นาฏศิลป์มีประโยชน์ต่อตัวนักเรียนอย่างไร

ความหมายและที่มาของนาฏศิลป์

 นาฏศิลป์ เป็นคำสมาส แยกเป็น 2 คำ คือ “นาฏ” กับคำว่า “ศิลปะ”

“นาฏ” หมายถึง การฟ้อนรำ หรือความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ นับแต่การฟ้อนรำพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น รำโทน รำวง ตลอดจนขึ้นไปถึงการฟ้อนที่เรียกว่า ระบำของนางรำ ระบำเดี่ยว ระบำคู่ ระบำชุม

“ศิลปะ” ได้แก่ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สร้างอย่างประณีต ดีงาม และสำเร็จสมบูรณ์ ศิลปะเกิดขึ้นด้วยทักษะ คือ ความชำนาญในการปฏิบัติ

ความเป็นมาของนาฏศิลป์

นาฏศิลป์ก็มีวิวัฒนาการมาจาการเอาชนะธรรมชาติเช่นเดียวกับศิลปะอื่น ๆ ซึ่งก็มีวิวัฒนาการเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 เมื่อมนุษย์เกิดอารมณ์อย่างใดก็แสดงอารมณ์นั้นออกมา เช่น ดีใจก็ตบมือ หัวเราะ เสียใจ ก็ร้องไห้

ขั้นที่ 2 เมื่อมนุษย์เจริญขึ้นรู้จักใช้กิริยาแทนคำพูดอย่างที่เรียกว่า “ภาษาใบ้” เช่น กวักมือเข้า หมายถึง ให้เข้ามาหา โบกมือออก หมายถึง ให้ออกไป

ขั้นที่ 3 ต่อมาพวกนักปราชญ์ได้ดัดแปลงกิริยาเหล่านี้ ประดิษฐ์ท่าทางใช้แทนคำพูดให้สวยงามแสดงความรื่นเริงสนุกสนาน โดยมีกฎเกณฑ์ส่วนสัดงดงามตรึงตาตรึงใจเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นตามยุคตามสมัยและความนิยม

ดังนั้นคำว่า “นาฏศิลป์” นอกจากจะหมายถึง การฟ้อนรำหรือระบำแล้วยังต้องถือเอาความหมายของการร้องและการบรรเลงเข้าร่วมด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่า

“นาฏศิลป์” หมายถึง ศิลปะการละครและฟ้อนรำ

นาฏศิลป์ประจำชาติไทย ได้แก่ โขน ละคร และระบำ ทั้ง 3 ประเภทนี้เป็นของที่มีมาแต่โบราณรักษาแบบแผนถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และได้ปรับปรุงให้ประณีตงดงามขึ้นตามลำดับ แม้ว่าแต่เดิมเราจะได้มาจากชาติอื่นก็ตามแต่ก็ได้รับการปรับปรุงจนเป็นรูปลักษณะของไทย และเข้ากับรสนิยมของคนไทยก็ถือว่าเป็นของไทย

ประโยชน์ในการศึกษาวิชานาฏศิลป์

ประโยชน์โดยทางตรง

ใช้เป็นวิชาชีพ ผู้ที่ศึกษาวิชานาฏศิลป์ อย่างจัดเจน ชำนิชำนาญ สามารถยึดเป็นอาชีพได้ เพราะในกิจกรรมต่าง ๆ วิชานาฏศิลป์เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่เสมอ

เป็นการบริหารร่างกายให้มีสุขภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะวิชานาฏศิลป์นั้น ในขณะฝึกหัดนัยว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างดีเยี่ยม ได้บริหารร่างกายทั่วทุกส่วน

ประโยชน์ทางอ้อม

 

ได้ชื่อว่าเป็นชาวไทยที่สมบูรณ์ รู้จักวัฒนธรรมของชาติตน การเรียนรู้วิชานาฏศิลป์ในปัจจุบัน ชาวต่างประเทศให้ความสนใจมาก ได้เข้ามาสนใจศึกษาค้นคว้า แต่พวกเราชาวไทยถ้าหากไม่สนใจแล้ว วัฒนธรรมในแขนงนี้ก็จะตกไปอยู่ในมือต่างชาติ ต่อไปเมื่อเราต้องการศึกษาก็คงจะต้องอาศัยข้อมูลจากพวกเขา แล้วอย่างนี้จะได้ชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมไทยได้อย่างไร พวกเราชาวไทยควรศึกษาศิลปวัฒนธรรมของเราเองไว้ให้ดี จะได้ชื่อว่าเป็นชาวไทยที่แท้จริง

มีจิตใจอ่านโยน นาฏศิลป์ช่วยให้ผู้เรียนมีจิตใจอ่อนโยน มีสติ และมีสมาธิที่ มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งรอบข้าง ซึ่งทำให้ผู้นั้นมีความสามารถในขณะปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้ผลมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นช่วยผ่อนคลายและความเครียดของจิตใจ ดังจะเห็นได้ว่า ศิลปินในแขนงนี้มีอายุยืนยาว มีสุขภาพดีเป็นส่วนมาก

ช่วยปรับปรุงบุคลิกภาพให้งดงามยิ่งขึ้น ผู้ที่เรียนนาฏศิลป์จะมีลักษณะพิเศษเห็นได้เด่นชัด อาทิ ขณะเวลานั่ง หรือ ยืน จะสง่างาม เพราะได้รับการฝึกฝนวิธีการนั่งยืนมาเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันเป็นผู้ที่รู้จักควบคุมอารมณ์ไม่ตื่นตระหนก และกล้าที่จะแสดงออก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นผลจากประสบการณ์ในการแสดงทั้งสิ้น

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนน้อย นาฏศิลป์ มีคุณประโยชน์ต่อผู้เรียนอเนกอนันต์ประการไม่สามารถนำมาบรรยายได้หมด บางอย่างเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด บางอย่างเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ ผู้ที่ศึกษาเท่านั้นจึงจะเห็นประโยชน์ พวกเราเยาวชนไทยผู้ซึ่งในอนาคตจะเป็นผู้ที่มีส่วนในการพัฒนาและบริหารประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง ควรจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและศึกษา ศิลปวัฒนธรรมทางด้านนาฏศิลป์ดนตรีให้คงอยู่คู่ชาติไทยสืบไป

 

 

สุนทรียภาพของการแสดงนาฏศิลป์

สุนทรียภาพ ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง ความงามในธรรมชาติหรืองานศิลปะ ที่แต่ละบุคคลสามารถเข้าใจและรู้สึกได้ หรือความเข้าใจและรู้สึกของแต่ละบุคคลที่มีต่อความงามในธรรมชาติหรืองานศิลปะซึ่งในที่นี้หมายถึง ความงามในงานศิลปะทางด้านการแสดงนาฏศิลป์

ในการศึกษาทางด้านสุนทรียภาพของการแสดงนาฏศิลป์นั้น เป็นไปตามหลักการทางสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับความรู้สึกในการรับรู้ความงาม ได้แก่ หลักเกณฑ์ด้านความงาม ลักษณะต่าง ๆ ของความงาม คุณค่าต่าง ๆ ของความงามและรสนิยม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาความเป็นอยู่ พฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์ ในด้านความรู้สึก การตอบสนองต่อสิ่งสวยงามและสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมวลชน โดยมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์โดยตรงที่สร้างความพอใจและมีผลต่อความรู้สึกเฉพาะตนตลอดจนมีการสอบสวน และเปิดเผยหลักเกณฑ์ความงามให้เห็นเด่นชัด ได้ด้วย

ดังนั้น การศึกษาด้านสุนทรียภาพของงานนาฏศิลป์จึงหมายถึง การศึกษาและพิจารณาในเรื่องการแสดงท่าทาง อากัปกิริยา การร่ายรำของศิลปะแห่งการละคร และการฟ้อนรำ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับดนตรีที่เป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้การแสดงนาฏศิลป์มีความสมบูรณ์จึงต้องนำความงามทางด้านดนตรีในการแสดงนาฏศิลป์มาพิจารณาร่วมกันด้วยทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาและประเมินค่าความงามของการแสดงนาฏศิลป์มีความถูกต้อง และครอบคลุมตามหลักการนาฏศิลป์ ตลอดจนเป็นไปตามหลักการทางสุนทรียศาสตร์ด้วย

นาฏศิลป์ไทย ประกอบด้วย ระบำ รำ ฟ้อน โขน และละคร ซึ่งเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า และมีรูปแบบของความงามหรือสุนทรียะ 3 ด้าน สุนทรียะทางวรรณกรรม สุนทรียะทางดนตรี และการขับร้อง และสุนทรียะทางท่ารำ ดังนี้

1. สุนทรียะทางวรรณกรรม หมายถึง ความงามทางตัวอักษร โดยเฉพาะคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ที่มีความงามทางตัวอักษรของกวีหรือผู้ประพันธ์ที่มีศิลปะในการใช้ถ้อยคำซึ่งก่อให้เกิดการโน้มน้าว ความรู้สึกในแง่ของคติสอนใจที่มีคุณประโยชน์ในการเสริมสร้างปัญญา โดยความงามของวรรณคดีประเภทร้อยกรองนั้นประกอบด้วย ความงามของเนื้อหาสาระและศิลปะการใช้ถ้อยคำ การเล่นคำ เล่นอักษร เล่นสระ และเล่นเสียง ให้มีรสสัมผัสนอกและสัมผัสใน เพื่อช่วยในการเสริมคุณค่าทางสุนทรียะของนาฏศิลป์ไทยิ่งขึ้น ดังพิจารณาได้จากบทร้อยกรองในวรรณคดีไทยเหล่านี้

ตัวอย่างวรรณคดี จากเรื่องอิเหนา ตอนลานางจินตรหรา ที่ให้สุนทรียะในด้านความรู้สึกและแง่คิดในด้านความรัก

โอ้ว่าอนิจจาความรัก                                       พึ่งประจักษ์ดังสายน้ำไหล

ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป                                               ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา

สตรีใดในพิภพจบแดน                                                      ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า

ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา                                                     จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์

โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก                                                         เพราะเชื่อสิ้นหลงรักจึงช้ำจิต

จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ                                                  เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร

ตัวอย่างวรรณคดี จากเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ให้สุนทรียะในด้านความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นภาพพจน์

ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                                         ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล

สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย                                                      แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา

เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น                                          แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา

แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญา                                   โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง

2. สุนทรียะทางดนรีและการขับร้อง ความงามที่ได้จากดนตรีและการขับร้องนั้นต้องอาศัยทั้งผู้บรรเลง ผู้ร้อง และผู้ฟัง เนื่องจากในเพลงไทยมักจะมีทั้งการบรรเลงดนตรีและการขับร้องไว้ด้วยกัน ตลอดจนมีผู้ฟังเพลงที่มาช่วยกันสร้างสุนทรียะทางดนตรีและการขับร้องร่วมกัน โดยแต่ละฝ่ายต้องอาศัยหลักการดังต่อไปนี้

2.1 สุนทรียะจากผู้บรรเลงดนตรี ผู้บรรเลงจะต้องมีความรู้ความชำนาญในการร้องและการส่งให้คำร้องมีความแตกฉานที่จะช่วยให้การแสดงมีความสมจริงยิ่งขึ้น สามารถรักษาลีลาจังหวะได้ตรงตามสถานการณ์และอารมณ์ ตลอดจนมีกลเม็ดในการบรรเลงที่ไม่ซ้ำซาก จนทำให้คนเบื่อหน่าย ซึ่งควรมีการเปลี่ยนทำนองให้แปลกแหวแนวออกไปบ้าง อย่างไรก็ตามการบรรเลงที่ใช้เครื่องดนตรีชนิดเดียว จะให้รสสัมผัสและสุนทรียะได้ดีกว่า และง่ายกว่าการบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีหลาย ๆ ชนิด แต่ทั้งนี้ผู้บรรเลงจะต้องมีความชำนาญด้วย ดังเห็นได้จากผู้บรรเลง ระนาดเดี่ยว หรือจะเข้เดี่ยว เป็นต้น

2.2 สุนทรียะจากผู้ร้อง ผู้ขับร้องเพลงจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการร้องเพลงโดยฝึกใช้ระดับเสียงที่เหมาะสมกับเสียงของตน มีวิธีการ้องที่ถูกต้องตามทำนอง และจังหวะของเพลง ร้องได้ชัดเจนถูกอักขระ ร้องตรงกับระดับเสียงของดนตรี ฝึกหายใจให้ถูกต้อง จะทำให้เสียงไม่ขาดห้วน ในด้านการศึกษาเนื้อเพลงควรมีการแบ่งวรรคตอนให้พอดีกับความหมายตามอักขรวิธี และตีความเพื่อใส่อารมณ์และความรู้สึกลงในบทเพลง เมื่อถึงเวลาแสดง ผู้ร้องจะต้องมีความมั่นใจในการแสดงออกรู้จักใช้เสียงและอารมณ์ตามบทบาทของตัวละครรวมทั้งสังเกตอารมณ์ผู้ฟังด้วย

2.3 สุนทรียะจากผู้ฟัง โดยผู้ฟังจะต้องมีความพร้อมในการฟังด้วยการมีศรัทธามีสมาธิในการฟัง และมีความรู้พื้นฐานในการฟังบ้าง นอกจากนี้ควรมีการศึกษาเนื้อเพลง และทำนองเพลงเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งความสามารถสร้างอารมณ์ให้คล้อยตามไปกับผู้บรรเลงดนตรีและ ผู้ร้องตลอดจนควรทำใจให้สบายเพลิดเพลิน และพยายามติดตามถ้อยคำตามบทร้องให้ตลอดทั้งเพลงด้วย

3. สุนทรียะของท่ารำ ความงามของท่ารำอย่างมีสุนทรียะนั้นพิจารณาได้จากความถูกต้องตามแบบแผนของท่ารำ ได้แก่ ท่ารำถูกต้อง จังหวะถูกต้อง สีหน้า อารมณ์ความรู้สึกที่สอดคล้องไปกับท่ารำ ทำนองเพลงและบทบาทตามเนื้อเรื่อง ท่ารำสวยงาม มีความแตกฉานด้านท่ารำ มีท่วงทีลีลาเป็นเอกลักษณ์ของตน ถ่ายทอดท่ารำออกมาได้เหมาะสมตรงตามฐานะและบทบาทที่ได้รับไม่มากหรือน้อยเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นการชมและพิจารณาการแสดงที่เป็นชั้นสูง ผู้ชมเองก็จะต้องมีเกณฑ์และประสบการณ์ในการชมนาฏศิลป์ไทยไม่น้อยไปกว่าผู้แสดงเช่นกัน

การแสดงนาฏศิลป์ที่มีสุนทรียภาพทางวรรณกรรม ดนตรี การขับร้อง และท่ารำเป็นการผสมผสานความงามของศิลปะเหล่านี้ให้หลอมรวมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งต้องมีทั้งความกลมกลืนในด้านความอ่อนช้อย ต่อเนื่องสอดคล้องเข้ากันได้ดี อันเป็นการสะท้อนถึงอารมณ์ของเรื่องราวมีความขัดแย้งในด้านของแง่คิด หรือคติสอนในที่มีความสมจริงตามเรื่อง หากแต่ผู้ชมแต่ละคนอาจได้รับแง่คิดที่มากน้อยแตกต่างกัน ตามประสบการณ์ในการรับรู้ของแต่ละคน และมีจุดเน้นของเรื่องราวหรือสาระสำคัญของเรื่องที่นำไปสู่ผู้ชมการแสดงได้อย่างชัดเจน ก่อให้เกิดความเข้าใจและซาบซึ้งทางจิตใจกับงานนาฏศิลป์นั้น ๆ อันจะนำไปสู่งานนาฏศิลป์ที่มีคุณค่าแห่งสุนทรียภาพอย่างแท้จริง

นาฏศิลป์กับบทบาททางสังคม

นาฏศิลป์เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สร้างสรรค์สุนทรียะด้านจิตใจและอารมณ์ให้กับคนในสังคม และมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่สามารถสะท้อนภาพวิธีชีวิตและกิจกรรมของคนในสังคม ทั้งที่เป็นกิจกรรมส่วนตัวและกิจกรรมส่วนรวม ดังพิจารณาได้จากบทบาทของนาฏศิลป์ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

                1. บทบาทในพิธีกรรมรัฐพิธีและราชพิธี การแสดงนาฏศิลป์ในพิธีกรรมต่าง ๆ สามารถแสดงถึงความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติของภูติฝีปีศาจ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เช่น การฟ้อนรำในพิธีลำผีฟ้า เพื่อรักษาโรค หรือสะเดาะเคราะห์ของภาคอีสาน การฟ้อนผีมดผีเม็งในภาคเหนือ ที่จะมีผู้หญิงมาเข้าทรงและฟ้อนรำร่วมกันเป็นหมู่เพื่อการสะเดาะเคราะห์หรือรักษาโรค การแสดงแก้บนในลักษณะละครแก้บน หรือลิเกแก้บน เป็นต้น และยังมีการฟ้อนรำบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบูชาครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เช่น การรำไหว้ครูมวยไทย การรำอายุธบนหลังช้าง การำถวายมือในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ เป็นต้น

                2. บทบาทในการสร้างสรรค์ มนุษย์มีการพบปะสังสรรค์กันในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในหมู่เครือญาติ เพื่อนฝูง และคนในสังคม หรือท้องถิ่นเดียวกัน เช่น ในงานวันเกิด งานประเพณี และงานเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น ดังเห็นได้จากงานบุญ ประเพณีสงกรานต์ หรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ จะมีการแสดงนาฏศิลป์ต่าง ๆ เช่น การฟ้อนรำ โขน ลิเก เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้คนในท้องถิ่นทั้งหญิงและชายได้พบปะสังสรรค์และสนุกสนานกับการแสดงต่าง ๆ ร่วมกัน

3. การสื่อสาร นาฏศิลป์เป็นกระบวนการหนึ่งทางการสื่อสารที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจกันได้โดยใช้ภาษาท่าทาง หรือท่ารำที่มีความหมายจากการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบการพูดหรือการเล่าเรื่องต่าง ๆ หรือภาษาท่าทางในละครใบ้ที่สามารถสื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจได้โดยการแสดงออทางสีหน้า อารมณ์และดนตรีประกอบที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้เข้าใจยิ่งขึ้น ซึ่งท่าทางหรือท่ารำต่าง ๆ นี้ อาจกำหนดขึ้นจากการเลียนแบบลักษณะธรรมชาติ เช่น กิริยาท่าทางของมนุษย์หรือสัตว์และท่าทางที่มนุษย์กำหนดขึ้นจากข้อมูลทางวัฒนธรรม เช่น เทวรูป ภาพจำหลัก เป็นต้น

4. บทบาทในทางการศึกษา นาฏศิลป์เป็นการศึกษาทางด้านศิลปะแขนงหนึ่งที่พัฒนา ควบคู่มากับความเจริญของมนุษย์ โดยเฉพาะความเจริญทางด้านศิลปะวัฒนธรรมที่มีการสร้างสรรค์ และทำนุบำรุงศิลปะให้รุ่งเรือง ด้วยการสร้างสถาบันการศึกษาด้านนาฏศิลป์ เช่น วิทยาลัยนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ที่เน้นการเรียนการสอนด้านนาฏศิลป์ให้กับนักเรียนนักศึกษาของไทย และโรงเรียนสอนการแสดงหรือการรำนาศิลป์ขององค์กรเอกชนต่าง ๆ ที่จัดการเรียนขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ ให้กับเยาวชนไทยหรือผู้สนใจทั่วไป เพื่อเป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพ ความกล้าแสดงออก และคุณภาพชีวิตของผู้ศึกษา รวมทั้งยังเป็นการสร้างนาฏยศิลปินให้มีความเชี่ยวชาญ และสามารถใช้นาฏศิลป์เป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้

5. บทบาทในการอนุรักษ์ และเผยแพร่เอกลักษณ์ของชาติ นาฏศิลป์เป็นการแสดงเอกลักษณ์ ประจำชาติอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะโดดเด่น หรือแตกต่างจากชนชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะนาฏศิลป์ไทยที่มีเอกลักษณ์ด้านท่ารำ เครื่องแต่งกาย และดนตรีไทยประกอบการแสดง ซึ่งยังมีความหลากหลายในแต่ละท้องถิ่นของประเทศ ได้แก่ ใน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ก็มีการแสดงนาฏศิลป์ที่แตกต่างกันออกไป โดยแต่ละท้องถิ่นใดมีการเผยแพร่งานนาฏศิลป์ของท้องถิ่นออกไปให้กว้างไกล ทั้งในท้องถิ่นใกล้เคียงและในต่างประเทศที่อยู่ห่างไกล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เช่น ในงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมและมหกรรมนานาชาติ ตลอดจนให้การสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์ให้เพิ่มพูนและสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งนับเป็นภารกิจของคนในท้องถิ่นหรือประเทศชาตินั้น ๆ ที่ต้องมาร่วมมือกัน โดยเริ่มจากความรัก ความชื่นชม และภาคภูมิใจในงานนาฏศิลป์ไทย ของเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกา ที่มาจัดแสดงนาฏศิลป์ที่โรงละครแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความชื่นชมในงานนาฏศิลป์ของชาติตน ที่แม้จะอยู่ถึงต่างประเทศก็ยังห้าการทำนุบำรุงรักษา และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้คงอยู่ และเป็นที่แพร่หลายต่อไป

6. บทบาทในการส่งเสริมพลานามัย นาฏศิลป์เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายให้สวยงาม และมีความหมาย ต้องใช้การฝึกหัดและฝึกซ้อมให้จดจำท่าทางต่าง ๆ ได้ จึงเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่มีการใช้กำลังยกแขน ขา มือ หรือเคลื่อนไหวศีรษะและใบหน้า เพื่อให้เกิดท่าทางและความสนุกสนานไปพร้อม ๆ กัน เช่น การรำกระบี่กระบอง เซิ้ง การรำดาบสองมือ การรำพลอง การำง้าว ก็เป็นการผสมผสานท่าทางนาฏศิลป์กับศิลปะการกีฬาแบบไทย ๆ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการเต้นแอโรบิก หรือการเต้นออกกำลังกายประกอบเพลง ซึ่งเป็นการนำนาฏศิลป์มาประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย และความแข็งแรงให้กับร่างกาย

การสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์เพื่อสืบสานภูมิปัญญาไทย

การแสดงนาฏศิลป์ไทย ไม่ว่าจะเป็น ระบำ รำ ฟ้อน โขน และละคร ล้วนเป็นการแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ หรือภูมิปัญญาของคนไทยในด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผ่านการเรียนรู้ฝึกฝนถ่ายทอดกันมายาวนานจนเป็นมรดกของชาติที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

จากการศึกษาความเป็นมาของนาฏศิลป์ไทย พบว่า ที่เริ่มต้นมาจากการเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ท่าทางของมนุษย์และสัตว์ในอิริยาบถต่าง ๆ แล้วนำมาเป็นแบบอย่างในการแสดงท่ารำ หรือ ท่าทางประกอบการแสดง ตลอดจนการแสดงอารมณ์ และความรู้สึกผ่านทางแววตา และใบหน้าในการแสดงที่เป็นธรรมชาติ และสามารถสื่อความหมายให้เข้าใจร่วมกันได้ ต่อมา ได้มีการประดิษฐ์ท่าทางการแสดงและการร่ายรำให้อ่อนช้อยงดงาม และมีความซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนการสร้างสรรค์องค์ประกอบทางนาฏศิลป์ ทั้งทางด้านบทละคร ฉาก การแต่งกาย การแต่งหน้า อุปกรณ์การแสดง ดนตรีประกอบ และศิลปะการแสดงให้สอดคล้องกลมกลืน และมีความสัมพันธ์กันเป็นความงามหรือเกิดสุนทรียะทางนาฏศิลป์ที่สมบูรณ์