ประวัติวรรณคดีสมัยสุโขทัย ppt

ในสมัยสุโขทัย ถือเป็นยุคบุกเบิกของวรรณคดีไทยหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึกหลักที่ 1 สุภาษิตพระร่วง ไตรภูมิพระร่วง รวมถึงตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ)

ประวัติวรรณคดีสมัยสุโขทัย ppt
ประวัติวรรณคดีสมัยสุโขทัย ppt

รายชื่อวรรณคดีสำคัญ ในสมัยสุโขทัย ที่เว็บติวฟรีได้รวบรวมมาทั้งหมดมีดังต่อไปนี้ครับ

วรรณคดีสำคัญ ในสมัยสุโขทัย มีดังนี้

๑.
๒.
๓.
๔.

ความหมายของวรรณคดี

วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นอย่างมีศิลปะ อาจเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง มีความงดงามทางภาษา ถ่ายทอดความสะเทือนใจ ความนึกคิด และจินตนาการของผู้แต่งออกมาได้อย่างครบถ้วน ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ มีอารมณ์ร่วมไปกับผู้แต่งด้วย นอกจากนั้นวรรณคดียังต้องเป็นเรื่องที่ดี ไม่ชักจูงจิตใจไปในทางต่ำ ทั้งยังแสดงความรู้ ความคิด และสะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละสมัยด้วย

ลักษณะของวรรณคดี

วรรณคดีสโมสร ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดลักษณะของวรรณคดีไว้ว่า

  1. เป็นหนังสือดี มีประโยชน์ มีสุภาษิตคติสอนใจ ไม่ชักจูงไปในทางที่ผิดหรือไปในทางที่ไม่เป็นแก่นสาร
  2. เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีการเรียบเรียงที่ดี ถูกต้องตามแบบอย่างภาษาไทย ใช้สำนวนภาษาที่ดี และเป็นแบบอย่างที่ดีได้

ความหมายของวรรณกรรม

วรรณกรรม หมายถึง งานทั่วไปทั้งหมดทุกประเภท ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง รวมถึงข้อเขียนต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหา มีจุดมุ่งหมาย สื่อความให้ผู้อ่านเข้าใจได้ ไม่เน้นเรื่องศิลปะในการแต่ง

วรรณกรรมปัจจุบัน หมายถึง งานเขียนที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหา กลวิธีการแต่ง แนวคิด ค่านิยม และความเชื่อ ซึ่งได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตก วรรณกรรมของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตกเข้ามา ทั้งนี้เพราะรัชกาลที่ ๔ ทรงรับวิทยาการแผนใหม่เข้ามา ขณะเดียวกันชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเริ่มมีการออกหนังสือพิมพ์ เขียนบทความ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและกลวิธีการเขียนขึ้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระราชโอรส ขุนนาง หรือนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่างประเทศเริ่มกลับมา ได้นำความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ จากชาติตะวันตกเข้ามาใช้ และได้นำแนวคิดรูปแบบการเขียนมาเผยแพร่ ทำให้วรรณกรรมของไทยเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ วรรณกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งรูปแบบ แนวคิด และเนื้อหา เป็นวรรณกรรมปัจจุบัน และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สภาพบ้านเมืองสมัยสุโขทัย

สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย โดยมีพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยางกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ได้ร่วมกันกำจัดอิทธิพลของขอมออกไปจากเมืองสุโขทัย แล้วสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ใน พ.ศ. ๑๗๙๒

อาณาจักรสุโขทัยระยะแรกเริ่มก่อตั้งนั้นยังมีพลเมืองไม่มากนัก และอยู่ในระหว่างก่อร่างสร้างตัว การปกครองในระยะเริ่มแรกจึงเป็นการปกครองระบบครอบครัวหรือพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์มีความใกล้ชิดกับราษฎรมาก จึงเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “พ่อขุน” ต่อมาภายหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ กับราษฎรแตกต่างไปจากเดิม พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้น มีฐานะเป็นธรรมราชา ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นหลักธรรมในการปกครอง

อาณาจักรสุโขทัยเจริญสูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง มีการประดิษฐ์อักษรไทย มีการผลิตเครื่องถ้วยชามสังคโลก มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรใกล้เคียง ในช่วงนี้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรอยู่กันอย่างสงบสุข หลังจากสมัยของพระองค์แล้ว อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง เพราะพระมหากษัตริย์ให้ความสนใจด้านพระพุทธศาสนามากกว่าด้านอื่น ๆ ประกอบกับขณะนั้นเมืองต่าง ๆ เริ่มมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น จึงพยายามตั้งตนเป็นอิสระ อาณาจักรสุโขทัยเริ่มหมดอำนาจลงและถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก ใน พ.ศ. ๒๐๐๖ นับเป็นอันสิ้นสุดของอาณาจักรสุโขทัย

ความเจริญด้านวรรณคดีในสมัยสุโขทัย

วรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดและมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้ คือ จารึกสมัยสุโขทัย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าก่อนสมัยสุโขทัยไม่มีการจดบันทึก แต่การเขียนหนังสือในสมัยนั้น ใช้กระดาษข่อยหรือใบลาน เวลาผ่านไปนับร้อย ๆ ปี สมุดข่อยหรือใบลานก็สูญหายไป จนกระทั่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา โดยทรงเรียกว่า “ลายสือไท” แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้ เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ข้อความบนศิลาจารึกก็ยังคงปรากฏอยู่ ไม่ลบเลือนสูญหาย

ลักษณะของวรรณคดีสมัยสุโขทัยมีลักษณะเป็นการบรรยายสภาพบ้านเมือง วัฒนธรรม สังคม และการอบรมศีลธรรม มีลักษณะเป็นวรรณคดีประยุกต์ ไม่ได้มุ่งความบันเทิง ทำนองแต่งเป็นร้อยแก้ว ใช้คำไทยโบราณ บาลีสันสกฤต และเขมรปะปนอยู่มาก

ศิลาจารึก หลักที่ ๑

ผู้แต่ง

สันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชนิพนธ์เอง โดยเฉพาะตอนต้นที่เป็นการเล่าพระราชประวัติของพระองค์เอง

ประวัติ

สันนิษฐานว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ จารึกขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๘๓๕ เป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสั่งให้สร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรและจารึกหลักอื่น ๆ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และผนวชอยู่วัดราชาธิวาสในรัชกาลที่ ๓ ทรงนำศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากพระราชวังเก่ากรุงสุโขทัยมากรุงเทพฯ พร้อมกับพระแท่นมนังศิลาบาตร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ ต่อมาได้มีการทำคำอ่านและแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก ตามคำอ่านของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ และใน พ.ศ. ๒๕๒๑ คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่ออ่านและตรวจสอบจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีความสูง ๑ เมตร ๑๑ เซนติเมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ทำนองแต่ง

แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้วแต่บางตอนมีสัมผัส

ความมุ่งหมาย

เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญของกรุงสุโขทัย สภาพบ้านเมืองในขณะนั้น และสดุดีพระเกียรติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

เรื่องย่อ

ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีจารึกไว้ทั้ง ๔ ด้าน กล่าวคือ ด้านที่ ๑ ทรงเล่าพระราชประวัติของพระองค์ ด้านที่ ๒ ความต่อจากด้านที่ ๑ ด้านที่ ๓ กล่าวถึงการสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรในดงตาลสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรม ด้านที่ ๔ กล่าวถึงการก่อตั้งพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ การประดิษฐ์อักษรไทย และอาณาเขตอาณาจักรสุโขทัย

คุณค่าของวรรณคดี

ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีคุณค่าทางวรรณกรรมมาก โดยเฉพาะด้านภาษาศาสตร์ เพราะเป็นต้นกำเนิดของภาษาไทยในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของตัวอักษร วิธีการเขียน การใช้คำ และหลักภาษา นอกจากนี้ยังมีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ความเชื่อ กฎหมาย การปกครอง ตลอดจนสภาพการณ์บ้านเมืองในอดีต และที่สำคัญ ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ยังมีอิทธิพลต่อการแต่งวรรณคดีสมัยต่อ ๆ มาหลายเรื่อง เช่น ลิลิตตำนานพระแท่นมนังศิลาบาตร ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

ข้อมูลเพิ่มเติมของศิลาจารึก หลักที่ ๑

สุภาษิตพระร่วง

ผู้แต่ง

ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่สันนิษฐานว่า อาจแต่งขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือหลังสมัยสุโขทัยก็เป็นได้ และในปัจจุบันอาจมีการดัดแปลงหรือแต่งเติมจนคลาดเคลื่อนจากของเดิมไปบ้าง

ประวัติ

สุภาษิตพระร่วง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บัญญัติพระร่วง ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือ จารึกอยู่ที่ผนังระเบียงด้านหน้าพระมหาเจดีย์องค์เหนือของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพิมพ์ครั้งแรกในประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณรวบรวม

ทำนองแต่ง

แต่งด้วยสุภาษิต ตอนต้นแต่งด้วยร่ายสุภาพ จบแบบโคลงสองสุภาพ ตอนท้ายเป็นโคลงกระทู้หนึ่งบท

ความมุ่งหมาย

เพื่อสั่งสอนประชาชน

เรื่องย่อ

เริ่มต้นกล่าวถึงพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ทรงมุ่งประโยชน์ในกาลภายหน้า จึงทรงบัญญัติสุภาษิตสำหรับสอนประชาชนขึ้นไว้ สุภาษิตบทแรก คือ “เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่” มีสุภาษิตทั้งหมด ๑๕๘ บท บทสุดท้ายเป็นโคลงกระทู้

คุณค่าของวรรณคดี

สุภาษิตพระร่วงเป็นคติโลกและคติธรรม ใช้ถ้อยคำคล้องจองกัน สำนวนกะทัดรัดจับใจจึงมีผู้จดจำไว้ได้มาก และนำไปอ้างไว้ในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ เช่น กาพย์มหาชาติ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

สุภาษิตพระร่วงแสดงถึงชีวิตและค่านิยมเชิงสังคมของคนไทยไว้หลายแง่มุม เช่น ยกย่องความสำคัญของการศึกษา รักความสงบ มีมารยาทเรียบร้อย และสุภาพอ่อนน้อม

ข้อมูลเพิ่มเติมของสุภาษิตพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง

ผู้แต่ง

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลิไทย ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๖ ขณะครองเมืองศรีสัชนาลัยได้ ๖ ปี ดังปรากฏข้อความในบานแผนกของหนังสือไตรภูมิพระร่วงว่า “เจ้าพระญาเลไทยผู้เป็นลูกแห่งเจ้าพระญาเลลิไทยผู้เสวยราชสมบัติในเมืองศรีสัชชนาลัยและสุกโขทัย และเจ้าพระญาเลไทยนี้ ธ เป็นหลานเจ้าพระญารามราช ผู้เป็นสุริยวงศ์และเจ้าพระญาเลไทยได้เสวยราชสมบัติในเมืองสัชชนาลัยอยู่ได้ ๖ เข้า จึงได้ไตรภูมิ”

ประวัติ

ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า “เตภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิกถา” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ไตรภูมิพระร่วง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย ไตรภูมิพระร่วงฉบับเก่าที่สุดบันทึกไว้ในใบลานด้วยอักษรขอม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ โดยพระมหาช่วย วัดปากน้ำ หรือวัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และนายวิทูร มลิวัลย์ ได้ตรวจสอบอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๗

ทำนองแต่ง

ความเรียงร้อยแก้ว

ความมุ่งหมาย

เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระราชมารดาและสั่งสอนประชาชน

เรื่องย่อ

เริ่มต้นบานแผนกบอกผู้แต่ง วัน เดือน ปีที่แต่ง หลักฐานประกอบการเรียบเรียงว่าได้มาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาถึง ๓๐ คัมภีร์ และได้จากสำนัก ซึ่งเป็นสถานศึกษาของผู้แต่งและบอกความมุ่งหมายที่แต่งว่า เพื่อเจริญพระอภิธรรมเทศนาโปรดพระราชมารดา และสั่งสอนประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษตั้งอยู่ในคุณงามความดี เนื้อเรื่องเป็นการอธิบายภูมิทั้ง ๓ คือกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ

กามภูมิ แบ่งออกเป็น ๑๑ ภูมิ คือ

  • ทุคติภูมิ หรืออบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และดิรัจฉาน
  • สุคติภูมิ คือ มนุสสภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ ที่เรียกว่า ฉกามาพจร คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

รูปภูมิ แบ่งเป็นพรหมชั้นต่าง ๆ ๑๖ ชั้น ตามภูมิธรรม ดังนี้

  • ปฐมฌาน ๓ ชั้น คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา
  • ทุติยฌาน ๓ ชั้น คือ ปริตาภา อัปปมาณภา อาภัสสรา
  • ตติยฌาน ๓ ชั้น คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา
  • จตุตถฌาน ๗ ชั้น คือ เวหัปผลา อสัญญีสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐาพรหม ๕ ชั้น ตั้งแต่อวิหาจนถึงอกนิฏฐา มีชื่อรวมว่า พรหมชั้นสุทธาวาส

อรูปภูมิ แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

ตอนต่อไปกล่าวถึงการได้กำเนิดและสภาพความเป็นไปแห่งภูมินั้น ๆ อย่างละเอียดลออ

คุณค่าของวรรณคดี

ไตรภูมิพระร่วงนับเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกที่แต่งในประเทศไทย มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์ต่าง ๆ มากถึง ๓๐ คัมภีร์ ระบุผู้แต่ง วัน เดือน ปีที่แต่ง และความมุ่งหมายในการแต่งครบถ้วน มีคุณค่าทั้งด้านภาษาศาสตร์ ศาสนา และสังคม มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนไทยมาเป็นเวลานานจวบจนปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติมของไตรภูมิพระร่วง

ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ)

ผู้แต่ง

นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในรัชกาลพระร่วงเจ้า ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นพระยาลิไทย นางนพมาศได้รับการอบรมสั่งสอนจากบิดาทั้งทางจริยศึกษาและพุทธิศึกษา มีความรู้สูงทั้งภาษาไทยและสันสกฤต พระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การแต่งกาพย์กลอน โหราศาสตร์ การขับร้องและการช่างสตรี นางนพมาศได้ถวายตัวรับราชการในพระร่วงเจ้า มีความดีความชอบพิเศษ เช่น ประดิษฐ์โคมลอยพระประทีปเป็นรูปดอกบัว ได้รับตำแหน่งเป็นสนมเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์

ประวัติ

หนังสือเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีชื่ออย่างอื่นว่า เรวดีนพมาศ หรือนางนพมาศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ว่า เรื่องราวของหนังสืออาจมีจริงแต่สำนวนภาษาคงจะแต่งขึ้นใหม่ระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับรัชกาลที่ ๓ โดยเฉพาะนิทานแทรกเรื่อง นางนกกระต้อยตีวิด นางนกกระเรียน และนางช้าง ซึ่งเป็นข้อความเปรียบเทียบบริภาษความประพฤติของนางใน สันนิษฐานว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยว่า นพมาศ เดิมคงหมายถึงพิธี ๙ เดือน คือ เว้นเข้าพรรษา ๓ เดือน

ข้อความที่ยืนยันแจ้งชัดให้เห็นว่า หนังสือเรื่องนี้มีผู้แต่งเติมเพิ่มข้อความขึ้นใหม่ภายหลัง คือ ตอนที่ว่าด้วยชนชาติฝรั่งหลายชาติซึ่งยังไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า อเมริกัน ก็เพิ่งเกิดขึ้นครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะฝรั่งช่างทำแผนที่คนหนึ่งไปทำแผนที่ให้ปรากฏรู้ได้ชัดว่าเป็นทวีปหนึ่งต่างหาก มิใช่อินเดียฝ่ายตะวันตกอย่างที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงได้เรียกทวีปนั้นว่า อเมริกา นอกจากนี้ยังมีข้อความกล่าวถึงปืนใหญ่ซึ่งยังไม่มีในสมัยนั้นด้วย

ทำนองแต่ง

แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้ว บางตอนเป็นบทดอกสร้อยซึ่งแต่งเพิ่มเติมภายหลัง

ความมุ่งหมาย

เพื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมด้านประเพณีที่ปฏิบัติกันในสมัยสุโขทัย และเพื่อเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติตนแก่ข้าราชการฝ่ายใน

เรื่องย่อ

เริ่มต้นกล่าวถึงประเทศ ภาษา และชนชาติต่าง ๆ เช่น ชมพูประเทศ มัชฌิมประเทศ ปัจจันตประเทศ และสิงหลประเทศ แบ่งเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น มคธพากย์ สยามพากย์ หริภุญชัยพากย์ กัมพุชพากย์ และกล่าวถึงชนชาติต่าง ๆ เช่น ไทย ลาว เขมร พม่า รามัญ และมะริกัน (อเมริกัน) ต่อจากนั้นยอพระเกียรติพระร่วงเจ้าและสภาพความเป็นอยู่ของสุโขทัย ประวัตินางนพมาศตั้งแต่เยาว์วัย การศึกษา การเข้ารับราชการ ความดีความชอบในขณะรับราชการ โดยประดิษฐ์โคมรูปดอกบัว พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง และพานดอกไม้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย บรรยายถึงคุณธรรมของนางสนม ตลอดจนพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน พระราชพิธีจรดพระนังคัล

คุณค่าของวรรณคดี

หนังสือเรื่องนางนพมาศให้ความรู้ทางขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นหลักฐานสำคัญ ในการทรงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการแสดงให้เห็นศิลปะการช่างสตรี เช่น การประดิษฐ์โคมลอย การจัดดอกไม้ หนังสือนี้เชื่อกันว่าได้มีการดัดแปลงแต่งเติมภาษาและสำนวนผิดแผกไปจากของเดิมเป็นอันมาก