Mcdonalds เตร ยม 600 ล านบาทขยายสาขาเพ ม

มูลค่าร้านอาหาร QSR ในบ้านเราอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 Segment ใหญ่ๆ นั้นคือ 1.พิซซ่า 2. แฮมเบอร์เกอร์ และ 3.ไก่ทอด

โดยเมนูจานด่วนที่คนไทยชอบมากที่สุดนั้นคือ “ไก่ทอด” สะท้อนจากยอดขายตลาดไก่ทอดเมืองไทยสูงถึง 14,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

มากไปกว่านั้นทุกๆ ปี ตลาดไก่ทอดเติบโตต่อเนื่อง และในอดีต KFC แทบจะเป็นร้านเดียวในตลาดที่เสิร์ฟ “ไก่ทอด” อย่างจริงจัง พร้อมกับ “กดปุ่ม” ขยายสาขาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 33 ปีมีถึง 600 สาขาทั่วประเทศ

แน่นอนการเติบโตของ KFC ก็ต้องมีคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น Mcdonald’s เองจากที่เคยเน้นเสิร์ฟ “แฮมเบอร์เกอร์” ก็อยากจะเป็นพ่อครัวขาย “ไก่ทอด” ไม่ใช่แค่นั้น ยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำมันอย่าง ปตท. ก็เลือกมีอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ ด้วยการซื้อแฟรนไซส์ร้าน Texas Chicken โดยขอเริ่มต้นที่ปั๊มน้ำมันของตัวเอง อีกทั้งยังมีแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยๆ อย่าง ไก่ทอดบอนชอน,ไก่ทอดฮอทสตาร์ ฯลฯ

ตลาดไก่ทอด ณ เวลานี้จึงไม่ได้ “ผูกขาด” ที่ KFC แบรนด์เดียวเหมือนอย่างในอดีต แต่กำลังกลายเป็น “เตาไฟร้อนๆ” ที่แบรนด์ผู้ท้าชิงจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแย่งชิงลูกค้าจาก KFC ให้ได้มากที่สุด

เกมบริหารใหม่ เมื่อ ยัม เรสเทอรองตส์ มี 0 สาขา

แต่ใช่ว่า KFC จะนิ่งเฉยเพราะล่าสุดได้เปลี่ยนเกมบริหารครั้งใหญ่เมื่อเลือกจะเป็น “ผู้บริหารแบรนด์และแฟรนไชส์” จากแต่เดิมนั้น KFC ภายใต้การบริหารของ ยัม เรสเทอรองตส์ มีสาขาอยู่ 395 สาขา (บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด มี 205 สาขา)

แต่ในปีนี้ “ยัม เรสเทอรองตส์” เลือกขายสาขาที่อยู่ในมือทั้งหมด รายแรกคือบริษัท RDCL 130 สาขาต่อมาคือขายอีก 265 สาขาให้แก่ “ไทยเบฟเวอเรจ” โดยมีมูลค่าดีล 11,300 ล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ยัม เรสเทอรองตส์” เวลานี้มีแค่ 0 สาขา

ทำให้หน้าที่ของ “ยัม เรสเทอรองตส์” ต่อจากนี้ไปคือการบริหารแฟรนไชส์ทั้ง 3 ราย พร้อมกับมีหน้าที่ทำการตลาดสร้างแบรนด์รวมไปถึงการคิดค้นเมนูอาหารใหม่ๆ ให้แก่ 3 แฟรนไชส์นำไปขายหน้าร้าน

ข้อดีของการขายสาขาทั้งหมดในมือ “ยัม เรสเทอรองตส์” นั่นคือสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่บริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว

ที่สำคัญจากเดิม KFC มี 600 สาขาและการจะเพิ่มเป็น 1,000 สาขาตามเป้าหมายอีก 6 -7 ปีข้างหน้า ต้องบอกว่าหากเป็นแค่ “ยัม เรสเทอรองตส์” กับ “บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด” การจะก้าวไปถึงเป้าหมายเป็นเรื่องยากเพราะนั่นหมายถึงเงินลงทุนจำนวนมหาศาล

เพราะจากข้อมูลของ KFC ระบุว่า 1 สาขาต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 5-7 ล้านบาทและหากต้องเพิ่มอีก 400 สาขานั้นแปลว่าต้องใช้เงิน 2,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย

1.000 สาขา QSR จะได้เหรอ?

แม้โมเดลธุรกิจนี้จะทำให้รายได้และกำไรของ “ยัม เรสเทอรองตส์” ลดน้อยลง แต่การไม่ต้องลงทุนขนาดใหญ่ และไม่ต้องเสี่ยงกับสภาวะการขาดทุนในบางสาขาที่ทำเลอาจไม่ดีประสบปัญหาขาดทุน เพราะจะเป็นหน้าที่ของ 3 Partner ที่จะทำหน้าที่ขยายสาขาและรับความเสี่ยงตรงนี้ ก็ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่ดีไม่ใช่น้อย

จริงอยู่ว่าภาคการแข่งขันตลาดไก่ทอดนั้นใครมีจำนวนสาขาเยอะกว่าย่อมได้เปรียบ ยิ่งแบรนด์อย่าง KFC ที่ผู้บริโภคคุ้นลิ้นในรสชาติไก่ทอดยิ่งเป็น “แต้มต่อ” แต่คำถามก็คือ 1,000 สาขาของ KFC มีจำนวนเยอะเกินกว่า Demand ในตลาดหรือไม่?

แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า หากสังเกตศูนย์การค้าและ Hyper Market อย่าง บิ๊กซี และ เทสโก้ โลตัส ขยายสาขาไปต่างจังหวัดมากขึ้น อีกทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT ก็ขยายออกไปสู่นอกเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นเป้าหมายของ KFC และที่สำคัญกว่านั้นคือไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคต่างจังหวัดก็ชื่นชอบที่จะทานข้าวนอกบ้านมากขึ้นหากเทียบกับในอดีต

KFC กำลังบอกว่า 1,000 สาขา เป็นไปได้อย่างแน่นอน โดยมีพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นเป้าหมายใหญ่

McDonald’s เกมที่ขอเป็นตัวเลือก

ในขณะที่คู่แข่งอย่าง McDonald’s ที่ปัจจุบันมีเกือบๆ 240 สาขาทั่วประเทศ พร้อมกับประกาศชัดเจนว่าจะลงทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาทเพื่อให้ McDonald’s มี 400 สาขาในประเทศไทย

แนวทางของ McDonald’s ก็ไม่ต่างจาก KFC ที่เชื่อว่าจำนวนสาขายังเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ QSR และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ McDonald’s กำลังเอาจริงเอาจังกับการขาย “ไก่ทอด” มากกว่าในอดีต ด้วยการเปิดเมนูใหม่ “แมคไก่ทอดจัมโบ้” ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาพร้อมกับใช้งบการตลาดถึง 50 ล้านบาท

นอกจากปรับปรุงรสชาติไก่ทอดของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม McDonald’s ยังเลือกที่จะลดราคาจากเดิมขายชิ้นละ 40 บาทเหลือ 37 บาท เพราะ McDonald’s รู้ดีว่าอีกหนึ่ง “จุดตัด” ที่จะใช้ดึงดูดลูกค้าในตลาด QSR นั้นคือ “ไก่ทอดชิ้นไหนมอบความคุ้มค่ามากกว่ากัน”

ถึงอย่างไรก็ตาม McDonald’s รู้ดีว่าการจะไปทาบรัศมี “ราชาไก่ทอด” อย่าง KFC เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่คาดหวังในภารกิจครั้งนี้ก็คือขอเป็นอีกหนึ่ง “ตัวเลือก” พร้อมกับเชื่อว่าเมื่อลูกค้าเข้าร้านนอกจากจะซื้อ แฮมเบอร์เกอร์ และเมนูอื่นๆ แล้วนั้นก็น่าจะมี “ไก่ทอด” เพิ่มมาอีกหนึ่งรายการในบิลจ่ายเงินลูกค้า

ปตท. ขอขาย “ไก่ทอด”

ในขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่เงินหนาอย่าง ปตท เองที่เคยประกาศชัดเจนว่าในอนาคตอันใกล้ต้องการให้กลุ่มธุรกิจน็อนออยล์มีสัดส่วน 50% (ธุรกิจที่ไม่ใช่การขายน้ำมัน) โดย ปตท.มีหลายธุรกิจทีเป็นจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมา แล้ว 1 ในนั้นคือการซื้อแฟรนไซส์ Texas Chicken แบรนด์ร้านไก่ทอดเปิดให้บริการแล้วใน 23 ประเทศทั่วโลก มีสาขากว่า 1,650 สาขา

ปตท.มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลบวกกับทำเลปั๊มน้ำมันมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ แน่นนอนทำเลแรกที่ ปตท จะใช้ในการขยายสาขานั้นคือการคัดเลือกปั้มน้ำมันตัวเองในสาขาที่มี Traffic สูง

ปตท ไม่ได้มองเฉพาะแค่พื้นที่ปั้มน้ำมันตัวเองแต่ยังคิดที่จะขยาย Texas Chicken ไปยังศูนย์การค้าและ Community mall ชั้นนำ

โดยตาม Road Map คือภายใน 8 – 10 ปีจะต้องมี 70 สาขา โดยปีแรกที่เริ่มทำธุรกิจจะมี 11 สาขาโดยใช้งบลงทุนเฉลี่ย 15 ล้านบาทต่อสาขา

ถึงจะเป็นน้องใหม่แต่ ปตท.ก็รู้ทางตลาด QSR เป็นอย่างดีว่านอกจากจำนวนสาขา,รสชาติไก่ทอด, อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้นั้นคือการเสิร์ฟความคุ้มค่าทำให้เห็นการจัดเซทเมนูหลากหลายเซทที่ส่วนใหญ่เซทหนึ่งราคาไม่เกิน 100 บาท

พัชรา อนามบุตร ผู้จัดการค้าปลีก บมจ.ปตท เปิดเผยว่า ณ เวลานี้ Texas Chicken ในบางสาขามียอดขาย 2.5 ล้านบาท/เดือนและประมาณ 500 บิล/วัน และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 550 บิลต่อวันใน 5 ปีข้างหน้า