เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด อ่าน

“เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนถ่ายทอดแง่คิด ประสบการณ์ในช่วงวัยรุ่นและชีวิตของผู้เขียนให้กับผู้อ่าน หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดอะไรหลายอย่าง มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังจากอ่านจบแล้วเลยอยากสรุปข้อคิดหลายๆอย่างจากหนังสือเล่มนี้แบ่งปันให้ คนอื่นบ้าง เผื่อได้ข้อคิดอะไรและไปปรับใช้กับชีวิตตัวเองดูบ้างครับ

โดยในเริ่มเเรกหนังงสือใช้การเปรียบเทียบชั่วโมงในนาฬิกากับอายุจริงที่อายุขัย 80 ปี ซึ่งในคำนำสำนักพิมพ์ได้เปรียบเทียบไว้ประมาณนี้ครับ

ถ้าตอนนี้คุณอายุ 20 ปี นาฬิกาชีวิตคุณอยู่ที่ 6 โมงเช้า พระอาทิตย์ขึ้นพอดี
ถ้าตอนนี้คุณอายุ 30 ปี นาฬิกาชีวิตคุณอยู่ที่ 9 โมงเช้า เป็นเวลาในการทำงาน
ถ้าตอนนี้คุณอายุ 40 ปี นาฬิกาชีวิตคุณอยู่ตอนเที่ยงตรง เป็นช่วงเวลาพักสั้นๆ ก่อนจะกลับไปสู่ชีวิตอีกครั้ง
ถ้าตอนนี้คุณอายุ 60 ปี นาฬิกาชีวิตคุณอยู่ที่เวลา 6 โมงเย็น เป็นช่วงเวลาอาทิตย์อัสดง และเป็นช่วงเวลาเลิกงาน

ซึ่งเอาจริงๆตรงนี้ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรครับ แต่ก็อันนี้เเล้วเเต่ตัวบุคคลเนอะ แต่ point ที่อาจารย์คิมต้องการจะสื่อหลักๆเลยคือ สำหรับหนุ่มสาวที่กำลังจะเรียนจบ หรือ เพิ่งเรียนจบออกมาได้ไม่นานคุณไม่จำเป็นต้องรีบที่จะประสบความสำเร็จขนาดนั้นก็ได้ เพราะอย่างที่รู้กันในปัจจุบันโลกของเรานั้นถูกตรึงไว้กับ social media อย่างมาก เราเห็นคนอายุน้อยหลายคนประสบความสำเร็จตั้งเเต่ช่วง 20 ต้นๆ ซึ่งมันเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวสมัยนี้มุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ (ประสบความสำเร็จ ณ ที่นี้คือรวยยยยยย ) แต่คำถามที่อาจารย์คิมอยากจะสื่อออกมานั้นก็คือ การประสบความสำเร็จของเเต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือคุณต้องรู้ตัวว่าประสบความสำเร็จของคุณคือแบบไหน

อาจารย์คิมได้ทิ้งคำถามว่าผู้อ่านคิดว่าดอกไม้ชนิดไหนเยี่ยมที่สุด ไม่ใช่ดอกไม้ที่คุณชอบ แต่หมายถึงดอกไม้ที่เยี่ยมที่สุดในความคิดคุณ? ถ้าคุณคิดดู อาจจะมีคำตอบได้ต่างๆนานา เเละหลายคนก็คงตอบว่าไม่มีดอกไม้ที่เยี่ยมที่สุด เนื่องจากดอกไม้แต่ละชนิดมีเวลาในการผลิบานและอยู่ในช่วงที่สวยที่สุดในต่างฤดูกาลและต่างช่วงเวลากัน

ปัญหาก็คือ เราเข้าใจเรื่องของดอกไม้นี้ได้อย่างง่ายดาย แต่พอเป็นชีวิตจริงเราทุกคนกลับมองว่าดอกไม้ที่ผลิบานก่อนคือดอกไม้ที่งดงามที่สุด

“เราต้องการอะไร ?”

“ ทำอะไรแล้วมีความสุข ? ”

“อะไรที่เราถนัดบ้าง ? ”

“ เราเป็นใคร ? ”

จงทบทวนตัวเองอยู่เสมอ เพราะคำตอบนั้นไม่อาจหาได้จากไหนนอกจากตัวคุณเอง

ชีวิตเราเหมือนจิ๊กซอร์ขนาดใหญ่ที่จะต้องต่อทีละชิ้นๆให้ประสานกันเป็นอย่างดี
ในชีวิตเรา สิ่งที่จำเป็นมากกว่านาฬิกาคือเข็มทิศ สิ่งที่สำคัญมากกว่าไปได้เร็วแค่ไหน คือ ไปถูกทางหรือไม่ นอกจากนี้สิ่งที่จำเป็นมากกว่าเข็มทิศ คือ กระจก เราต้องส่องกระจกย้อนดูตัวเองเสมอว่า ตอนนี้ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ แต่คนเรามักต้องการนาฬิกามากกว่าเข็มทิศ และต้องการเข็มทิศมากกว่ากระจก ความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่ความสำเร็จยิ่งใหญ่เพียงครั้งเดียว แต่เป็นการทักถอชัยชนะขึ้นทุกวัน ตรงนี้ทำให้นึกถึงหนังสือ Homofinisher ของนิ้วกลมเหมือนกัน ลองคิดภาพง่ายๆ ถ้าคุณอยากวิ่งจบมาราธอน (42.195 km) ภายในเวลาที่กำหนดมันไม่มีทางที่คุณจะทำได้เลย วินัยในการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องเเละนานพอเท่านั้นที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้

“If you want to run, run a mile. If you want to experience a different life, run a marathon.” Emil Zatopek

ดังนั้นจงร่างภาพจิ๊กซอร์ของชีวิตคุณตั้งแต่ตอนนี้ จินตนาการถึงภาพขนาดใหญ่ของชีวิตที่อยากเห็นในวันสุดท้าย เมื่อต้องลาจากโลกใบนี้ไป ถ้าคิดว่าวันนี้เป็นจิ๊กซอร์ชิ้นหนึ่งของชีวิต หากจิ๊กซอร์ชิ้นนี้ขาดหายไป คุณจะรู้สึกเสียดายมากแค่ไหน ทุกคนมีโจรขโมยเวลาอยู่ในตัวเอง ถ้าไม่จับโจรขโมยเวลาให้ได้ก่อน ก็เป็นไปได้ยากที่เราจะสามารถจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

เคล็ดลับการจัดการเวลา
การจัดการเวลาให้สัมพันธ์กับเป้าหมาย ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด ต้องเรียงลำดับงานก่อนหลังให้เหมาะสม และต้องตัดสินใจทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นไปบ้าง
จงงดงานอดิเรกที่ไม่มีประโยชน์ต่อชีวิต การพบตัวเองถือเป็นการใช้เวลาได้อย่างมีคุณค่าที่สุด การครุ่นคิดกับตัวเองว่าเราต้องการอะไรกันแน่ อยากใช้ชีวิตรูปแบบใดยิ่งยุ่ง ยิ่งมีเวลา ในช่วงที่ยุ่งเราจะมีพลังในการผลักดันจนทำงานเสร็จอย่างรวดเร็ว กลายเป็นยิ่งยุ่งยิ่งมีเวลามากขึ้น เวลาของคุณมีค่ามากกว่าที่คุณคิด

หลักการหนึ่งต่อหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าลงทุนเรื่องใดก็ตามวันละ 1 ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 1 ปี จะต้องเกิดอะไรดีๆขึ้นกับชีวิต

*ประเด็นเรื่องอื่นๆที่ชอบจากหนังสือเล่มนี้

  • ในยุคนี้ใบปริญญาไม่สามารถการันตีความสำเร็จในชีวิตคุณได้อีกแล้ว อย่าคิดว่าการเรียนต่อหรือเตรียมสอบจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องงานได้ (แต่ในความคิดของเรา ถ้าหากมีโอกาส เราคิดว่าเลือกที่จะเรียนให้จบปริญญาตรี ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ยิ่งถ้าได้เรียนในคณะที่คุณชอบจะยิ่งส่งเสริมคุณมากๆ)
  • ปริมาณค่าใช้จ่ายไม่ได้มีค่าเท่ากับคุณภาพชีวิตเสมอไป นั่นก็คือ คนส่วนมากในยุคปัจจุบัน มักจะชอบหางานที่รายได้มั่นคง และรายได้สูง ซึ่งจารย์คิมได้กล่าวว่า หลังจากที่เขาเป็นนักวิชาการภาควิชาการบริโภคมานาน เขาจึงพบว่า ปริมาณค่าใช้จ่ายหรือความสนุกในการจับจ่ายนั้น เทียบไม่ได้เลยกับความสุขที่ได้ทำงานที่ตัวคนๆนั้นชอบ งานที่มีรายได้สูง อาจจะซื้อวัตถุหรือของที่ต้องการได้มาก แต่กลับเกิดความรู้สึกกลวงข้างใน ก็คือมันไม่ได้เติมเต็มในทุกด้านของชีวิตคนๆนั้น
  • อย่าผูกตนเองกับกระแสจนยอมละทิ้งความสามารถที่มีอยู่ในตัว คิดถึงงานที่ทำได้ดีที่สุด ซึ่งไม่ได้มีแค่หมอ,วิศวะ,บัญชี เท่านั้น
  • ไม่ควรเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น นั่นก็คือ การเอาความสุขของตัวเอง ไปเปรียบเทียบกับความสุขของผู้อื่น นั่นก็คือ การไปโฟกัสที่คนอื่น ไม่ใช่ตัวเอง ซึ่งเราจะเป็นทุกข์มากกว่าถ้าทำเช่นนั้น ถ้าไปโฟกัสที่คนอื่นหรือมองเส้นทางของคนอื่นๆ และเห็นคนอื่นได้ดีกว่าตัวเอง เมื่อนั้นแหละ มันจะทำให้เกิดทุกข์
  • ถ้าคุณลำบาก มองคนที่อยู่ต่ำกว่า แต่ถ้าอยากพัฒนาตัวเอง ให้มองคนที่สูงกว่า
    เส้นทางของความสุขอยู่ที่ความซาบซึ้งในสิ่งที่คุณมี คุณอาจจะลำบากจนอยากตาย แต่อาจจะมีใครบางคนอยากเป็นคุณแม้เพียงวันเดียว

สุดท้ายนี้ หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นหนึ่งใน tools ต่างๆที่ช่วยให้เหล่าวัยรุ่นทั้งหลายได้ใช้มันเพื่อหาคำตอบของชีวิตตัวเองได้มากขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย