การแก้ไข เพิ่มเติม ปรับเปลี่ยนระบบในการทํางาน

                   

การจัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์ ถือเป็นกระบวนการในการทำงานที่้ต้องดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

                        1.  การคัดเลือกหัวข้อโครงงาน

                            หัวข้อส่วนใหญ่ที่นำมาพัฒนาเป็นโครงงานคอมพิวเตอร์ มักจะได้มาจากปัญหา คำถาม หรือความสนใจในเรื่องต่าง ๆ การสังเกตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

                            ปัญหาที่นำมาพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์นั้นได้จากแหล่งที่ต่างกัน ได้แก่ การอ่านค้นคว้าจากหนังสือ เอกสาร หนังสือพิมพ์ หรือวารสารต่าง ๆ การไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ การฟังบรรยายทางวิชาการ รายการทางวิทยุและโทรทัศน์ ข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการสนทนา อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนนักเรียนหรือกับบุคคลอื่น ๆ กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน งานอดิเรกของนักเรียน การเข้าชมงานนิทรรศการหรืองานประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์

                        2. การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล

                            การศึกษาจากเอกสารและแหล่งข้อมูล รวมถึงการขอความปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิจะช่วยให้เกิดแนวคิดในการกำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะศึกษาได้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นและได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่จะศึกษา จนสามารถใช้ออกแบบและการวางแผนดำเนินการทำโครงงานได้อย่างเหมาะสม

                            ในการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูลจะต้องได้คำตอบว่า จะทำอะไร ทำไมต้องทำ ต้องการให้เกิดอะไร ทำอย่างไร ใช้ทรัพยากรอะไร ทำกับใคร และจะเสนอผลงานอย่างไร

                        3. การจัดทำข้อเสนอโครงงาน

                            การจัดทำข้อเสนอโครงงานเป็นการจัดทำเค้าโครงของโครงงานเพื่อเสนอครูที่ปรึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

                            3.1 ศึกษาค้นคว้าเอกสารอ้างอิง และรวบรวบรวมข้อมูลที่ได้จากผู้ทรงคุณวุฒิ

                            3.2 วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดขอบเขตและลักษณะของโครงงานที่จะพัฒนา

                            3.3 ออกแบบการพัฒนา มีการกำหนดลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และตัวแปลภาษาโปรแกรม และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้

                            3.4 กำหนดตารางการปฏิบัติงานของการจัดทำเค้าโครงของโครงงาน ลงมือทำโครงงานและสรุปรายงานโครงงาน โดยกำหนดช่วงเวลา
                                  อย่างกว้าง

                            3.5 ทำการพัฒนาโครงงานขั้นต้น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น โดยอาจจะทำการพัฒนาส่วนย่อย ๆ บางส่วน ตามที่ได้ออกแบบไว้แล้ว นำผลจากการศึกษาในช่วงนี้ไปปรับปรุงแผนการทดลองที่ออกแบบไว้ในครั้งแรกให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

                            3.6 เสนอเค้าโครงของโครงงานคอมพิวเตอร์ต่อครูทึ่ปรึกษา เพื่อขอคำแนะนำปรับปรุงแก้ไข เพราะในการวางแผนการศึกษา ความคิดของนักเรียนอาจจะไม่ครอบคลุมทุกด้านเนื่องจากยังขาดประสบการณ์ จึงควรถ่ายทอดความคิดที่ได้ศึกษาและบันทึกไว้ให้ครูทราบเพื่อรับคำแนะนำ และนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

                        เมื่อผู้เรียนได้ศึกษาเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ และเลือกเรื่องที่จะทำโครงงานคอมพิวเตอร์รวมทั้งวางแผนการทำโครงงานทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จึงทำการเขียนเค้าโครงของโครงงานเพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดและแนวทางในการทำโครงงานคอมพิวเตอร์

                        นอกจากจะต้องใช้หลักการทางวิชาการในการวางแผนทำโครงงานแล้ว ยังต้องมีข้อตกลงและเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การขออนุญาตใช้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ การจัดหาซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ เครื่องมือและตัวแปลภาษาโปรแกรม เพื่อช่วยให้การทำโครงงานดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีองค์ประกอบเค้าโครงของโครงงานคอมพิวเตอร์ ดังนี้

                                1.  ชื่อโครงงาน  ต้องสื่อว่าทำอะไรกับใคร เพื่ออะไร เช่น โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา โครงงานพัฒนาเครื่องมือ

                                2. ชื่อผู้จัดทำ  ระบุถึงผู้รับผิดชอบโครงงานอาจเป็นรายกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้

                                3. ครูที่ปรึกษา ระบุชื่อ สกุลของครูที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาควบคุมการทำโครงงานของนักเรียน

                                4. ระยะเวลาดำเนินงาน  ให้ระบุเวลาตั้งแต่เริ่มทำโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการบริหารจัดการเพื่อใช้วางแผนควบคุมการทำงาน

                                5. แนวคิด ที่มา อธิบายถึงสาเหตุที่เลือกทำโครงงาน กล่าวถึงความต้องการและความคาดหวังที่จะเกิดผล

                                6. วัตถุประสงค์ ระบุสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงงานนี้ในเชิงกระบวนการและผลลัพธ์ที่ได้

                                7. หลักการทฤษฎี อธิบายหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องที่นำมาใช้ในโครงงาน

                                8. วิธีดำเนินงาน กล่าวถึงกิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงาน

                                9. ขั้นตอนปฏิบัติ กล่าวถึงวันเวลาและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น

                                10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ  ระบุถึงสภาพของผลที่ต้องการให้เกิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

                                11. เอกสารอ้างอิง ระบุชื่อเอกสารข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่าง  ๆ ที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน

                        4. การพัฒนาโครงงาน

                             เมื่อเค้าโครงของโครงงานได้รับความเห็นชอบของครูที่ปรึกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการลงมือพัฒนาโครงงานตามขั้นตอนที่วางไว้ เช่น จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม รวมทั้งการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของสมาชิกในกลุ่มให้ชัดเจน แล้วจึงดำเนินการทำโครงงาน ขณะเดียวกันต้องมีการทดสอบ ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาโครงงานเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่พัฒนาขึ้นนั้น ทำงานได้ถูกต้องตรงกับความต้องการที่ระบุไว้ในเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพตามขั้นตอนดังนี้

                                4.1 การเตรียมการ ต้องเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาให้พร้อมและควรเตรียมสมุดบันทึกหรือบันทึกเป็นแฟ้มข้อความไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับบันทึกการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างทำโครงงาน ได้แก่ การดำเนินการเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร มีปัญหาและแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ที่พบ

                                4.2 การลงมือพัฒนา เป็นการปฏิบัติตามแผนที่วาง ไว้ในเค้าโครง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมได้ หากพบว่าจะช่วยทำให้ผลงานพัฒนาได้ดีขึ้น โดยจัดระบบการทำงานโดยทำส่วนที่เป็นหลักสำคัญให้เสร็จก่อน จึงค่อยทำส่วนที่เป็นส่วนประกอบหรือส่วนเสริม เพื่อให้โครงงานมีความสมบูรณ์มากขึ้น และถ้ามีการแบ่งงานกันทำให้ตกลงรายละเอียดในการเชื่อมต่อชิ้นงานที่ชัดเจนด้วย รวมทั้งต้องพัฒนาระบบงานด้วยความละเอียดรอบคอบ บันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและครบถ้วน

                                4.3 การทดสอบผลงานและแก้ไข เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของผลงาน เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่พัฒนาขึ้น ทำงานได้ถูกต้องตรงกับความต้องการที่ระบุไว้ในเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ

                                4.4 การอภิปรายและข้อเสนอแนะ เมื่อพัฒนาผลงงานเรียบร้อยแล้ว ให้จัดทำสรุปด้วยข้อความที่สั้นกะทัดรัดครอบคลุมหัวข้อโครงงาน เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงสิ่งที่ค้นพบจากการทำโครงงานและทำการอภิปรายผล เพื่อพิจารณาข้อมูลและผลที่ได้ พร้อมกับนำไปหาความสัมพันธ์กับหลักการ ทฤษฎี หรือผลงานที่ผู้อื่นได้ศึกษาไว้แล้ว ทั้งนี้ยังรวมถึงการนำหลักการ ทฤษฎีหรือผลงานของผู้อื่นมาใช้ประกอบการอภิปรายผลที่ได้

                                4.5 แนวทางการพัฒนาโครงงานในอนาคตและข้อเสนอแนะ เมื่อทำโครงงานเสร็จสิ้นลงแล้ว นักเรียนอาจพบข้อสังเกต ประเด็นที่สำคัญหรือปัญหา ซึ่งสามารถเขียนเป็นข้อเสนอแนะสำหรับผู้สนใจจะนำไปพัฒนาผลงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                        5. การเขียนรายงานโครงงาน

                            การเขียนรายงานโครงงาน เป็นวิธีการสื่อความหมายเพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจความคิด วิธีการดำเนินการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงงานนั้น โดยในการเขียนรายงานนั้น ควรใช้ภาษาที่อ่านง่าย ชัดเจน กระชับ ตรงไปตรงมา รวมทั้งให้ผู้จัดทำคู่มือการใช้งาน ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

                            5.1 ชื่อโครงงาน

                            5.2 ความต้องการของระบบคอมพิวเตอร์ ระบุรายละเอียดของคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีเพื่อจะใช้กับโครงงานนั้น

                            5.3 ความต้องการของซอฟต์แวร์ ระบุรายชื่อซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่จะให้โครงงานนั้นทำงานได้อย่างสมบูรณ์

                            5.4 คุณลักษณะของโครงงาน ซึ่งอธิบายว่าผลงานนั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง รับอะไรเป็นข้อมูลขาเข้า และอะไรที่ออกมาเป็นข้อมูลขาออก

                            5.5 วิธีการใช้งานของแต่ละฟังก์ชัน อธิบายว่าจะต้องกดคำสั่งใด หรือกดปุ่มใด เพื่อให้ผลงานทำงานในฟังก์ชั่นหนึ่ง  ๆ 

                        6. การนำเสนอและแสดงโครงงาน

                            เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการพัฒนาโครงานเสร็จเรียบร้อยตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยเป็นการนำเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการในการจัดทำโครงงาน และโปรแกรมที่ได้พัฒนาขึ้นมาให้กับคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องของโครงงานนั้น จึงจัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งของการทำโครงงาน เพื่อแสดงออกถึงผลผลิต ความพยายามในการทำงานที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเท และเป็นวิธีทำให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจถึงผลงานนั้น