ทักษะการตัดสินใจมีกี่ขั้นตอน

ทักษะการตัดสินใจ อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไปที่เราต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และด้วยความที่การตัดสินใจเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนเรามากที่สุด บ่อยครั้งเราจึงละเลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะนี้เท่าที่ควร

ทั้งที่การตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพนั้น อาจสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งได้ตลอดกาลเลยทีเดียว สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการสร้างทักษะชีวิตให้ลูก นอกจากเรื่องของความรู้และวิชาชีพแล้ว ทักษะการตัดสินใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่วัยรุ่นควรมีโอกาสได้ฝึกฝนก่อนออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง

บทความนี้ StarfishLabz พาพ่อแม่ผู้ปกครองทำความรู้จักกับทักษะการตัดสินใจว่ามีความสำคัญอย่างไร และจะนำมาฝึกสอนวัยรุ่นได้อย่างไรบ้าง

ความสำคัญของทักษะการตัดสินใจ

มีการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่า ผู้ที่สามารถประเมินสถานการณ์และตัดสินใจได้ดีจะมีโอกาสยิ่งขึ้นที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นการฝึกฝนทักษะตัดสินใจให้แก่เด็กๆ ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี สำหรับเด็กเล็กๆ พ่อแม่อาจเริ่มจากการให้ลูกได้เลือกระหว่างสองสิ่งง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน จนเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น สถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตมักทำให้ลูกต้องตัดสินใจมากขึ้นโดยปริยาย

ทุกๆ ครั้งที่วัยรุ่นมีโอกาสได้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิต พวกเขาก็จะได้เรียนรู้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจนั้นๆ ที่อาจมีทั้งประสบความสำเร็จและผิดพลาด ทุกๆ ครั้งของการตัดสินใจคือประสบการณ์ที่วัยรุ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตต่อไปได้ 

ดังนั้นทักษะการตัดสินใจจึงจำเป็นในแง่ที่ว่า วัยรุ่นจะได้เรียนรู้ว่าทุกการตัดสินใจ จะส่งผลต่อชีวิตของเราและคนรอบข้างด้านใดด้านหนึ่งเสมอ หากเราตัดสินใจถูกต้องผลกระทบด้านลบอาจจะน้อย แต่หากตัดสินใจผิดพลาด ก็อาจต้องเผชิญกับปัญหาที่ตามมา ซึ่งก็ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาต่อไป 

ซึ่งหากได้ฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ได้ เพราะความผิดพลาดจากการตัดสินใจในวัยรุ่น อาจไม่ส่งผลกระทบมากเท่ากับความผิดพลาดจากการตัดสินใจเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วนั่นเอง 

แบบไหนที่เรียกว่าการตัดสินใจที่ดี

สำหรับผู้ใหญ่เรื่องบางเรื่องในชีวิต เราก็ไม่มีทางรู้ว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีหรือไม่ จนกว่าจะได้ตัดสินใจไปแล้ว แต่สำหรับวัยรุ่น การตัดสินใจเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ช่วยก็อาจชี้ให้ลูกเข้าใจได้ว่าการตัดสินใจที่ดีคืออะไร

โดยทั่วไปการตัดสินใจที่ดี คือ การตัดสินใจที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง และคนรอบข้าง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ตัดสินใจ เปิดใจกว้างมองความจริงรอบด้านอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช้อคติส่วนตัวในการตัดสินใจ มีการค้นคว้าหาข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อประกอบการตัดสินใจ 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพ่อแม่ให้วัยรุ่นเลือกระหว่าง A) ทำการบ้านให้เสร็จ แล้วค่อยออกไปหาเพื่อน กับ B) ออกไปหาเพื่อนก่อน แล้วค่อยกลับมาทำการบ้าน แน่นอนว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ รู้ดีว่าข้อ A) คือการตัดสินใจที่ดี เพราะการบ้านเป็นหน้าที่ที่ลูกต้องรับผิดชอบทำให้สำเร็จ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาตามมา 

แต่สำหรับวัยรุ่น หากพวกเขาตัดสินใจด้วยอคติ เพราะอยากไปหาเพื่อนมากกว่า พวกเขาก็จะเลือก B) โดยมีข้ออ้างต่าง ๆ นานา ๆ เช่น ถ้ารอจนทำการบ้านเสร็จก็อาจไม่ได้ไปหาเพื่อนเพราะดึกเกินไป แต่ในทางกลับกัน หากไปหาเพื่อนจนดึก กลับมาก็อาจเหนื่อยจนทำการบ้านไม่เสร็จก็เป็นได้

นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ของการตัดสินใจที่ดี ซึ่งพ่อแม่สามารถให้คำแนะนำลูกวัยรุ่นได้ 

ทักษะการตัดสินใจ พ่อแม่สอนลูกได้อย่างไรดี

1. ระบุสิ่งที่ต้องตัดสินใจ 

ช่วยให้วัยรุ่นชัดเจนในสิ่งที่พวกเขาต้องตัดสินใจ เพื่อให้พวกเขาเลือกตัวเลือกที่เหมาะสม ควรรอเวลาที่ลูกอยู่ในอารมณ์สงบ ที่จะสามารถให้ความคิดเชิงเหตุผลได้เต็มที่ พ่อแม่อาจเริ่มจากบอกให้ลูกเข้าใจว่าสมองของวัยรุ่นทำงานอย่างไร และการใช้อารมณ์เป็นหลักในการตัดสินใจจะส่งผลอย่างไรบ้าง ช่วยให้ลูกระบุอารมณ์และแยกแยะความรู้สึกออกจากข้อเท็จจริง ด้วยการถามคำถามเหล่านี้

  • ตอนนี้ลูกรู้สึกอย่างไร
  • ลูกมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าในเรื่องใดบ้าง (ความรู้สึกแรงกล้า อาจทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าความรู้สึกนั้นเป็นความจริง) 
  • เมื่อไรที่ลูกรู้ตัวว่ารู้สึกเช่นนี้

เมื่อแยกความรู้สึกออกจากข้อเท็จจริงได้แล้ว พ่อแม่อาจช่วยให้ลูกชัดเจนในสิ่งที่ต้องตัดสินใจด้วยการถามคำถามเหล่านี้

  • ปัญหาอะไรที่ลูกต้องการแก้ไข
  • เป้าหมายของลูกคืออะไร
  • ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่ลูกคาดหวังไว้คืออะไร

2. ระดมทางเลือก

ชวนลูกระดมสมองถึงทางเลือกต่างๆ ให้ได้มากที่สุดก่อนทำการตัดสินใจเรื่องใดๆ บ่อยครั้งวัยรุ่นมักคิดว่า ในแต่ละสถานการณ์มีตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น เช่น ปัญหาหนึ่ง ๆ มีทางแก้ปัญหาเพียงวิธีเดียว ทั้งที่ความจริงแล้วปัญหาเดียวกัน แต่วิธีการแก้ปัญหาก็อาจแตกต่างกันไปได้ 

พ่อแม่ควรชวนให้ลูกใช้ความคิดสร้างสรรค์ หลังจากนั้นให้ลูกวิเคราะห์ผลดี-ผลเสีย ของแต่ละทางเลือก โดยไม่ด่วนตัดสินแทนลูก แม้ว่าบางข้ออาจดูไม่เข้าท่าสำหรับคุณก็ตาม เพราะในขั้นตอนระดมความคิดไม่มีอะไรผิดถูก หากพ่อแม่คอยทัก วิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลาก็อาจทำให้ลูกไม่กล้าคิดอะไรใหม่ๆ หากพ่อแม่รู้สึกว่าบางข้อไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก อาจลองใช้วิธีตั้งคำถามเพื่อให้ลูกได้ทบทวนและค้นพบปัญหาในทางเลือกนั้นๆ ด้วยตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากลูกคิดว่าทางเลือกของการหารายได้พิเศษ คือดรอปเรียนแล้วออกมาหางานทำ ลองตั้งคำถามชวนคิดกับลูกว่า “หากเลือกทางเลือกนี้ลูกคิดว่าชีวิตอีกสองปีข้างหน้าของลูกจะเป็นอย่างไร” และ “ลูกคิดว่าชีวิตของลูกจะเป็นอย่างไรสองปีจากนี้หากลูกเลือกที่จะเรียนต่อ” 

3. ตัดสินใจ

ให้เวลาลูกวัยรุ่นได้คิด วิเคราะห์และประเมินผลดี-ผลเสียของทางเลือกต่างๆ โดยอาจเริ่มจากค่อยๆ ตัดทางเลือกที่มีผลเสียมากๆ ออกไป จนเหลือทางเลือกที่ดีที่สุด 3 อันดับ ในขั้นตอนนี้ควรให้ลูกได้ลองเลือกด้วยตัวเอง แต่หากพ่อแม่ต้องการแสดงความคิดเห็น ควรขออนุญาตลูกก่อน ว่าพ่อแม่อยากเสนอแนะสักหน่อย แต่ปล่อยหน้าที่การตัดสินใจให้เป็นของลูกเอง ทั้งนี้สิ่งที่ลูกควรคำนึงถึงในขั้นตอนการตัดสินได้ ได้แก่

  • ทางเลือกนี้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้หรือไม่
  • เป็นทางเลือกที่ซื่อสัตย์และยุติธรรมใช่หรือไม่
  • ทางเลือกนี้จะสร้างปัญหาให้คนอื่นหรือเปล่า
  • ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยหรือไม่

อธิบายให้ลูกฟังว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกทางไหน ย่อมมีผลลัพธ์บางอย่างตามมาและลูกต้องรับผิดชอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของลูกเอง ในฐานะพ่อแม่ควรมั่นใจว่าลูกจะสามารถรับมือกับผลลัพธ์การตัดสินใจของพวกเขาได้ ดังนั้นก่อนให้ลูกตัดสินใจเรื่องใดๆ ควรคำนึงถึงความพร้อมของลูกประกอบด้วย

เมื่อวัยรุ่นรับมือกับผลลัพธ์ได้ดี ควรกล่าวคำชม เพื่อให้กำลังใจและสร้างความมั่นใจให้ลูก แต่หากคุณไม่ชอบการตัดสินใจของลูก พยายามอย่าเข้าไปแทรกแซง เว้นแต่ว่าการตัดสินใจนั้นอาจทำให้เกิดอันตรายต่อลูกหรือคนรอบข้าง การที่ลูกได้มีโอกาสตัดสินใจโดยเข้าใจถึงผลกระทบที่ตามมา ช่วยให้วัยรุ่นได้เรียนรู้จากประสบการณ์และฝึกรับผิดชอบผลจากการตัดสินใจของตนเอง

4. สะท้อนผลลัพธ์

การสะท้อนผลลัพธ์จากการตัดสินใจของลูกที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนล้ำค่า หาเวลาเหมาะๆ นั่งคุยกับลูก ว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากการตัดสินใจแต่ละครั้ง ด้วยการถามคำถามต่อไปนี้

  • ลูกได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้าง
  • อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับลูก
  • สิ่งที่ยากในการตัดสินใจคืออะไร
  • สิ่งที่ง่ายที่สุดจากการตัดสินใจคืออะไร
  • ครั้งต่อไปจะตัดสินใจแบบเดิมหรือไม่ เพราะอะไร
  • หากต้องตัดสินใจอีก ครั้งหน้าจะทำอะไรที่ต่างไปจากเดิมหรือไม่

สุดท้ายแล้ว อย่าลืมชื่นชมความกล้าที่จะตัดสินใจของวัยรุ่น ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เพราะการตัดสินใจเป็นเรื่องยาก แม้กระทั่งสำหรับผู้ใหญ่ การทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ชื่นชมในตัวพวกเขา จะทำให้ลูกกล้าที่จะตัดสินใจแม้เผชิญเรื่องยากลำบากก็ตาม