ปลาปอมปาดัวร์ เลี้ยงยากไหม

หลากหลายความคิดเห็น คนเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์

สำหรับสัปดาห์นี้ ทาง “ทีมงานวาไรตี้สัตว์เลี้ยง” จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับผู้เลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งเป็นที่นิยมเลี้ยงมามากกว่า 30 ปี และเพราะกระแสการเลี้ยงที่ต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เลี้ยงหน้าใหม่ที่สนใจปลาสายพันธุ์นี้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2559 เวลา 07.01 น.

ปลาปอมปาดัวร์ เลี้ยงยากไหม

พบกันอีกเช่นเคยทุกวันอาทิตย์ กับ วาไรตี้สัตว์เลี้ยงสำหรับสัปดาห์นี้ ทาง ทีมงานวาไรตี้สัตว์เลี้ยงจะพาทุกท่านไปพูดคุยกับผู้เลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งเป็นที่นิยมเลี้ยงมามากกว่า 30 ปี และเพราะกระแสการเลี้ยงที่ต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เลี้ยงหน้าใหม่ที่สนใจปลาสายพันธุ์นี้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยวันนี้ทางทีมงานได้ลงไปบุกตลาดปลาสวยงาม ที่ถือว่าเป็นแหล่งรวบรวมปลาเกรดดีมีคุณภาพเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญได้มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญปลาปอมปาดัวร์ คือ คุณรณิดา ฐิตะโชคนา คุณพงศธร ไกรว่อง และ คุณเอกราช กลิ่นบุบผา ที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ อีกด้วยครับ

หลาย ๆ คนคงยังไม่ค่อยคุ้นกับเจ้าปลาปอมปาดัวร์ คุณรณิดา หรือพี่ตุ๊ก เล่าให้ทางทีมงานฟังว่า ปลาปอมปาดัวร์ (Pompadour) หรือที่เรียกกันว่า Discus (ซึ่งหมายถึงทรงกลม อันมาจากลักษณะของรูปร่างปลานั่นเอง) ปอมปาดัวร์เป็นปลาในตระกูลปลาหมอสี (Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ ชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณลุ่มน้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลผ่านเอื่อย ๆ และมีระดับความลึกของน้ำไม่มากนัก มักหลบอาศัยอยู่ตามรากไม้น้ำหรือใต้พุ่มไม้น้ำที่มีลักษณะรกทึบจนแสงแดดแทบส่องไม่ถึง ปลาชนิดนี้จัดได้ว่ามีความทนต่อสภาพน้ำต่าง ๆ ได้ดีพอสมควร เจ้าปลาชนิดนี้ถือได้ว่าเป็นปลาที่มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัว ลักษณะตัวของปลาปอมปาดัวร์จะมีรูปร่างทรงกลมเป็นรูปไข่คล้ายจานมีขนาดใหญ่เต็มที่ไม่เกิน 7 นิ้ว แต่บางคนสามารถเลี้ยงได้ถึง 12 นิ้ว ก็มี เจ้าปลาชนิดนี้ ชอบอยู่ในอุณหภูมิน้ำประมาณ 30-32 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาให้มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น และเหมาะกับอากาศในเมืองไทย

ปลาปอมปาดัวร์ เลี้ยงยากไหม

ด้าน คุณเอกราช หรือ พี่หนุ่ม เล่าให้ผมฟังต่ออีกว่า สำหรับเจ้าปลาปอมปาดัวร์ในบ้านเราที่มีอยู่นั้นเป็นปลาที่ประเทศไทยเพาะพันธุ์ขึ้นมาเอง ซึ่งจะทำให้ปลามีโครงสร้างที่สวยงาม เหมาะที่จะอยู่กับสภาพอากาศบ้านเรา ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากดูแลง่ายสีสันสวยงาม ส่วนอีกชนิดหนึ่งเจ้าปลาปอมปาดัวร์ป่า หรือปลาที่นำเข้ามาจากแถบประเทศอเมริกาใต้ ซึ่งมาจากต้นกำเนิดของเขาโดยเฉพาะ หากจะพูดถึงสายพันธุ์ของปอมปาดัวร์ที่อยู่ในความนิยมในปัจจุบันมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์สีเดียว (Solid color) อย่างพวก บลูไดมอนด์, พันธุ์สีฟ้าตาแดง, พันธุ์สโนว์ไวท์ หรือปอมปาดัวร์ขาว, สีอื่น ๆ อย่างเรดเทอร์คอร์ยส์, เรดแอนด์ไวท์ (Red & White) ฯลฯ แต่กระแสที่มาแรงตอนนี้คงหนีไม่พ้นปลาจุดต่าง ๆ ซึ่งมีต้นสายมาจากการพัฒนาปอมปาดัวร์เขียวอย่างพวกเสน็คสกิน ซึ่งมีจุดเล็ก ๆ ถี่ละเอียดกระจายอยู่ทั่วลำตัว ที่เดี๋ยวนี้ได้พัฒนาจนกระทั่งเป็นจุดกลมใหม่ สวยงามกว่าที่เห็นในอดีตไปอีกแบบหนึ่ง บางตัวก็มีปรากฏให้เห็นเป็นวงแหวนคล้ายเสือดาว ซึ่งพันธุ์ต่าง ๆ นี้ล้วนถูกพัฒนามาจากบรรพบุรุษสายพันธุ์ “รอยัลบลู” (Royal Blue) และ “รอยัลกรีน” (Royal Green) ต้นกำเนิดของปอมปาดัวร์ที่เพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ถัดมาที่ คุณพงศธร หรือ พี่แชมป์ เจ้าของร้านที่นำเข้าปลาปอมปาดัวร์ป่า บอกทางทีมงานว่า เจ้าปอมปาดัวร์ป่า ตอนแรกที่นำเข้ามาในเมืองไทย  ก็กังวลเหมือนกันว่าจะได้ความนิยมจากผู้เลี้ยงปลา
หรือไม่ เพราะตอนนี้ที่เจ้าปอมปาดัวร์ป่าเข้ามาที่ร้านก็ตกใจเป็นอย่างมาก เพราะสภาพเจ้าปลาเหมือนอยู่ในสมรภูมิรบ มีร่องรอยการต่อสู้หลายแห่ง เห็นตอนแรกก็กังวลใจว่า จะเสียเงินฟรีหรือไม่ และเจ้าปลา
จะอยู่รอดอีกกี่วัน ตอนนั้นบอกเลยว่า นอนไม่ค่อยหลับ จนกระทั่งเลี้ยงไปได้ 1 อาทิตย์ก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความแข็งแรงของเจ้าปลาคือแถบสีเริ่มเห็นชัดขึ้น ดูกระปรี้กระเปร่าขึ้น จนกระทั่งเลี้ยงไปได้อีก 2 เดือน สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ สีของเขาเห็นชัดขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเจ้าปลาที่เพาะอยู่ในเมืองไทย

ปลาปอมปาดัวร์ เลี้ยงยากไหม

คุณพงศธรบอกต่ออีกว่า สำหรับเจ้าปลาปอมปาดัวร์ป่า จับได้ปีละครั้ง เพราะในป่าอะเมซอนจะมีปริมาณฝนตกไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลาของปี ช่วงน้ำมาก น้ำในแม่น้ำจะเอ่อสูงขึ้นจนท่วมฝั่ง น้ำจะเย็นหน่อยปลาจึงเริ่มจับคู่วางไข่ตามรากไม้ที่น้ำท่วมไปถึงและเลี้ยงลูก พอน้ำเริ่มลดลงจนถึงระดับต่ำสุดในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ระดับน้ำหายไปจากผืนป่าและลดต่ำกว่าตลิ่งมาก ระดับน้ำที่ตื้นขึ้นนี้ทำให้การจับปลาเป็นไปได้ง่ายสุด ประกอบกับปลามีความสมบูรณ์อ้วนท้วนที่สุดเพราะได้กินอาหารมากมายจากในผืนป่าในระหว่างที่น้ำขึ้นสูงด้วย ซึ่งทางต่างประเทศจับเจ้าปลาได้แล้วนำมาเลี้ยงต่อประมาณ 1–2 อาทิตย์ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ก่อนที่จะส่งมาให้ทางประเทศไทย ซึ่งทางผมเองก็นำเจ้าปลามาฝึก เพื่อให้เขาชินกับอากาศเมืองไทย แรก ๆ ปลาจะไม่ค่อยกิน แต่ต้องจำใจฝืนกินอาหารที่จัดให้ แม้จะกินได้แต่ไม่เหมือนอยู่ป่า ดังนั้นจึงต้องนำเจ้าปลาฝึก เพื่อให้คนซื้อเขาไปเลี้ยงดูแลเขาได้ จนผมฝึกให้เขาสามารถกินได้ทั้งอาหารเม็ด และหนอนแดงแช่แข็งได้แล้วครับ

“ปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีนิสัยค่อนข้างรักสงบ ไม่เหมาะที่จะปล่อยรวมกันกับปลาอื่น หรือปล่อยเลี้ยงรวมกันในตู้ที่แน่นจนเกินไป ปกติแล้วจะไม่ค่อยก้าวร้าว ซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น ๆ ในตระกูลเดียวกันที่ส่วนใหญ่แล้วจะมีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว เว้นเสียแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์วางไข่เท่านั้น ทั้งนี้ ถ้าอาศัยอยู่ในถิ่นธรรมชาติก็มักหวงอาณาเขตหากิน และมีจ่าฝูงเที่ยวรังแก รังควานปลาตัวอื่น ๆ ไปทั่ว โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในตู้เลี้ยงแคบ ๆ จะไม่ชอบอาศัยอยู่รวมกับปลาตัวอื่น ๆ มักจะกัดกันเองอยู่เสมอ สำหรับอาหารของเจ้าปลาคือ พวก หนอนแดง ไรแดง ไข่กุ้งก้ามกราม ไข่ต้ม การให้อาหารควรให้ในปริมาณที่น้อยแต่ให้บ่อยเพื่อป้องกันอาหารเหลืออยู่ในตู้ คุณภาพน้ำที่อยู่ในตู้ปลาจะไม่เสียไปด้วย” คุณเอกราช กลิ่นบุบผา เล่าทิ้งท้าย

ปลาปอมปาดัวร์ เลี้ยงยากไหม

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงเจ้าปลาปอมปาดัวร์ สามารถพูดคุยกับ คุณรณิดา ฐิตะโชคนา ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก : Took Atdiscus หรือ คุณพงศธร ไกรว่อง ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก : Champ SiLver และ คุณเอกราช กลิ่นบุบผา ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก : Blue Moon Discus 

หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของท่านได้ที่ หรือ แฟนเพจเฟซบุ๊ก : เดลินิวส์ สัตว์เลี้ยง และพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะครับ.

....................................
พ่อทูนหัว เรื่อง/ภานุพงศ์ พนาวัน ภาพ

ปลาปอมปาดัวร์ เลี้ยงยากไหม

คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่

  • เห็นด้วย

    100%

  • ไม่เห็นด้วย

    0%