ข้อใดคือตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้เครื่องมือ follow me

“15–21 สิงหาคม สดุดี 49–51; 61–66; 69–72; 77–78; 85–86: ‘ข้าพเจ้าจะบอกว่าพระองค์ได้ทรงทำอะไรเพื่อข้าพเจ้าบ้าง”’ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“15–21 สิงหาคม สดุดี 49–51; 61–66; 69–72; 77–78; 85–86” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

บันทึกความประทับใจของท่าน

ผู้เขียนสดุดีแบ่งปันความรู้สึกส่วนตัวอย่างลึกซึ้งในกวีนิพนธ์ของพวกเขา พวกเขาเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกท้อแท้ กลัว และสำนึกผิด บางครั้งพวกเขาเหมือนจะรู้สึกด้วยซ้ำว่าถูกพระผู้เป็นเจ้าทอดทิ้ง และสดุดีบางบทแสดงความรู้สึกคับข้องใจหรือความสิ้นหวัง ถ้าท่านเคยมีความรู้สึกเหล่านี้ การอ่านสดุดีจะช่วยให้ท่านรู้ว่าไม่ใช่ท่านคนเดียวที่รู้สึกแบบนั้น แต่ท่านจะพบสดุดีที่สามารถให้กำลังใจท่านได้ด้วยเมื่อท่านกำลังมีความรู้สึกดังกล่าวเพราะผู้เขียนสดุดีสรรเสริญพระเจ้าสำหรับพระคุณความดีของพระองค์ อัศจรรย์ใจกับเดชานุภาพของพระองค์ และชื่นชมยินดีในพระเมตตาของพระองค์เช่นกัน พวกเขารู้ว่าโลกแบกรับความชั่วร้ายและบาปแต่พระเจ้าทรง “ประเสริฐและทรงให้อภัย” (สดุดี 86:5) พวกเขาเข้าใจว่าการมีศรัทธาในพระเจ้าไม่ได้หมายความว่าท่านจะไม่มีวันประสบความวิตกกังวล บาป หรือความกลัว แต่หมายความว่าท่านรู้ว่าจะหันไปหาใคร

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

สดุดี 49; 62:5–12

การไถ่ผ่านมาทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น

สดุดี 49 มีข่าวสารสำหรับ “ทั้งคนฐานะต่ำและคนฐานะสูง ทั้งเศรษฐีและยาจก” (ข้อ 2) ท่านจะบอกว่าอะไรคือข่าวสารนี้? ท่านรู้สึกว่า สดุดี 62:5–12 เพิ่มอะไรให้กับข่าวสารนั้น?

การอ่านสดุดีเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ท่านไตร่ตรองด้านต่างๆ ที่บางคนวางใจสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระผู้เป็นเจ้าให้ไถ่พวกเขา (ดู สดุดี 49:6–7) ชีวิตท่านได้รับอิทธิพลอย่างไรจากประจักษ์พยานของท่านที่ว่า “พระเจ้าจะทรงไถ่ชีวิต [ท่าน] จากเงื้อมมือของแดนคนตาย”? (ข้อ 15)

ดู สุภาษิต 28:6; แอลมา 34:8–17 ด้วย

สดุดี 51; 85–86

เพราะพระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอด ฉันจึงได้รับการอภัยบาป

คำวิงวอนขอพระเมตตาใน สดุดี 51 เชื่อว่าเป็นของกษัตริย์ดาวิดผู้รู้สึกผิดกับการล่วงประเวณีและการฆาตกรรมของตน (ดู 2 ซามูเอล 11) แม้เมื่อบาปของเราร้ายแรงน้อยกว่า แต่เราสามารถเชื่อมโยงกับความต้องการพระเมตตาที่กล่าวไว้ในสดุดีบทนี้ได้ เราเรียนรู้บางอย่างได้เช่นกันเกี่ยวกับความหมายของการกลับใจ ตัวอย่างเช่น คำหรือวลีใดใน สดุดี 51 สอนท่านเกี่ยวกับเจตคติที่เราต้องมีเพื่อกลับใจ? ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับผลการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่าน?

ท่านอาจจะถามคำถามเดียวกันนี้ขณะอ่าน สดุดี 85–86 และอาจมองหาวลีที่พูดถึงพระเจ้าด้วย วลีเหล่านี้เพิ่มพลังศรัทธาของท่านอย่างไรว่าพระองค์จะทรงให้อภัยท่าน? (ดูตัวอย่างใน สดุดี 86:5. 13, 15)

ดู แอลมา 36; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 67–69; แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์, “พระอาจารย์ผู้ทรงเยียวยา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 9–12 ด้วย

สดุดี 51:13–15; 66:16–17; 71:15–24

ประจักษ์พยานของฉันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์สามารถช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระองค์

ไตร่ตรองว่าท่านได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และเดชานุภาพการชดใช้ของพระองค์อย่างไร จากนั้นขณะที่ท่านศึกษา สดุดี 51:13–15; 66:16–17; 71:15–24 ให้คิดว่าท่านจะเชื้อเชิญให้ผู้อื่น “มาดูพระราชกิจของพระเจ้า” (สดุดี 66:5) ได้อย่างไร การ “กล่าวถึงความช่วยเหลืออันชอบธรรม [ของพระองค์] วันยังค่ำ” มีความหมายอะไรต่อท่าน? (“สดุดี 71:24) ท่านจะบอกคนอื่นอย่างไรว่า “พระองค์ได้ทรงทำอะไรเพื่อ [ท่าน] บ้าง”? (สดุดี 66:16)

ดู โมไซยาห์ 28:1–4; แอลมา 26 ด้วย

ภาพ

เราสามารถแบ่งปันประจักษ์พยานของเรากับผู้อื่นว่าพระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อเรามาแล้วบ้าง

สดุดี 63; 69; 77–78

พระเจ้าจะทรงช่วยเหลือฉันในเวลาที่ฉันต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน

สดุดีหลายบทใช้ภาษาที่ชัดเจนบรรยายว่าความรู้สึกเหินห่างจากพระผู้เป็นเจ้าและต้องการความช่วยเหลือของพระองค์อย่างยิ่งนั้นเป็นอย่างไร ท่านอาจจะมองหาคำบรรยายดังกล่าวใน สดุดี 63:1, 8; 69:1–8, 18–21; 77:1–9 ท่านพบอะไรใน สดุดี 63; 69; 77–78 ที่ให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้เขียนสดุดีเหล่านี้?

เมื่อท่านทุกข์ใจ การ “ระลึกถึงพระราชกิจทั้งหลายของพระยาห์เวห์” และ “การอัศจรรย์ของพระองค์ในสมัยก่อน” ช่วยท่านอย่างไร? (สดุดี 77:11) การอัศจรรย์บางอย่างเหล่านั้นอธิบายไว้ใน สดุดี 78 ขณะที่ท่านอ่าน ให้ไตร่ตรองว่าอะไรช่วยให้ท่าน “ตั้งความหวัง [ของท่าน] ไว้ในพระเจ้า” (ข้อ 7) ประสบการณ์ใดจากประวัติครอบครัวของท่านสร้างแรงบันดาลใจให้ท่าน?

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

สดุดี 51:17

พิจารณาว่าท่านจะสอนครอบครัวให้รู้ความหมายของการมีใจชอกช้ำอย่างไร ตัวอย่างเช่น สมาชิกครอบครัวอาจผลัดกันตอกไข่หรือแกะถั่วที่มีเปลือกแข็ง บางครั้งใจเราเหมือนเปลือกพวกนั้นอย่างไร? เราจะเปิดใจเรารับพระเจ้าได้อย่างไร? การอ่าน สดุดี 51 ด้วยกันอาจให้แนวคิดบางประการ

สดุดี 61:2–3

สมาชิกครอบครัวอาจชอบวาดภาพสัญลักษณ์ในข้อเหล่านี้และสนทนาว่าพระเยซูคริสต์เปรียบเสมือน “ศิลา” “ที่ลี้ภัยของ [เรา]” และ “หอคอยแข็งแกร่ง” อย่างไร

สดุดี 71:17; 78:5–7

พระเจ้าทรงต้องการให้ท่าน “แจ้ง … แก่ลูกหลาน [ของท่าน]”? (สดุดี 78:5) สมาชิกครอบครัวแต่ละคนอาจจะยกตัวอย่าง “การอัศจรรย์ต่างๆ” ของพระเจ้า เช่น เรื่องราวพระคัมภีร์ ประสบการณ์ หรือประจักษ์พยานส่วนตัวที่่ช่วยให้พวกเขา “ตั้งความหวังไว้ในพระเจ้า” (สดุดี 71:17; 78:7)

สดุดี 72

ดาวิดเขียน สดุดี 72 เกี่ยวกับซาโลมอนบุตรชายของเขา แต่ส่วนมากประยุกต์ใช้กับพระเยซูคริสต์ได้ด้วย ขณะครอบครัวท่านอ่านสดุดีบทนี้ พวกเขาอาจชูภาพพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพบข้อที่เตือนให้พวกเขานึกถึงพระเยซูคริสต์ เราจะช่วยให้ “แผ่น‍ดินโลกทั้ง‍สิ้นเต็ม‍ไป‍ด้วยพระ‍สิริของพระ‍องค์” สมดังปรารถนาได้อย่างไร? (“สดุดี 72:19; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 65:2 ด้วย)

สดุดี 85:11

ข้อนี้อาจดลใจให้สนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ของการฟื้นฟูพระกิตติคุณ—พระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริงที่ “[งอกขึ้น] มาจากแผ่นดิน” อย่างไร และผู้​ส่ง​สาร​จาก​สวรรค์ “ลงมาจากฟ้าสวรรค์” อย่างไร (ดู โมเสส 7:62 ด้วย)  

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “ขอพึ่งพระทุกโมงยาม” เพลงสวด, บทเพลงที่ 44

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้ความหลากหลาย “จงมองหาวิธีที่ท่านสามารถเพิ่มความหลากหลายในความพยายามของท่านที่จะสอนพระกิตติคุณ การทำเช่นนั้นจะช่วยให้ท่านเข้มแข็งขึ้นและเป็นพรแก่ท่าน … พิจารณาว่าการใช้ดนตรี เรื่องราว รูปภาพ และศิลปะรูปแบบอื่นๆ จะช่วยเชื้อเชิญพระวิญญาณอย่างไร” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 22)