แนวทาง การ สืบสาน วัฒนธรรม

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 ภายใต้แนวคิด ?ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้

1. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดการประชุมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการรณรงค์ในการสืบสานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายอิทธิพล คุณปลื้ม) เป็นประธานฯ ทั้งนี้ มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงประเพณีลอยกระทง การดูแลรักษาความปลอดภัยการรักษาทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมฯ จำนวน 14 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า และกรมการขนส่งทางบก) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) สำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร (สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว และสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร) มูลนิธิ เมาไม่ขับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยที่ประชุมมีแนวคิดบูรณาการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ซึ่งทุกหน่วยงานเห็นพ้องต้องกันในแนวคิด ?ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ด้วยเป็นแนวคิดที่ครอบคลุมการดำเนินงานที่เหมาะสม เนื่องในประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จึงได้ร่วมกันวางแนวทาง และมาตรการรณรงค์การสืบสานประเพณีที่ดีงามเหมาะสม เป็นไปตามคุณค่าสาระที่แท้จริง รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงประเพณีลอยกระทง ประจำปีพุทธศักราช 2563

2. ที่ประชุมบูรณาการการกำหนดแนวทางและมาตรการรณรงค์ ในการสืบสานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางและมาตรการรณรงค์เนื่องในประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 14 หน่วยงาน มีความเชื่อมั่นว่า การประสานความร่วมมือในการบูรณาการแนวทางและมาตรการรณรงค์ ตามแนวคิด ?ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? จะก่อให้เกิดการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ตามแนวทางเดียวกับมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออนุรักษ์ สืบสานประเพณีลอยกระทง ให้คงคุณค่า สาระและความงดงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่สามารถแสดง ให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมการเพื่อป้องกันอุบัติภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการดูแลทรัพย์สิน สุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ต่อไป

1. ส่งเสริมให้ชนทุกกลุ่มเห็นคุณค่า และร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น อันเป็นมรดกของชาติไม่ให้สูญหายไป


2. ขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม รณรงค์ให้ประชาชน เอกชน ตลอดจนหน่วยงานของรัฐเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมไทย นำไปสู่การประสานงาน การบริการความรู้ ตลอดจนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เป็นต้น


3. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน


4. สร้างทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับวัฒนธรรมว่าเป็นทรัพย์สมบัติของทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป


5. ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เช่น สิทธิในการอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น


6. จัดทำระบบเครือข่ายสารสนเทศทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์งานต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมเป็นกระแสซึ่งมีการสืบทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และโยงไปถึงอนาคตนี่แหละ จึงมีคำว่าสืบสานเกิดขึ้น ดังที่มีโครงการสืบสานงานวัฒนธรรมไทย ในที่นี้ จึงขอโอกาสพูดถึงความหมายของการสืบสาน

สืบสาน มีทั้งสืบ และสาน คำว่า สืบ ในความหมายหนึ่งหมายถึงสืบสาว คือย้อนลงไปในความเป็นมาเพื่อหาเหตุปัจจัยในอดีต และการย้อนลงไปหาที่เรียกว่าสืบสาวนั้น มี ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือสืบสาวในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อหาความเป็นมาในอดีตว่า วัฒนธรรมนี้เกิดสืบเนื่องมาจากอะไร ต้นตออยู่ที่ไหน และสืบต่อกันมาอย่างไร ทุกอย่างที่มีอยู่ มีความเป็นมาที่สืบสาวไปในอดีตได้ ถ้าชนชาติใดมีปัญญา มีความรู้เข้าใจ เกี่ยวกับรากฐานที่มาในประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมของตน ชาตินั้นก็มีทางที่จะทำให้วัฒนธรรมของตนเจริญงอกงามได้ แต่ในบางสังคม คนมีความมืดมัว ไม่รู้จักสืบสาวหาความเป็นมาแห่งวัฒนธรรมของตนในอดีต

สำหรับสังคมไทยของเรานั้น เราพูดได้เลยว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์ ถ้าเราสืบสาวลงไปในอดีต วัฒนธรรมของเรา แม้ไม่ทั้งหมด แต่ส่วนมากทีเดียวได้สืบทอดมาจากพระพุทธศาสนา พฤติกรรมและแบบแผนอันเนื่องจากพระพุทธศาสนานี้แหละ ได้เป็นที่มาแหล่งสำคัญของวัฒนธรรมของสังคมไทยปัจจุบันนี้ในเชิงประวัติศาสตร์

สืบสาวอีกด้านหนึ่งคือ ในด้านเนื้อหาสาระว่า เนื้อหาสาระของวัฒนธรรมไทยนั้น คืออะไร มาจากไหน ในด้านนี้ก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าวัฒนธรรมไทยนั้น มาจากพระพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นจึงถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย โดยส่วนมากหรือข้างมาก ทั้ง ๒ ด้าน คือ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ และในด้านเนื้อหาสาระ

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

ท่านที่ทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เมื่อจะออกมาสู่ปฏิบัติการในสังคมไทย จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย และถ้ามองอีกด้านหนึ่ง ถ้าท่านที่ทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะช่วยในเรื่องวัฒนธรรมไทยแล้ว ก็จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมไทยได้เป็นอันมาก นี่คือสืบในความหมายของการสืบสาว

สืบในอีกความหมายหนึ่ง คือสืบทอด สืบสาวนั้นโยงย้อนกลับไปข้างหลัง แต่สืบทอดนั้น สืบต่อไปข้างหน้าจากปัจจุบันสู่อนาคต เมื่อเราสืบสาวได้ดีแล้ว เราก็เห็นทางที่จะสืบทอดได้ดีด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการสืบทอดนั้น เราไม่ได้สืบทอดลอยๆ แต่สืบทอดด้วยปัญญาอย่างมีวิธีการ ถ้าสืบทอดโดยไม่มีวิธีการ ก็กลายเป็นการปล่อยให้ไหลเรื่อยเปื่อยไป การสืบทอดอย่างมีวิธีการในที่นี้เรียกว่าสืบสาน เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่าสืบสาน คือ นอกจากสืบแล้วก็มีการสานด้วย

สาน คือ การจัดสรรปรุงแต่งวัฒนธรรมที่สืบมาจากเดิมให้มีรูปแบบเป็นต้น ที่สอดคล้องกับยุคสมัยในสภาพปัจจุบัน ให้เป็นประโยชน์แก่คนที่ดำเนินชีวิตอยู่ การสานทำให้สิ่งที่สืบมาเกิดผลเป็นประโยชน์และมีชีวิตชีวา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการสานวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่สืบอย่างเดียว

เอาเป็นว่า การสาน จะทำให้วัฒนธรรมนั้นเป็นประโยชน์แก่คนในปัจจุบัน พร้อมทั้งจะเป็นฐานของการงอกงามสืบต่อไปเบื้องหน้าด้วย

จากนั้นถ้าเป็นไปได้ หากวัฒนธรรมของเราเป็นของดี ก็ควรที่จะแผ่ขยายความนิยมออกไปในสังคมโลกด้วย มิใช่จะเป็นแต่ฝ่ายตั้งรับหรือรอรับ อย่างที่เวลานี้เราได้กลายเป็นฝ่ายตั้งรับวัฒนธรรมอื่นที่บุกเข้ามา นับว่าวัฒนธรรมของเขาน่าชื่นชมที่ได้รับความนิยม แต่การที่เราไปนิยมตาม และรับเข้ามานั้น ถ้าไม่เป็นไปด้วยสติปัญญา ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เช่นมีคุณสมบัติที่เข้ากับลักษณะ ๖ ประการที่กล่าวไปแล้วหรือไม่

ในทางกลับกัน ทำไมเราไม่คิดว่า เราจะสืบสานวัฒนธรรมของเราให้สื่อสาระอันอุดม และให้ได้รับความนิยมแผ่ขยายออกไปในสังคมโลกบ้าง

ตกลงว่า การสาน ๓ อย่างคือ สานสิ่งที่สืบจากอดีตให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน สานสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันให้พร้อมที่จะงอกงามต่อไปในอนาคต และสานสิ่งที่ตนมีให้น่าชื่นชมแผ่ความนิยมกว้างออกไปในโลก นี้เป็นสิ่งที่ควรจะพยายามกระทำในการสืบสานวัฒนธรรม

การที่จะทำได้อย่างนี้จะต้องมีความรู้ความสามารถ คือการที่จะต้องนำเอาส่วนประกอบต่างๆ เข้ามาปรับปรุง เพราะการปรับปรุงหรือการสานนั้นจะต้องมีส่วนประกอบ แม้จะเป็นการสานกระบุง สานบุ้งกี๋ สานพัดอะไรต่างๆ ก็ต้องมีสิ่งที่เอามาประกอบกันเข้า เราจะต้องเอาส่วนประกอบจากวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมมาปรับ ให้รับกันกับสภาพที่เป็นอยู่ และนำส่วนประกอบใหม่ๆ ที่ควรจะรับเข้ามาปรุง แล้วสานเข้าเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาและมีการพัฒนา

องค์ประกอบสำคัญที่จะมาสานวัฒนธรรมซึ่งขาดไม่ได้ คือสติปัญญา เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระเดิมอย่างที่กล่าวมาแล้ว และมีความชัดเจนในสภาพปัจจุบัน เพื่อจะรักษาเนื้อหาสาระนั้นไว้ให้คงอยู่ได้ และสื่อสาระนั้นให้ปรากฏแก่ปัจจุบัน

ประการที่ ๑ วัฒนธรรมต่างๆ มีเนื้อหาสาระในเชิงสัจธรรมและจริยธรรม ที่จะต้องสืบค้นออกมาให้ได้ว่า เนื้อหาสาระที่เราต้องการนั้นคืออะไร และแยกออกได้จากเปลือกผิวหรือรูปแบบนั้น เมื่อจะทำการสานวัฒนธรรมที่สืบมา จึงควรจะตรวจสอบวัฒนธรรมของเราที่สืบมาถึงปัจจุบัน กับตัวเนื้อหาสาระที่แท้แต่ดั้งเดิมนั้นด้วย อันจะเป็นการปรับขั้นต้นในการสานวัฒนธรรม

ความรู้ในเนื้อหาสาระที่ต้องการ โดยเฉพาะหลักการของพระศาสนา ได้แก่ธรรมวินัยนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะใช้ประโยชน์ในการสานต่อวัฒนธรรมให้เจริญงอกงามสืบไป ถ้าขาดความรู้นี้เสียแล้ว การสืบสานวัฒนธรรมก็แทบจะไม่มีความหมาย วัฒนธรรมนั้นจะเลื่อนลอย มีแต่รูปแบบที่ไม่มีเนื้อหาสาระ เหมือนดังเปลือกที่ว่างเปล่า

ประการที่ ๒ คือความรู้เข้าใจในสภาพปัจจุบัน เช่น ปัญหาสังคม และสภาพความคิดจิตใจของคนในยุคปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งขาดไม่ได้ เพราะเราจะต้องเอาเนื้อหาสาระที่มีอยู่เดิมมาสานมาปรุงมาจัดมาสรรมาแต่งให้เข้ากับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้คนปัจจุบันนี้ใช้ประโยชน์ได้ ถ้าเราไม่รู้เข้าใจสภาพปัจจุบันแล้ว แม้เราจะรู้เนื้อหาสาระ เราก็จัดไม่เป็น มันก็ไม่เกิดประโยชน์ทั้งๆ ที่มีเนื้อหาสาระ เหมือนมีน้ำ แต่ไม่มีแก้วที่จะไปตักมากิน

ประการที่ ๓ เพื่อให้วัฒนธรรมของเรา ได้รับความนิยมแพร่หลายออกไป เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก เราจะต้องมีความรู้เท่าทัน ต่อปัญหาและความต้องการของมนุษย์ทั่วโลกด้วย เพราะฉะนั้น คนไทยที่จะดำรงรักษาวัฒนธรรม จะมัวคิดแต่เรื่องวัฒนธรรมเพื่อประเทศของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมองไปที่สังคมโลกทั้งหมด โดยเฉพาะโลกปัจจุบันนี้ก็แคบเข้ามาเป็นอย่างยิ่งแล้ว เป็นโลกในยุคข่าวสารข้อมูล ที่มีการติดต่อถึงกันหมดแล้ว วัฒนธรรมจะมีการบุกรุกต่อกันได้อย่างมาก เพราะฉะนั้นเราจะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่อย่างเดียวไม่ได้ จะทานกำลังวัฒนธรรมจากภายนอกที่โหมท่วมทับเข้ามาไม่ได้