Ramsar site แห่งแรกของประเทศไทย คือที่ใด

หาก “น้ำ” คือแหล่งกำเนิดของชีวิต “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ก็เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่ให้ทุกชีวิตได้พึ่งพิงอาศัย และเมื่อบ้านเริ่มมีรอยแตกร้าว ก็ถึงเวลาแล้วที่เจ้าบ้านอย่างเราควรจะกลับมาดูแลใส่ใจอย่างจริงจัง

ว่าแต่… พื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร?

ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” (Wetlands) หมายถึง “ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขัง หรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเล และในทะเลที่บริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร ตัวอย่างเช่น ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ หาดโคลน หาดเลน ชายทะเล ป่าพรุ ป่าเลน รวมทั้งนาข้าว นากุ้ง นาเกลือ เป็นต้น”

  • Ramsar site แห่งแรกของประเทศไทย คือที่ใด
    Photo Credit: wetlands.onep.go.th


อนุสัญญาแรมซาร์ ได้ถูกกำหนดและตั้งชื่อตามชื่อสถานที่จัดให้มีการประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้กลายเป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” (World Wetlands Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ โดยปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายทั่วโลกรวม 171 ประเทศ และมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก จำนวน 2,293 แห่ง​ 

ในคู่มืออนุสัญญาแรมซาร์ (The Ramsar Convention Manual) ได้แบ่งประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำเป็น 5 ประเภท คือ

1. พื้นที่ทางทะเล (Marine) เป็นบริเวณที่ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสจากแม่น้ำ ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล รวมถึงทะเลสาบน้ำเค็ม หาดหิน และแนวปะการัง

2. พื้นที่ปากแม่น้ำ (Estuarine) เป็นบริเวณที่แม่น้ำและทะเลมาบรรจบกัน มีความเค็มระหว่างน้ำทะเลและน้ำจืด ได้แก่ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง และพื้นที่ป่าชายเลน

3. พื้นที่ทะเลสาบ (Lacustrine) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ที่มีน้ำขังตลอดเวลาหรือบางฤดู และมีกระแสน้ำไหลเล็กน้อย มีความลึกมากกว่า 2 เมตร ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณทะเลสาบ บึงต่าง ๆ

4. พื้นที่แหล่งน้ำไหล (Riverine) บริเวณที่มีน้ำไหลตลอดปี หรือบางฤดู ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณแม่น้ำ ลำธาร ห้วย

5. พื้นที่หนองน้ำ หรือที่ลุ่มชื้นแฉะ (Palustrine) เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังตลอดเวลา หรือบางฤดู มีความลึกไม่เกิน 2 เมตร และมีพืชน้ำปกคลุมผิวน้ำมากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่ลุ่มน้ำขัง และหนองน้ำซับ

นอกจากนี้ยังรวมถึงแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made) ด้วย เช่น นาข้าว นาเกลือ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ชลประทาน อ่างเก็บน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำแบบบึงประดิษฐ์บำบัดน้ำเสีย คลองที่ขุดขึ้น รวมถึงเขาหินปูนและระบบอุทกวิทยาใต้ดินที่มนุษย์สร้างขึ้น

  • Ramsar site แห่งแรกของประเทศไทย คือที่ใด
    Photo Credit: wetlands.onep.go.th


พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของห่วงโซ่อาหาร การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำได้แปรเปลี่ยนสภาพไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเขตเมือง การขยายพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำมีสภาพเสื่อมโทรมและลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง

ทั้งนี้ข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกในปัจจุบัน พบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดินและพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลมีพื้นที่ครอบคลุมมากว่า 12.1 ล้าน ตารางกิโลเมตร

โดยทวีปเอเชียมีขนาดพื้นที่ชุ่มน้ำรวมมากที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561) พบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติลดลง ร้อยละ 35 (คิดเป็น 3 เท่าของอัตราการสูญเสียป่าไม้) ส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นมี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12 ของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก (ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มอีก)

คุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ

คุณค่าโดยรวมของพื้นที่ชุ่มน้ำจากข้อมูลของกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แบ่งบริการที่ได้รับจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านวัฒนธรรม ด้านการเป็นแหล่งผลิต ด้านการควบคุม และด้านการสนับสนุน

ด้านวัฒนธรรม พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางจิตใจและความเชื่อ เป็นแหล่งนันทนาการและการพักผ่อน การท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการศึกษา เป็นต้น ด้านการเป็นแหล่งผลิต เป็นแหล่งทำประมง และสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นแหล่งผลิตเนื้อไม้ อาหารสัตว์ แหล่งทรัพยากรพันธุกรรม แหล่งสมุนไพร แหล่งพลังงานที่สามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ ด้านการควบคุม เป็นแหล่งกักเก็บก๊าชคาร์บอน ช่วยเรื่องการกรองสารพิษ การควบคุมการไหลของน้ำ การบรรเทาน้ำท่วม การป้องกันการกัดเซาชายฝั่ง การย่อยสลายของเสีย ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ และด้านการสนับสนุน เป็นแหล่งผลิตขั้นปฐมภูมิ การหมุนเวียนธาตุอาหาร และการเกิดวัฏจักรน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่ต้องกำหนดแผนการบริหารจัดการเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบนิเวศ ความสำคัญนั้นตรงตามชื่อคือ “ชุ่มน้ำ” พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ของสัตว์และพืชนานาชนิด เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศ ความหลากหมายทางชีวภาพ และความอุดมสมบูรณ์ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การป้องกันและดูแลรักษาอย่างยิ่ง

  • Ramsar site แห่งแรกของประเทศไทย คือที่ใด
    Photo Credit: wetlands.onep.go.th

พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยมีที่ไหนบ้าง?

ประเทศสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำจากทั่วโลก มีจำนวนทั้งหมด 171 ประเทศ สำหรับประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ในลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 โดยเสนอ “พรุควนขี้เสี้ยน” ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย (Ramsar Site) และในลำดับ 948 ของโลก