ข อความไว อาล ย พระบาทสมเด จพระปรม นทรมหาภ ม พลอด ลยเดช

"แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี" คือข้อความตอนหนึ่งของประกาศสำนักพระราชวังเรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต

หากประกาศสำนักพระราชวังนี้เป็นความทรงจำฉบับทางการ แล้วความทรงจำที่ไม่เป็นทางการของผู้ที่ได้รับรู้ข่าวอันเศร้าสลดนี้เป็นเช่นไร

เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร บีบีซีไทยบันทึกความทรงจำของ 9 บุคคลในนาทีที่ได้รับรู้ถึงการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

  • ในหลวง ร. 9 : 9 พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่ประดับไว้ในใจไทย
  • "เดชะพระบารมี" ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์
  • "ตุลาการหมายเลข 1" กับ "แสง"แห่ง วิกฤต รธน. 2549

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา หรือคุณใหม่ พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เดินทางจากสหรัฐอเมริกากลับมาประเทศไทยพอดีในช่วงนั้น และวันที่ 13 ต.ค. 2559 เธออยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชที่ "สมเด็จตา" ประทับอยู่

"ตอนนั้นอยู่ที่โรงพยาบาล ก็ตกใจ เรารู้ว่าคนเราไม่ได้อยู่ตลอด แต่พอเป็นครอบครัวตัวเองก็รู้สึกอึ้ง" เธอบอกกับบีบีซีไทยด้วยเสียงสั่นเครือเล็กน้อย

ข อความไว อาล ย พระบาทสมเด จพระปรม นทรมหาภ ม พลอด ลยเดช

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBCThai

คำบรรยายภาพ,

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ไม่ได้รู้สึกเศร้าอย่างโดดเดี่ยวในวันสวรรคต เพราะมีประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวกันที่ รพ.ศิริราช

แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เศร้าสลด แต่คุณใหม่ก็รู้สึกว่าเป็นโชคดีที่มีโอกาสได้พบสมเด็จตาก่อนที่จะสวรรคต และหลังจากนั้นก็ประทับใจกับบรรยากาศที่ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกันเพื่อ "ส่งเสด็จ"

  • สนทนากับท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ว่าด้วยทูลกระหม่อมแม่ ประวัติศาสตร์ และชีวิตข้าราชการกรมศิลป์ฯ

"ตอนออกมาข้างนอก (อาคารเฉลิมพระเกียรติ) จำได้ว่ามีคนมารอท่าน...คล้ายกับมาลา เยอะมาก ก็รู้สึกเหมือนว่ามีคนมากมายที่ร่วมโศกเศร้าไปกับเรา เหมือนทุกคนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เสียใจด้วยกัน ไม่ได้เศร้าอยู่คนเดียว เราอยู่ด้วยกันหมด"

สุทธิชัย บรรยงคนันท์ : หมอชนบท จ.ตรัง

วันที่ 13 ต.ค. ของเมื่อ 3 ปีก่อนเป็นวันที่ยุ่งที่สุดอีกวันหนึ่งของ ทพ. สุทธิชัย ทันตแพทย์วัย 50 ปี ประจำ รพ. วัฒนแพทย์ จ. ตรัง เขาไม่มีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารใด ๆ จนกระทั่งรักษาคนไข้รายสุดท้ายเสร็จจึงเปิดโทรทัศน์ดูข่าวภาคค่ำ จึงได้รับทราบข่าวการสวรรคต

"รู้สึกใจหายและเศร้าใจเหมือนพสกนิกรทั่วไป จำได้ว่าพระองค์เคยรับสั่งจะอยู่ถึง 120 ปี ช่วงนั้นบ้านเมืองไม่สงบ มีการชุมนุมวุ่นวาย เพิ่งมีการรัฐประหาร (22 พ.ค. 2557) ทำให้ยิ่งมีความรู้สึกเหมือนสูญเสียญาติผู้ใหญ่ที่สำคัญกับชีวิตไป"

หลังรู้ข่าวคุณหมอกับสมาชิกในครอบครัวได้ร่วมกันแต่งกลอนขึ้นมาด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และทั้งเพื่อเป็นการบรรเทาความเศร้าโศกในจิตใจ กลอนบทนั้นมีว่า

"แม้นเหนื่อยยากลำบากพ่อไม่บ่น ทรงอดทนเพื่อลูกสุขสดใส ขอเดินตามร้อยเท้าพ่อสืบต่อไป นำพาไทยก้าวหน้าตราบเท่านาน"

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ยิ่งชีพยังอยู่ที่ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนในเวลาที่มีประกาศสำนักพระราชวัง เขาสัมผัสได้ทั้งความรู้สึกเศร้าและความกังวล

"บางคนรู้สึกเสียใจ บางคนรู้สึกวิตกกังวลกับความเป็นไปทางการเมืองข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น" เขาบรรยายบรรยากาศเย็นวันที่ 13 ต.ค. ของเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เขาจำได้ว่าวันนั้น ทุกคนในออฟฟิศต่างนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์เพื่อรับฟังประกาศสำนักพระราชวังอย่างเป็นทางการ หลังได้รับข่าวลือมาตั้งแต่ช่วงเช้า

"ผมคิดว่า (13 ต.ค. 2559) เป็นวันที่เราจำว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงรัชสมัย ทุกคนมีอารมณ์ร่วมมากที่สุด ภาพจำยังติดตาอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง" เขาบอก "วันนั้นคนที่ไม่ได้เตรียมใจมาก่อนก็คงตกใจเศร้าเสียใจ สามปีผ่านไป แต่ละคนก็อาจจดจำวันนั้นในแบบที่แตกต่างกันไป"

ข อความไว อาล ย พระบาทสมเด จพระปรม นทรมหาภ ม พลอด ลยเดช

ที่มาของภาพ, Wasawas Lukharang/BBC Thai

ซินดี้ สจ๊วต : ชาวต่างชาติในไทย

ซินดี้ สจ๊วต ชาวอเมริกันที่อยู่เมืองไทยมากว่า 17 ปี เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่สหรัฐฯ พอดีในช่วงเดือน ต.ค. 2559 เธอได้รับรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตจากเฟซบุ๊ก เธอรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้อยู่ประเทศไทยในเวลานั้น

"ตอนนั้นเป็นช่วงประมาณ 6 โมงเช้าของวันที่ 14 ต.ค. เพราะเวลาที่สหรัฐฯ กับไทยต่างกัน ฉันตื่นนอนพอดีก็เปิดเฟซบุ๊กแล้วก็เห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กเขียนข้อความแสดงความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนนั้นรู้สึกตกใจ เศร้า และมีความรู้สึกว่าฉันควรอยู่ที่นั่นสิ ที่ประเทศไทย" ซินดี้บอกกับบีบีซีไทย

  • พระราชกรณียกิจทางการทูตในบริบทการเมืองโลก
  • ในหลวง ร.9: อดีต บก. นสพ. เชียงใหม่ วัย 93 เล่าประสบการณ์ตามเสด็จในสหรัฐอเมริกา

เธอเล่าว่ามีเพื่อนที่เมืองไทยฝากเธอซื้อเสื้อสีดำด้วย เพราะที่ไทยเริ่มหายาก การได้ไปหาซื้อเสื้อสีดำ รวมทั้งใส่เสื้อสีดำเพื่อร่วมไว้ทุกข์ช่วยให้เธอรู้สึกดีขึ้น เพราะเหมือนเป็นการเชื่อมโยงตัวเธอกับประเทศไทยและคนไทย ว่ากำลังเศร้าเสียใจไปกับเรื่องเดียวกัน

"มันเป็นเรื่องที่วิเศษ ไม่ใช่ทุกประเทศจะมีพระมหากษัตริย์ที่รงเป็นที่รักเช่นนี้" เธอให้ความเห็น

วันวิสาข์ วัฒนดำรง : คนไทยในต่างแดน

วันวิสาข์ วัฒนดำรง วัย 41 ปี ผู้จัดการร้านอาหารไทยในซานฟรานซิสโกที่เธออยู่มา 18 ปี เล่าถึงความประทับใจที่คนไทยกว่า 1,500 คน มารวมตัวกันหน้าลานที่ว่าการของเมืองภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเพื่อไว้อาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9

"พอตื่นมาได้ข่าวคือมันช็อก ร้องไห้เลย ลงไปกราบหมอน ขอว่าชาติหน้าฉันใดขอให้เกิดมาใต้พระบารมีของท่านอีก เป็นความใจสลาย"

วันวิสาข์เฝ้าติดตามข่าวพระอาการประชวรมาโดยตลอด เช้าวันนั้นบรรยากาศในร้านอาหารไทยที่เธอทำงานจึงเต็มไปด้วยความเศร้าสลดของลูกค้าและพนักงาน

ข อความไว อาล ย พระบาทสมเด จพระปรม นทรมหาภ ม พลอด ลยเดช

ที่มาของภาพ, วันวิสาข์ วัฒนดำรง

คำบรรยายภาพ,

คนไทยในซานฟรานซิสโกมารวมตัวกันและจุดเทียนแสดงความอาลัยและความรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังทราบข่าวการสวรรคต

ตกเย็นคนไทยในซานฟรานซิสโกนัดรวมตัวกัน แต่ละคนเตรียมเทียนไขเพื่อมาร่วมจุดเพื่อแสดงความอาลัย ชาวต่างชาติที่ทราบข่าวก็เข้ามาแสดงความเสียใจกับกลุ่มคนไทยอย่างต่อเนื่อง

"ทุกคนอยากกลับบ้าน อยากไปอยู่ตรงนั้น ไปอยู่ใกล้พ่อให้มากที่สุด แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็แสดงความรำลึกถึง ตัวอยู่ไกลแต่ใจไปถึงแล้ว"

หลังจากนั้นเธอมีโอกาสได้กลับมาเมืองไทย ซึ่งเธอถือว่าเป็นตัวแทนของคนไทยในซานฟรานซิสโกที่เดินทางมากราบพระบรมศพ

ปรัศนีย์ ตันนะไพบูรณ์ : ผู้สื่อข่าว

ปรัศนีย์ ผู้สื่อข่าวในวัย 32 ปี ได้รับคำสั่งจากบรรณาธิการให้รายงานข่าวการลงนามถวายพระพรของพสกนิกรที่ รพ. ศิริราช แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการรายงานข่าวในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต

"พอไปถึงใต้ศาลาศิริราช 100 ปี ไม่มีโต๊ะลงนาม เราก็แปลกใจ แต่วันนั้นก็มีคนไปอยู่ตรงนั้นเป็นประจำอยู่แล้ว ใส่เสื้อสีชมพู สีเหลือง มองขึ้นไปชั้นที่ 16 เราก็เห็นภาพนี้เป็นประจำอยู่แล้ว ยังรายงานข่าวด้วยความรู้สึกดีว่า พสกนิกรพร้อมใจกันมาอยู่ที่ศิริราช มีความหวังด้วยกัน"

ข อความไว อาล ย พระบาทสมเด จพระปรม นทรมหาภ ม พลอด ลยเดช

ที่มาของภาพ, ปรัศนีย์ ตันนะไพบูรณ์

คำบรรยายภาพ,

ปรัศนีย์รายงานข่าววันสวรรคตรัชกาลที่ 9 ที่ รพ.ศิริราช

ช่วงเย็น เธอเดินสำรวจร้านค้าขายเสื้อสีชมพูใกล้ รพ.เพื่อประกอบการรายงานข่าว ระหว่างนั้นเองเริ่มมีขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ผ่านไปอย่างต่อเนื่อง จนท้ายสุดก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการของสำนักพระราชวัง

"เสี้ยวนาทีนั้นมันเปลี่ยนจากความเงียบ เป็นเสียงสวดมนต์แล้วกลายเป็นเสียงร้องไห้ขึ้นมา สะอึกสะอื้น แล้วกรีดร้องของคนที่รู้สึกสูญเสีย เราไม่คิดว่าจะได้ยืนอยู่ตรงนั้น" ปรัศนีย์เล่าบรรยากาศที่ รพ.ศิริราช

เวลาผ่านไปไม่นาน ความสดใสของประชาชนที่ใส่เสื้อสีชมพูก็ถูกแทรกซึมด้วยสีดำ และกลายเป็นลานกว้างสีดำในเวลาไม่นาน ภาพนั้นยังติดตาปรัศนีย์จนถึงทุกวันนี้

"เป็นความรู้สึกที่อธิบายยาก และลืมไม่ลงจริง ๆ"

บาทหลวงอนุชา ไชยเดช : ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย

"ความฝันจะไม่สูญสิ้น หากวันพ่อหลวงจำเป็นต้องจากไป มืดมิดเพียงไหนเราคงต้องก้าวไป ด้วยฝันด้วยด้วยหัวใจตามรอยที่พ่อเดิน"

นี่เป็นตอนหนึ่งของบทเพลง "ความฝันไม่มีวันสิ้นสุด" ที่เขียนโดยบาทหลวงอนุชา ไชยเดช ที่ตั้งใจเขียนเพลงนี้ขึ้นมาด้วยเชื่อว่าบทเพลงจะช่วยเยียวยาความโศกเศร้าที่ประชาชนคาทอลิก และคนไทยทุกคนต้องเผชิญในช่วงเวลานั้น

บาทหลวงอนุชาเล่าว่า ในช่วงเวลานั้นได้ติดตามข่าวสารอยู่ตลอดทั้งในฐานะประชาชนคนหนึ่งและในฐานะสื่อในองค์กรศาสนาที่ต้องรายงานความเป็นไป และเมื่อได้รับฟังประกาศสำนักพระราชวังเรื่องการสวรรคต สิ่งแรกที่ทำคือ ร่วมวิงวอนขอพระเจ้าให้รับดวงวิญญาณท่านและคุ้มครอง

"สำหรับเรา 13 ต.ค. อาจเป็นแค่วันหนึ่ง แต่เราระลึกถึงท่านได้ทั้งชีวิตของเรา ผมเชื่อว่าบทเรียนชีวิตที่เราได้จากท่าน คิดถึงเมื่อไหร่ก็สัมผัสได้"

บาทหลวงอนุชาเชื่อว่า วันที่ 13 ต.ค. ไม่ควรเป็นวันที่รำลึกถึงการสูญเสียและความโศกเศร้าเท่านั้น แต่ควเป็นวันที่ทุกคนได้รำลึกถึงและสืบทอดสิ่งที่พระองค์สอนเพื่อใช้ชีวิตต่อไปอย่างเหมาะสม

ศักดิ์จุติ ปลั่งพงษ์พันธ์: คนขับรถรับจ้างสาธารณะ

วันที่ 13 ต.ค. 2559 ศักดิ์จุติ ชายผู้พิการที่มีอาชีพขับรถรับจ้างสาธารณะ ตัดสินใจทิ้งตั๋วเครื่องบินที่เขาซื้อไว้เพื่อเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ หลังจากได้รับทราบข่าวการสวรรคต

เขารู้สึกตกใจและ "ไม่อยากเชื่อว่าเป็นความจริง"

"วันนั้นผมร้องให้ ไม่น่าเชื่อว่าเราเสียพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดไปแล้ว นึกถึงพระราชดำรัสต่าง ๆ ของท่าน...เรานึกถึงท่านเสมอ อย่างเพลงโทรศัพท์ผมก็ยังใช้เพลงรูปที่มีทุกบ้าน เวลาเราท้อ เราเหนื่อย ท่านไม่เคยบ่นเหนื่อย ผมคิดตลอดมา"

ศักดิ์จุติยังจำได้ดีถึงวันที่เขามีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิดที่มัสยิดห้วยทรายใต้ จ.เพชรบุรี

"ไม่น่าเชื่อ จากฟ้ามืด พอขบวนท่านเสด็จมา ท้องฟ้ากลายเป็นสว่าง พอท่านเสด็จพระราชดำเนินมา ผมก็ก้มกราบ มีคนกระซิบบอกว่าอย่ามองท่านแต่ผมอดใจไม่ได้ มองไปที่กล้อง จำได้ติดตาคือท่านห้อยกล้องรุ่น FM2"

พล.ท.แสวง ขมะสุนทร : อดีตทหารราชองครักษ์

พล.ท. แสวง อายุ 103 ปี เป็นอดีตทหารราชองครักษ์ที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน

วันที่ในหลวงสวรรคต คุณตาแสวงเดินออกกำลังกายในบริเวณบ้านใน จ.สมุทรปราการ อย่างเช่นที่ทำทุกวัน แต่วันนั้นตั้งข้อสังเกตกับผู้ดูแลว่าวันนี้ฟ้าดูมืด บรรยากาศเงียบงัน แปลกกว่าทุกวัน

ข อความไว อาล ย พระบาทสมเด จพระปรม นทรมหาภ ม พลอด ลยเดช

ที่มาของภาพ, Kultida Samabuddhi/BBCThai

คำบรรยายภาพ,

พล.ท. แสวง ขมะสุนทร อดีตทหารราชองครักษ์วัย 103 ปี

บีบีซีไทยถามคุณตาว่า จำเหตุการณ์ในวันนั้นได้หรือไม่ คุณตาบอกตามตรงว่าจำไม่ได้ เพราะด้วยความชราภาพที่อายุเกิน 100 ปีแล้ว "แม้แต่จะจำว่าเมื่อวานกินอะไรไปยังจำไม่ค่อยได้เลย"

แต่คุณตามจำได้ว่าช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น ใจอยากจะไปกราบพระบรมศพอยู่ แต่ร่างกายไม่อำนวย ยืนหรือนั่งนานก็ไม่ไหว

"เวลานอนก็จะคิดถึงในหลวงว่า ถ้าท่านยังไม่ได้ไปจุติเป็นชั้นพระอรหันต์ คือ นิพพาน ไม่ไปเกิดอีกแล้ว ถ้าไม่ไปถึงขั้นนั้น ท่านก็อาจจะเป็นเทพ ท่านคงจะไม่ทิ้งไปไกล ท่านจะต้องวนเวียนอยู่ อยากจะให้ท่านช่วยบรรเทาภัยที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศเรา ทั้งภัยธรรมชาติเรื่องดินฟ้าอากาศ กับภัยที่เกิดจากประชาชนพลเมืองของพระองค์ซึ่งเกิดการแบ่งแยก แตกแยก ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกที ๆ มันจะบั่นทอนทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน" อดีตนายทหารราชองครักษ์บอกกับบีบีซีไทย