ใบงาน เรื่อง การเขียนรายงาน ม. 1

การเขียนรายงานทางวิชาการ

ที่มา : https://docs.google.com/document/d/1gdefqnoxr5KvJN5-7DvpYgXi5xjVUP8Ihx5MEis8D_E/edit

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรียนรู้พื้นฐานการเขียนรายงานทางวิชาการ

สาระสำคัญ การเขียนรายงานทางวิชาการ จะให้ความสำคัญกับการจัดรูปแบบและองค์ประกอบเป็นอย่างมาก

ดังนั้นผู้เขียนรายงานจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการจัดรูปแบบและองค์ประกอบของรายงานทางวิชาการ เพื่อจะได้จัดทำรายงานทางวิชาการได้ถูกต้อง

สาระการเรียนรู้

1) ความหมายของการเขียนรายงานทางวิชาการ

2) แนวคิดพื้นฐานในการเขียนรายงาน

3) องค์ประกอบของการเขียนรายงาน

4) การเขียนโครงร่างรายงาน

ความหมายของรายงาน

คำว่า “รายงาน” เป็นคำนาม แปลว่าเรื่องราวที่ไปศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาเสนอที่ประชุมครูอาจารย์หรือผู้บังคับบัญชา เป็นต้น เป็นคำกริยา แปลว่า บอกเรื่องราวของการงาน เช่น รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ (อำไพวรรณ   ทัพเป็นไทย อ้างถึงใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 , 2546 : 953)

รายงาน (report) เป็นเอกสารทางวิชาการที่นักศึกษารวบรวมและเรียบเรียงขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้เสริมความรู้และทักษะในรายวิชาที่กำลังศึกษาอยู่ (พูลสุข เอกไทยเจริญ , 2539 : 2)

สรุปได้ว่ารายงานเป็นการนำเสนอเรื่องราวทางวิชาการซึ่งเป็นผลจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีระบบ มีการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และอ้างอิงหลักฐานที่มาอย่าง มีหลักเกณฑ์แล้วนำมาเรียบเรียงอย่างมีขั้นตอน และเขียนหรือพิมพ์ให้ถูกต้องตามแบบแผนที่กำหนดถือว่ารายงานเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการศึกษา

 ประเภทของรายงาน

รายงานโดยทั่วๆ ไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

1. รายงานทั่วไป      2. รายงานทางวิชาการ

1. รายงานทั่วไป เป็นรายงานที่เสนอข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับองค์การสถาบันหรือข้อคิดเห็นของบุคคล ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ สถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว หรือกำลังดำเนินการอยู่ หรือจะดำเนินการต่อไปเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ ได้แก่

1.1 รายงานในโอกาสต่างๆ เช่น รายงานแสดงผลงาน เป็นรายงานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานหรือผู้สนใจทราบ ข้อเขียนที่เป็นคำกล่าวรายงานในพิธีเปิด-ปิดการอบรมสัมมนา การแข่งขันกีฬา การประกวด ฯลฯ เป็นการรายงานให้ทราบถึงความเป็นมาของงาน การดำเนินงาน ผู้ร่วมงาน กำหนดระยะเวลาของงาน และลงท้ายด้วยการเชิญประธานในพิธีกล่าวเปิดหรือปิดงาน

1.2 รายงานการประชุม เป็นคำนามแปลว่า รายละเอียดหรือสาระของการประชุมที่จดไว้เป็นทางการ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 , 2546 : 953) เป็นการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่องค์ประชุมกล่าวถึงตั้งแต่เริ่มประชุมจนสิ้นสุดการประชุม และต้องนำรายงานนี้เสนอให้ที่ประชุมรับรองในการประชุมครั้งต่อไป รายงานการประชุมเป็นเอกสารที่ใช้อ้างอิงได้จึงต้องใช้ภาษาเป็นทางการ กระชับ รัดกุม และชัดเจน

1.3 รายงานข่าว คือ การรายงานโดยใช้วิธีเขียนหรือพูด เพื่อรายงานเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้รายงานได้แก่ นักหนังสือพิมพ์ นักจัดรายการวิทยุ ผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์ ฯลฯ

1.4 รายงานเหตุการณ์ เป็นรายงานซึ่งเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้รายงานเพื่อบอกเรื่องราวเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่หรือเกิดขึ้นในขณะนั้นเสนอต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้เกี่ยวข้องทราบ ได้แก่ รายงานการอยู่เวรรักษาการณ์ รายงานอุบัติเหตุรถชนกัน รายงานเกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นต้น ซึ่งส่วนมากเป็นการเขียนรายงานอย่างสั้น เป็นการเขียนที่เน้นข้อเท็จจริง และความถูกต้องของข้อมูล ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาทางการหรือถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ กะทัดรัด ชัดเจน ตรงประเด็น และคงเส้นคงวา

2. รายงานทางวิชาการ คือ รายงานผลของการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมุ่งเสนอผลที่ได้ตามความเป็นจริงซึ่งต้องทำตามขั้นตอน มีระบบ มีระเบียบแบบแผนที่เป็นสากล โดยมีหลักฐานและการอ้างอิงประกอบแล้วเขียนหรือพิมพ์ให้ถูกต้องตามรูปแบบที่สถาบันนั้นๆ กำหนด และถือว่ารายงานเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเรียนการสอนของวิชานั้นๆ ด้วย

 วัตถุประสงค์ และความสำคัญของรายงานทางวิชาการ

รายงานมีความสำคัญต่อผู้ศึกษา ดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ในเรื่องที่ สนใจได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง

2. ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักแหล่งข้อมูลต่างๆ และเกิดทักษะรู้วิธีการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลนั้นๆ ได้อย่างถูกวิธี

3. ช่วยฝึกทักษะด้านการอ่าน โดยอ่านได้เร็วอ่านแล้วสามารถจับใจความของเรื่องที่อ่านได้ สามารถสรุปได้ วิเคราะห์ได้ และจดบันทึกได้

4. ช่วยฝึกทักษะทางด้านการเขียน สามารถสื่อความหมายโดยการเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพรู้ขั้นตอน รู้รูปแบบของการเขียนรายงานแล้วนำเอาหลักการและแบบแผนในการเขียนรายงานไปปรับใช้ในการเขียนงานทางวิชาการอื่นๆ ได้ เช่น ภาคนิพนธ์ สารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ตำราเป็นต้น

5. ช่วยฝึกทักษะทางด้านการคิด คือสามารถคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ได้ โดยใช้วิจารณญาณของตนเองแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลโดยมีหลักฐานอ้างอิงแล้วรวบรวมเรียบเรียงข้อมูลความคิดที่ได้ให้เป็นเรื่องราวได้อย่างมีขั้นตอน มีระบบ เป็นระเบียบ

6. สามารถเขียนรายงานประกอบการเรียนได้อย่างถูกต้องตามแบบแผนและเป็นพื้นฐานใน การศึกษาขั้นสูงต่อไป

7. ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของแต่ละวิชา 

ประเภทของรายงานทางวิชาการ

รายงานวิชาการแบ่งประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. รายงานการค้นคว้าทั่วไป แบ่งได้เป็น

1.1 รายงาน (Report) เป็นผลการศึกษาค้นคว้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประกอบการเรียนในรายวิชา (ในรายวิชาหนึ่งอาจมีรายงานได้หลายเรื่อง) รายงานในวิชาใดจะมีเนื้อหาอยู่ในขอบข่ายวิชานั้น โดยอาจใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีประกอบกัน เช่น การศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร การสังเกต การทดลอง เป็นต้นในแง่การจัดทาอาจเป็นรายงานเดี่ยวหรือรายงานกลุ่มสำหรับความยาวของรายงานและกำหนดเวลาทำจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขอบเขตของหัวข้อรายงานและการตกลงกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน โดยทั่วไปใช้เวลาน้อยกว่า 1 ภาคเรียน

1.2 ภาคนิพนธ์ หรือรายงานประจำภาค (Term paper) มีลักษณะเช่นเดียวกับรายงานเพียงแต่เรื่องที่ใช้ทำภาคนิพนธ์จะมีขอบเขตกว้างและลึกซึ้งกว่า ใช้เวลาค้นคว้ามากกว่าความยาวของเนื้อหามากกว่า ดังนั้นผู้เรียนจึงมักจะได้รับมอบหมายให้ทำเพียงเรื่องเดียวในแต่ละรายวิชาต่อภาคการศึกษา

2. รายงานการค้นคว้าวิจัย แบ่งได้เป็น

2.1 รายงานการวิจัย (Research Report) เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าและวิจัยในเรื่องหรือปัญหาเฉพาะที่ต้องการคำตอบหรือความรู้เพิ่มเติม ต้องมีความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยมาก่อน มีวิธีดำเนินการอย่างมีระเบียบ มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงหรือหลักการบางอย่าง

2.2 วิทยานิพนธ์ หรือ ปริญญานิพนธ์ (Thesis or Dissertation) มีลักษณะเช่นเดียวกับรายงานการวิจัยและถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต เรียกว่า วิทยานิพนธ์ (Thesis) และปริญญาดุษฎีบัณฑิต เรียกว่า ปริญญานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ หรือสาระนิพนธ์ (Dissertation) เป็นเรื่องทำเฉพาะบุคคลกำหนดเวลาทำไม่เกินระยะเวลาเรียนของหลักสูตรนั้น

ลักษณะของรายงานที่ดี

1. มีการนำหลักการและ/หรือทฤษฎีมาใช้อย่างเหมาะสมเนื่องจากในการศึกษาค้นคว้า จะต้องมีการวิเคราะห์เนื้อหา โดยมีหลักการหรือทฤษฎีมารองรับอย่างเหมาะสม หลักการหรือทฤษฎีดังกล่าวควรเป็นที่ยอมรับในแวดวงสาขาวิชาการนั้นๆ พอควรและตรงกับเรื่องที่ศึกษาค้นคว้า

2. มีการแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม เช่น เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีผู้ทำมาก่อน หรือเคยมีผู้ทำแต่ไม่ชัดเจนเพียงพอ

3. ความสมบูรณ์และความถูกต้องของเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระต้องสมบูรณ์ตามชื่อเรื่องที่กำหนด และถูกต้องในข้อเท็จจริง การอ้างอิงที่มาหรือแหล่งค้นคว้าต้องถูกต้องเพื่อแสดงจรรยามารยาทของผู้เขียน และเป็นแหล่งชี้แนะให้ผู้สนใจได้ติดตามศึกษาค้นคว้าต่อไป การค้นคว้าควรศึกษามาจากหลายแหล่ง

4. ความชัดเจนของการเขียนรายงานจะต้องมีความชัดเจนในด้านลำดับการเสนอเรื่องมีความสามารถในการใช้ภาษา และการนำเสนอตาราง แผนภูมิ/ภาพประกอบทั้งนี้เพื่อให้การนำเสนอเนื้อหาชัดเจน เข้าใจง่าย เป็นระเบียบไม่ซ้ำซ้อนสับสน

การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน

1. ควรใช้ภาษาหรือสำนวนโวหารเป็นของตนเองที่เข้าใจง่ายและถูกต้อง

2. ใช้ประโยคสั้นๆ ให้ได้ใจความชัดเจน สมบูรณ์ ตรงไปตรงมาไม่วกวน

3. ใช้ภาษาที่เป็นทางการไม่ใช้ภาษาพูด คำผวน คำแสลง อักษรย่อ คำย่อ

4. ใช้คำที่มีความหมายชัดเจน ละเว้นการใช้ภาษาฟุ่มเฟือย การเล่นสำนวน

5. ระมัดระวังในเรื่องการสะกดคำ การแบ่งวรรคตอน

6. ระมัดระวังการแยกคำด้วยเหตุที่เนื้อที่ในบรรทัดไม่พอหรือหมดเนื้อที่ในหน้าที่นั้นเสียก่อน เช่น ไม่แยกคำว่าละเอียดออกเป็นละในบรรทัดหนึ่งส่วนละเอียดอยู่อีกบรรทัดต่อไปหรือหน้าต่อไป

7. ให้เขียนเป็นภาษาไทยไม่ต้องมีคำภาษาอังกฤษกำกับ ถ้าเป็นคำใหม่หรือศัพท์วิชาการในการเขียนครั้งแรกให้กำกับภาษาอังกฤษไว้ในวงเล็บ ครั้งต่อๆ ไปไม่ต้องกำกับภาษาอังกฤษ

หลักการเขียนรายงานทางวิชาการ

1. หลักการเขียนรายงานทางวิชาการ   

ส่วนประกอบของรายงานทางวิชาการ มีลักษณะ ดังนี้

1.1 ส่วนประกอบตอนต้น   มีส่วนประกอบตามลำดับดังนี้

1.1.1  หน้าปก  (ปกนอก)

1.1.2.  หน้าชื่อเรื่อง  (ปกใน)

1.1.3.  คำนำ (กิตติกรรมประกาศ)

1.1.4.  สารบัญ

1.1.5.  สารบัญตาราง

1.1.6.  สารบัญภาพประกอบ

1.2 ส่วนประกอบตอนกลาง (เนื้อเรื่อง)     เป็นส่วนสำคัญที่สุดของรายงาน   แบ่งแยกเนื้อหาที่เขียนเป็นบทอย่างมีระบบระเบียบ ตามลำดับ

รายงานทางวิชาการมีโครงสร้างมาตรฐาน 5 บท  คือ

บทที่ 1  บทนำ

บทที่ 2  เอกสารและรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 3  วิธีดำเนินการศึกษา

บทที่ 4  ผลการศึกษา

บทที่ 5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบ ที่สำคัญของเนื้อเรื่อง   ได้แก่ การอ้างอิงจากการศึกษาค้นคว้า  แบบเชิงอรรถท้ายหน้า  หรืออ้างอิงแทรกในเนื้อหา (นามปี) ข้อมูลสารสนเทศตารางประกอบ แผนภูมิ ภาพประกอบ

1.3 ส่วนประกอบท้าย   ส่วนประกอบท้าย ได้แก่ บรรณานุกรม  ภาคผนวก และอภิธานศัพท์ เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมจากเนื้อเรื่อง  เช่น การอ้างอิงที่ได้ระบุไว้ในเชิงอรรถ ก็นำมาระบุไว้ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม รายละเอียดต่าง ๆ เช่น ตารางข้อมูลแผนงานโครงการ บันทึกประจำวัน สำหรับผู้สนใจรายละเอียด  

2. การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน

การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน  รายงานมีลักษณะต่อไปนี้

-เป็นงานเขียนที่เป็นงานเป็นการ ค่อนข้างจริงจัง หนักแน่น  

-การให้ความคิด ความรู้ มากกว่าเรียงความทั่วไป

-เป็นความเรียงร้อยแก้ว  ใช้ภาษาเขียนถูกต้องตามหลักวิชาการ  

-มีหลักฐาน ข้อเท็จจริงอ้างอิงประกอบ  

-ไม่ต้องใช้สำนวนโวหารให้ไพเราะเพราะไม่ใช่งานประพันธ์  -มีความกระชับ รัดกุม กะทัดรัด ชัดเจน ตามที่นิยมกันตามปกติ

-ไม่ใช้คำที่อาจมีความหมายได้หลายประการ

-หลีกเลี่ยง การใช้ภาษาพูด ภาษาแสลง หรือภาษาตลาด  

-ควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาท้องถิ่น

- ควรเลือกใช้ภาษาสามัญที่เข้าใจง่าย  

-ตัวสะกดการันต์ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

-การใช้คำศัพท์  เช่น การใช้คำสุภาพ  คำราชาศัพท์  คำที่ใช้กับภิกษุ  ล้วนต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง ตามหลักการใช้ภาษา  และความนิยมในปัจจุบัน

ตัวอย่างการใช้คำศัพท์  เช่น

-สไลด์   เปลี่ยนใช้         ภาพเลื่อน  ให้ถูกต้องตามศัพท์บัญญัติ

-ตรรกวิทยา  (Logic)      มีวงเล็บภาษาอังกฤษต่อท้าย

-ร้อยละ   ไม่ต้องวงเล็บ   (Percent)  เพราะใช้กันแพร่หลายแล้ว

-ไม่ควรใช้  ศธ. หรือเขียนย่อว่า  กระทรวงศึกษา ฯ    แทน  กระทรวงศึกษาธิการ

-ไม่ควรใช้  ร.ร.  แทน โรงเรียน  ยกเว้นกรณีที่นิยมใช้แบบย่อ กันแพร่หลายแล้ว เช่น  พ.ศ. ส่วนคำที่เป็นชื่อเฉพาะ ให้เขียนสะกด การันต์ ตามของเดิม  จะถืออักขรวิธีในการเขียนคำทั่วไปเป็นหลักไม่ได้ เช่น นางสาวจิตต์ ไม่ต้องแก้เป็น นางสาวจิต

-การใช้คำ  กับ  แด่  แต่  ต่อ   ให้ถูกต้อง  ตัวอย่าง เช่น

-กับ ใช้กับสิ่งของหรือคนที่ทำกริยาเดียวกัน  เช่น ครูกับนักเรียนอ่านเอกสาร เด็กเล่นกับผู้ใหญ่

-แด่ ต่อ ใช้กับกริยา  ให้ รับ บอก ถวาย ต่อบุคคลที่สมควร  เช่น   กล่าวรายงานต่อประธานถวายของแด่พระสงฆ์

-แก่   ใช้เช่นเดียวกับ แด่ ต่อ แต่ใช้กับบุคคลทั่วไป เช่น  พระราชทานแก่ ให้แก่ บอกแก่แจ้งแก่

-เขียนเนื้อหาให้แจ่มแจ้งชัดเจน  มีการเน้น เนื้อหาที่สำคัญ โดยใช้ คำ วลี และข้อความที่สำคัญ ขึ้นต้นประโยค หรือจบประโยค กล่าวซ้ำ เพื่อให้ความสำคัญกับคำที่กล่าวซ้ำเปรียบเทียบ  

-เพื่อให้ข้อความชัดเจน และให้รายละเอียดเป็นตัวอย่าง รูปภาพประกอบ ทำให้ชัดเจน เข้าใจง่าย  และถ้าต้องการให้มีผลในทางปฏิบัติ จะต้องใช้ ตัวอย่าง ข้อความ สนับสนุนหลักการแนวคิดที่เสนอ ให้ชัดเจนอย่างมีศิลปะในการเขียน

-มีเอกภาพ ในการเสนอเนื้อหาทุกส่วนของรายงาน เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของการเขียน    

-มีสัมพันธภาพ ในการจัดลำดับเนื้อหา คือเขียนให้สัมพันธ์กัน  เช่น ตามลำดับเวลา ตามลำดับเหตุและผล  จัดลำดับ ระหว่าง หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย  ระหว่างย่อหน้า  เรียงตามความสำคัญ หัวข้อที่สำคัญเท่ากัน หรือระดับเดียวกัน   เขียนให้ย่อหน้าเท่ากัน ตรงกัน ย่อหน้าหนึ่งควรมีใจความสำคัญเดียว

-รายงานทางวิชาการ เน้นความจริง ความถูกต้อง ไม่ควรเขียนเกินความจริงที่ปรากฏ   

-รายงานตามข้อมูลที่พบ  ไม่ควรเขียนคำคุณศัพท์ เช่น  ดีมาก ดีที่สุด เหมาะสม  ดี โดยไม่มีข้อมูล หลักเกณฑ์ชัดเจน   แสดงถึงการวินิจฉัย ประเมินค่าเกินจริง

-คุณสมบัติของผู้เขียนรายงาน ที่จะช่วยให้รายงานมีคุณค่า ได้แก่ความรู้ทั่วไปในเรื่องที่เขียน   จะทำให้เตรียมการอย่างรอบคอบ  เขียนได้ครอบคลุม ต่อเนื่อง ชัดเจน  มีความสามารถในการวิเคราะห์ ให้คุณค่าข้อมูล อย่างแม่นตรงมีวิจารณญาณในการเลือกเสนอสิ่งที่สำคัญ  สามารถใช้เทคนิคผสมผสานความรู้  ประสบการณ์  ออกมาเป็นความคิด  แล้วถ่ายทอด ออกมาเป็นภาษาเขียน

3. การรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนรายงาน

หากแบ่งตามลักษณะข้อมูลจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ข้อมูลเอกสารและข้อมูลสนาม

          1) ข้อมูลเอกสาร เป็นข้อมูลที่อยู่ในรูปเอกสาร และหลักฐานต่างๆ เป็นข้อมูลที่มีผู้ค้นคว้าและบันทึกไว้แล้ว โดยทั่วไปหนังสือแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ หนังสืออ้างอิง และหนังสือประเภททั่วไป

หนังสืออ้างอิง มีดังนี้

- พจนานุกรม

- สารานุกรม

- อักขรานุกรม

- หนังสือประจำปี

- นามานุกรม

- ดรรชนี

- บรรณานุกรม

        หนังสือทั่วไป เป็นหนังสือประเภทตำราหรือเอกสารที่ใช่เอกสารอ้างอิง หนังสือประเภทนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก วิธีง่ายที่สุดในการเลือกคืออ่านสารบัญว่าหนังสือเล่มนั้นมีประเด็นใดบ้าง ที่ตรงกับเนื้อหาที่ตนต้องการ

          2) ข้อมูลสนาม เป็นข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมเองโดยตรง ทำได้หลายวิธี เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต การให้กลุ่มเป้าหมายตอบแบบสอบถาม การทดลอง ฯลฯ ผู้ทำรายงานควรพิจารณาเองว่าวิธีใดเหมาะสมที่สุดสำหรับรายงานเรื่องนั้น ๆ

4. การอ้างอิงทางบรรณานุกรม

การอ้างอิงทางบรรณานุกรม หมายถึง รายการเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่ผู้ผลิตผลงานทางวิชาการใช้อ้างอิงในเอกสารผลงานของตน การแสดงรายการทางบรรณานุกรมไว้ที่ผลงานของท่านจึงนับเป็นการให้ความเคารพผล งานทางปัญญาที่ผู้อื่นได้แสดงไว้ อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการแสดงที่มาที่ไปขององค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ ทำให้ผู้สนใจสามารถติดตามพัฒนาการของเรื่อง

          4.1. การอ้างอิงแบบแทรกปนในเนื้อหา ซึ่งมี 2 ระบบ (ส่งศรี ดีศรีแก้ว, 2534 : 78) คือ
                   4.1.1 ระบบนาม - ปี ( Author - date)
            ระบบนาม - ปี เป็นระบบที่มีชื่อผู้แต่ง, ปีที่พิมพ์ และเลขหน้า ที่อ้างอิงอยู่ภายในวงเล็บ ดังตัวอย่าง
                    (ชื่อผู้แต่ง.  ปีที่พิมพ์ : เลขหน้าที่อ้างอิง)
                   4.1.2  ระบบหมายเลข (Number System)  เป็นระบบที่คล้ายคลึงกับระบบนาม - ปี แต่ระบบนี้จะใช้หมายเลขแทนชื่อผู้แต่งเอกสาร
             อ้างอิง มีอยู่ 2 วิธี คือ
                   (1) ให้หมายเลขตามลำดับของการอ้างอิง
                   (2) ให้หมายเลขตามลำดับอักษรผู้แต่ง
          4.2 บรรณานุกรม

        บรรณานุกรม  คือ  รายชื่อหนังสือเอกสาร  สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งโสตทัศนวัสดุ  และสื่ออีเล็กทรอนิกส์ ที่นำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงในการเขียนรายงาน  โดยเรียงตามลำดับอักษรไว้ท้ายเรื่อง

จุดมุ่งหมายในการเขียนบรรณานุกรม

     1. ทำให้รายงานนั้นเป็นรายงานที่มีเหตุผล  มีสาระน่าเชื่อถือ

         2.  เป็นการเคารพสิทธิและความคิดเห็นของผู้อื่น        

3.  เป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจต้องการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
4.  สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นำมาอ้างได้

วิธีเขียนบรรณานุกรม

       1.  เขียนไว้ในส่วนท้ายของรายงาน

        2.  เขียนเรียงลำดับอักษรชื่อผู้แต่ง ในกรณีที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้เขียนบรรณานุกรมภาษาไทยก่อน
        3.  บรรทัดแรกของบรรณานุกรมชิดด้านซ้ายที่เว้นจากขอบกระดาษเข้ามา  1.5  นิ้ว  ถ้ายังไม่จบ เมื่อขึ้นบรรทัดใหม่โดยย่อหน้าเข้ามาประมาณ  7  ตัวอักษรของบรรทัดแรก 
       4.  รายละเอียดในโครงสร้างรูปแบบบรรณานุกรมหนังสือ   มีดังนี้

การอ้างอิงทางบรรณานุกรม หมายถึง รายการเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่ผู้ผลิตผลงานทางวิชาการใช้อ้างอิงในเอกสารผลงานของตน การแสดงรายการทางบรรณานุกรมไว้ที่ผลงานของท่านจึงนับเป็นการให้ความเคารพผล งานทางปัญญาที่ผู้อื่นได้แสดงไว้ อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการแสดงที่มาที่ไปขององค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ ทำให้ผู้สนใจสามารถติดตามพัฒนาการของเรื่องนั้นได้ ในโอกาสหน้า

 1)  หลักการเลือกรูปแบบการเขียนบรรณานุกรม  รูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นสากล หรือนิยมใช้กันทั่วไป ซึ่งสามารถตัดสินใจเลือกโดยพิจารณาจากสาขาวิชาที่ท่านสังกัดอยู่แป็นแนวทาง เช่น

1) APA (American Psychological Association) เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในสาขาวิชา จิตวิทยา การศึกษา และสาขาสังคมศาสตร์อื่นๆ

2) AMA (American Medical Association) เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางชีววิทยา

3)  Chicago เป็น รูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในทุกสาขาวิชา นิยมใช้ในการลงรายการหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และเอกสารที่อ้างอิงเป็นเอกสารที่ไม่เป็นวิชาการมากนัก

4) MLA (Modern Language Association) หรือ เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในสาขาวิชา วรรณกรรม ศิลป และสาขามนุษยศาสตร์

5) Turabian เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในสาขาวิชาทั่วไปในระดับวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย

6) Vancouver เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่นิยมใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์และการแพทย์

       2)  การเขียนบรรณานุกรม ตามรูปแบบ AMA (American Medical Association)

เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมระบบนามปี  นิยมใช้ในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางชีววิทยา การอ้างอิงมีข้อกำหนดตามแหล่งที่มาของเอกสารที่นำมาใช้อ้างอิงดังนี้

การอ้างอิงจากบทความในวารสาร

           หมายเลขลำดับการอ้างอิง.  ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  ชื่อวารสาร.  ปีที่; ฉบับที่: เลขหน้า.

ตัวอย่าง

1.  Wilcox RV. Shifting roles and synthetic women in Star trek: the

next generation. Stud Pop Culture. 1991;13:53-65.

การอ้างอิงจากบทความในหนังสือพิมพ์

หมายเลขลำดับการอ้างอิง.  ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  ชื่อหนังสือพิมพ์.  เดือน วัน, ปี: เลขหน้า.

ตัวอย่าง

2.  Di Rado A. Trekking through college: classes explore modern

society using the world of Star trek. Los Angeles Times. March

15, 1995:A3.

การอ้างอิงจากบทความในฐานข้อมูล

หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์; ปีที่พิมพ์.  หมายเลขเอกสารที่ให้บริการในชื่อฐานข้อมูล.

           ตัวอย่าง

3.  Fuss-Reineck M. Sibling Communication in Star Trek: The Next

                        Generation: Conflicts Between Brothers. Miami, Fla: Annual Meeting

of the Speech Communication Association; 1993. ERIC Document

Reproduction Service ED364932.

การอ้างอิงจากบทความในหนังสือ           

หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อหนังสือ.  สถานที่พิมพ์: ปีที่พิมพ์.

ตัวอย่าง

4.  Okuda M, Okuda D. Star Trek Chronology: The History of the Future.

New York: Pocket Books; 1993.

การอ้างอิงจากบทความในหนังสือประเภทสารานุกรม        

หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  ใน: ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการอำนวยการ;  ชื่อบรรณาธิการ ,บรรณาธิการใหญ่; ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการบริหาร. ชื่อสารานุกรม.  ฉบับที่.  ครั้งที่พิมพ์.  สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์;  ปีที่พิมพ์:เลขหน้า.

ตัวอย่าง

5.  Sturgeon T. Science fiction. In: Lorimer LT, editorial director;

Cummings C, ed-in-chief; Leish KW, managing ed. The Encyclopedia

Americana. Vol 24. International ed. Danbury, Conn: Grolier

Incorporated; 1995:390-392.

การอ้างอิงจากบท/ตอนในหนังสือ

                     หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  ใน: ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการ.  ชื่อหนังสือ.  สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์;  ปีที่พิมพ์:เลขหน้า.

ตัวอย่าง

6.  James NE. Two sides of paradise: the Eden myth according to Kirk

and Spock. In: Palumbo D, ed. Spectrum of the Fantastic. Westport,

Conn: Greenwood; 1988:219-223.

การอ้างอิงจากเว็บไซต์

หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อเรื่อง.  ชื่อเว็บไซต์.  ปีที่.   แหล่งที่มา:  URL.

ค้นเมื่อ วัน เดือน, ปี.

ตัวอย่าง

7.  Lynch T. DSN trials and tribble-ations review. Psi Phi: Bradley’s

Science Fiction Club Web site. 1996. Available at:

http://www.bradley.edu/campusorg/psiphi/DS9/ep

/503r.htm. Accessed October 8, 1997.

5. การดำเนินการเขียนรายงาน

รูปแบบการเขียนรายงาน

[รูปแบบรายงาน เอกสาร Word TH Saraban]

[รูปแบบรายงาน เอกสาร PDF]

[รูปแบบรายงาน เอกสาร Word Angsana New]

ที่มา : https://docs.google.com/document/d/1eBZpTT3UhjhNMTu6pA2DnxWTT6V3OkDW2Hpzqv9jcrA/preview?pli=1