ความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย

อาเซียน -รัสเซียกำหนดแผนงานหลังปี 2015 สานต่อการกระชับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย

11 มิ.ย. 62

184 View

 

อาเซียน -รัสเซียกำหนดแผนงานหลังปี 2015

สานต่อการกระชับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย

ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – รัสเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้ตกลงแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนภายหลังปี 2015 (Post2015ASEAN-Russia Trade and InvestmentWork Programme)เพื่อสานต่อการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและรัสเซีย และแก้ไขปัญหาอุปสรรคระหว่างกัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและรัสเซียครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้รับรองแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนภายหลังปี2015
ซึ่งประกอบด้วยแผนงานการประชุมหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับสูง แผนงานรายสาขา กิจกรรมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ภายใต้แผนงานดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญระหว่างอาเซียนกับรัสเซียเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อาทิ การประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชนของอาเซียนและรัสเซีย การจัดการสัมมนาให้ความรู้กับประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union- EEU) การจัดการสัมมนาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และการจัดทำ ASEAN- Russia Energy Cooperation Work Programme for 2015-2020 ซึ่งจะเป็นแผนงานความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย ซึ่งแผนงานหลังปี 2015นี้ ถูกจัดทำบนพื้นฐานและต่อเนื่องจากแผนงานที่ดำเนินการระหว่างปี 2555-2558 อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่อาเซียนและรัสเซียมีความสนใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การลงทุน นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา การท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากรพลังงาน SMEsและ  โลจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนที่ดำเนินการระหว่างปี 2555-2558ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อกระชับความร่วมมือ เช่น ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ด้านการเกษตร พลังงาน และการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งรวมถึงการจัดคณะนักธุรกิจรัสเซียจำนวน19บริษัทในสาขาต่างๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมัน การขนส่ง อากาศยาน เป็นต้น มาประเทศมาเลเซียและบรูไน ระหว่างวันที่ 22 – 29สิงหาคม 2558และการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านe-commerce ณ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอาเซียนเชิญชวนให้รัสเซียจัดคณะนักธุรกิจมาประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นต่อไปในปีหน้า

การค้าระหว่างอาเซียนและรัสเซียในปี 2557 มีมูลค่า 2.25หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ13จากปี 2556 ซึ่งมีมูลค่า 1.99หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกจากอาเซียน ไปรัสเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3จากมูลค่า 5.2พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2556เป็น 5.4พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557ในขณะที่การนำเข้าของอาเซียนจากรัสเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5เป็น 1.7หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่แปดของอาเซียนในปี 2557

การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2553 - 2557) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 4.89 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2557 รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในภูมิภาค CISโดยการค้า       สองฝ่ายมีมูลค่า4.91พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 1.08 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 2.5พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวสนับสนุนให้รัสเซียส่งเสริมความร่วมมือที่สอดคล้องกับสาขาความร่วมมือที่ระบุในมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และแสดงความยินดีต่อข้อเสนอของรัสเซียในการประกาศให้ปี ๒๕๖๕ เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอาเซียน-รัสเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมถึงความร่วมมือภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ ความร่วมมือด้านพลังงานทางเลือก

การประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ

               เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2559 นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ (ASEAN-Russia Commemorative Summit) ณ เมืองโซชิ สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย และเพื่อเป็นโอกาสให้อาเซียนและรัสเซียได้หารือและกำหนดทิศทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน


               ในภาพรวม รัสเซียมุ่งหวังที่จะมีบทบาทในการส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคด้วยการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) และการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยไทยได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียในทุกมิติ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งสนับสนุนความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ทั้งในและระหว่างภูมิภาค


               ด้านการเมืองและความมั่นคง ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการรับมือกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล การค้ามนุษย์ การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่ของอาเซียนทั้ง EAS, ARF และ ADMM-Plus  ทั้งนี้ ไทยได้กล่าวสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การทำงานของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านยาเสพติดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัสเซียกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอาเซียน (ASEAN-NARCO)


               ด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย และการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก โดยเน้นบทบาทของนวัตกรรม เทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน โดยรัสเซียเสนอให้จัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union – EAEU) กับอาเซียน รวมทั้งการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย และ Shanghai Cooperation Organization รวมทั้งโครงการเส้นทางสายไหมของจีน  ทั้งนี้ ไทยได้กล่าวย้ำความสำคัญของการขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะอุปสรรคที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน และการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของแต่ละประเทศ นอกจากนั้น ไทยยังกล่าวสนับสนุนความร่วมมืออาเซียน-รัสเซียด้านความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาที่ยั่งยืน


               ด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การกำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย  นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไทยได้กล่าวสนับสนุนความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการให้ความร่วมมือด้านมนุษยธรรม ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัสเซีย โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ