กิจกรรมส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ

         ผู้สูงอายุที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการเหล่านี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย ซึ่งในสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แตกต่างกันไป โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุนะคะ

กรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา

กิจจกรรมโครงการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (กิจกรรมการฝึกอบรมทำน้ำมันเหลือง)มีกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมจํานวน ๕0 คนและมีวัตถุประสงค์

        3.1. เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ ได้ฝึกทักษะทางด้านอาชีพเสริม และใช้เวลาว่างให้เป็น ประโยชน์

        3.2. เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้สูงอายุ ให้มีรายได้ 

        3.3. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายของผู้สูงอายุ

ภาพประกอบ

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำงานของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ โดยระบุว่า แม้จะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว แต่การตระหนักถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรยังมีไม่มากนัก ทั้งการลดลงของวัยแรงงานที่จะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาความมั่นคงด้านรายได้ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจากอายุที่ยืนนานขึ้น ทำให้เงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ขณะที่การพึ่งพิงจากบุตรหลานมีน้อยลง

กิจกรรมส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ

สถานการณ์ดังกล่าว นอกจากจะกระทบต่อตัวผู้สูงอายุแล้ว ยังกระทบต่อการพัฒนาประเทศโดยรวมทั้งในด้านการผลิต การออม และการลงทุน รวมถึงภาระการเงินการคลังในการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ

แนวคิดการมองผู้สูงอายุในฐานะพลังของสังคม มุ่งใช้ประโยชน์จากศักยภาพของผู้สูงอายุตามความพร้อมทั้งจากการทำงาน ทำกิจกรรม และมีส่วนร่วมในสังคมจะช่วยเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุและมีสุขภาพที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน การช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพิงบุตรหลานและภาครัฐ เป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนเป็นกำลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม การทำงานของผู้สูงอายุแม้เป็นแนวทางสำคัญที่จะลดผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และแม้ผู้สูงอายุมีการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ในภาคเอกชนยังมีน้อย ทำให้ขาดสวัสดิการ ธุรกิจบางส่วนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบและการเตรียมการจ้าง ขณะที่ลูกจ้างส่วนใหญ่ต้องการทำงานไม่เกินอายุ ๖๐ ปี เนื่องจากมีทัศนคติว่าผู้สูงอายุควรได้รับการพักผ่อน ไม่ควรทำงานหนัก และขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการรับสิทธิประกันสังคมหากมีการขยายอายุการทำงาน

สศช. เห็นว่า การส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุควรมีความยืดหยุ่น ยึดหลักความสมัครใจ โดยมีมาตรการจูงใจและลดอุปสรรคต่อการจ้าง รวมทั้งการสนับสนุนทั้งด้านกฎระเบียบ กลไกจัดการ ตลอดจนมีนโยบายบำเหน็จบำนาญและการออมที่ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ

‘ผู้สูงอายุ’ ควรทำงาน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเพิ่มขึ้นจาก ๔ ล้านคน หรือร้อยละ ๖.๘ ของประชากร ในปี ๒๕๓๗ เพิ่มเป็น ๑๐ ล้านคน หรือร้อยละ ๑๔.๙ ในปี ๒๕๕๗ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น ๒๐.๕ ล้านคน หรือมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๓๒.๑ ในปี ๒๕๘๓ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่สำคัญคือ

– ภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตราพึ่งพิงเพิ่มจากร้อยละ ๑๙.๗ ในปี ๒๕๕๓ เพิ่มเป็นร้อยละ ๕๘.๓ หรือในอีกด้านหนึ่งมีอัตราการเกื้อหนุนลดลง คือ มีวัยแรงงานดูแลลดลงจาก ๕.๘ คนต่อผู้สูงอายุ ๑ คน เหลือเพียง ๑.๗ คนในปี ๒๕๘๓ ทำให้วัยแรงงานไม่สามารถเกื้อหนุนได้เพียงพอ การศึกษาบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Accounts: NTA) พบว่าการเพิ่มของสัดส่วนผู้สูงอายุจะทำให้การขาดดุลรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเกินดุลรายได้ของวัยทำงานไม่เพียงพอที่จะชดเชยการขาดดุลรายได้ของกลุ่มผู้สูงอายุและจำเป็นต้องอาศัยการชดเชยการโอนจากภาครัฐหรือจากทรัพย์สินมากขึ้น

– ความมั่นคงด้านรายได้ของผู้สูงอายุ อายุคาดเฉลี่ยประชากรที่มีแนวโน้มจะสูงกว่า ๘๐ ปี ทำให้มีเวลาหลังชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องบริหารเงินออมให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีเงินบำนาญรายเดือน ขณะที่รายได้จากบุตรที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ ๕๒.๓ ในปี ๒๕๕๐ เหลือร้อยละ ๓๕.๗ ในปี ๒๕๕๗ ทำให้การพึ่งพิงบุตรหลานไม่มั่นคงเพียงพอ แม้ว่ารัฐจะมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานมีหลักประกันชราภาพเพิ่มขึ้น แต่รายได้ดังกล่าวยังไม่เพียงพอ

ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ ๒๐ มีรายได้ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ บาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่ผู้สูงอายุร้อยละ ๑๗.๐ มีรายได้ไม่เพียงพอ และร้อยละ ๒๑.๖ เพียงพอบางครั้ง

– การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรทำให้วัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับสานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ปี ๒๕๕๕ คาดว่าในปี ๒๕๖๕ มีอุปทานแรงงาน ๔๒.๕ ล้านคน แต่มีความต้องการแรงงาน ๔๘.๙ ล้านคน ทำให้ขาดแคลนแรงงานกว่า ๖ ล้านคน ขณะที่การพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้านจะมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีความต้องการแรงงานมากขึ้นจากการพัฒนาประเทศ รวมทั้งจำนวนแรงงานที่ลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยภายในปี ๒๕๖๓ เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย และบรูไนจะเข้าสู่สังคมสูงวัย และอีกไม่เกิน ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๗๖) ทุกประเทศในอาเซียนจะเข้าสู่สังคมสูงวัย

– ภาระการคลังจากความต้องการสวัสดิการสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่าใช้จ่ายในการบริการทางสุขภาพ เงินอุดหนุนชราภาพ และเงินบำเหน็จบำนาญต่างๆ ผลการประมาณการงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (๒๕๕๕) คาดว่ารายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง ๔๖๔,๐๐๐ ล้านบาทในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ โดยอัตราการเพิ่มของรายจ่ายจะสูงกว่ารายได้ ซึ่งหมายถึงรัฐต้องกันเงินงบประมาณในสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อมาเป็นรายจ่ายเพื่อผู้สูงอายุในการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุ

การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุนอกจากจะช่วยลดผลกระทบข้างต้นแล้ว การทำงานที่เหมาะสมยังส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า การมีกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และมีสุขภาพดีขึ้น ประเทศต่างๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยจึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้แรงงานมีการทำงานนานขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานมากขึ้น

ทำงานมากสวัสดิการน้อย

ปัจจุบันผู้สูงอายุมีแนวโน้มทำงานเพิ่มขึ้น จากรายงานการสำรวจภาวะการมีงานทำปี ๒๕๕๗ มีผู้มีงานทำ ๓๘.๔ ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ ๓.๘ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๓๘.๔ ของผู้สูงอายุ และเป็นร้อยละ ๙.๙๙ ของผู้มีงานทำ โดยเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๓๗ ที่มีสัดส่วนร้อยละ ๓๑.๙ ของผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุตอนต้นซึ่งมีอายุระหว่าง ๖๐ – ๖๙ ปี ทำงานมากที่สุดร้อยละ ๕๔.๙ รองลงมาเป็นผู้สูงอายุตอนกลาง อายุระหว่าง ๗๐ – ๗๙ ปี ร้อยละ ๒๒.๔ และตอนปลาย อายุ ๘๐ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๕.๓ ตามลำดับ

การทำงานของผู้สูงอายุมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

– ผู้สูงอายุ ๒ ใน ๓ หรือร้อยละ ๖๒.๗ ทำธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง รองลงมาช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างร้อยละ ๒๐.๓ และลูกจ้างเอกชนร้อยละ ๙.๒ ทั้งนี้ การทำงานของลูกจ้างเอกชนมีแนวโน้มลดลงมากเมื่อมีอายุมากขึ้น ชี้ว่าภาคเอกชนมีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานก่อนอายุ ๖๐ ปี โดยมีแนวโน้มทำธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสภาพการทำงานของผู้สูงอายุที่ประมาณร้อยละ ๙๐ ของผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นแรงงานนอกระบบ

– ผู้สูงอายุมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ย ๓๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเมื่อจำแนกตามสาขา ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมและเหมืองแร่ร้อยละ ๖๓.๙ ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์ร้อยละ ๑๔.๐ การผลิตร้อยละ ๗.๗ และโรงแรมและบริการร้านอาหารร้อยละ ๔.๒ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานและใช้แรงงานเข้มข้น ขณะที่แรงงานในระบบจะกระจายอยู่ในสาขาสำคัญคือ ภาคเกษตรฯ ร้อยละ ๒๐.๓ การผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ ๑๗.๑ ขายส่งขายปลีกฯ ร้อยละ ๑๕.๓ ก่อสร้างร้อยละ ๙.๓ ตลอดจนงานบริหารราชการและการศึกษา โดย

– ผู้สูงอายุร้อยละ ๖๒.๑ มีอาชีพผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านเกษตรและประมง ร้อยละ ๑๕.๕ เป็นพนักงานบริการและพนักงานร้านค้า และ ร้อยละ ๘.๒ เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้า ขณะที่อาชีพของผู้สูงอายุที่ทำงานในระบบส่วนใหญ่กระจายอยู่ในอาชีพพนักงานบริการร้านค้า อาชีพพื้นฐานด้านการขาย ผู้ปฏิบัติงานความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้า ด้านเกษตรและประมง และผู้บัญญัติกฎหมายและข้าราชการอาวุโส ส่วนแรงงานนอกระบบประมาณ ๒ ใน ๓ มีอาชีพผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านเกษตรและประมง

ในภาพรวมผู้สูงอายุมีการทำงานเพิ่มขึ้น อาชีพและสาขาที่ทำอยู่สอดคล้องกับสาขาที่มีการขาดแคลน อย่างไรก็ตาม การคงอยู่ของลูกจ้างภาคเอกชนที่ลดลงมากตั้งแต่ก่อนอายุ ๖๐ ปี ทำให้ขาดการคุ้มครองในเรื่องบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการต่างๆ ขณะที่แรงงานที่จะเป็นผู้สูงอายุยังมีเงินออมน้อย ไม่เพียงพอต่อการบริโภคหลังครบกำหนดอายุการทำงาน เนื่องจากระยะเวลาที่แรงงานอยู่ในระบบสังคมไม่มากนักทำให้ระยะการออมสั้น การส่งเสริมให้มีการขยายเวลาทำงานและการจ้างงานหลังครบกำหนดอายุการทำงานในภาคเอกชนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงยังเป็นประเด็นท้าท้ายต่อการเตรียมรับมือสังคมสูงวัย

ไม่ตระหนัก ‘สังคมผู้สูงอายุ’

ผลการสำรวจความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุและความต้องการทำงานหลังอายุการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ครั้งล่าสุด ระหว่าง ๑๕ กรกฎาคม – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ใน ๕ สาขา คือ การขนส่ง ค้าส่งค้าปลีก โรงแรมและภัตตาคาร สถานพยาบาล และเกษตรกรรมและประมง ๑๖๗ แห่ง รวมทั้งความต้องการทำงานหลังอายุการทำงานของพนักงานอายุ ๔๕ ปีขึ้นไป จำนวน ๓๒๙ คน ในด้านอุปสงค์ พบว่า

– ภาคเอกชนรับรู้การเป็นสังคมสูงวัย แต่ขาดความตระหนักถึงผลกระทบ โดยมีสถานประกอบการที่รู้ว่าประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยร้อยละ ๗๘.๔ แต่มีเพียงประมาณ ๑ ใน ๓ ที่คิดว่าได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย เรื่องที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พนักงานในองค์กรเป็นวัยกลางคนและวัยสูงอายุมากขึ้น การขาดแคลนแรงงานและการจ้างงานยากขึ้น สำหรับสถานประกอบการที่ตอบว่าได้รับผลกระทบมีการวางแผนในการจัดการองค์กรร้อยละ ๘๔.๓ ชี้ให้เห็นว่าหากภาคเอกชนมีความตระหนักถึงผลกระทบจะนำไปสู่การปรับตัวและเตรียมพร้อมมากขึ้น โดยการเตรียมการส่วนใหญ่เป็นเรื่องการวางแผนกำลังคนร้อยละ ๖๑ และจ้างแรงงานสูงอายุร้อยละ ๑๙.๔

– โรงแรมภัตตาคาร เกษตรกรรม และขนส่ง มีการจ้างแรงงานหลังครบกำหนดอายุการทำงานมากที่สุด โดยสถานประกอบการกว่าครึ่งหรือร้อยละ ๕๔.๒ ไม่มีการกำหนดอายุการทำงาน ส่วนที่มีการกำหนดอายุการทำงาน ร้อยละ ๕๔.๑ หรือส่วนใหญ่กำหนดที่อายุ ๕๖ – ๖๐ ปี ร้อยละ ๔๑.๙ กำหนดในช่วง ๕๐-๕๕ ปี มีเพียงร้อยละ ๔ ที่กำหนดไว้สูงกว่า ๖๐ ปี ซึ่งธุรกิจที่กำหนดอายุการทำงานสูงกว่า ๖๐ ปี อยู่ในสาขาค้าส่งค้าปลีกและโรงแรมภัตตาคาร

อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการที่มีการจ้างหลังครบกำหนดอายุการทำงานมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๖๐.๕ โดยสาขา โรงแรมภัตตาคาร การขนส่ง และเกษตรกรรมฯ มีสัดส่วนการจ้างมากที่สุดสอดคล้องกับความเห็นการขยายอายุการทำงานที่มีผู้ประกอบการเห็นด้วยถึงร้อยละ ๖๘.๓ ทั้งนี้ การจ้างหลังครบกำหนดอายุการทำงานเกือบทั้งหมดเป็นลูกจ้างเดิม คือ ร้อยละ ๙๓.๕ สำหรับตำแหน่งที่จ้างเป็นผู้ปฏิบัติงานมากที่สุดร้อยละ ๔๔.๐ รองลงมาเป็นผู้บริหารร้อยละ ๓๕.๑ ส่วนเหตุผลในการจ้างเป็นเพราะต้องการผู้มีประสบการณ์และคนถ่ายทอดความรู้มากที่สุดร้อยละ ๔๐.๗ รองลงมาเพราะความคุ้นเคยหรือไว้วางใจร้อยละ ๓๔.๖ โดยมีเพียงร้อยละ ๑๑.๕ ที่ให้เหตุผลว่าเพราะขาดแคลนแรงงาน

– การวางแผนเพื่อเตรียมการจ้างผู้สูงอายุยังมีไม่มาก สถานประกอบการร้อยละ ๖๐ เห็นด้วยต่อการขยายอายุการทำงานแบบมีเงื่อนไข โดยเงื่อนไขการจ้างที่เห็นว่าควรปรับ ได้แก่ การปรับตำแหน่งร้อยละ ๔๑.๔ ปรับเงินเดือนร้อยละ ๒๔.๓ และปรับเวลาทำงานร้อยละ ๒๑.๔

อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางแผน เพื่อเตรียมจ้างงานผู้สูงอายุ มีเพียงร้อยละ ๓๑.๑ ที่มีการวางแผนเตรียมการจ้างผู้สูงอายุ โดยสาขาโรงแรมฯ และขนส่ง มีสัดส่วนการเตรียมจ้างมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวางแผนกำลังคนมากที่สุด รองลงมาเป็นการกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสม กำหนดเกณฑ์การจ้างงาน ตามลำดับ ทั้งนี้ หากมีการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน สถานประกอบการคิดว่าเกณฑ์ในการคัดเลือกที่สำคัญสูงสุด ๓ ลำดับแรก คือ ประสบการณ์ทำงานความรู้ความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ลักษณะส่วนบุคคล และสุขภาพของผู้สูงอายุ

ในด้านอุปทาน จากการสำรวจของ สศช. กลุ่มแรงงานในสถานประกอบการที่มีอายุ ๔๕ ปีขึ้นไป โดยกลุ่มประชากรตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ ๔๕-๕๐ ปีร้อยละ ๗๘.๗ ช่วงอายุ ๕๑ – ๕๕ ปี ร้อยละ ๑๒.๘ ๕๖-๖๐ ปี ร้อยละ ๕.๘ และ ๖๑ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๒.๗ ทั้งนี้ เป็นผู้บริหารร้อยละ ๑๒.๕ หัวหน้าฝ่ายร้อยละ ๒๖.๗ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ๔๙.๕ และอื่นๆ ร้อยละ ๑๑.๒ มีสถานภาพสมรสร้อยละ ๖๗.๕ เป็นโสดร้อยละ ๒๘.๓ หย่าร้างหรือหม้ายร้อยละ ๔.๓ ประมาณร้อยละ ๗๐ มีรายได้น้อยกว่า ๓๐,๐๐๑ บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายร้อยละ ๖๖.๑ ไม่เพียงพอร้อยละ ๑๐.๑ และไม่เพียงพอบางครั้งร้อยละ ๒๓.๙ แรงงานกว่า ๓ ใน ๔ มีเงินออมและทรัพย์สิน ขณะที่สัดส่วนผู้มีหนี้สินอยู่ที่ร้อยละ ๔๒.๙ ทั้งนี้ แรงงานประมาณร้อยละ ๘๐ หลังจากครบกำหนดอายุการทำงานยังมีภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายส่วนตัว การดูแลสมาชิกในครอบครัว และรายจ่ายด้านสุขภาพ

– ด้านความต้องการทำงานของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ ๗๙ ต้องการทำงานถึง ๖๐ ปี และร้อยละ ๓๖.๘ ต้องการทำงานต่ำกว่าอายุ ๕๖ ปี สอดคล้องกับความต้องการทำงานหลังครบกำหนดอายุการทำงานที่พบว่า มีผู้ไม่ต้องการทำงานถึงร้อยละ ๓๐.๙ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลต้องการพักผ่อน สุขภาพไม่ดี และต้องการดูแลคนในครอบครัว ขณะที่ผู้ต้องการทำงานส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า สุขภาพยังแข็งแรงทำงานได้ ช่วยให้ฐานะของครอบครัวดีขึ้น ต้องการสร้างมรดกให้ลูกหลานและไม่ต้องการเป็นภาระคนอื่น

ทั้งนี้ ผู้ต้องการทำงานหลังครบกำหนดอายุการทำงานร้อยละ ๔๒.๘ ต้องการทำงานที่เดิม ร้อยละ ๒๑.๔ ต้องการประกอบอาชีพอิสระ และร้อยละ ๔.๖ ต้องการทำที่ใหม่โดยเป็นลูกจ้าง นอกจากนี้ แรงงานร้อยละ ๔๑.๒ คิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวของผู้สูงอายุเพื่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างถึง ๑ ใน ๓ ไม่ต้องการทำงานหลังครบกำหนดอายุการทำงาน ขณะที่กลุ่มที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวให้ความสำคัญกับการอบรมทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น เช่น ไอที และการเตรียมตัวเรื่องสุขภาพในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ ๓๑.๗ และการปรับทัศนคติร้อยละ ๑๙.๘

– แรงงานส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการขยายอายุการทำงาน โดยการสำรวจพบว่า แรงงานร้อยละ ๖๐ ไม่แน่ใจว่าควรมีการขยายอายุการทำงานหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเพราะการขยายอายุการทำงานเชื่อมโยงกับการรับสิทธิของประกันสังคมที่กำหนดอายุที่ ๕๕ ปี และแรงงานยังขาดความรู้และเกรงว่าจะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ขณะที่ร้อยละ ๓๓.๗ เห็นว่าควรมีการขยายอายุการทำงาน ในจำนวนนี้ประมาณ ๒ ใน ๓ เห็นว่าควรเป็นการขยายแบบมีเงื่อนไข โดยเงื่อนไขที่ยอมรับมากที่สุดคือการจ้างบางคนร้อยละ ๓๖ รองลงมาเป็นการปรับลดเงินเดือน ร้อยละ ๒๔.๒ และปรับเวลา ร้อยละ ๒๑.๓

สำหรับเหตุผลที่เห็นด้วย เพราะผู้สูงอายุยังทำงานได้ เป็นผู้มีประสบการณ์ ทำให้มีสังคม เกิดการพัฒนาตนเอง มีรายได้ต่อเนื่อง ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า ต้องมีความพร้อมหลายด้าน ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ควรพักผ่อนและใช้เวลาที่เหลือเป็นของตนเอง ทั้งนี้ ยังเห็นว่าการขยายอายุการทำงานอาจทำในบางสาขาที่ขาดแคลนหรือกับงานที่เหมาะสมกับวัย

ทั้งนี้ ผู้ที่เห็นด้วยกับการขยายอายุการทำงาน ร้อยละ ๖๐.๒ ต้องการขยายจนถึงอายุ ๖๐ ปี ร้อยละ ๓๐.๑ ขยายถึงอายุ ๖๕ ปี และร้อยละ ๙.๗ ต้องการขยายมากกว่า ๖๕ ปี โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารส่วนใหญ่ต้องการขยายอายุมากกว่า ๖๐ ปี ขณะที่สาขาที่เหลือส่วนใหญ่ต้องการขยายอายุแค่ ๖๐ ปี

– มุมมองต่อการทำงานของผู้สูงอายุของผู้ประกอบการและลูกจ้างไม่แตกต่างกัน มุมมองต่อการทำงานผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เป็นการมองที่คุณลักษณะของผู้สูงอายุมากกว่าผลกระทบโดยรวม เช่น ผลต่อการจ้างงานหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยด้านดีเห็นว่าผู้สูงอายุสามารถแก้ปัญหาได้ดีเพราะมีประสบการณ์ มีความรอบคอบและมีมนุษยสัมพันธ์ดี ส่วนการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังมีไม่มาก

ขณะที่ด้านลบ ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เพราะสุขภาพ รองลงมาคือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ และทำงานได้ช้า ทั้งนี้ ด้านลบมีความเห็นแตกต่างระหว่างสาขา โดยค้าส่งค้าปลีกและเกษตรกรรมฯ เห็นว่าสุขภาพเป็นข้อจำกัดมากที่สุด การขนส่งและสถานพยาบาลเห็นว่าการปรับตัวเป็นข้อจำกัดมากที่สุด ส่วนโรงแรมภัตตาคารเห็นว่าทำงานช้ามากที่สุด ชี้ให้เห็นว่าลักษณะงานมีผลต่อทัศนคติการทำงานของผู้สูงอายุ

ขณะที่ผลการศึกษางานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุจะเป็นงานที่มีความเครียดต่ำ ไม่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ มีความยืดหยุ่น รวมทั้งเป็นงานจิตอาสาและได้รับการยอมรับจากสังคม การส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุจึงควรมีการสร้างงานที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงข้อจำกัดเพื่อเป็นที่ยอมรับซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น

– การส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุยึดหลักยืดหยุ่นและสมัครใจ สถานประกอบการและลูกจ้างส่วนใหญ่เห็นว่าควรเป็นการจ้างงานตามสมัครใจของผู้สูงอายุ การจ้างงานควรมีลักษณะยืดหยุ่นทั้งในเรื่องเวลาทำงาน รูปแบบการทำงาน การจ้าง และเงินเดือน โดยไม่จำเป็นต้องทำงานในตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ รัฐควรสนับสนุนและพัฒนาระบบคัดกรองผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการสามารถคัดกรองผู้สูงอายุที่ยังทำงานต่อได้ตามความเหมาะสมกับตำแหน่ง การจัดให้มีการประเมินความสามารถผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน ตลอดจนการให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่สังคมเกี่ยวกับสังคมสูงวัย ผลกระทบและความจำเป็นของการส่งเสริมให้เกิดการทำงานของผู้สูงอายุ รวมทั้งการใช้มาตรการทางการคลังจูงใจให้เกิดการจ้างผู้สูงอายุในสถานประกอบการ และพัฒนาและอบรมเสริมทักษะให้กับแรงงานก่อนสูงวัยและผู้สูงอายุ

โดยสรุปสถานประกอบการใน ๕ สาขา มีการปรับตัวต่อภาวะการขาดแคลนแรงงาน โดยมีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุถึงร้อยละ ๖๐ แต่ยังขาดความรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ยังขาดการวางแผนและการเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อความเพียงพอของรายได้จากการที่มีเวลาหลังชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น ประกอบกับทัศนคติที่เห็นว่าผู้อายุเกิน ๖๐ ปี เป็นวัยที่ควรพักผ่อน ดังนั้น แรงงานส่วนใหญ่จึงมีความต้องการทำงานหลังอายุ ๖๐ ปีไม่มากนัก รวมถึงความเกี่ยวเนื่องของการขยายอายุการทำงานกับการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมทำให้ไม่เอื้อต่อการขยายเวลาการทำงานของผู้สูงอายุ

ร่วมผลักดันให้ผู้สูงอายุทำงาน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิและข้อมูลจากการสำรวจความต้องการจ้างงานและการทำงานของผู้สูงอายุ พบปัญหาและอุปสรรคต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ ดังนี้

๑. มีทัศนคติต่อการทำงานของผู้สูงอายุว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม โดยทัศนคติของแรงงานสูงวัยและครอบครัวมักมองว่า ผู้สูงอายุควรได้รับการพักผ่อนเนื่องจากทำงานและรับภาระมามากแล้ว ผู้ทำงานบางกลุ่มมองว่าการจ้างผู้สูงอายุในที่ทำงานเป็นการปิดโอกาสทำงานและการเลื่อนตำแหน่งของคนรุ่นใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการเห็นว่าไม่คุ้มทุนเพราะผลิตภาพต่ำ ทำให้แรงงานวัยปลายและผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานหลังครบกำหนดอายุการทำงานมีไม่มากนัก

๒. ความพร้อมด้านสุขภาพ นอกจากความเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยแล้ว ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพทั้งจากการทำงานหนัก และไม่ปลอดภัยในช่วงวัยทำงาน ทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการทำงาน

๓. ภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน เช่น สภาพคมนาคมและการขนส่งที่ไม่เหมาะกับการเดินทางของผู้สูงอายุ สภาพแวดล้อมที่ทำงานไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น ห้องน้ำ ทางเดิน ฯลฯ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

๔. การออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป เช่น เวลาทำงานไม่มีความยืดหยุ่นทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้สูงอายที่ส่วนใหญ่ต้องการรับผิดชอบน้อยลง ทำงานเบาลงเพื่อให้เหมาะสมกับวัย นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับวัยทำงานอื่นๆ เช่น การคัดเลือกเข้าทำงาน ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

๕. การดำเนินงานต้องใช้เวลานาน เนื่องจากการขยายอายุการทำงานกระทบต่อสิทธิในการรับประโยชน์ของประกันสังคมที่อายุ ๕๕ ปี ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งที่ต้องการรับสิทธิไม่ต้องการขยายอายุการทำงานหรือทำงานในระบบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจะขยายอายุการทำงานจึงต้องใช้เวลานานเพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก จำเป็นต้องดำเนินงานเป็นขั้นตอนเพื่อเตรียมความพร้อมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการทบทวนระบบสิทธิประโยชน์ การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย

จากการสำรวจ สศช. มีข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุในภาคเอกชน ดังนี้

๑. การใช้มาตรการจูงใจ ทั้งในด้านอุปทานและอุปสงค์ การสร้างแรงจูงใจให้แรงงานสูงวัยขยายเวลาการทำงาน อาทิ การสร้างงานที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ การลดการออกจากงานก่อนครบกำหนด การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพ และการทบทวนเกณฑ์และผลประโยชน์ที่แรงงานจะได้รับจากการครบกำหนดการทำงาน ด้านผู้ประกอบการเพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างงาน อาทิ การสร้างความตระหนักของผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย การกำหนดงานเฉพาะที่แรงงานสูงอายุจะได้รับการพิจารณาพิเศษ การปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานของผู้สูงอายุ

๒. การลดอุปสรรคต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยการสร้างทัศนคติและค่านิยมที่ดีเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การทำงานและการออม การปรับเงื่อนไขการทำงาน ตลอดจนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ทำงาน การเดินทางและใช้ชีวิตให้เหมาะสมซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุออกมาทำงานและใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น

๓. มาตรการสนับสนุน โดยการปรับปรุงกฎหมายการไม่เลือกปฏิบัติกับลูกจ้างสูงอายุ การสร้างระบบคัดกรองและจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน การพัฒนาระบบประเมินและการกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับสมรรถนะ การให้มีศูนย์บริการการจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ

๔. การสร้างระบบการเงินการคลังมหภาค เพื่อพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญและการออมให้เอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดการขยายอายุการทำงาน รวมทั้งมีกลไกในการจัดการ การพิจารณานโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมบำเหน็จบำนาญทุกกลุ่มเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มต่างๆ

๕. การเตรียมความพร้อมคนไทยเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่า โดยเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของคนไทยตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ เพื่อให้คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่าและมีสุขภาพแข็งแรง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะและอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการทำงานของผู้สูงอายุ เพื่อร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยและผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดความพร้อมในทุกมิติทั้งผู้ประกอบการ ตัวบุคคล/แรงงาน ครอบครัวและสถาบันต่างๆ