การวิจารณ์งานนาฏศิลป์ไทย

               การวิจารณ์และการวิเคราะห์การแสดง เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการแสดงให้ดีขึ้น  ในการวิเคราะห์  วิจารณ์การแสดงนั้น ผู้ที่วิเคราะห์ วิจารณ์งานศิลปะจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์  มีความคิด มีเหตุผลที่ดีในการวิเคราะห์ วิจารณ์การแสดง

             หลักและวิธีการวิเคราะห์ วิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์ มีดังนี้

     ๑. ผู้วิจารณ์ควรมีพื้นฐานทางนาฏศิลป์

         ผู้วิจารณ์สามารถพิจารณาได้ว่า การแสดงมีความถูกต้องหรือไม่ เช่น เรื่องของท่ารำที่ใช้สื่อความหมายว่าสอดคล้องกับบทร้องและทำนองเพลงหรือไม่

     ๒. ผู้วิจารณ์มีความสามารถด้านการแต่งกาย

       ผู้วิจารณ์ต้องมีความรู้เรื่องการแต่งกายประกอบการแสดงสามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้แสดงแต่งกายได้ถูกต้องและเหมาะสมกับการแสดงหรือไม่

    ๓. ผู้วิจารณ์มีความสามารถทางด้านดนตรีประกอบการแสดง

       ผู้วิจารณ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับดนตรี บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง สามารถวิเคราะห์และวิจารณ์ได้ว่าดนตรีหรือบทเพลงมีความถูกต้อง  เหมาะสมกับการแสดงหรือไม่

    ๔. ผู้วิจารณ์ทราบเนื้อเรื่องที่ใช้แสดงเป็นอย่างดี

       ผู้วิจารณ์ควรศึกษาเนื้อเรื่องโดยสังเขปก่อนชมการแสดงเพื่อที่จะทำให้เข้าใจการแสดงและสามารถวิเคราะห์ และวิจารณ์ได้ถูกต้อง

       นอกจากหลักและวิธีการวิเคราะห์ วิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์ดังกล่าวแล้ว  ผู้วิจารณ์ควรคำนึงสถานที่ ที่ใช้ในการประกอบการแสดงว่าเหมาะสมหรือไม่ และที่สำคัญผู้วิจารณ์ควรมีความเป็นธรรมในการวิจารณ์ไม่ลำเอียงหรือวิจารณ์ด้วยเหตุผลส่วนตัว  หรือฟังจากบุคคลต่างๆ เพราะจะทำให้การวิจารณ์ไม่เที่ยงตรง

คำถามท้าทาย 

 การวิจารณ์การแสดงโดยใช้ถ้อยคำรุนแรง จะส่งผลต่อการแสดงอย่างไร

                                         

   หลักการในการวิจารณ์

                               

การวิจารณ์งานนาฏศิลป์ไทย

  ๑.  ควรศึกษาเกี่ยวกับท่ารำ  "ท่ารำ" ของนาฏศิลป์ไทยจัดได้ว่าเป็น "ภาษา" ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้สื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจถึงกิริยา อาการ และความรู้สึก ตลอดจนอารมณ์ของผู้แสดง มีทั้งท่ารำตามธรรมชาติและท่าที่ประดิษฐ์ให้วิจิตรสวยงามกว่าธรรมชาติ  

ผู้ชมที่ดีจะต้องเรียนรู้ความหมายและลีลาท่ารำต่างๆ ของนาฏศิลป์ไทย ให้เช้าใจเป็นพื้นฐานก่อน

  ๒.  เข้าใจเกี่ยวกับภาษาหรือคำร้องของเพลงต่างๆ  การแสดงนาฏศิลป์จะต้องใช้ดนตรีและเพลงเข้าประกอบ ซึ่งอาจจะมีทั้งเพลงขับร้องและเพลงบรรเลง  ในเรื่องเพลงร้องนั้นจะต้องมี "คำร้อง" หรือ เนื้อร้อง ประกอบด้วย  บทร้องเพลงไทยส่วนมากจะเป็นคำประพันธ์ประเภทกลอนแปด หรือกลอนสุภาพ เป็นคำร้องที่แต่งขึ้นใช้กับเพลงนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือนำมาจากวรรณคดีไทยตอนใดตอนหนึ่งก็ได้  ผู้ชมจะต้องฟังภาษาที่ใช้ร้อง 

  ๓.  มีความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีและเพลงต่างๆ  นาฏศิลป์จำเป็นต้องมีดนตรีบรรเลงประกอบขณะแสดง ซึ่งอาจจะเป็นแบบพื้นเมืองหรือแบบสมัยนิยม  ผู้ชมจะต้องฟังเพลงให้เข้าใจทั้งลีลา ทำนอง สำเนียงของเพลง ตลอดจนจังหวะอารมณ์ด้วย จึงจะชมนาฏศิลป์ได้เข้าใจและได้รสของการแสดงอย่างสมบูรณ์ เช่น เข้าใจว่าเพลงสำเนียงมอญ พม่า ลาว ฯลฯ สามารถเข้าใจถึงประเพทของเพลงและอารมณ์ของเพลงแต่ละเพลง 

  ๔.  เข้าใจเกี่ยวกับการแต่งกายและแต่งหน้าของผู้แสดง  การแสดงนั้นแบ่งออกหลายแบบ หลายประเภท ผู้ชมควรดูให้เข้าใจว่าการแต่งกายเหมาะสมกับบรรยากาศและประเภทของการแสดงหรือไม่  เสื้อผ้า เครื่องประดับ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดง ตลอดทั้งการแต่งหน้าด้วยว่าเหมาะสมกลมกลืนกันเพียงใด เช่น เหมาะสมกับฐานะหรือบทของผู้แสดงหรือไม่

  ๕.  เข้าใจถึงการออกแบบฉากและการใช้แสงและเสียง  ผู้ชมที่ดีต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องฉาก สถานที่ และสถานการณ์ต่างๆ ของการแสดง คือต้องดูให้เข้าใจว่าเหมาะสมกับการแสดงหรือไม่ บรรยากาศ แสง หรือเสียงที่ใช้นั้นเหมาะสมกับลักษณะของการแสดงเพียงใด

  ๖.  เข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและฐานะของตัวแสดง คือ การแสดงที่เป็นเรื่องราว มีตัวแสดงหลายบท ซึ่งจะต้องแบ่งออกตามฐานะในเรื่องนั้นๆ เช่น พระเอก นางเอก ตัวเอก ตัวนายโรง พระรอง นางรอง ตัวตลก ฯลฯ

   ๗.  เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของการแสดง  ในกรณีที่เล่นเป็นเรื่องราว เช่น โขน ละคร ผู้ชมต้องติดตามการแสดงให้ต่อเนื่องกันถึงจะเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

                  การวิจารณ์ผลงานนาฏศิลป์

           

การวิจารณ์งานนาฏศิลป์ไทย

      นาฏศิลป์เป็นศิลปะการแสดงด้านวิจิตรศิลป์โดยรวมเอาศาสตร์แขนงต่างๆ ผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน นับว่าเป็นสารที่สื่อให้เห็นสุทรียะด้วยการมองและการได้ยินเสียงประเภทหนึ่ง 

     ดังนั้น หากต้องการวิจารณ์ผลงานนาฏศิลป์ ผู้วิจารณ์จำเป็นต้องมีความรู้ในศิลปะสาขาที่วิจารณ์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะ และมีความสามารถในการสื่อสารเป็นอย่างดี 

     โดยขั้นตอนการวิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์ตามทฤษฎีการวิจารณ์อย่างสุนทรีย์ของราล์ฟ  สมิธ มีดังนี้

    ๑. การบรรยาย 

        ผู้วิจารณ์ต้องสามารถพูดหรือเขียนในสิ่งที่รับรู้ด้วยการฟัง ดู รู้สึก รวมทั้งการรับรู้คุณสมบัติต่างๆ ของการแสดง โดยสามารถบรรยายหรือแจกแจงส่วนประกอบต่างๆ ทั้งในลักษณะการเชื่อมโยงหลักเกณฑ์ศิลปะสาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือแยกแยะเป็นส่วนๆ

    ๒. การวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ในผลงานการแสดงนาฏศิลป์ของไทย ประกอบด้วย

   ๒.๑  รูปแบบของนาฏศิลป์ไทย เช่น ระบำ รำ ร้องและโขน เป็นต้น

   ๒.๒  ความเป็นเอกภาพของนาฏศิลป์ไทย โดยผู้แสดงต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

   ๒.๓  ความงดงามของการร่ายรำและองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ความถูกต้องของแบบแผน

       การรำ ความงดงามของลีลาท่ารำ ความงดงามด้านวรรณกรรม ความงามของตัวละคร 

       ลักษณะพิเศษในท่วงท่าลีลา เทคนิคเฉพาะตัวผู้แสดง บทร้องและทำนองเพลงเป็นต้น

   ๓. การตีความและการประเมินผล

        ผู้วิจารณ์จะต้องพัฒนาความคิดเห็นส่วนตัวประกอบกับความรู้ หลักเกณฑ์ต่างๆ มารองรับสนับสนุนความคิดเห็นของตนในการตีความ  ผู้วิจารณ์ต้องกล่าวถึงผลงานนาฏศิลป์โดยรวมว่าผู้เสนอผลงานพยายามจะสื่อความหมายหรือเสนอแนะเรื่องใด 

        ส่วนการประเมินนั้นเป็นการตีค่าของการแสดงโดยต้องครอบคลุมประเด็น ดังนี้ แสดงได้ถูกต้องตามแบบแผน ผู้แสดงมีทักษะ สุนทรียะ มีความสามารถ และมีเทคนิคต่างๆ นอกจากนี้ ต้องประเมินรูปแบบลักษณะของงานนาฏศิลป์ ความคิดสร้างสรรค์  เป็นต้น

              คุณสมบัติของผู้วิจารณ์ศิลปะที่ดี

    ผู้วิจารณ์ศิลปะที่ดีต้องมีคุณสมบัติ  พอสรุปได้ดังนี้

1. มีความรักเกี่ยวกับการวิจารณ์งานศิลปะ 

2. วิจารณ์เพื่อการพัฒนาให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ  

3. เป็นคนที่รักความก้าวหน้า  ใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา 

4. มีจิตใจชื่นชมในศิลปะและสุนทรียศาสตร์อย่างแท้จริง 

5. มีความรักเคารพต่อความคิด  ค่านิยม  และวัฒนธรรมของท้องถิ่น 

6. สนใจต่อการเคลื่อนไหวในวงการศิลปะและแนวคิดใหม่ ๆ  ของศิลปะ 

7. ใฝ่รู้ใฝ่เรียน  รักการค้นคว้าสนใจต่อสิ่งใหม่ ๆ  อยู่เสมอ 

8. รักษาความเป็นกลาง  รักความยุติธรรม รู้จักประนีประนอม 

9. สามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย 

10. มีประสบการณ์ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะในสาขานั้นๆ

               ประโยชน์ของการวิจารณ์ผลงานศิลปะ

   การวิจารณ์ศิลปะมีประโยชน์ต่อผู้วิจารณ์  และเจ้าของผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ  ซึ่งแยกออกได้ดังนี้

      ประโยชน์ต่อผู้วิจารณ์  คือ

1. ทำให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวของวงการศิลปะ  และสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน 

2. ทำให้เกิดปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้อง 

3. มีความละเอียดประณีตอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ 

4. มีเหตุผล  มีความเที่ยงธรรม 

5. ทำให้เป็นผู้แสวงหาความรู้อยู่เสมอ