อินเตอร์เน็ตไร้สาย ความถี่ 2.4ghz ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าใดในการส่งสัญญาณ

** บทความนี้เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลตามประกาศที่เผยแพร่ออกมา เพื่อความเข้าใจสำหรับผู้ที่ต้องการทำเป็นงานอดิเรก ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงตามกฏหมายได้ ข้อความบางส่วนเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลนำไปไปประกอบการต่าง ๆ กรุณาปรึกษาสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ได้ความถูกต้องชัดเจนตามกฏหมายและระเบียบมากที่สุด **

          ในปัจจุบันนั้นเราก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง IoT ที่เต็มไปด้วยเครื่องใช้ไร้สาย ตั้งแต่เราตื่นจนกลับเข้ามานอน ล้วนมีแต่อุปกรณ์ไร้สายเต็มไปหมด การเปิดปิดประตูรั้วบ้านด้วยรีโมท ออดไร้สาย อินเตอร์เน็ตไร้สาย รีโมทเปิดประตูรถ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนใช้คลื่นความถี่ในการส่งสัญญาณ อีกทั้งเหล่า Maker อย่างเรา ๆ ก็นิยมเล่นของไร้สายมากขึ้น ด้วยความที่ตัวอุปกรณ์มีราคาถูกลง เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น และไม่ต้องยุ่งวุ่นวายกับสายสัญญาณ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คลื่นความถี่เหล่านี้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และมันสามารถเกิดความคลาดเคลื่อน หรืออาจเกิดฮาร์โมนิกที่ 2, 3, 4, 5 ซึ่งอาจไปรบกวนคลื่นของคนอื่น ดังได้ยินข่าวบ่อย ๆ อยู่ช่วงหนึ่งเกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นเข้าไปแทรกวิทยุในเครื่องบิน ดังนั้นการใช้คลื่นความถี่ต่าง ๆ บนโลกนี้จึงถูกควบคุมโดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) ซึ่งมีหน้าที่ออกคำแนะนำ กฏระเบียบและควบคุมการใช้คลื่นความถี่ รวมถึงมาตรฐานทางเทคนิคต่าง ๆ กับทุกประเทศบนโลก เราจึงแบกโน๊ตบุ๊คที่ซื้อในไทยไปต่ออินเตอร์เน็ตที่ญี่ปุ่นได้ เนื่องจาก WiFi ถูกกำหนดโดย ITU ว่าต้องใช้ 2.4GHz และ 5GHz เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละประเทศจะอ้างอิงและออกกฏหมายในประเทศให้สอดคล้องกับ ITU แต่อาจมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แตกต่างกันไป ซึ่งในประเทศไทยการควบคุมดูแลการใช้คลื่นความถี่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั่นเอง

อินเตอร์เน็ตไร้สาย ความถี่ 2.4ghz ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าใดในการส่งสัญญาณ

          ตามกฏหมายนั้น เครื่องวิทยุคมนาคมจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือโทรศัพท์มือถือของทุกคน ถ้าเป็นเครื่องที่ซื้อจากผู้แทนจำหน่าย ไม่ใช้เครื่องหิ้วเข้ามา จะมีตรา NTC ID หรือ NBTC ID แปะอยู่ หมายถึงโทรศัพท์รุ่นนั้นผ่านการตรวจสอบมาตรฐานแล้ว และให้จำหน่ายในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องได้รับใบอนุญาต ซึ่งตามความเป็นจริงหากทุกคนต้องไปขอใบอนุญาตใช้โทรศัพท์มือถือ หรือไมค์ไร้สายที่มีทั่วไปคงวุ่นวายน่าดู เจ้าหน้าที่ก็คงไม่ต้องทำงานอื่นกันพอดี จึงมีการกำหนดให้เครื่องวิทยุคมนาคมบางอย่าง ไม่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งหากดูตามประกาศ "เครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘" (ฉบับแก้ไข 2560) ขอหยิบส่วนน่าสนใจ สรุปคร่าว ๆ สำหรับ Maker ผู้ใช้งาน สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ดังนี้

ข้อที่ รายละเอียด ความถี่ กำลังส่งไม่เกิน
3(2) เครื่องวิทยุคมนาคมประเภทเครื่องส่งสัญญาณเสียง (audio transmitter) 88 - 108 MHz 10mW (E.I.R.P.)
3(3) เครื่องวิทยุคมนาคม 54 - 74 MHz 10mW
3(4) เครื่องวิทยุคมนาคมประเภทเรดาร์ (Radar) 5.725 - 5.875 GHz
10 - 10.6 GHz
24.05 - 24.25 GHz
76 - 81 GHz
10mW (E.I.R.P.)
3(6) เครื่องวิทยุคมนาคม ต่ำกว่า 315 kHz 150mW (E.I.R.P.)
3(7) เครื่องวิทยุคมนาคม 13.553 - 13.567 MHz 10mW (E.I.R.P.)
3(8) เครื่องวิทยุคมนาคม 26.925 - 27.405 MHz 100mW (E.I.R.P.)
3(9) เครื่องวิทยุคมนาคม 30 - 50 MHz 10mW
3(10) เครื่องวิทยุคมนาคม 300 - 500 MHz 10mW
3(11) เครื่องวิทยุคมนาคม 2400 - 2500 MHz 100mW (E.I.R.P.)
3(12) เครื่องวิทยุคมนาคม 5.150 - 5.350 GHz 200mW (E.I.R.P.)
3(13) เครื่องวิทยุคมนาคม 5.470 - 5.725 GHz 1W (E.I.R.P.)
3(14) เครื่องวิทยุคมนาคม 5.725 - 5.850 GHz 1W (E.I.R.P.)
3(16) เครื่องวิทยุคมนาคมประเภท Radio Frequency Identification (RFID) ชนิดพาสซีฟทรานสปอนเดอร์หรือพาสซีฟแท็ก (Passive Transponder/Passive Tag) 920 -  925 MHz -
4(1) เครื่องวิทยุคมนาคมประเภทวิทยุบังคับสิ่งประดิษฐ์จำลอง 72.000 - 72.475 MHz 750mW
4(6) เครื่องวิทยุคมนาคม 26.925 - 27.405 MHz เกิน 100mW แต่ไม่เกิน 500mW
5(1) เครื่องวิทยุคมนาคมประเภท Radio Frequency Identification (RFID) ชนิดอ่าน/เขียน(Interrogator/Reader) และแอคทีฟแท็ก (Active Tag) 920 -  925 MHz 50mW (E.I.R.P.)
5(2) เครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่ใช่ประเภท RFID 920 -  925 MHz 50mW (E.I.R.P.)
6(1) เครื่องวิทยุคมนาคมประเภท Radio Frequency Identification (RFID) ชนิดอ่าน/เขียน(Interrogator/Reader) และแอคทีฟแท็ก (Active Tag) 920 -  925 MHz 500mW (E.I.R.P.)
6(2) เครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่ใช่ประเภท RFID 920 -  925 MHz 500mW (E.I.R.P.)

          ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์วิทยุที่สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น จะเห็นว่าส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในกลุ่ม license free ที่ ITU แนะนำ และมีการใช้ความถี่เดียวกันนี้ทั่วโลก และมีกำลังส่งต่ำ เดินทางได้ระยะไม่ไกลมาก อีกทั้งยังมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้งานคือต้องไม่มีการดัดแปลงใด ๆ ให้มีกำลังส่งมากกว่าที่กำหนด ต้องไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการใช้งานนี้จะไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองการรบกวน ทั้งหากอุปกรณ์ของเราทำให้เกิดการรบกวนรุนแรงจะต้องหยุดการใช้งานทันที และต้องดูรายละเอียดต่าง ๆ ในการทำอื่น ๆ เช่น การทำ(ซื้อไอซี, อุปกรณ์มาทำเอง) หรือการนำเข้า(สั่งซื้อจากเว็บต่างประเทศ) หรือการขาย ดังนี้
ในข้อ 3 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก ค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม
ในข้อ 4 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตมี ใช้ และนำออกซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม แต่ไม่ได้รับการยกเว้นใบอนุญาตทำ นำเข้า หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม
ในข้อ 5 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาต ทำ มี ใช้ นำเข้า และนำออกซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม แต่ไม่ได้รับการยกเว้นใบอนุญาตค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม
ในข้อ 6 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตมี ใช้ นำออกซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม แต่ไม่ได้รับการยกเว้นใบอนุญาตทำ นำเข้า หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม
          นอกจากนี้ในประกาศยังมีอุปกรณ์อีกมากที่ได้รับการยกเว้นด้วย เช่นพวกวิทยุติดตามตัว โทรศัพท์เคลื่อนที่ หากสนใจสามารถอ่านได้จากประกาศครับ

         LoRa
          เทคโนโลยีใหม่ที่กำลังบูมรับยุคแห่ง IoT คงหนีไม่พ้น LoRa ซึ่งทาง กสทช.เองก็ได้มีการออกกฏหมายมารองรับตรงนี้แล้วครับ โดยกำหนดให้ใช้คลื่นความถี่ 920 - 925 MHz กำลังส่งสูงสุดไม่เกิน 4W (E.I.R.P.) ตามประกาศเรื่อง "มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่ใช่ประเภท Radio Frequency Identification: RFID ซึ่งใช้คลื่นความถี่ย่าน ๙๒๐ - ๙๒๕ เมกะเฮิรตซ์"  (มาตรฐาน AS923 เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง) ฉะนั้นการซื้ออุปกรณ์ LoRa ของฝั่งยุโรปที่มีคลื่นความถี่ 918 MHz มาใช้ก็ไม่ได้แน่นอน ส่วนอุปกรณ์ที่เป็นความถี่ 433MHz นั้น ผู้เขียนคิดว่าหากมีกำลังส่งไม่เกิน 10mW ก็จะไปเข้าประกาศอันแรกในตารางของเราข้อ 3(10) ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้เพื่อการใดเป็นการเจาะจง เราจึงใช้อุปกรณ์ LoRa 433MHz ที่มีกำลังส่งไม่เกิน 10mW ได้ครับ วกกลับมาที่หากเรามีอุปกรณ์ 920 - 925 MHz ถูกต้อง เป็นมาตรฐาน AS923 เลยก็จะมีความถี่ที่ 923MHz และถึงแม้มาตรฐานจะกำหนดให้ใช้กำลังส่งสูงสุดได้ถึง 4W แต่ในประกาศข้อ 6(2) นั้นได้ยกเว้นให้กับอุปกรณ์ที่มีกำลังส่งไม่เกิน 500mW (0.5W) นะครับ หากใครต้องการใช้เต็ม 4W ควรดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ทั้งนี้ LoRa ถูกออกแบบมาให้ทำงานด้วยการใช้พลังงานต่ำ การใช้กำลังส่งสูงย่อมทำให้ใช้พลังงานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และอุปกรณ์ LoRa ที่มีขายทั่วไปที่ผู้เขียนได้เคยเห็นมาก็ทำกำลังส่งสูงสุดได้แค่ 100mW เท่านั้นครับ

          สุดท้ายก่อนจากกัน ที่เขียนเรื่องนี้เพราะผู้เขียนอยากให้ตระหนักถึงการรบกวนของคลื่นความถี่ที่อาจส่งผลร้ายแรงได้ สิ่งเหล่านี้เรามองไม่เห็นมันหรอกครับว่าออกไปแล้วมันจะไปไหนได้บ้าง เหมือนสมัยก่อนที่เล่นรถบังคับทีนึง ทวีช่อง 3 ของข้างบ้านภาพล้มไปดูไม่ได้จนกว่าเราจะเลิกเล่นแบบนั้นแหละครับ อีกทั้งการทำผิดกฏก็มีโทษ ซึ่งโทษของกฏวิทยุต่างๆนี้มีทั้งจำคุกและปรับ ในเมื่อหน่วยงานออกกฏมาสนับสนุนให้เราได้เล่นได้ทดลองหาความรู้ ก็ควรปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เขาวางไว้ด้วย เพื่อความสงบของส่วนรวมนะครับ