การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่น อาจ ถูก ดำเนินคดี ตาม กฎหมาย ได้

วันที่ 11 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 รวม 96 มาตรา มีผลบังคับใช้ 27 พฤษภาคม 2563 นี้ เนื่องจากข้อมูลของแต่ละคนย่อมเป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล ผู้อื่นจะมารับรู้หรือเอาข้อมูลไปใช้โดยพลการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลไม่ได้

โดยสาระสำคัญที่น่าสนใจ อยู่ใน มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล นั่นหมายความว่า นับตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. เป็นต้นไป การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ e-mail ภาพถ่ายที่สามารถยืนยันบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์แจ้งความดำเนินคดีได้ ทั้งนี้มีโทษสูงสุดคือ จำคุก 1 ปี ปรับ 3 ล้านบาท จ่ายค่าเสียหาย 2 เท่า

โดยในเฟซบุ๊กเพจ "กฎหมายสายย่อ" ได้ขยายความถึงกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่า 

กฎหมายข้างต้น การโพสภาพลง Social Media เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจต่างๆ จึงรวมอยู่ในความหมายที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ด้วย หากภาพดังกล่าวเห็นหน้าบุคคลอย่างชัดเจนก่อนนำไปใช้ต้องได้การอนุญาตจากเจ้าของใบหน้านั้นก่อน

การป้องกัน

หากเป็นงาน Event หรือสัมมนาต่างๆ ที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก และไม่สามารถขออนุญาตรายบุคคลได้สะดวก อาจมีการตั้งป้ายแจ้งผู้เข้าร่วมงาน และแจ้งขออนุญาตถ่ายภาพและเผยแพร่ภาพภายในงาน ณ จุดลงทะเบียน โดยให้ผู้ร่วมงานลงชื่อในเอกสารลงทะเบียนนั้นก็สามารถป้องกันการกระทำอันจะเป็นการละเมิดสิทธิตามกฎหมายได้ค่ะ

ข้อยกเว้น

การเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตนและกิจกรรมในครอบครัว / สื่อมวลชน ศิลปะ ตามจริยธรรมวิชาชีพ / การกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ / ป้องกันอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ / การกระทำตามกฎหมาย / การปฏิบัติตามสัญญา เป็นต้น

     พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 24 ได้กำหนดห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น หรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้

เว้นแต่เป็นการนำไปเปิดเผยในกรณีดังต่อไปนี้

     1. การเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตน เพื่อนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น (มาตรา 24 (1))

         ข้อยกเว้นให้เปิดเผยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตนหรือที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานเดียวกันนี้ถือได้ว่าเป็นข้อยกเว้นที่มีความชัดเจน เพราะวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของการจัดเก็บข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพื่อการนำมาใช้งานตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ และในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ย่อมต้องมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งคน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลร่วมกัน

เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จึงได้กำหนดข้อยกเว้นตามข้อนี้ไว้ อย่างไรก็ตามยังมีบางกรณี เช่น เมื่อสมาชิกสภาองค์การบริหารราชการ

ส่วนท้องถิ่น ได้ขอฝ่ายบริหารเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการซึ่งมีข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลอยู่ จึงอาจมีข้อสงสัยว่าผู้ที่ขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนี้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตนตามข้อยกเว้นในข้อนี้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

สาขาสังคมการบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีคำวินิจฉัยที่ สค ๑๓/๒๕๔๔ ว่าผู้อุทธรณ์เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จึงสามารถนำข้อมูลข่าวสารไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ได้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ฝ่ายบริหารจัดเก็บไว้จึงได้รับยกเว้นให้เปิดเผยแก่สมาชิกสภาฯ ได้ตามข้อยกเว้นในข้อนี้

     2. การเปิดเผยซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลตามปกติตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล (มาตรา 24 (2))

         ข้อยกเว้นตามข้อนี้จะสอดคล้องกับการที่พระราชบัญญัติได้กำหนดหน้าที่และหลักการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่หน่วยงานของรัฐจะต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบถึงวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้และลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกตินี้หน่วยงานของรัฐยังต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเผยแพร่ให้ทราบเป็นการทั่วไปอีกด้วย ดังนั้นหากกรณีการเปิดเผยยังคงอยู่ในขอบเขตของการใช้ข้อมูลตามปกติภายในวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้นก็ถือได้ว่าเป็นไปตามข้อยกเว้นของหลักเกณฑ์ตามข้อนี้

     3. การเปิดเผยต่อหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านการวางแผนหรือการสถิติหรือสำมะโนต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไว้ไม่ให้เปิดเผยต่อไปยังผู้อื่น (มาตรา 24 (3))

         การปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านการวางแผนหรือการสถิติหรือสำมะโนต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์จัดทำเป็นสถิติหรือการวางแผนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือประชากร ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลให้กับหน่วยงานของรัฐดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งหน่วยงานของรัฐเหล่านี้ก็มีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไว้ไม่ให้เปิดเผยต่อไปยังผู้อื่น

     4. การเปิดเผยซึ่งเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย โดยไม่ระบุชื่อ หรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุคคลใด

(มาตรา 24 (4))

         พระราชบัญญัติได้กำหนดข้อจำกัดการเปิดเผยไว้โดยให้สามารถเปิดเผยได้แต่ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยจะต้องไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทำให้รู้ว่า

เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของผู้ใด ซึ่งจะทำให้ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยไม่มีสภาพของการเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามนัยมาตรา 4

แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 การเปิดเผยในกรณีนี้จึงสามารถตอบสนองประโยชน์ของการศึกษาวิจัยได้รวมทั้งการเปิดเผยนี้ก็ไม่เป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลเกินสมควรแต่อย่างไรด้วย

     5. การเปิดเผยต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง เพื่อการตรวจดูคุณค่าในการเก็บรักษา (มาตรา 24 (5))

         การเปิดเผยต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่คัดเลือกข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ การมีข้อยกเว้นให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต่อหน่วยงานดังกล่าวเพื่อตรวจดูคุณค่าในการเก็บรักษาคือ ทำให้สามารถพิจารณาได้ว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

ดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ ที่สมควรจะเก็บรักษาไว้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์หรือไม่ ขั้นตอนตามข้อยกเว้นนี้ยังไม่ใช่การพิจารณาว่าจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนี้เพื่อการศึกษาค้นคว้าหรือไม่ การพิจารณาดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณาเป็นขั้นตอนต่อไป โดยจะต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้ด้วย

     6. การเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การสืบสวน การสอบสวน หรือการฟ้องคดี ไม่ว่าเป็นคดีประเภทใดก็ตาม (มาตรา 24(6))

         การเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อนำข้อมูลไปใช้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์การดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับ

การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนี้จึงมีหน้าที่ต้องคุ้มครองข้อมูลมิให้ถูกนำไปใช้นอกวัตถุประสงค์ด้วย

     7. การเปิดเผยที่เป็นการใช้ซึ่งจำเป็นเพื่อป้องกัน หรือระงับอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคล (มาตรา 24 (7))

         กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพื่อป้องกันหรือระงับมิให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคลซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ พระราชบัญญัติจึงยกเว้นให้เปิดเผยได้โดยไม่ต้องรับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

     8. การเปิดเผยต่อศาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อเท็จจริงดังกล่าว (มาตรา 24 (8))

         เมื่อผู้ที่ขอให้เปิดเผยเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น ศาลใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และยังมีตัวอย่างอื่น ๆ ที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำวินิจฉัยไว้ เช่น คำวินิจฉัยที่ สค ๓๒/๒๕๔๕

     9. การเปิดเผยในกรณีอื่นที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฏีกา (มาตรา 24 (9))

     หมายเหตุ หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลข่าวสารของราชการอยู่ในความควบคุมดูแลของตนและได้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในลักษณะตามข้อ 3-9 มาตรา 24 วรรคสอง ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนี้จะต้องจัดทำบัญชีแสดงการเปิดเผยกำกับไว้กับข้อมูลข่าวสารนั้น