ปัญหาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2565

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา สภากรุงเทพมหานคร กทม.2 ดินแดง

สำหรับในวันนี้ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตยานนาวา ได้เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในทางปฏิบัติ ที่นายทุนมีช่องว่างหลบเลี่ยง ในขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน และนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งญัตติทั้งสองมีรายละเอียดเดียวกันสภากทม.จึงมีมติเห็นชอบให้รวมญัตติ และเปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและแนวทางการเสียภาษีของผู้ถือครองที่ดิน เพื่อให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม สอดคล้องกับกฎหมายผังเมืองรวม และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาฯ จำนวน 21 ท่าน

นายพุทธิพัชร์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ถูกนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นต้นมา ตั้งแต่มีการจัดเก็บพบปัญหาในทางปฏิบัติ ที่นอกจากจะทำให้การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังพบความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ในปี พ.ศ.2562 เป็นปีสุดท้ายที่มีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ โดยในปีดังกล่าวสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว น่าจะสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินได้เพิ่มขึ้นจากที่ดินรกร้างแปลงต่างๆ ที่ถูกครอบครองโดยนายทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ได้มีการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ในปี พ.ศ.2564 ที่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในอัตราร้อยละ 10 พบว่าจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้ทั้งสิ้น 1,800 ล้านบาท จึงคาดการณ์ได้ว่าในปีถัดไป น่าจะมีการจัดเก็บภาษีที่ดินได้ไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรุงเทพมหานครกลับประมาณการในการจัดเก็บภาษีที่ดินไว้เพียง 7,710 ล้านบาทเท่านั้น ต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นถึง 10,290 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักเชื่อว่าเกิดจากการที่นายทุนอสังหาริมทรัพย์ ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย แบ่งซอยที่ดินเป็นเส้นเพื่อให้ที่ดินมีหน้ากว้างที่แคบ ทำให้ราคาประเมินต่ำลง และผ่องถ่ายให้กับบริษัทลูกถือครอง รวมทั้งมีการนำเอาพืชล้มลุก เช่น กล้วยหอมและมะนาว มาปลูกเพื่ออ้างว่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ทั้งที่ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในผังเมืองพาณิชยกรรม ซึ่งไม่เหมาะต่อการทำเกษตรกรรม พฤติกรรมเหล่านี้นับวันมีแต่จะทำให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลทำให้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและการพัฒนาเมืองเป็นไปด้วยความจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีของนายทุนอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังพบปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป และประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้น้อยอีกด้วย โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนที่เช่าที่ดินจากวัด หรือมูลนิธิต่างๆ โดยวัด หรือมูลนิธิต่างๆ ไม่ได้คิดค่าเช่าในอัตราที่สูงนัก ด้วยความที่เป็นการเช่าที่ดินแปลงใหญ่ และให้ชุมชนจัดสรรกันเองผ่านกลไกสหกรณ์ เมื่อคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องชำระแล้ว พบว่าภาษีที่ดินฯ ที่ต้องชำระนั้นมีมูลค่าที่สูงมาก ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยต้องแบกรับภาษีที่ดินเพิ่มขึ้น เป็นการรีดเลือดจากปู นายทุนใหญ่เสียภาษีที่ดินถูกลง แต่คนจนกลับต้องถูกรีดภาษีเพิ่มขึ้น ปัญหาดังกล่าวนี้ หากไม่มีการรวบรวมปัญหาและศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขอย่างเป็นระบบจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครทวีความรุนแรงขึ้น

"ยานนาวาเป็นพื้นที่ที่ไม่มีโรงพยาบาล สถานีตำรวจ และโรงพยาบาลในพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภคไม่มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่มีรายได้น้อย ในส่วนของภาษีที่ดินฉบับนี้ ทำให้คนจนจ่ายภาษีที่ดินที่แพงขึ้น กฎหมายกำลังไล่คนจนออกจากที่อยู่เดิมหรือไม่ ผลประโยชน์ของภาครัฐต้องยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชน จึงควรตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ" นายพุทธิพัชร์ กล่าวว่า

นายสุทธิชัย กล่าวว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีจากการถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งมีการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่ โดยมีเจตนารมณ์พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นระบบภาษีทรัพย์สินอย่างแท้จริง กระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมแก่บุคคลผู้เสียภาษีให้มีความเท่าเทียมกัน โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 ให้ใช้อัตราภาษีตามประเภทการใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม 2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย 3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจาก 1. หรือ 2.และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

ซึ่งที่ดินแต่ละประเภทจะมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันออกไปตามมูลค่าของฐานภาษี และเนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดคำนิยามคำว่า "เกษตรกรรม" ไว้ ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถือครองที่ดินใช้ช่องทางหลบเลี่ยงภาษี โดยการปลูกต้นกล้วยหรือมะนาว เพื่อให้เป็นที่ดินทำการเกษตรกรรมและเสียภาษีที่ดินในอัตราที่ต่ำ ส่งผลให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีได้น้อยลง นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังกระทบกับประชาชนที่มีรายได้น้อยแต่มีที่ดินที่เป็นทรัพย์สินเพื่อให้ครอบครัวได้ใช้สอยตามสมควรแก่ฐานะ ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถในการชำระภาษีที่ดินที่เพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งประชาชนที่เช่าที่ดินของวัดเพื่ออยู่อาศัยหรือค้าขายถูกปรับเพิ่มค่าเช่าสูงขึ้น เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งจากการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ตามนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายเส้นทางเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาโครงข่ายการจราจรที่เชื่อมกับจังหวัดปริมณฑลไปสู่ภูมิภาคต่างๆ การพัฒนาโครงการของภาคเอกชนในหลายพื้นที่ ซึ่งหากกรุงเทพมหานครปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการใช้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย การขยายเมืองตามแนวโครงข่ายคมนาคม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการปรับโครงสร้างภาษีของกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้น

"ช่วงโควิด-19 ระบาด และราคาสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจำนวนมาก การนำพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในผังเมืองของเกษตรกรรมมาปลูกพืชเพื่อเลี่ยงภาษี การจัดส่งจดหมายแจ้งเตือนของเขตล่าช้า ไม่ถูกต้อง ทำให้เจ้าของที่ดินไม่รับทราบและต้องเสียค่าปรับจำนวนมาก ก็เป็นสิ่งที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และยังมีประชาชนที่ได้รับมรดกจำนวนมาก แต่ไม่มีเงินที่จะจ่ายภาษี ทำให้ถูกบังคับขายที่ดินราคาถูกให้กับนายทุน ผู้บริหารกทม.ควรมีแนวทางในการผ่อนปรนและลดความเดือดร้อนของประชาชนจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บรายได้ของ กทม.รวมถึงการพิจารณาปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนไม่ถูกลิดรอนสิทธิ อาทิ แนวร่นพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน และคลองต่างๆ เห็นด้วยกับ ส.ก.พุทธิพัชร์ ที่เล็งเห็นความเดือดร้อนของประชาชนร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าส.ก.ที่มาจากต่างพรรค ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน" นายสุทธิชัย กล่าว

จากนั้น ส.ก.ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนทั้ง 2 ญัตติ ประกอบด้วย นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แต่พบว่านักธุรกิจหลายคนที่ไม่ได้ทำอาชีพการเกษตรใช้ช่องว่างของกฎหมาย เพื่อให้ฐานของภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งถือว่าเป็นเกษตรกรจอมปลอม ผู้ว่าฯ กทม.ควรดำเนินการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมในสังคม นายเอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผู้เช่าหอพักในพื้นที่ เนื่องจากเจ้าของที่ดินต้องจ่ายภาษีที่ดินเพิ่มขึ้นจึงต้องขึ้นค่าเช่า อยากให้ผู้ว่าฯสร้างเมืองที่คนเท่ากันและให้เกิดความเป็นธรรมใน กทม. นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา กล่าวว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่เอาเกษตรกรรมมาอยู่ในเมืองหลวง เจ้าของที่ดินสามารถยกที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ฝ่ายบริหารควรมีการปรับเพิ่มภาษีที่ดินให้เหมาะสม ซึ่งส.ก.พร้อมจะสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายผ่านกลไกสภากทม.เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวว่า หลักการจัดเก็บภาษีที่ดี คือ เป็นธรรม เต็มใจจ่ายและไม่หลีกเลี่ยงภาษี ภาษีจัดเก็บน้ำเสียหากเร่งดำเนินการจะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการห้างร้านหลายแห่งเริ่มมีรายได้มากขึ้น นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายใหม่ มีการเลี่ยงภาษีหลายอย่าง อาทิ ภาษีโรงเรือนของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งปล่อยพื้นที่ให้เช่า การเก็บภาษีที่เป็นธรรมต้องเก็บภาษีตามสีของผังเมือง เนื่องจากราคาประเมินต่อตารางวาที่ต่างกัน โดยเฉพาะคนที่ได้มรดกและต้องชำระเพิ่มขึ้นหลายเท่า หากไม่ชำระต้องถูกฟ้องเพื่อบังคับคดี จำเป็นต้องขายที่ดินแปลงใหญ่เพื่อชำระภาษี และผู้ที่จะซื้อที่ดินแปลงใหญ่ได้คือนายทุน หากผู้บริหารศึกษาและแบ่งผู้ที่ต้องเสียภาษีออกเป็นกลุ่ม น่าจะเป็นธรรมกับประชาชนที่ต้องเสียภาษีมากพอสมควร นอกจากนี้ นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติของ ส.ก.ทั้งสองท่านด้วย

ปัญหาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2565

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะภาษีที่ดินเป็นรายได้หลักของ กทม.มีการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ซึ่งประมาณการไว้ 7,500 ล้าน เก็บได้จริงประมาณ 14,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม พบว่าปัญหามีหลายประเด็นที่ต้องเสนอรัฐบาล เพราะ กทม.จัดเก็บตามที่รัฐบาลสั่งให้เก็บ สามารถปรับได้แต่ไม่เกินกรอบที่รัฐบาลกำหนด และพบว่าในหลายพื้นที่มีเกษตรกรตัวจริงมาก ปัญหาคือจะแยกเกษตรกรตัวจริงและตัวปลอมอย่างไร รวมทั้งภาษีอาคารทำให้ผู้เช่าไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย มีหลายประเด็นที่ไม่เป็นธรรม หลายจุดต้องทำเป็นข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ต้องขอบคุณสภากรุงเทพมหานครที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเป็นรายได้หลักของ กทม.

ปี2565ต้องเสียภาษีที่ดินไหม

ยกเว้นภาษีที่ดินให้กับบุคคลธรรมดาที่มีที่ดินที่ใช้ทำเกษตรกรรม ซึ่งในปี 2565 จะเป็นปีสุดท้ายที่ยกเว้นทั้งหมด โดยในปี 2566 จะเริ่มยกเว้นแค่ 50 ล้านบาทแรกเท่านั้น

ภาษีสิ่งปลูกสร้าง 2565 คิดยังไง

สูตร : ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี โดยมูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) - ค่าเสื่อมราคา

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2565 เสียที่ไหน

ชำระภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างได้ที่ไหน ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ เครื่องเอทีเอ็ม (ATM) ของธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ บัตรเครดิตประเภท Visa และ Master ของธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่ง หรือบัตรกรุงไทยวีซ่าเดบิต ทำรายการชำระเงินข้ามธนาคารด้วย Barcode หรือ QR Code.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2565 คืออะไร

ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว มีหน้าที่ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา ดังนี้ 0-50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี 50-75 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.03% หรือคิดเป็นล้านละ 300 บาท 75-100 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.05% หรือคิดเป็นล้านละ 500 บาท