ก ก ซาร ม ก สาขา จะหาแฟรนไชส ท ไหน

เผยแพร่: 19 พ.ย. 2549 17:00 โดย: MGR Online

"กินดื่ม" ธุรกิจร้านอาหาร เล็กๆ บนถนนพระอาทิตย์ เมื่อปี 2537 ที่ชูคอนเซ็ปต์บรรยากาศคลาสสิก สบายๆ มีเพลง pop บรรเลง นับเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ในสมัยนั้น ที่ผู้บริหารรู้ว่าทำธุรกิจมาถูกทางตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดบริการ

พร้อมกับแตกแบรนด์ "ทูซิท" (To sit) ที่ดูทันสมัยขึ้นแต่ไม่ทิ้งคอนเซ็ปต์เดิม ขยายควบคู่กันมา จนปัจจุบันย่างเข้าสู่ปีที่ 13 กับจำนวน 6 สาขา

เมื่อโจทย์คือการขยายสาขา ด้วยศักยภาพของธุรกิจที่มีอยู่ แฟรนไชส์ถูกนำมาเป็นกลยุทธ์ ที่ผู้บริหารนำมาใช้ และเพิ่งเปิดตัวแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ "ทูซิท" ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ชูแบรนด์ 'ทูซิท' สู่ระบบเครือข่าย

โตสิต วิสาลเสสถ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กินดื่ม ทูซิท จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ล่าสุดได้ขยายธุรกิจสู่รูปแบบแฟรนไชส์ ด้วยเล็งเห็นเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการขยายสาขาสร้างแบรนด์ภายใต้แบรนด์ "ทูซิท" ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ปัจจุบันได้บริหารร้านอาหารภายใต้คอนเซ็ปต์ ร้านอาหารที่มีบรรยากาศสบายๆ สำหรับการพักผ่อนมานานกว่า 13 ปีกับ 6 สาขา พบว่าการขยายร้านด้วยตนเองนั้น เริ่มมีปัจจัยต่างๆ เข้ามามากทั้งกำลังทรัพย์และบุคลากร ขณะที่ศักยภาพของธุรกิจยังไปได้อีกไกล

จึงเข้ารับการอบรมผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และเป็น 1 ใน20 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแฟรนไชส์ไทยสู่แฟรนไชส์โลก เพื่อผลักกดันพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้สามารถเติบโตได้ในตลาดต่างประเทศ

"พอบริหารมาได้ 4 สาขา เริ่มคิดแล้วว่าต้องขยายธุรกิจแต่ยังหาทางออกไม่ได้ ด้วยอีโก้สูงไม่ต้องการแชร์ความเป็นเจ้าของกับใคร พอได้เข้ามาศึกษาระบบและทำใจได้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีให้กับธุรกิจ สิ่งสำคัญที่เรามีเป็นพื้นฐานคือความจริงใจให้กับคู่ธุรกิจ"

เริ่มแรกต้องการผลิตโปรดักส์คืออาหาร และมีรูปแบบร้านในห้างสรรพสินค้ามีอาหารไม่กี่รายการ 5-10 รายการเพื่อที่ง่ายต่อการบริหารจัดการ ตามความเข้าใจของรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์

แต่พอได้ทำการศึกษาแฟรนไชส์จริงๆ ต้องคิดใหม่ว่าอะไรก็ได้ที่สามารถต่อยอดได้ก็เป็นแฟรนไชส์ได้ เพราะไม่เช่นนั้นโอกาสของธุรกิจใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่ง่ายๆ เขาทำกันหมดแล้ว เช่น พิซซ่า ไอศกรีม ก๋วยเตี๋ยว

"คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่ายากหรือง่าย แต่ต้องดูว่าธุรกิจที่เราทำสามารถเป็นแฟรนไชส์ได้หรือไม่ มีดีมานด์ในตลาดหรือไม่และสามารถบอกวิธีการได้หรือไม่ต่างหาก"

จึงได้เริ่มคิดใหม่ ด้วยนำจุดแข็งที่มีคือคอนเซ็ปต์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่เขายังขาดมาเป็นจุดขาย และธุรกิจบริการเป็นงานที่ยากแต่ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วจึงนำมาปรับเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ได้

"เราเลือกทำสิ่งที่ถนัดไปสอนคนอื่นเขาจะเชื่อเรามากกว่า เราไม่ได้เป็นผู้ผลิต เราเป็นผู้ให้บริการ มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก เมื่อเราทำสิ่งที่ยากได้แล้ว น่าจะเดินต่อและได้ตัดสินใจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เรียนว่าธุรกิจสามารถทำแฟรนไชส์ได้" เร่งสร้างคู่มือธุรกิจ รองรับการลงทุน

โตสิต กล่าวต่อไป ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมคู่มือแฟรนไชส์ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการบริหารร้านสาขาทั้ง 6 สาขานั้นได้ทดลองระบบแฟรนไชส์มาแล้ว

ได้แบ่งเป็นงานระบบภายใน ตั้งแต่เตรียมบุคลากรฝึกอบรม เพื่อให้เขาเหล่านี้เติบโตในร้านแฟรนไชส์ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะพ่อครัว แม่ครัว ซึ่งจะมีการเตรียมบุคลากรในส่วนนี้เพื่อสนับสนุนร้านแฟรนไชซีกรณีที่ไม่มีบุคลากรในส่วนนี้

และการจัดเตรียมคู่มือแฟรนไชส์ งานระบบการบริหารจัดการร้าน การจัดเตรียมสูตรอาหารต่างๆ

ส่วนงานภายนอกนั้นเน้นเรื่องการทำตลาด สร้างการรับรู้แบรนด์ และการออกงานเพื่อหาผู้ร่วมลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ จะเห็นได้ว่าธุรกิจได้รับการตอบรับจากนักลงทุนจากการออกงานครั้งแรกช่วงกลางปีที่ผ่านมาที่งาน TFBO 2006 ไบเทค บางนา มีผู้สนใจลงทะเบียนกว่า 200 ราย

กับการบริหารจัดการระบบบริหารร้านอาหารนั้น หลายรายมองว่าเป็นงานที่ยุ่งยาก ทั้งการควบคุมคอร์สต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ในเรื่องดังกล่าว โตสิต มีความเห็นว่า แฟรนไชส์คืองานระบบที่จัดทำขึ้นที่สามารถควบคุมได้ แต่อย่างไรก็ตามความเข้าใจต่อธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ

และกับอาหารก็จะมีสูตรในแต่ละเมนู สิ่งไหนที่เป็นทางลัดก็ทำสำเร็จไว้ก่อน เช่นเดียวกันกับเครื่องดื่ม ที่สามารถติดต่อกับซัพพลายเออร์ที่ใกล้ทำเลที่ตั้งร้าน เพราะบริษัทไม่ได้มุ่งเน้นการขายสินค้าแต่เป็นการขายระบบ

"กับสิ่งที่คนมองในการควบคุมเมนู ระบบเพื่อสร้างความง่ายต่อการบริหาร หรือมีปริมาณน้อยจะคุมได้มากกว่าหรือไม่ยุ่งยากนั้น ประเด็นไม่ใช่ความมากหรือน้อย ไม่ใช่มีมากแล้วเป็นปัญหา มีน้อยไม่เป็นปัญหา แต่มองที่ความเหมาะสมมากกว่า เช่น พื้นที่ร้านขนาดใหญ่เมนู สินค้าที่ให้บริการก็ต้องตามสัดส่วน มองความยืดหยุ่นตามพื้นที่ คอนเซ้ปต์ เพราะแฟรนไชสืเป็นงานระบบอยู่ที่ความเข้าใจของคนทำ ระบบโปรแกรมล่มหรือมีปัญหาคนต้องเข้าใจ"

สำหรับแผนธุรกิจนั้น โตสิต กล่าวว่า ได้วางคอนเซ็ปต์ไว้ 2 รูปแบบสำหรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนที่แตกต่างกัน

ในภาพรวมมุ่งเน้นเมืองท่องเที่ยวหรือเมืองใหญ่ๆ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับทำเล และผู้ลงทุนอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถขยายสาขาได้มาก หรือเมืองใดเมืองหนึ่งอาจได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น ฉะนั้นการพิจารณาต้องรอบครอบมากที่สุด

และไม่รีบเร่ง ทั้งนี้ต้องการให้ร้านแฟรนไชส์ได้ตรงตามคอนเซ้ปต์และประสบความสำเร็จ และหวังที่จะให้ทูซิท ในพื้นที่นั้นๆ เป็นแหล่งที่คนเดินทางไปที่แห่งนั้นต้องหาโอกาสไปสัมผัสให้ได้

"กับตลาดในไทยนั้นคนสนใจเข้ามามากอยู่ระหว่างการพิจารณาผู้ลงทุนและสถานที่ โดยโฟกัสไปที่เมืองท่องเที่ยวก่อน ส่วนต่างประเทศจากการออกบูธที่ดูไบซึ่งมีความสนใจของผู้ร่วมลงทุนเข้ามาเช่นกัน กับตลาดต่างประเทศอาจจะเปิดในประเทศกลุ่มตะวันออกกลางได้ก่อน"

หลักบริหารความสำเร็จ กับโอกาสธุรกิจร้านอาหาร

โตสิต ให้ข้อมูลว่า กับธุรกิจร้านอาหารคนมีส่วนสำคัญเป็นหัวใจความอยู่รอดขององค์กรในอันดับต้นๆ ที่ผู้บริหารต้องสร้างความรักองค์กรให้เกิดขึ้น เพราะถ้าธุรกิจวิกฤติทั้งปัจจัยภายในหรือภายนอก คนหรือพนักงานจะช่วยฝ่าวิกฤติให้ผ่านพ้นไปได้

และกับกินดื่ม ทูซิท ยอมรับว่าที่ผ่านมาการเข้าออกของพนักงานสูงมาก แต่มา 2 ปีหลังสถานการณ์นิ่งไม่มีลาออกทั้งนี้เพราะอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องแชร์ไอเดีย ความคิดร่วมกันหรือการมีส่วนร่วมบริหารปัจจุบันมีพนักงานกว่า 200 คน

หากมองถึงโอกาสธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน เขามองว่า การแข่งขันสูงมาก เพราะสามารถเปิดกิจการได้ง่ายด้วยข้อกฎหมายทางการค้าที่ไม่รัดกุม ทั้งนี้ผู้ลงทุนต้องมั่นใจในกำลังทรัพย์ที่มีและมั่นใจต่อแฟรนไชซอร์ที่จะร่วมลงทุน

ทั้งนี้การแข่งขันจากต่างประเทศที่เข้ามาอีกด้วย เพราะปัจจุบันโลกไม่มีพรมแดนแล้ว ฉะนั้นโจทย์จะยากขึ้นเป็น 2 เท่า จากในประเทศและต่างประเทศ แฟรนไชส์ต่างประเทศเข้ามา เดิมเป็นอาหารฝรั่ง แต่แฟรนไชส์ต่างประเทศเข้ามาจะเป็นอาหารไทยแล้ว เพราะอาหารไทยมีอยู่ทั่วโลก ด้วยโนว์ฮาวที่ดีกว่านำระบบแฟรนไชส์แล้วเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทย

ฉะนั้นสิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนการลงทุนคือ ต้องมั่นใจในกำลังทรัพย์ที่มีและศึกษาแฟรนไชซอร์ที่จะร่วมลงทุนให้ดี และพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจธุรกิจ มองภาพไม่ทะลุ เช่น กรณีลาออกจากองค์กร ได้เงินล้านมาซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แต่ถ้าลงทุนธุรกิจเงินน้อยมากจึงต้องพิจารณาให้ดี

และกับธุรกิจร้านอาหารต้องเป็นเจ้าของที่คลุกคลีกับธุรกิจ รู้ปัญหาเองเพื่อประสานกับแฟรนไชซอร์เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันที่ตรงจุดปัญหาที่เกิดจะไม่บานปลาย

ขณะเดียวกัน ตนมองว่าตอนนี้ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นแฟชั่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้กับคนในธุรกิจนี้ให้มากทั้งแฟรนไชซอร์และแฟรนไชซี เพื่อให้เข้าใจในธุรกิจแฟรนไชส์ และสามารถเรียนรู้ได้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่เหมาะกับรูปแบบแฟรนไชส์หรือไม่ 13 ปี 'กินดื่ม ทูซิท' คอนเซ็ปต์ชัด-หมุนตามโลก

โตสิต เล่าว่า โดยทั่วไปธุรกิจร้านอาหารกลางคืนที่เคล้าบรรยากาศเสียงเพลง ไซเคิลของธุรกิจเฉลี่ยประมาณ 5 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้มาตั้งแต่แรก แต่จากประสบการณ์ที่ทำวงการทัวร์มาก่อน มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ สัมผัสกับงานบริการ ร้านอาหารต่างๆ มามาก พบว่าบรรดาร้านอาหารสไตล์นี้ยังคงอยู่ได้

สิ่งที่เห็นคือความคลาสสิกของร้านในแต่ละประเทศ เป็นการวางโพซิชั่น ซึ่งความคลาสสิกที่จะขายนั้นต้องวางกลยุทธ์ค่อนข้างมาก

โตสิต ขยายความว่า ร้านๆนั้นต้องมีจุดยืน ไม่เปลี่ยนตามกระแสของคน เพราะธุรกิจกลางคืน เป็นธุรกิจที่คนชอบเปลี่ยนแปลง แล้วเราไปเปลี่ยนแปลงตามคน เขายกตัวอย่างร้านหัวปลาหม้อไฟ จะให้ไปเปลี่ยนเป็นพุงปลาเพราะอร่อยกว่าก็ไม่เปลี่ยนเพราะเป็นจุดแข็งของร้านนั้น

และสิ่งสำคัญต้องตอกย้ำจุดยืนของเราให้คนรับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ คนไหน (กลุ่มลูกค้า) ไม่ใช่ก็ต้องทำใจปล่อยไป เพราะคนที่ใช่ก็จะมาเองเป็นการสร้างฐานลูกค้า สร้างการรับรู้

กับปีที่ 13 ของกินดื่ม ทูซิท คือ แบรนด์รอยัลตี้ของลูกค้าที่มีต่อร้าน รักร้าน ผูกพัน และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เติบโตมาด้วยกัน

"บางคนไปเรียนต่างประเทศ กลับมาเมืองไทย 1-2 อาทิตย์ ต้องมีสักคืน 1-2 คืนที่มาใช้บริการที่ร้าน เรียกเพื่อนมารำลึกความหลักกัน"

โตสิต บอกว่า การที่ธุรกิจยืนยาวจนทุกวันนี้เพราะวางคอนเซ็ปต์มาตั้งแต่ต้นคือบรรยากาศร้าน ที่มาพักผ่อน จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ทั้งการฟังเพลง อาหารอร่อย มองดูผู้คนหรือบรรยากาศริมน้ำ สิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกัน แต่สร้างบรรยากาศ ตกแต่งแตกต่างกันในแต่ละสาขา

"คอนเซ็ปต์ต้องแม่นยำ ชีวิตต้องหมุนไปตามโลก ต้องแยกให้ได้ว่าคอนเซ็ปต์กับการหมุนไปตามโลกไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าฉันทำแบบนี้ไม่เปลี่ยน มากี่ครั้งก็จะเจออาหารหน้าตาแบบนี้ จาน ช้อนแบบนี้ โต๊ะแบบนี้

อย่างที่ถนนพระอาทิตย์ ร้านเรารับบัตรเครดิตเป็นคนแรก นำระบบคอมพิวเตอร์มาลงเป็นร้านแรก และทำบัตรสมาร์ทเพิร์ธ เป็นคนแรก แต่ร้านเหมือนเดิม"

เขา บอกว่า นี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จของการทำธุรกิจ เพราะนักธุรกิจมีมุมมองในการบริหารจัดการกับธุรกิจไม่เหมือนกัน บางคนมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน ช่วงที่ธุรกิจบูมเร่ขายและหาที่ใหม่เปลี่ยนชื่อร้านไปเรื่อยๆ แต่กับเขา ต้องการเป็นมืออาชีพสร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งให้เกิดขึ้นกับธุรกิจนี้