหระพา พริกต่าง ๆ เป็นต้น ปลูกห่างกัน 1 เมตร โดยมีตะไคร้หอมปลูกแซมโดยรอบพื้นที่

     7. ยกแปลงเพื่อปลูกพืชล้มลุกหลังจากที่มีการปรับสภาพดินในแปลงแล้วด้วยปุ๋ยคอก เช่น มูลวัวจากวัวที่กินพืชที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ แล้วพรวนดินคลุกให้ทั่วถึง ทิ้งไว้ 7 วัน ก่อนพรวนดินซ้ำแล้วยกแปลงเพื่อปลูกพืช

   8. การปลูกพืชหลักที่ใช้เมล็ดปลูก ให้ล้างเมล็ดพันธุ์ในน้ำร้อน 50-55 องศาเซลเซียส จากนั้นนำเมล็ดมาคลุกกับกากสะเดาหรือสะเดาผง แล้วจึงนำไปหว่านในแปลง คลุมฟางบนแปลงที่หว่านเมล็ดแล้วนั้นและรดน้ำ ก่อนรดน้ำทุกวันให้ขยี้ใบตะไคร้หอมและใช้ไม้ตีใบกระเพราะ โหระพา หัวข่า หรือสมุนไพรกลิ่นฉุนอื่น ๆ เพื่อให้กลิ่นที่ได้ไปไล่แมลง พืชสมุนไพรจะออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อเนื้อเยื่อช้ำ จึงต้องทุบให้ช้ำเสียก่อนที่จะใช้งาน

    9. ควรใช้สารละลายสะเดาให้กับพืชที่ปลูกในแปลงอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3-7 วัน เพื่อไล่แมลงในแปลงปลูกพืช

   10. รีบเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที่ที่ถึงระยะเก็บเกี่ยว ไม่ทิ้งต้นพืชไว้ให้เจริญเติบโตในแปลงนานเกินความจำเป็นเพราะเป็นการสิ้นเปลืองสารสมุนไพรไล่แมลง

   11. หลังเก็บเกี่ยวพืชแล้ว ในฤดูถัดไปไม่ควรวางแผนที่จะปลูกพืชนิดเดิมซ้ำในแปลงปลูก ควรสลับการปลูกกับพืชชนิดอื่น ๆ

  12. การปลูกพืชอินทรีย์ปลูกได้ทั้งแนวนอนตามปกติและแนวตั้งคือแบบขึ้นค้าง

  13. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตของพืชที่ปลูกในแปลงแล้วจะต้องกำจัดเศษซากพืชที่มีแมลงและเชื้อราเข้าทำลายออกจากแปลง แล้วนำไปทำลายนอกแปลง ส่วนเศษพืชที่ไม่มีโรคแมลงเข้าทำลายให้นำไปทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยน้ำชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในแปลงอื่นต่อไป

การบริหารจัดการศัตรูพืช

          แนวทางสำคัญของการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ คือ การเสริมสร้างความแข็งแรงของพืชเพื่อให้พืชสามารถพัฒนาความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งทำให้พืชสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ดีขึ้น ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จึงให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงดินและการปรับสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศในฟาร์มเป็นหลัก เมื่อฟาร์มได้รับการปรับปรุงให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และมีสภาพแวดล้อมดี ระบบนิเวศฟาร์มก็จะได้สมดุล การรบกวนของศัตรูพืชก็จะน้อยลงตามไป แต่ในทางกลับกันการระบาดของศัตรูพืชไม่ว่าจะเป็นโรค แมลง หรือวัชพืชนั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของระบบนิเวศในฟาร์ม เกษตรกรอาจจะจำเป็นต้องดำเนินการทั้งมาตรการระยะสั้นในการจัดการศัตรูพืชเฉพาะหน้าและมาตรการระยะยาวในการฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศฟาร์ม แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะให้ความสนใจเฉพาะแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีการหาสมุนไพรหรือสารที่จะมาทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่จริงแล้วเกษตรอินทรีย์ไม่สนับสนุนการใช้สมุนไพรเป็นหลักในการกำจัดศัตรูพืชเพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังปฏิเสธการใช้สมุนไพรบางประเภทที่มีผลในการทำลายสิ่งมีชีวิตไม่เลือกชนิด เช่น ยาสูบ เพราะมีผลต่อพลวัตของประชากรศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ ทำให้กลไกธรรมชาติหยุดชะงักหรือเสียสมดุลได้เช่นเดียวกันกับการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการกำจัดศัตรูพืช

     เกษตรอินทรีย์เน้นที่แนวทางการป้องกันศัตรูพืชมากกว่าการกำจัดศัตรูพืช แต่การที่จะสามารถจัดการศัตรูพืชได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพนั้นเกษตรกรจำเป็นจะต้องพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศการเกษตรและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นที่ฟาร์มตั้งอยู่ เพราะปัจจัยเรื่องนิเวศและสภาพแวดล้อมมีผลโดยตรงต่อชนิด ปริมาณ และ ช่วงเวลาของการระบาดของศัตรูพืช นอกจากนี้การทำความเข้าใจถึงลักษณะเด่นและลักษณะด้อยของพันธุ์พืชที่ปลูกก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวางแผนการจัดการศัตรูพืชและเกษตรกรต้องเรียนรู้เกี่ยวกับศัตรูพืชทั้งในแง่ของลักษณะนิสัย วงจรชีวิต การขยายพันธุ์ พืชที่เป็นแหล่งพักพิง รวมทั้งศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืชนั้น ๆ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความรู้เหล่านี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการสังเกตสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของเกษตรกรเอง ซึ่งได้สั่งสมเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน แต่ในขณะเดียวกันองค์ความรู้เชิงวิชาการสมัยใหม่ที่รวบรวมไว้ในสถาบันวิชาการก็เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เกษตรกรควรศึกษาและนำมาประยุกต์ปรับใช้ในการวางแผนจัดการศัตรูพืช ทั้งนี้โดยรวมแล้วแนวทางหลักในการจัดการศัตรูพืชของระบบเกษตรอินทรีย์ มี 4 แนวทาง คือ 1) พันธุ์พืช 2) การเขตกรรม 3) การจัดการศัตรูพืช และ 4) การจัดการวัชพืช

      พันธุ์พืช การเลือกพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคและแมลงเป็นวิธีการพื้นฐานเบื้องต้นที่เกษตรกรทั่วไปถือปฏิบัติกันมาช้านาน เพราะพืชแต่ละพันธุ์จะมีความอ่อนแอหรือมีความต้านทานต่อศัตรูพืชที่แตกต่างกัน เกษตรกรอาจจะเลือกปลูกพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงซึ่งมีแนวโน้มจะระบาดในพื้นที่และช่วงเวลานั้น ๆ หรือเลือกปลูกต้นตอไม้ยืนต้นที่มีความต้านทานศัตรูพืชและมีระบบรากที่ดีแล้วต่อยอดด้วยพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ หรือเลือกพันธุ์พืชที่ปลอดจากโรคและแมลงสำหรับใช้ในการเพาะปลูก รวมทั้งการปลูกพืชหลายพันธุ์รวมกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงของการระบาดของโรคและแมลง

      การเขตกรรม เป็นแนวทางสำคัญในการป้องกันศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพเพราะเป็นการจัดระบบการเพาะปลูกที่สร้างเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยอาจเป็นการจัดการระบบการเพาะปลูกทั้งในเชิงของพื้นที่หรือเวลาที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของศัตรูพืช-ศัตรูธรรมชาติ ปรับเปลี่ยนร่มเงาและสภาพภูมิอากาศย่อยในระดับฟาร์ม หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของการะระบาดของโรคและแมลง แนวทางของการเขตกรรมที่ดีอาจจะเป็นการปลูกพืชที่หลากหลาย การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชร่วม การปลูกพืชในเวลาที่เหมาะสม และการปลูกพืชไล่และล่อแมลง เป็นต้น การเขตกรรมเหล่านี้ช่วยป้องกันการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้เพราะศัตรูพืชเกือบทุกชนิดมีความเฉพาะในการเลือกพืชเป็นอาหารหรือที่อยู่อาศัย ดังนั้นการปลูกพืชต่างชนิดพร้อมกันหรือต่างเวลากันจะทำให้ศัตรูพืชขาดแคลนแหล่งอาหารหรือแหล่งพักอาศัยและขยายพันธุ์ ทำให้วงจรชีวิตของศัตรูพืชชะงักลง รวมทั้งเป็นการสร้างเงื่อนไขปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการขยายพันธุ์ของตัวห้ำ ตัวเบียน เช่น แมงมุม เต่าทอง ด้วงดิน เป็นต้น ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติช่วยทำหน้าที่ในการควบคุมศัตรูพืช นอกจากนี้การเขตกรรมยังมีผลต่อการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน ช่วยลดความเสี่ยงในการผลิตของเกษตรกรอีกด้วย

      การปลูกพืชร่วม เป็นการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศการเกษตรเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของฟาร์มที่แตกต่างไป การปลูกพืชร่วมอาจมีเป้าหมายด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านร่วมกัน เช่น 1) สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืช 2) สร้างแนวพืชป้องกัน ซึ่งอาจจะเป็นพืชที่ขับไล่ศัตรูพืช หรือเป็นกับดักให้แมลงศัตรูพืชมาอยู่อาศัยเพื่อจะได้ไม่ไประบาดในแปลงพืชหลัก และ 3) สร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช

การปลูกพืชร่วมเพื่อกระตุ้นหรือสนับสนุนศัตรูธรรมชาตินั้นเกษตรกรจะต้องรู้จักเงื่อนไขข้อจำกัดของศัตรูธรรมชาติ และจัดปรับสภาพแวดล้อมของฟาร์มเพื่อช่วยให้ศัตรูธรรมชาติมีแหล่งอาหารหรือมีที่อยู่อาศัยและมีที่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เช่น ศัตรูธรรมชาติหลายชนิดกินเกสรดอกไม้เป็นอาหาร ดังนั้นการปลูกพืชร่วมที่เป็นไม้ดอกที่ให้เกสรหรือน้ำหวานที่ศัตรูธรรมชาติต้องการย่อมจะช่วยให้ศัตรูธรรมชาติสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง หรือการปลูกพืชระดับเตี้ยคลุมดินจะช่วยเพิ่มแหล่งที่พักอาศัยให้กับแมงมุม ซึ่งจะช่วยจับแมลงศัตรูกินเป็นอาหาร หรืออนุรักษ์ฟื้นฟูพืชพรรณท้องถิ่นให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติในแปลงเกษตรซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศที่ส่งผลดีต่อศัตรูธรรมชาติได้ด้วย

      การปลูกพืชเป็นแนวป้องกัน เกษตรกรอาจจะเลือกแนวทางในการปลูกพืชกับดัก ซึ่งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เป็นแหล่งอาหารที่แมลงศัตรูพืชชอบ เมื่อศัตรูพืชมารวมกันในแปลงปลูกพืชกับดักแล้ว เกษตรกรอาจเลือกที่จะจัดการทำลายแมลงศัตรูพืชเหล่านั้นหรือไม่จัดการแต่ปล่อยให้กลไกธรรมชาติควบคุมประชากรศัตรูพืชแทน วิธีการนี้เกษตรกรจะต้องจัดสรรที่ดินส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชกับดัก จึงต้องลดพื้นที่ในการปลูกพืชหลัก แต่ในขณะเดียวกันการลดการระบาดของศัตรูพืชในแปลงปลูกพืชหลักอาจจะช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชหลักโดยรวมได้มากขึ้นกว่าการไม่มีแปลงปลูกพืชกับดัก

      การปลูกพืชเป็นกำแพง โดยพืชกำแพงนี้อาจจะทำหน้าที่ในการกั้นแมลงศัตรูพืชไม่ให้สามารถเข้ามาระบาดหรือเกิดความสับสนในการเสาะหาพืชหลัก ทำให้เงื่อนไขของการระบาดของแมลงศัตรูพืชลดลง หรือาจจะเลือกปลูกพืชที่ผลิตสารขับไล่ที่แมลงศัตรูพืชไม่ชอบ เช่น ตะไคร้หอม ดาวเรือง พริก กระเทียม เป็นต้น พืชพวกนี้สามารถช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้เช่นกัน

      การเขตกรรมโดยการปลูกพืชร่วมต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและเกษตรกรจะต้องเข้าใจเงื่อนไขของฟาร์ม ตลอดจนนิสัยของศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ เพราะการเลือกพืชร่วมที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้โรคและแมลงศัตรูพืชระบาดมากขึ้น หรือไม่ได้ช่วยสนับสนุนศัตรูธรรมชาติที่จะมาช่วยควบคุมศัตรูพืชให้กับพืชหลัก

     การปลูกพืชหมุนเวียน มีหลักการสำคัญ คือ เลือกปลูกพืชที่ไม่ใช่พาหะหรือพืชที่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูของพืชหลัก การปลูกแบบนี้จะทำให้ประชากรของศัตรูพืชลดลงเพราะขาดแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย เมื่อเกษตรกรปลูกพืชหลักในฤดูการเพาะปลูกถัดไป โรคและแมลงศัตรูพืชจะลดลง ดังนั้นการปลูกพืชหมุนเวียนจึงเป็นการป้องกันศัตรูที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง

   นอกจากหลักเกณฑ์การเลือกพันธุ์พืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พาหะหรือพืชที่เป็นที่พักพิงของศัตรูพืชหลักแล้ว เกษตรกรควรพิจารณาถึงการเลือกชนิดพืชที่ใช้ธาตุอาหารแตกต่างไปจากพืชหลัก เพื่อลดการแข่งขันกันในการหาธาตุอาหาร ใช้พืชที่มีระบบใบกว้างหรือเจริญเติบโตได้รวดเร็วเพื่อควบคุมวัชพืชและเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินเมื่อไถกลบ และพืชที่มีความสามารถในด้านการตรึงไนโตรเจนจากอากาศเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน

     การจัดการศัตรูพืช แม้ว่าจะมีการป้องกันที่ดีต่อการรุกรานของศัตรูพืชเพียงใดก็ตามแต่การปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์มักจะยังคงมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงระบาดอยู่อีก เพราะสมดุลของนิเวศฟาร์มอาจจะมีโอกาสสูญเสียไปได้ด้วยเหตุบางประการ ดังนั้นจึงต้องหมั่นตรวจตราสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของประชากรศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติอยู่เสมอว่ายังคงอยู่ในสมดุลหรือไม่ ซึ่งในระบบนิเวศการเกษตรที่สมดุลจะมีทั้งแมลงศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติอยู่ด้วยกันเสมอ จากนั้นเกษตรกรจะต้องประเมินว่าระบบนิเวศฟาร์มในแต่ละช่วงของการผลิตพืชนั้นยังคงมีสมดุลของประชากรศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติอยู่หรือไม่ ในกรณีที่ยังคงมีสมดุลในระบบนิเวศเกษตรกรก็ไม่ควรจะดำเนินการใด ๆ ทั้งนี้เพราะความพยายามในการกำจัดศัตรูพืชในขณะที่นิเวศการเกษตรมีสมดุลอยู่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลหรือเสียสมดุลในทิศทางที่ทำให้ประชากรของศัตรูพืชระบาดเพิ่มขึ้น เช่น ในแปลงนาข้าวที่มีเพลี้ยกระโดดจำนวนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีแมงมุมและด้วงดินซึ่งเป็นตัวห้ำของเพลี้ยกระโดดอยู่แล้ว ความพยายามในการใช้สมุนไพรกำจัดเพลี้ยกระโดด เช่น การฉีดสารสกัดจากหางไหลหรือใช้ยาสูบ อาจจะทำให้แมงมุมและด้วงดินตายไปในสัดส่วนที่มากกว่าเพลี้ยกระโดดเสียอีก การเสียสมดุลเช่นนี้จะทำให้เพลี้ยกระโดดกลับขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ข้าวเสียหายมากขึ้นได้

       ความพยายามในการจำกัดศัตรูพืชอาจจะทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่จำเป็น เช่น ในช่วงที่ข้าวกำลังเริ่มแตกกอ ถ้ามีการระบาดของหนอนกระทู้ซึ่งอาจจะทำลายใบข้าวไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีนี้เกษตรกรยังไม่จำเป็นจะต้องกำจัดหนอนกระทู้เพราะต้นข้าวสามารถแตกกอและแตกใบข้าวออกมาทดแทนใบที่เสียไปได้อีกและไม่ทำให้ผลผลิตลดลง ดังนั้นการพยายามที่จะกำจัดหนอนกระทู้ในกรณีดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตโดยไม่จำเป็นและอาจสร้างผลกระทบต่อสมดุลนิเวศการเกษตรได้

      แต่อย่างไรก็ตามหากกลไกธรรมชาติในการกำจัดศัตรูพืชไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเนื่องด้วยเหตุใดก็ตาม เกษตรกรอาจจะต้องแทรกแซงกลไกธรรมชาติและดำเนินการจัดการกำจัดศัตรูพืชด้วยตนเอง โดยกำจัดด้วยวิธีกล เช่น ใช้กับดักกาวเหนียว กับดักน้ำ และ กับดักกรงขัง หรือล่อด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งการใช้แสงไฟล่อ หรือใช้สมุนไพรล่อ นอกจากนี้อาจจะใช้วิธีชีวภาพในการกำจัด เช่น การใช้สารสกัดจากสมุนไพรในการไล่ การเลี้ยงขยายพันธุ์ศัตรูธรรมชาติ และการใช้สารธรรมชาติอื่น ๆ เช่นนี้ เป็นต้น

       การจัดการวัชพืช การจัดการวัชพืชที่ดี คือ การป้องกันวัชพืชไม่ใช่การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีต่าง ๆ ในการป้องกันวัชพืชจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดระบบการปลูกพืชที่ส่งเสริมให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง อันจะทำให้พืชหลักที่ปลูกสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มีแนวทางการจัดการวัชพืช 4 แนวทางสำคัญ ๆ ด้วยกัน คือ 1) การแข่งขัน 2) การจัดการธาตุอาหาร 3) การเขตกรรม และ4) การเรียนรู้ที่จะยอมรับต่อวัชพืชในแปลงปลูกพืช

     การแข่งขัน เนื่องจากปัญหาหลักหรือปัญหาสำคัญของวัชพืชในฟาร์ม คือ การแย่งน้ำและอาหารจากพืชหลัก ดังนั้นแนวทางที่เกษตรกรจะต้องทำเป็นสิ่งแรก คือ การสร้างเงื่อนไขให้กับพืชหลักให้สามารถเจริญเติบโตเร็วกว่าวัชพืช ทำให้วัชพืชไม่สามารถแย่งน้ำและอาหารจากพืชหลักได้ พร้อมทั้งกำจัดหรือลดเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้วัชพืชเจริญเติบโตได้ดี โดยทั่วไปวัชพืชจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีปัญหาในการปลูกพืช เช่น ดินที่มีธาตุอาหารต่ำ ดินอัดแน่น หรือดินที่ระบายน้ำไม่ดี ดังนั้นการปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารครบถ้วนสมดุลและมีโครงสร้างทางกายภาพที่ดีด้วยอินทรียวัตถุและปุ๋ยอินทรีย์ประเภทต่าง ๆ จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญให้ปฏิบัติ นอกจากนี้การคัดเลือกพันธุ์พืชปลูกที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมท้องถิ่นรวมทั้งการปลูกพืชหลักให้เร็วขึ้นในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกจะช่วยทำให้พืชหลักสามารถเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็วกว่าวัชพืชจึงสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้

      การจัดการธาตุอาหาร พืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารในปริมาณ สัดส่วน และ ช่วงเวลาที่แน่นอน การให้ธาตุอาหารพืชบางชนิดมากเกินไป หรือในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ย่อมทำให้เกิดปัญหา มีธาตุอาหารเหลือตกค้างอันจะทำให้วัชพืชสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพิ่ม ในทางตรงกันข้ามดินที่มีธาตุอาหารต่ำมากวัชพืชกลับมีความสามารถในการแย่งธาตุอาหารจากดินได้ดีกว่าพืชปลูก ดังนั้นการบริหารจัดการธาตุอาหารอย่างเหมาะสมจึงเป็นการป้องกันวัชพืชที่สำคัญอีกทางหนึ่ง

     การเขตกรรม การเขตกรรมเป็นอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันและกำจัดวัชพืช การเตรียมดินด้วยการไถพรวนและการไถกลบก่อนการปลูกพืชที่ถูกต้อง จะช่วยลดปริมาณวัชพืชในฟาร์มได้ในช่วงต้นของฤดูเพาะปลูก การหยอดเมล็ดในระดับความลึกที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ต้นกล้าพืชเจริญเติบโตได้รวดเร็ว สามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ การคลุมดินด้วยวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ หรือการปลูกพืชคลุมดินด้วยจะช่วยลดปริมาณวัชพืชในช่วงระหว่างฤดูเพาะปลูก และการจัดการกับเศษซากวัชพืชอย่างถูกต้อง เช่น นำมารวมกันแล้วทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น จะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้

  การเรียนรู้ที่จะยอมรับต่อวัชพืชในแปลง การมีวัชพืชในแปลงปลูกไม่ได้บ่งชี้ถึงปัญหาวัชพืชเสมอไปตราบใดที่วัชพืชมีปริมาณไม่มากและไม่ได้มีผลกระทบต่อพืชปลูกอย่างมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจหรือมีผลระยะยาวต่อการปลูกพืชรุ่นต่อไป ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะยอมรับต่อวัชพืชในแปลงเป็นแนวทางหนึ่งของการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะวัชพืชเหล่านี้มีส่วนในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในฟาร์ม เนื่องจากอาจจะเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูธรรมชาติ อาจเป็นพืชสมุนไพร อาจเป็นอาหารให้กับเกษตรกร อาจเป็นอาหารสัตว์ หรือมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายในระบบนิเวศธรรมชาติ

การผลิตข้าวอินทรีย์

      การผลิตข้าวอินทรีย์ มีขั้นตอนการปฏิบัติเช่นเดียวกับการผลิตข้าวโดยทั่วไป แตกต่างกันที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

    1. การเลือกพื้นที่ปลูก เลือกพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ติดต่อกัน เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยธรรมชาติค่อนข้างสูง ไม่เป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมีการปนเปื้อนของสารเคมีสูง และห่างจากพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีการเกษตร

      2. การเลือกใช้พันธุ์ข้าว พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกควรมีคุณสมบัติในการเจริญเติบโตเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูกและให้ผลผลิตได้ดีแม้ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ต้านทานโรคและแมลงพันธุ์ข้าว และมีคุณภาพเมล็ดตรงความต้องการของผู้บริโภคข้าวอินทรีย์ การผลิตข้าวอินทรีย์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ซึ่งทั้งสองพันธุ์เป็นข้าวที่มีคุณภาพเล็ดดีเป็นพิเศษ

    3. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน ผลิตจากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการดูแลอย่างดี มีความงอกสูง ผ่านการเก็บรักษาโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ปราศจากโรค แมลงและเมล็ดวัชพืช หากจำเป็นต้องป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์อนุโลมให้นำเมล็ดข้าวแช่ในสารละลายจุนสี(จุนสี 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) นาน 20 ชั่วโมง แล้วล้างด้วยน้ำก่อนนำไปปลูก

    4. การเตรียมดิน เพื่อสร้างสภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกและการเจริญเติบโตของข้าว ช่วยควบคุมวัชพืช โรค แมลง และสัตว์ที่เป็นศัตรูบางชนิดของข้าว การเตรียมดินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน สภาพแวดล้อมในแปลงก่อนปลูก และวิธีการปลูก โดยไถดะ ไถแปร คราด และทำเทือก

     5. วิธีปลูก การปลูกข้าวแบบปักดำเหมาะสมที่สุดกับการผลิตข้าวอินทรีย์ เพราะการเตรียมดินทำเทือก การควบคุมระดับน้ำในนา จะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้ และการปลูกกล้าข้าวลงดินจะช่วยให้ข้าวสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ ต้นกล้าที่ใช้ปักดำควรมีอายุประมาณ 30 วัน เลือกต้นที่เจริญเติบโตแข็งแรงดี ปราศจากโรค และแมลงทำลาย

     การผลิตข้าวอินทรีย์ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ทุกชนิดโดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ให้ใช้ระยะปลูกถี่กว่าระยะปลูกปกติเล็กน้อย คือระยะ 20x20 เซนติเมตร ใช้จำนวนกล้า 3-5 ต้นต่อกอ ถ้าแปลงนามีดินที่อุดมสมบูรณ์ต่ำให้ใช้ระยะปลูกแคบลง ถ้าต้องปลูกล่าหรือปลูกช้ากว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับข้าวแต่ละพันธุ์แล้วมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้เปลี่ยนไปปลูกวิธีอื่นที่เหมาะสม เช่น หว่านข้าวแห้ง หรือหว่านน้ำตม เป็นต้น

   6. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน เกษตรกรต้องรู้จักวิธีจัดการดินที่ถูกต้องและพยายามรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ผลดีและยั่งยืนมากที่สุด คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดินสำหรับการผลิตข้าวมีดังนี้

      6.1 การจัดการดิน ไม่เผาตอซังข้าว ฟางข้าว และ เศษวัสดุอินทรีย์ ในแปลงนา เพราะเป็นการทำลายวัสดุอินทรีย์และอินทรียวัตถุตลอดจุลินทรีย์ในดินที่มีประโยชน์ ไม่นำชิ้นส่วนของพืชที่ไม่ใช้ประโยชน์โดยตรงออกจากแปลงนา แต่ควรนำวัสดุอินทรีย์จากแหล่งใกล้เคียงมาใส่ในแปลงนาให้สม่ำเสมอ ทีละน้อย เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินโดยการปลูกพืช โดยเฉพาะพืชถั่วในที่ว่างในบริเวณพื้นที่นาตามความเหมาะสม แล้วใช้อินทรียวัตถุที่เกิดขึ้นในระบบไร่นาให้เกิดประโยชน์ต่อการปลูกข้าว ไม่ควรปล่อยให้ดินว่างเปล่าก่อนการปลูกข้าวและหลังจากการปลูกข้าว แต่ควรปลูกพืชบำรุงดินโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วพร้า และโสนเป็นต้น วิเคราะห์ดินทุกปี แก้ไขภาวะความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าว คือ 5.5ถึง6.5 ถ้าดินมีความเป็นกรดสูงให้ใช้ปูนมาร์ล ปูนขาว หรือขี้เถ้าไม้ ปรับปรุงสภาพดิน

     6.2 การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติแทบทุกชนิดมีความเข้มข้นของธาตุอาหารค่อนข้างต่ำซึ่งต้องใช้ในปริมาณมากและอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ และถ้าหากเกิดการจัดการไม่เหมาะสมก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตจึงให้ใช้หลักการธรรมชาติที่ว่า “สร้างให้เกิดในพื้นที่ ใส่ทีละเล็กทีละน้อย ให้สม่ำเสมอและเป็นประจำ” ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติได้แก่ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยมูลสัตว์ ซึ่งเป็นมูลของสัตว์ต่างๆ ที่อาจจะนำมาจากภายนอกหรือจัดการผลิตขึ้นในบริเวณไร่นา นอกจากนี้ท้องนาในชนบทหลังจากเก็บเกี่ยวบ้างแล้วมักจะปล่อยให้เป็นที่เลี้ยงสัตว์โดยให้แทะเล็มตอซังและหญ้าต่าง ๆ มูลสัตว์ที่ถ่ายออกมาจึงปะปนกับเศษซากพืชเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในนาได้อีกทางหนึ่ง ปุ๋ยหมักสามารถจัดทำในพื้นที่นาหรือบริเวณที่อยู่ไม่ห่างจากแปลงนามากนักเพื่อความสะดวกในการใช้ ควรใช้เชื้อจุลินทรีย์ในการทำปุ๋ยหมักเพื่อช่วยการย่อยสลายให้เร็วขึ้น ส่วนการเก็บรักษาควรจะทำให้ถูกต้องเพื่อลดการสูญเสียธาตุอาหาร ปุ๋ยพืชสดที่ใช้นั้นจะต้องเลือกชนิดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ควรปลูกก่อนการปักดำข้าวในนาเป็นระยะเวลาพอสมควร เพื่อให้ต้นปุ๋ยพืชสดมีช่วงการเจริญเติบโตเพียงพอที่จะผลิตมวลพืชสดได้มาก มีความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจนสูงและไถกลบต้นปุ๋ยพืชสดก่อนการปลูกข้าวตามกำหนดเวลา เช่นโสนอัฟริกัน (Sesbania rostrata) ซึ่งควรปลูกก่อนปักต้นประมาณ 70 วัน ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อไร่ หากจำเป็นจะต้องใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสช่วยเร่งการเจริญเติบโต แนะนำให้ใช้หินฟอสเฟตบดละเอียดใส่ตอนเตรียมดินปลูก แล้วไถกลบต้นโสนขณะที่มีอายุ 50-55 วัน หรือก่อนการปักดำข้าวประมาณ 15 วัน ปุ๋ยน้ำหมัก หรือน้ำสกัดชีวภาพ (bio-extract) ควรจะทำใช้เองจากวัสดุเหลือใช้ในไร่นา และในครัวเรือน นำมาหมักกับกากน้ำตาล หรือ น้ำตาลทรายแดงละลายน้ำ ทำปุ๋ยน้ำหมักนี้ได้จากเศษซากสัตว์ เศษซากพืชหรือเศษวัสดุจากพืช การใช้น้ำหมักในนาข้าว ใช้ 5 ครั้งด้วยกัน คือ ครั้งแรกใช้หลังจากการทำเทือกปั้นคันนาย่อยเพื่อป้องการการรั่วซึมของน้ำหมักให้อุดรอยรั่ว หรือรอยแตกระแหง ทั่วทั้งนา ใช้ปุ๋ยน้ำในอัตรา 5 ลิตรต่อไร่ ผสมน้ำเปล่า 10 เท่า ราดให้ทั่วแปลงนา แล้วจึงปักดำต้นกล้าข้าว การใช้น้ำหมักครั้งที่ 2 ใช้เมื่อข้าวแตกกอหลังจากปักดำต้นได้ประมาณ 30 วัน ใช้น้ำหมักเข้มข้นและอัตราเดียวกับครั้งที่ 1 ราดให้ทั่วแปลงนา ส่วนครั้งที่ 3 เป็นระยะที่ข้าวเริ่มตั้งท้อง ใช้น้ำหมัก 250 มิลลิลิตรต่อไร่ ผสมน้ำเปล่า 50 เท่า พ่นทั่วแปลง ครั้งที่ 4 และ 5 ฉีดพ่นน้ำหมักจากผลไม้ให้ห่างจากครั้งที่ 3 เป็นเวลา 15 และ 30 วัน ตามลำดับ

    6.3 การใช้อินทรียวัตถุบางอย่างทดแทนปุ๋ยเคมี เป็นการปฏิบัติเมื่อจัดการดินตามคำแนะนำแล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของดินยังต่ำอยู่ หรือมีการขาดธาตุอาหารที่สำคัญบางชนิดเกษตรกรสามารถนำอินทรียวัตถุจากธรรมชาติอื่น ๆ ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ เช่น ใช้แหนแดง สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว กากเมล็ดสะเดา และเลือดสัตว์แห้งเป็นแหล่งให้ธาตุไนโตรเจน และใช้หินฟอสเฟต กระดูกป่น มูลไก่ มูลค้างคาว กากเมล็ดพืช ขี้เถ้าไม้ และสาหร่ายทะเลเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัส ส่วนขี้เถ้าและหินปูนบางชนิดใช้เป็นแหล่งให้ธาตุโปแตสเซียม ในขณะที่ปูนขาวโดโลไมท์ เปลือกหอยป่น และกระดูกป่น เป็นแหล่งให้ธาตุแคลเซียม เป็นต้น

      7. ระบบการปลูกพืช ให้ปลูกข้าวอินทรีย์เพียงปีละครั้ง โดยเลือกช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมกับข้าวแต่ละพันธุ์ และปลูกพืชหมุนเวียนโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว และหลังการปลูกข้าวอาจจะปลูกข้าวอินทรีย์ร่วมกับพืชตระกูลถั่วได้ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม

     8. การควบคุมวัชพืช ควบคุมวัชพืชโดยวิธีกล เช่น การเตรียมดินที่เหมาะสม วิธีการทำนาที่ลดปัญหาวัชพืช การใช้ระดับน้ำคุมวัชพืช การใช้วัสดุคลุมดิน การถอนด้วยมือ วิธีการทำเขตกรรมต่าง ๆ การใช้เครื่องมือ และ การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น

     9. การป้องกันกำจัดโรค แมลง และ สัตว์ศัตรูพืช หลักสำคัญ คือ ใช้ข้าวพันธุ์ต้านทาน กำหนดช่วงเวลาในการเตรียมแปลงนาให้เหมาะสม ใช้อัตราเมล็ดและระยะปลูกที่เหมาะสม ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค แมลง และศัตรูอื่นๆ รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและสมดุลของธาตุอาหารพืช จัดการน้ำเพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี สมบูรณ์และแข็งแรง ช่วยให้สามารถลดการทำลายของโรคและแมลงตลอดจนสัตว์ศัตรูพืชอื่น ๆ ได้ระดับหนึ่ง จัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมกับการระบาดของโรคแมลงและศัตรูอื่น ๆ เป็นต้นว่ากำจัดวัชพืช กำจัดเศษรากหญ้าที่เป็นโรคโดยใช้ปูนขาวหรือกำมะถันผงที่ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี รักษาสมดุลทางธรรมชาติโดยส่งเสริมการแพร่ขยายปริมาณของแมลงที่มีประโยชน์ ปลูกพืชขับไล่แมลงบนคันนาหากจำเป็นก็อนุญาติให้ใช้สารสกัดจากพืชไล่แมลงได้ ใช้วิธีกล เช่น ล่อด้วยแสงไฟ ใช้กับดัก และกาวเหนียว

    10. การจัดการน้ำ ระดับน้ำมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางลำต้นและการให้ผลผลิตของข้าวโดยตรง ในระยะปักดำจนถึงแตกกอถ้าระดับน้ำสูงมากจะทำให้ต้นข้าวสูงตามเพราะหนีน้ำ ทำให้ต้นข้าวอ่อนแอและล้มง่าย ระยะนี้ควรรักษาระดับน้ำให้อยู่ที่ประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ถ้าต้นข้าวขาดน้ำจะทำให้วัชพืชเติบโตแข่งกับต้นข้าวได้ ระดับน้ำที่พอเหมาะกับการปลูกข้าวอินทรีย์คือ 5-15 เซนติเมตร ตลอดฤดูปลูก จนถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน จึงระบายน้ำออกเพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน และพื้นที่นาแห้งพอเหมาะต่อการเก็บเกี่ยว

     11. การเก็บเกี่ยว การนวด และ การลดความชื้น เก็บเกี่ยวข้าวหลังจากออกดอกได้ 28-30 วัน สังเกตจากเมล็ดในรวงข้าวสุกแก่ เมล็ดเปลี่ยนเป็นสีฟาง เก็บเกี่ยวโดยใช้เคียว ตากฟ่อนข้าวในนา 2-3 แดด แล้วจึงรวมกอง และนวด ถ้าเกี่ยวข้าวโดยใช้รถเกี่ยวนวด เมล็ดข้าวจะยังคงมีความชื้นสูง จึงต้องตากเมล็ดบนลานในสภาพแสงแดดจัด 1-2 วัน พลิกกลับเมล็ดข้าววันละ 3-4 ครั้ง ให้ความชื้นเหลือ 14 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่าเพื่อให้เหมาะสมต่อการเก็บรักษาเมล็ดข้าว และให้เมล็ดข้าวมีคุณภาพในการสีดี

   12. การเก็บรักษาข้าวเปลือก นำเมล็ดที่ลดความชื้นแล้วไปเก็บรักษาในยุ้งฉางหรือใส่ภาชนะที่แยกต่างหากจากข้าวที่ผลิตโดยวิธีอื่น

   13. การสีข้าว ต้องแยกสีต่างหากจากข้าวทั่วไป

   14. การบรรจุหีบห่อเพื่อการค้า ควรบรรจุในลักษณะของข้าวกล้องหรือข้าวสารในถุงขนาดเล็กตั้งแต่ 1-5 กิโลกรัม และบรรจุในสภาพสุญญากาศ

แนวคิดในการพัฒนาการผลิตพืชอินทรีย์

     จากหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติในการผลิตพืชอินทรีย์ที่กล่าวไว้ข้างต้นจะเห็นว่าการเปลี่ยนระบบการเพาะปลูกจากแบบเกษตรอนินทรีย์ซึ่งมีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในหลายลักษณะตลอดช่วงของการเพาะปลูกไปเป็นการเกษตรอินทรีย์ซึ่งปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์เพื่อการผลิตโดยสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติได้ง่าย ประกอบกับการที่จะต้องปรับปรุงระบบนิเวศการเกษตรให้เป็นระบบอินทรีย์อีกด้วยแล้วยิ่งจะทำให้การปรับเปลี่ยนเหล่านั้นต้องใช้เวลาในการดำเนินงานมากขึ้นไปอีก จากข้อเงื่อนไขที่กล่าวมานี้การปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณพื้นที่กิจกรรมของกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาการปลูกพืช จึงต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติโดยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่ในข้อเงื่อนไข เพื่อเป็นการตระเตรียมการเพาะปลูกและปัจจัยในการเพาะปลูกเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ถึงแม้ว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะยุ่งยากและใช้เวลาแต่เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ที่ยั่งยืนที่เกษตรกรจะได้รับจากระบบการเกษตรอินทรีย์แล้วจึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีการพัฒนาการเพาะปลูกพืชอินทรีย์เกิดขึ้นภายในพื้นที่กิจกรรมเกษตรของกลุ่มงานฯ โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้สู่เกษตรกรทั่วไป เพื่อสนับสนุนให้มีการทำเกษตรอินทรีย์กันในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

วัตถุประสงค์ของโครงการ

-

วิธีดำเนินการ

           การเตรียมการเพื่อพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เพาะปลูกพืชของกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาการปลูกพืชนั้นเตรียมการในพื้นที่เพาะปลูก 2 แปลงด้วยกัน คือ แปลงที่ 1 มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นแปลงปลูกพืชผสมผสาน ปลูกพืชหลายชนิด พื้นที่บริเวณที่เป็นที่ลุ่มใช้ปลูกข้าวในฤดูฝนแล้วตามด้วยพืชไร่ ส่วนพื้นที่ดอนใช้ปลูกพืชผักหลายชนิดและที่เหลือเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลหลายชนิด ได้แก่ มะพร้าว ลิ้นจี่ และมะม่วง เป็นต้น ส่วนแปลงที่ 2 เป็นแปลงปลูกไม้ผลชนิดเดียวคือลำไย

         การดำเนินงานในขั้นตอนของการเตรียมการในแปลงที่ 1 เริ่มจากการสำรวจพื้นที่และบันทึกประวัติการใช้ปัจจัยการผลิตพืชภายในพื้นที่ย้อนหลังไป 3 ปี เก็บตัวอย่างดินและน้ำในแหล่งน้ำที่ใช้รดต้นพืชไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารและสารปนเปื้อน ปรับปรุงพื้นที่ด้วยการปลูกพืชแนวกั้น คือ กล้วยและหญ้าแฝก ในการเพาะปลูกพืชทุกชนิดนั้นงดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีและใช้สารสกัดชีวภาพจากพืชและสัตว์สูตรต่างๆ ในการควบคุมศัตรูพืช สำหรับการปรับปรุงการเจริญเติบโตของพืชปลูกนอกจากจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์แล้วยังใช้สารสกัดชีวภาพสูตรที่ให้ฮอร์โมนพืชอีกด้วย ในแปลงไม้ผลมีการจัดการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ผล เริ่มงานรวบรวมพืชสมุนไพร จัดเตรียมโรงเรือนสำหรับเพาะเลี้ยงแมลงศัตรูธรรมชาติรวมทั้งเตรียมการผลิตและทดสอบปุ๋ยอินทรีย์สูตรต่าง ๆ เพื่อใช้กับพืชปลูกแต่ละชนิด (ภาพที่ 1-11)

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 2 กองปุ๋ยหมักฟางแห้ง

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 3 การขึ้นกองปุ๋ยหมักเศษฟางแห้งแบบใส่ท่อระบายอากาศและความร้อน

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 4 การเตรียมปุ๋ยหมักเศษฟางแห้งและใบไม้แห้งในบ่อซีเมนต์

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 5 การทำปุ๋ยหมักเศษฟางแห้งในเบ้าทรงกลม

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 6 การเตรียมส่วนผสมเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 7 การเตรียมปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากเศษผักสด

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 8 การเตรียมปุ๋ยอินทรีย์น้ำสูตรเศษผลไม้สุก

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 9 การเตรียมปุ๋ยอินทรีย์จากเศษปลา

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 10 การเตรียมสารสกัดชีวภาพจากใบตะไคร้หอม

เหตุ ใด ดินอินทรีย์ จึง ไม่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืช เศรษฐกิจ

ภาพที่ 11 ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่เตรียมแล้วเป็นปุ๋ยเข้มข้น

การปฏิบัติในแปลงปลูกพืชแปลงที่ 1 คือ เตรียมแปลงปลูกข้าวไร่และแปลงปลูกผักโดยการไถพรวน 2 รอบก่อนปลูกข้าวและปลูกผัก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปของปุ๋ยหมักจอกหูหนูและปุ๋ยหมักเศษพืชผสมคลุกเคล้าลงไปในดินในอัตรา 2 ตันต่อไร่ ใส่ปุ๋ยคอกลงไปด้วยอัตรา 1 ตันต่อไร่ ในช่วงที่ต้นข้าวและต้นผักเจริญเติบโตมีการฉีดสารสกัดชีวภาพป้องกันโรคและแมลงสัปดาห์ละครั้ง และปล่อยตัวแมลงศัตรูธรรมชาติ คือ ตัวห้ำและตัวเบียนลงในแปลงพืชผักเพื่อทำลายแมลงศัตรูพืชผัก

          การปฏิบัติในแปลงที่ 2 คือแปลงลำไยนั้น เตรียมต้นลำไยด้วยการตัดแต่งกิ่งอย่างหนัก แล้วบำรุงต้นด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ส่วนการดูแลรักษาในการป้องกันกำจัดโรคเป็นการใช้สารสกัดชีวภาพเช่นเดียวกับในแปลงที่ 1 เมื่อต้นมีการปรับตัวและเจริญเติบโตหลังจากการตัดแต่งกิ่งแล้วจึงฉีดพ่นด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำ

ผลการศึกษาทดลองวิจัย

           ผลการศึกษาทดลองในปีแรกของการดำเนินการกล่าวได้เป็นตอน ๆ ดังนี้

        1. ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดินและน้ำ ผลการวิเคราะห์แหล่งน้ำที่ใช้ในการรดต้นพืชพบว่าไม่มีสารปนเปื้อน ส่วนปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่ตรวจสอบก่อนการปรับปรุงดินคือ 5.15 เปอร์เซ็นต์

       2. การผลิตปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินในแปลงปลูกพืชทั้ง 2 แปลง เป็นการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุพืชหลายชนิด ได้แก่ เศษฟางข้าว เศษใบไม้แห้ง และ เศษจอกหูหนูแห้ง โดยใช้วิธีหมัก 2 แบบ คือ แบบกองปุ๋ยบนพื้นดินเป็นกองขนาดใหญ่และมีการกลับกองปุ๋ยทุก ๆ 10 วัน หรือกองโดยใช้ท่อไม้ไผ่ช่วยระบายความร้อน และกองปุ๋ยแบบกองเล็กโดยกองในพิมพ์หรือเบ้าทรงกลมหรือทรงสี่เหลี่ยมและไม่กลับกอง การเตรียมกองปุ๋ยทั้งหมดใช้สารเร่ง พ.ด. 1 เป็นตัวช่วยย่อยสลาย วิธีการเตรียมรวมทั้งส่วนผสมใช้สูตรมาตรฐานของกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาที่ดินของศูนย์ฯ

การผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้กับการปลูกพืชอินทรีย์นั้นผลิตไว้เรื่อย ๆ ตามช่วงเวลาที่มีเศษซากของวัสดุอินทรีย์ในพื้นที่ของกลุ่มงานฯ ปุ๋ยที่ผลิตย่อยสลายตามเวลาที่คาดหมายไว้และสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินในแปลงปลูกและการเพิ่มธาตุอาหารในดินสำหรับต้นพืช

        3. การผลิตปุ๋ยน้ำและสารสกัดชีวภาพเพื่อกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช เป็นการเตรียมปุ๋ยอินทรีย์น้ำและสารสกัดชีวภาพหลายสูตร ได้แก่ สูตรสมุนไพรและเศษพืชสด คือจากใบตะไคร้หอม เศษผักสด เศษผลไม้สุก เศษปลาและเศษหอยเชอรี่ โดยใช้วิธีการมาตรฐานของกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาที่ดิน และมีการใช้สารเร่ง พ.ด.2 ช่วยในการย่อยสลาย ผลที่ได้เป็นไปตามจุดประสงค์ ได้ปุ๋ยน้ำและสารสกัดชีวภาพเพื่อใช้กับพืชในแปลงทดลองทั้ง 2 แปลง

         4. ผลผลิตจากแปลงผักและข้าวไร่ การสรุปผลการเจริญเติบโตและผลผลิตที่ได้ของพืชผัก
4 ชนิดในปีที่ 1 ของการดำเนินการ ซึ่งได้แก่ กระหล่ำปลี กระหล่ำดอก ผักกาดขาวปลี และ มะเขือยาว รวมทั้งข้าวไร่ ในแปลงปลูกแบบอินทรีย์แสดงไว้ในตารางที่ 1 และ 2

ตารางที่ 1 ความสูงเฉลี่ยบันทึกในระยะ 3 เดือนหลังปลูกและผลผลิตเฉลี่ยของพืชผักชนิดต่าง ๆ ในแปลงปลูกผักอินทรีย์

ชนิดของพืช

ความสูง

(ซม)

ผลผลิต

(กก/ไร่)

กระหล่ำดอก

กระหล่ำปลี

ผักกาดขาวปลี

มะเขือยาว

40

32

24

40

270

1,202

1,030

1,090

ตารางที่ 2 ความสูงเฉลี่ยบันทึกขณะอายุ 3 เดือนและผลผลิตเฉลี่ยของข้าวไร่พันธุ์ต่าง ๆ ในแปลงปลูกข้าวไร่อินทรีย์

พันธุ์

ความสูง

(ซม)

ผลผลิต

(กก/ไร่)

เจ้าขาว

เจ้าลีซอ

เจ้าฮ่อ

แดงหอม

ซิวแม่จัน

น้ำรู

R 258

180

160

155

157

120

155

177

513

640

340

713

400

257

200

         5. ผลผลิตลำไยในแปลงปลูกแบบอินทรีย์ การติดผลและผลผลิตของลำไยในปีแรกของการปลูกเลี้ยงแบบอินทรีย์หลังการตัดแต่งกิ่งแบบหนัก แสดงไว้ในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 การติดผลและปริมาณผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยของลำไยพันธุ์ดอและสีชมพูในปีแรกของการปลูกเลี้ยงแบบอินทรีย์

พันธุ์

เปอร์เซ็นต์ต้นที่ติดผล

ผลผลิต

เกรด A

เกรด B

เกรด C

ดอ

สีชมพู

48

0

47.50

-

91.75

-

407.50

-

ในแปลงลำไยพบว่ามีการรบกวนของแมลงหลายชนิด ได้แก่ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง มวนลำไย ผีเสื้อมวนหวาน หนอนเจาะผล หนอนเจาะขั้วผล และ พบการเข้าทำลายของโรคใบจุดสนิม ราดำ และ ไลเคนส์

สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ

          ด้วยการตระหนักในผลดีของการเพาะปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งให้ประโยชน์หลายด้านและประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ในระยะยาวและยั่งยืน กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาการปลูกพืชจึงมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการปลูกเลี้ยงพืชในพื้นที่กิจกรรมของกลุ่มงานฯ จากการปลูกในระบบเกษตรอนินทรีย์ไปเป็นเกษตรอินทรีย์โดยเริ่มงานตามขั้นตอนของข้อบังคับของเกษตรอินทรีย์ และพื้นที่ทดสอบการปลูกพืชที่เริ่มดำเนินการ คือ แปลงปลูกพืชผัก ข้าวไร่ และ ไม้ผล พร้อมทั้งมีการเตรียมปัจจัยในการผลิตภายในพื้นที่ คือ การเตรียมปุ๋ยอินทรีย์ทั้งที่เป็นปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำ รวมทั้งสารสกัดชีวภาพ เพื่อใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินและการเพิ่มธาตุอาหาร ตลอดจนการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ผลการดำเนินการพบว่าการเตรียมปุ๋ยแบบต่าง ๆ ได้ผลดีและเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนผลของการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชทั้งหลายนั้นยังต้องติดตามในฤดูกาลต่อ ๆ ไป จึงจะสามารถวิเคราะห์การเพิ่มผลผลิตโดยวิธีเกษตรอินทรีย์ได้ นอกจากนี้จะพบว่าในแปลงลำไยยังคงมีศัตรูพืชรบกวนอยู่เช่นเดิม ซึ่งก็จะต้องศึกษาและทดสอบต่อไปในระยะยาวก่อนที่จะมีการสรุปผลใด ๆ

         อย่างไรก็ตามในการติดตามผลในปีต่อ ๆ ไปจะมีการบันทึกและวัดผลในปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยการเกษตรเพิ่มมากขึ้นกว่าการบันทึกในปีแรกนี้ และคาดว่าน่าจะวิเคราะห์ผลได้ในบางปัจจัยซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับนิเวศการเกษตรในพื้นที่กิจกรรมของกลุ่มงานฯ ต่อไป