มาตรา 40 4 ข เงินได้จากเงินปันผล/เงินส่วนแบ่งกําไรจากกองทุนรวม

พี่หนอมครับ ผมอยากได้สรุป
เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม

แฟนเพจ TAXBugnoms ท่านหนึ่ง

ถ้าพูดถึงคำว่า “เงินปันผลจากกองทุนรวม” และ “กำไรจากการขายกองทุนรวม” ขึ้นมา ผมเชื่อว่าทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นสิ่งที่ใครหลายคนที่ตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมคาดหวังว่าจะได้รับ หรือเรามักจะเรียกรวม ๆ ว่า “ผลตอบแทนจากการลงทุน” นั่นเอง

“เงินปันผล” และ “กำไรจากการขาย” ที่นักลงทุนได้รับจากกองทุนรวม

แต่ก่อนที่จะอธิบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม ผมขอชวนทุกคนมาเริ่มต้นจากนิยามผลตอบแทนจากการลงทุนทั้ง 2 ตัวที่ว่านี้ให้ชัดเจนกันก่อนครับ นั่นคือ

เงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนรวม หมายถึง ส่วนแบ่งกำไรที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการดำเนินงานของกองทุนรวมนั้น ๆ โดยแบ่งจ่ายให้กับนักลงทุนในแต่ละคราวตามนโยบายการจ่ายปันผลของกองทุนรวม ซึ่งจะต้องมีการระบุนโยบายการจ่ายเงินปันผลนี้ไว้ในหนังสือชี้ชวนครับ

กำไรจากการขายกองทุนรวม หรือ กำไรจากการขายหน่วยลงทุน หมายถึง ส่วนเกินที่เราได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวม โดยจะเกิดขึ้นเมื่อกองทุนรวมมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิมากขึ้น ก็จะทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนของเรามากขึ้นตามไปด้วยครับ

ยกตัวอย่างเช่นนายบักหนอมซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม TAXBugnoms (ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล) ไว้จำนวน 10,000 บาท ในราคา 10 บาทต่อหน่วย (คิดเป็นหน่วยลงทุนทั้งสิ้น 1,000 หน่วย) เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าของกองทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 11 บาทต่อหน่วย (คิดเป็นมูลค่า 11,000 บาท) ถ้าหากนายบักหนอมตัดสินใจขายหน่วยลงทุนทั้งหมดทันที แบบนี้เท่ากับว่านายบักหนอมจะมีกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมจำนวน 1,000 บาท หรือ กำไร 1 บาทต่อหน่วยนั่นเอง

มาตรา 40 4 ข เงินได้จากเงินปันผล/เงินส่วนแบ่งกําไรจากกองทุนรวม

แต่ถ้าหากนายบักหนอมตัดสินใจถือต่อไปโดยที่ไม่ขาย แต่รอจนกว่ากองทุนรวม TAXBugnoms ประกาศจ่ายเงินปันผลจำนวน 0.5 บาทต่อหน่วยลงทุนแทน แบบนี้นายบักหนอมจะได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมจำนวน 500 บาทนั่นเองครับ

มาตรา 40 4 ข เงินได้จากเงินปันผล/เงินส่วนแบ่งกําไรจากกองทุนรวม

อย่างไรก็ดี ถ้าหากกองทุนรวม TAXBugnoms เป็นกองทุนที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ย่อมแปลว่านายบักหนอมจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนทางเดียว คือ กำไรจากการขายหน่วยลงทุน นั่นเองครับ

นี่คือความหมายเบื้องต้นของผลตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าผลตอบแทนจากการลงทุนแบบนี้ ย่อมถือเป็นเงินได้ของนายบักหนอม แต่จะเสียภาษีหรือไม่และจะเสียแบบไหนยังไงนั้น ย่อมอยู่ที่หลักการของกฎหมายในการคิดภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมนี่แหละครับ

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม

เมื่อเราแยกผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนรวมออกเป็น 2 ประเภทเรียบร้อยแล้ว เราจะมาพิจารณาในส่วนของภาษีกันบ้างครับ โดยผมขอย้ำหลักการที่สำคัญของเงินได้ที่ใช้คำนวณภาษีสั้นๆ อีกทีหนึ่งว่า เงินได้จะต้องเสียภาษีก็ต่อเมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิยกเว้นไว้ ซึ่งแต่ละตัวนั้นมีแนวทางดังนี้ครับ

เงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนรวม

โดยปกติแล้วเมื่อได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม เราจะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินปันผลที่กองทุนจ่ายทันที อย่างเช่นตัวอย่างก่อนหน้านี้ ถ้าหากนายบักหนอมได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม TAXBugnoms จำนวน 0.5 บาทต่อหน่วยลงทุน แปลว่านายบักหนอมจะได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมจำนวน 500 บาท แต่จะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ 50 บาท และได้เงินสุทธิ คือ 450 บาท

ทางเลือกในการเสียภาษีเมื่อได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม

เมื่อได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม นักลงทุนจะมีทางเลือก 2 ทางครับ นั่นคือ เลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบไว้ (เรียกว่า Final TAX) และไม่ต้องนำมายื่นคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี หรือ นำมายื่นคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีและนำภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้

มาตรา 40 4 ข เงินได้จากเงินปันผล/เงินส่วนแบ่งกําไรจากกองทุนรวม

อย่างเช่นตัวอย่างเมื่อกี้ (อีกแล้ว) นายบักหนอมจะเลือกเสียภาษี 50 บาทและได้เงินสุทธิ 450 บาทแล้วไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม หรือจะเลือกนำเงินปันผลจำนวน 500 บาทไปยื่นคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี เมื่อได้จำนวนภาษีเท่าไรก็ให้เอา 50 บาทที่ถูกหักไว้มาหักออกแล้วจ่ายเพิ่มหรือขอคืนส่วนที่เหลือนั่นเอง ซึ่งในแต่ละทางเลือกนั้น ต้องพิจารณาจาก ประเภทของกองทุนรวม ที่มีการจ่ายเงินปันผลนั่นเองครับ

ประเภทกองทุนรวมกับสิทธิในการเลือกเสียภาษี

เนื่องจากกฎหมายมีกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับกองทุนรวมแต่ละประเภทแตกต่างกัน และในปัจจุบัน พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52 ได้แก้ไขให้กองทุนรวมเกือบทั้งหมดในประเทศไทยมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินปันผลจากกองทุนรวม ผู้ที่ได้รับเงินปันผลจะต้องถือเป็นเงินได้ประเภท 40(4)(ข) แทนประเภท 40(8) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

จากการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้สิทธิในการเลือกเสียภาษีของกองทุนรวมนั้นมีสถานะเทียบเท่ากับการเป็นไปตามมาตรา 48(3) วรรคท้ายที่ให้สิทธิในการเลือกจ่ายแล้วจบแบบ Final TAX เหมือนกับเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นนั่นเองครับ

ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่ได้รับ จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะ ของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม 

แต่อย่างไรก็ดี ยังมีกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่นักลงทุนได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเมื่อได้รับเงินปันผล นั่นคือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund หรือ IF) ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินปันผลเป็นเวลา 10 ปีภาษี นับตั้งแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนตั้งกองทุนรวม และค่อยกลับมาหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เหมือนกับกองทุนรวมตามปกติเมื่อเข้าสู่ปีที่ 11 เป็นต้นไป

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่เริ่มงง ผมมีสรุปให้ดูตามตารางด้านล่างนี้ครับ

ตารางสรุปทางเลือกเงินปันผลที่ได้รับ
จากกองทุนรวมแต่ละประเภท

มาตรา 40 4 ข เงินได้จากเงินปันผล/เงินส่วนแบ่งกําไรจากกองทุนรวม

สำหรับใครที่ไม่แน่ใจ หรืออยากรู้ว่าเงินปันผลจากกองทุนรวมที่เราได้รับนั้นเป็นเงินได้ประเภทไหนตามกฎหมาย ผมแนะนำให้สังเกตที่เอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้รับเมื่อมีการจ่ายปันผลนี่แหละครับ เพราะจะระบุไว้ชัดเจนแน่นอนว่าเป็นเงินได้ประเภทไหน ตามมาตราอะไร และหักภาษีไว้กี่ % เพื่อที่เราจะได้เอามายื่นภาษีได้อย่างถูกต้องครับ

ทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ได้รับเงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม

จากการบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52 ทำให้เงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวมถือเป็นเงินได้ประเภทเดียวกัน หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเลือกยื่นเงินปันผลประเภทใดประเภทหนึ่งได้เหมือนเมื่อก่อน

ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะได้รับคำแนะนำว่าเลือกยื่นเฉพาะเงินปันผลที่เราได้รับจากหุ้นเพียงอย่างเดียว เพราะได้รับสิทธิ เครดิตภาษีเงินปันผล แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะกลายเป็นว่าถ้าเราเลือกยื่นเงินปันผลจากหุ้น เราต้องนำเงินปันผลจากกองทุนรวมมาถือเป็นรายได้เพื่อยื่นภาษีรวมกันด้วย ซึ่งเงินปันผลกองทุนรวมจะไม่ได้รับสิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล

https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/4013461888679197

ดังนั้น แนวทางในการพิจารณาว่า ควรจะยื่นเงินปันผลจากหุ้นหรือกองทุนรวมดีไหม? หรือควรจะเลือกใช้สิทธิแบบ Final TAX ดี อันนี้ต้องบอกตรง ๆ เลยครับว่า คำแนะนำของผม คือ เราทำอะไรไม่ได้นอกจากลองคำนวณดูก่อนว่าแบบไหนคุ้มค่าครับ

ถ้าหากใครที่ต้องการจะยื่นภาษีตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยมีเงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวมทั้งคู่ ผมอยากให้ลองกรอกรายการให้ครบถ้วน (เลือกใช้สิทธิคำนวณภาษี) แล้วดูว่ายอดภาษีที่เสียมันลดลงไหมหรือว่าได้คืนหรือเปล่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สิทธิหัก ณ ที่จ่ายแล้วจบอย่าง Final TAX ถ้าเราพบคำตอบว่าแบบไหนที่ได้รับสิทธิคุ้มค่ากว่า ก็ให้เลือกแบบนั้น น่าจะง่ายที่สุดครับ

https://youtu.be/hLdBRlRdjxc

กำไรที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน

สำหรับเรื่องนี้ พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52 ได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาครับ โดยกำหนดให้ เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ช) โดยยกเลิกส่วนที่เคยให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตามมาตรา 42 (23)

หรือพูดง่ายๆคือ กำหนดให้ กำไรจากการขาย (หน่วยลงทุน) กองทุนรวมถือเป็นเงินได้ตามกฎหมายที่มีประเภทของเงินได้รองรับไว้อย่างชัดเจน แตกต่างจากเดิมที่เคยตีความว่าเป็นเงินได้ประเภทอื่น (หรือเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8)

มาตรา 40 4 ข เงินได้จากเงินปันผล/เงินส่วนแบ่งกําไรจากกองทุนรวม

แต่การกำหนดให้กำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเป็นรายได้ตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่มีกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมจะเสียภาษีทันทีนะครับ เพราะว่าเราต้องมาดูกันต่อว่า กำไรจากการขายกองทุนรวมที่ว่านั้นมีกฎหมายยกเว้นไว้อยู่หรือเปล่า โดยพิจารณาว่าผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมนั้นเป็นใคร บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล และกฎหมายที่ยกเว้นไว้แต่เดิมนั้น มันมีอะไรบ้าง

ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่เป็นนักลงทุนอย่างเรา ถ้าลองดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะพบว่า ในกรณีที่เป็น กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ไว้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ (32) ข้อ (65) และข้อ (67) ที่ครอบคลุมกองทุนทุกประเภทซึ่งรวมถึง LTF SSF และ RMF ด้วย ดังนี้

(32) เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว สำหรับหน่วยลงทุนที่ได้ซื้อมาก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อการออมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์”
(65) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(67) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เงินหรือ ผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตาม (66) และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนทุกคน ในกรณีกำไรจากการขายหน่วยลงทุนนี้ สบายใจได้หายห่วงครับ เพราะถ้าหากเราเป็นนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา กำไรจากการขายของเรายังมีสิทธิยกเว้นตามกฎหมายอยู่ ในกรณีลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นันเองครับ

สรุป

โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นว่ากรณีที่เป็นนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมนั้น จะไม่ต้องห่วงในเรืองกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมสักเท่าไร เพราะถ้าหากเป็นกองทุนรวมทั่วไปที่จัดขึ้นตาม พรบ. ตลาดหลักทรัพย์แล้วล่ะก็ ยังไงก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี (เว้นแต่กรณีที่เป็นกองทุนลดหย่อนภาษี ย่อมมีเงื่อนไขที่ต้องถือให้ครบตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้)

มาตรา 40 4 ข เงินได้จากเงินปันผล/เงินส่วนแบ่งกําไรจากกองทุนรวม

แต่ในกรณีของเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนรวม ทางเลือกของนักลงทุนนั้นจะมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่สามารถเลือกใช้วิธีที่ง่าย ๆ โดยยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบ (Final TAX) ไปเลย หรือถ้ามองว่าไม่อยากเสียผลประโยชน์ 10% ของเงินปันผลที่ได้รับ ก็อาจจะใช้วิธีเลือกกองทุนรวมที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผล แล้วใช้วิธีขายหน่วยลงทุนบางส่วนออกมาแทน แบบนี้ก็ทำได้เช่นเดียวกันครับ ขึ้นอยุ่กับความพอใจของแต่ละบุคคล

ท้ายที่สุดแล้ว ผมอยากย้ำอีกทีว่า สิ่งที่สำคัญจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องของภาษีที่เราต้องพิจารณาเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของกองทุนที่เราเลือกด้วยว่า สามารถทำผลตอบแทนได้ดีอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า

เพราะการลงทุนที่ดีที่สุดนั้น
มันวัดที่ผลตอบแทนที่เราได้รับ

TAXBugnoms

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คือ นามปากกาของพรี่หนอม (ถนอม เกตุเอม) ผู้มีความเชื่อว่าภาษีเป็นเรื่องยาก แต่กลับชื่นชอบในการทำให้ภาษีกลายเป็นเรื่องเรียบง่าย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจในการใช้ชีวิต