คุณค่าของวรรณกรรม มีอะไรบ้าง

คุณค่าของวรรณกรรม มีอะไรบ้าง

เมื่อเรามีพื้นฐานความรู้เรื่องวรรณกรรมและรู้จักการอ่านที่ถูกวิธีแล้ว เราจะสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้เพื่อการประเมินคุณค่าของวรรณกรรมที่เราอ่าน อันเป็นการพัฒนาทักษะการคิด การอ่านและการดำรงชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต

กลับหน้าบทเรียน 

 เกณฑ์ในการเลือกวรรณกรรม

๑. การเลือกวรรณกรรมที่มีเนื้อหาสาระตรงกับความสนใจและความต้องการ 

ผู้อ่านจะต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า ต้องการอ่านอะไร อ่านเพื่ออะไร เช่น อ่านเพื่อความรู้เพื่อการศึกษา หรืออ่านเพื่อความบันเทิง เป็นต้น แล้วจึงเลือกหนังสือ โดยเลือกจากประเภทของหนังสือ ผู้เขียนและแนวเขียน ดังนั้น การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหนังสือต่างๆจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเลือกวรรณกรรม 

๒. การเลือกวรรณกรรมที่ดี มีคุณค่า

คือ เป็นวรรณกรรมที่ให้ประโยชน์กับผู้อ่าน มีคุณค่าแก่ชีวิตโดยเฉพาะในด้านจิตใจ             

๒.๑ เนื้อหาความคิดดี  

คือ วรรณกรรมที่ผู้แต่ง เขียนขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ต่อจิตใจของผู้อ่าน วรรณกรรมที่มีเนื้อหาความคิดดีควรมีลักษณะดังนี้

- คิดบริสุทธิ์  หมายถึง ผู้แต่งคำนึงถึงความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรม โดยไม่มอมเมาหรือชักจูงผู้อ่านให้คิดตามตนเองโดยไม่คิดอย่างมีเหตุผล 

- คิดสร้างสรรค์  หมายถึง เขียนเพื่อมุ่งให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยเฉพาะในด้านจิตใจ ก่อให้เกิดความจรรโลงใจ กล่าวคือ ทำให้จิตใจรู้สึกผิดชอบชั่วดีและยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ตระหนักในความถูกต้องยุติธรรม

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้เขียนอาจสอดแทรกลงไปในข้อเขียนบางตอน เพื่อให้แง่คิดแก่ผู้อ่าน โดยอาจเขียนไว้ในบทสนทนาของตัวละคร อุปนิสัยส่วนตัว หรือการดำเนินเรื่อง เป็นต้น

๒.๒ กลวิธีการแต่งดี  

กลวิธีการแต่งเป็นศิลปะเฉพาะตัวของผู้แต่ง ซึ่งทำให้วรรณกรรมมีคุณภาพต่างกันไป  เราสามารถพิจารณากลวิธีการแต่งได้จากการใช้ภาษาและองค์ประกอบอื่นๆ เป็นต้น

ภาษาที่ใช้ในวรรณกรรม ซึ่งนับว่าดีควรมีลักษณะดังนี้

๑. ถูกต้องตามลักษณะภาษาไทย คือ ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทย เช่น ใช้คำราชาศัพท์เหมาะสม ใช้ลักษณนามถูกต้อง เป็นต้น

๒. สื่อความหมายได้ตามที่ต้องการ   คือ ใช้คำได้ตรงความหมาย ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย ลำดับประโยคและข้อความได้ดี ไม่ก่อให้เกิดความสับสน แบ่งวรรคตอนถูกต้อง

๓. มีความเหมาะสมประการต่างๆ  คือ ภาษาที่ใช้เหมาะสมกับวัยและระดับความรู้ของผู้อ่าน มีความเหมาะสมกับโอกาสในการเขียนและประเภทของหนังสือ

๔. ใช้ภาษาอย่างประณีต คือ ใช้ภาษาที่สละสลวยไพเราะ น่าประทับใจ

      องค์ประกอบอื่นๆที่ใช้ในการพิจารณากลวิธีการแต่ง ได้แก่

๑. เลือกวิธีการเขียนที่สอดคล้องกับประเภทหนังสือและเนื้อหา

หนังสือแต่ละประเภทมีวิธีการเขียนที่แต่งต่างกันออกไป หนังสือบางเรื่องเหมาะกับการเขียนแบบตรงไปตรงมา บางเรื่องเหมาะกับการใช้โวหารและความคิดเปรียบเทียบ โดยเฉพาะหนังสือประเภทร้องกรอง ที่ผู้แต่งจะต้องเลือกคำประพันธ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหา เช่น ฉันท์ เหมาะกับเนื้อหาที่สูงส่งเป็นแบบแผน กลอน เหมาะกับการพรรณนาโดยละเอียด เป็นต้น

๒. เลือกใช้ส่วนประกอบหนังสืออย่างเหมาะสม  เช่น แผนภูมิ แผนภาพ รูปภาพ ตาราง แผนที่ คำประพันธ์จากที่อื่น

๓. การจัดระบบดี  คือ ระบบการจำแนกหัวข้อ การกำหนดขนาดและรูปแบบตัวอักษร รวมถึงการจัดหน้า รูปเล่มและความชัดเจนในการพิมพ์

๒.๓ มีประโยชน์   

หรืออาจกล่าวได้ว่า “ เป็นสิ่งที่ผู้อ่าน อ่านแล้วนำไปใช้ ”

- ความบันเทิง  คือ ให้ความพอใจ เพลิดเพลิน ความสุขใจที่ได้รับจากการอ่าน ด้วยเนื้อเรื่องหรือรสไพเราะของถ้อยคำ

- ความรู้ คือ ให้ความรู้ การเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

- คติธรรม คือ ให้แง่คิด สิ่งเตือนใจที่เป็นประโยชน์

- ปรัชญา คือ แนวคิดที่แสดงออกถึงความแท้จริงของโลกและชีวิต สิ่งที่เป็นสัจธรรม เช่น ทุกคนย่อมมีความทุกข์ ไม่มีใครบนโลกที่ไม่มีความทุกข์  เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วย่อมดับไป

- อุดมคติ คือ ชี้ให้เห็นค่าของความถูกต้อง เที่ยงธรรม ความดี จนเกิดเป็นจิตสำนึก

- การสะท้อนสภาพสังคม คือ การบรรยายสภาพต่างๆในสังคมมนุษย์อย่างถูกต้องตามจริง ชี้เห็นความจริงที่เกิดขึ้น

ข้อมูลจาก : หนังสือการอ่านและพิจารณาวรรณกรรม โดย ประทีป วาทิกทินกร และสมพันธุ์ เลขะพันธุ์

การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณกรรม

๑. ความหมายของการวิเคราะห์วรรณกรรม

การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาตรวจตรา แยกแยะและประเมินค่า ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้วิเคราะห์ในการนำไปแสดงความคิดเห็น อภิปรายข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นทราบ ด้วยว่าใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์อย่างไร ต่อใครบ้าง ผู้วิเคราะห์ มีความเห็นอย่างไร เรื่องที่อ่านมีคุณค่าด้านใดบ้างและแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์

ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

๒. แนวในการวิเคราะห์วรรณกรรม

การวิเคราะห์วรรณกรรมมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างกว้าง ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกประเภท แต่ละประเภท ผู้วิเคราะห์ต้องนำแนวการวิเคราะห์ไปปรับใช้ ให้เหมาะสมกับงานเขียนแต่ละชิ้นงานซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งประพนธ์ เรืองณรงค์ และคณะ (๒๕๔๕ : ๑๒๘) ได้ให้หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการวิเคราะห์วรรณกรรม ดังนี้

๒.๑ ความเป็นมาหรือประวัติของหนังสือและผู้แต่ง เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ

๒.๒ ลักษณะคำประพันธ์

๒.๓ เรื่องย่อ

๒.๔ เนื้อเรื่อง ให้วิเคราะห์เรื่องในหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการเดินเรื่อง การใช้ถ้อยคำ สำนวนในเรื่องท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดสร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น

๒.๕ แนวคิด จุดมุ่งหมาย เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง ซึ่งต้องวิเคราะห์ออกมาก

๒.๖ คุณค่าของวรรณกรรม โดยปกติแบ่งออกเป็น ๕ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้วิเคราะห์ต้องไปแยกหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะ ของหนังสือที่จะวิเคราะห์นั้น ๆ ตามความเหมาะสม

๓. การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

ความหมายของการวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรม

การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาองค์ประกอบทุกส่วน โดยวิธีแยกแยะรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่ถ้อยคำสำนวน การใช้คำ ใช้ประโยค ตลอดจนเนื้อเรื่องและแนวคิด ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนนั้น เมื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบได้แล้ว จึงวิจารณ์ต่อไป

การวิจารณ์ หมายถึง การพิจารณาเทคนิคหรือกลวิธีที่แสดงออกมานั้นให้เห็นว่าน่าคิด น่าสนใจ น่าติดตาม มีชั้นเชิงยอกย้อนหรือตรงไปตรงมา องค์ประกอบใดมีคุณค่า

น่าชมเชย องค์ประกอบใดน่าท้วงติงหรือบกพร่องอย่างไร การวิจารณ์สิ่งใดจึงต้องใช้ความรู้ มีเหตุผล มีหลักเกณฑ์ และมีความรอบคอบด้วย

การวิจารณ์งานประพันธ์ หมายถึง การพิจารณากลวิธีต่าง ๆ ทุกอย่างที่ปรากฏในงานเขียน ซึ่งผู้เขียนแสดงออกมาอย่างมีชั้นเชิง โดยผู้วิจารณ์จะต้องแสดงเหตุผลที่จะชมเชย หรือชี้ข้อบกพร่องใด ๆ ลงไป

วิธีวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์

ตามปกติแล้วเมื่อจะวิจารณ์สิ่งใด จำเป็นต้องเริ่มวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ให้เข้าใจ ชัดเจนเสียก่อนแล้วจึงวิจารณ์แสดงความเห็นออกมาอย่างมีเหตุผล ให้น่าคิด น่าฟังและ

เป็นคำวิจารณ์ที่น่าเชื่อถือได้

การวิจารณ์งานประพันธ์สำหรับผู้เรียนที่เริ่มต้นฝึกหัดใหม่ ๆ นั้น อาจต้องใช้เวลาฝึกหัด มากสักหน่อย อ่านตัวอย่างงานวิจารณ์ของผู้อื่นมาก ๆ และบ่อย ๆ จะช่วยได้มากทีเดียว เมื่อตัวเราเริ่มฝึกวิจารณ์งานเขียนใด ๆ อาจจะวิเคราะห์ไม่ดี มีเหตุผลน้อยเกินไป คนอื่นเขาไม่เห็นด้วย เราก็ควรย้อนกลับมาอ่านเขียนนั้น ๆ อีกครั้งแล้วพิจารณาเพิ่มเติม

ขั้นตอนการวิเคราะห์และวิจารณ์

โดยเริ่มต้นที่ผู้อ่านไปอ่านงานวรรณกรรม เมื่ออ่านแล้วจึงวิเคราะห์แยกแยะดูองค์ประกอบต่าง ๆ ลำดับต่อไปนี้จึงวิจารณ์กลวิธีการนำเสนอ ว่าน่าสนใจหรือไม่เพียงใด แล้วผู้วิจารณ์จึงเรียบเรียงความคิดเห็นแสดงออกมาด้วยวิธีพูด หรือเขียนวิจารณ์อย่างมีเหตุผล แม้นว่า การวิจารณ์จะสิ้นสุดแล้ว แต่ผู้อ่านก็ยังย้อนกลับมาสนใจงานประพันธ์ชิ้นเดิม แล้วเริ่มต้นวิเคราะห์วิจารณ์ใหม่ได้อีกตลอดเวลา

ประเด็นที่ใช้ในการวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าของงานวรรณคดีและวรรณกรรม

การวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์เท่าที่พบเห็นทั่ว ๆ ไป นักวิจารณ์นิยมพิจารณากว้าง ๆ ๔ ประเด็น

๑) คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการตามรส ความหมายของถ้อยคำและภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้

เพื่อให้มีความหมายกระทบใจผู้อ่าน

๒) คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิดและกลวิธีนำเสนอทั้ง ๒ ประเด็นนี้ จะอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบพอเข้าใจ โดยจะกล่าวควบกันไปทั้งการวิเคราะห์และการวิจารณ์

๓) คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมและวรรณคดีที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย

๔) การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันผู้อ่านสามารถนำแนวคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่านไปประยุกต์ใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

๓.๑ การพิจารณาคุณค่าด้านวรรณศิลป์

วรรณศิลป์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งช่วยส่งเสริมให้วรรณกรรมมีคุณค่าน่าสนใจ คำว่า วรรณศิลป์หมายถึง ลักษณะดีเด่นทางด้านวิธีแต่ง การเลือกใช้ถ้อยคำ สำนวน ลีลา ประโยค และความเรียงต่าง ๆ ที่ประณีต งดงาม หรือมีรสชาติเหมาะสมกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี วรรณกรรมที่ใช้วรรณศิลป์ชั้นสูงนั้นจะทำให้คนอ่านได้รับผลในทางอารมณ์ความรู้สึก

เช่น เกิดความสดชื่น เบิกบาน ขบขัน เพลิดเพลิน ขบคิด เศร้าโศก ปลุกใจ หรืออารมณ์อะไร ก็ตามที่ผู้เขียนต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้อ่าน นั่นคือ วรรณศิลป์ในงานเขียน ทำให้ผู้อ่าน เกิดความรู้สึกในจิตใจและเกิดจินตนาการสร้างภาพคิดในสมองได้ดี

การวิเคราะห์งานประพันธ์จึงควรพิจารณาวรรณศิลป์เป็นอันดับแรกแล้วจึงวิจารณ์ว่ามีคุณค่าหรือน่าสนใจเพียงใดหากงานประพันธ์นั้นเป็นประเภทบทร้อยกรอง ผู้อ่านที่จะ

วิเคราะห์วิจารณ์ ควรมีความรู้บางอย่าง เช่น รู้บังคับการแต่งบทร้อยกรองรู้วิธีใช้ภาษาของกวี รู้วิธีสร้างภาพฝันหรือความคิดของกวี เป็นต้น ความรู้ดังกล่าวนี้จะช่วยให้เข้าใจบทร้อยกรอง

ได้มากขึ้น

ลองอ่านบทร้อยกรองง่าย ๆ สักเรื่องหนึ่ง เพื่อทดลองวิเคราะห์วิจารณ์กัน

เรื่องวอนขอ...

เมื่อเรายังเล็กเป็นเด็กน้อย                    เคยกล่าวถ้อยวอนจันทราว่าให้สม

ขอข้าวแกง แหวน .. ให้น้องปองนิยม                ขอเตียงตั่งนั่งชมดาวและเดือน

เมื่อเห็นดาวล้อมเดือนกลาดเกลื่อนฟ้า                                ชวนน้องนับดาราที่เป็นเพื่อน

ระยับระยิบพริบตาดาวพร่าเลือน                        แต่ดวงเดือนเด่นสว่างกลางโพยม

อยากตะกายว่ายฟ้าไปหาจันทร์                          และใฝ่ฝันอยากเอื้อมให้ถึงโสม

เคยนึกตามใจชอบปลอบประโลม                         ว่าเติบใหญ่จะได้โคมรัตติกาล

ฝันไปตามอารมณ์ผสมโง่                                      ว่าเติบโตจะบินไปด้วยใจหาญ

สอยดวงดาวพราวฟ้ามาเป็นยาน                        พาเราผ่านเมฆด้นจนถึงจันทร์

(บทกวีเรื่อง วอนขอ ของ กุลทรัพย์ รุ่งฤดี)

(โพยม = ท้องฟ้า, โสม = ดวงจันทร์, รัตติกาล = กลางคืน)

วิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านวรรณศิลป์

บทร้อยกรองนี้วิเคราะห์ได้ว่า เป็นกลอนสุภาพจำนวน ๔ บท เนื้อความกล่าวถึงตัวผู้เขียน เมื่อเป็นเด็กเคยวอนขอสิ่งต่าง ๆ จากดวงจันทร์และอยากไปให้ถึงดวงจันทร์ ผู้เขียนใช้ถ้อยคำ แสดงภาพความฝันอย่างง่าย ๆ แต่ให้ความรู้สึกน่ารัก สวยงาม เช่น ดาวล้อมเดือน ระยับระยิบเด่นสว่าง ตะกายว่ายฟ้า ดวงดาวพราวฟ้า ผ่านเมฆ เป็นต้น ลีลาการเขียนเช่นนี้วิจารณ์ได้ว่า สร้างอารมณ์คนอ่านได้ดี ชวนให้คิดถึงดวงจันทร์ ดวงดาวที่กลาดเกลื่อนอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน

บทร้อยกรองที่ใช้ถ้อยคำช่วยสร้างความรู้สึกและมีเนื้อหาสร้างสรรค์จินตนาการได้เช่นนี้ เรียกว่า วรรณศิลป์

ถ้าเราเขียนรูปภาพได้ ลองเขียนภาพฝันตามจินตนาการของกวีไปด้วยก็ได้

๓.๒ การวิจารณ์คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิด และกลวิธีนำเสนอ

งานประพันธ์ที่มีคุณค่าน่าสนใจนั้น นอกจากจะมีวิธีใช้ถ้อยคำภาษาและแสดงชั้นเชิง การแต่งอย่างดีแล้ว ยังต้องวิเคราะห์ถึงเนื้อหาสาระและแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อคนอ่านอีกด้วย เนื้อหาสาระที่ดีนั้นอาจเป็นในแง่การให้ความรู้ ให้ความคิดเห็น คติ คำสอน ข้อเตือนใจ ชี้ช่องให้มองเห็นความจริง ความดี ชี้ทางแก้ปัญหา แนะสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือ สิ่งที่ควรละเว้น กลวิธีการเขียนอาจชี้แนะโดยตรงหรือทางอ้อมก็ได้แล้วแต่กลวิธีของผู้เขียน ว่าจะทำได้แนบเนียนน่าสนใจเพียงใด

ข้อที่น่าสังเกตคือ งานเขียนที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องสอนศีลธรรมหรือคุณธรรมโดยตรง ผู้เขียนอาจใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อให้คนอ่านเกิดความคิดได้ด้วยตนเอง ดังนั้นก่อนการวิจารณ์

คนอ่านจึงต้องพยายามทำความเข้าใจ จับความหมายและสรุปแนวความคิดทั้งหลายของผู้เขียนให้ได้เสียก่อน

หลักสำคัญมีอยู่อย่างหนึ่งว่า งานประพันธ์ที่ดีควรมีเนื้อหาสาระมุ่งสร้างสรรค์ มิใช่มุ่งทำลาย

๓.๓ การพิจารณาคุณค่าด้านสังคม

การพิจารณาคุณค่าด้านสังคมจากวรรณกรรม ผู้อ่านต้องค้นหาสาระก่อนว่าผู้เขียน ต้องการเสนอ สาระอะไรให้กับผู้อ่านเป็นด้านดีหรือด้านเสียของสังคมและผู้อ่าน ต้องพิจารณาว่า พึงปฏิบัติอย่างไร หรือได้แนวคิดอะไรบ้างจากการอ่านวรรณกรรมนั้น

วรรณกรรมทุกเรื่องจะสะท้อนภาพชีวิตและสังคม ตัวอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่องน้ำพุจะสะท้อนภาพสังคมวัยรุ่นที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จนเสียชีวิตในที่สุด

๓.๔ การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

งานประพันธ์ย่อมประกอบด้วยถ้อยคำ เนื้อหาสาระและกลวิธีการเขียนแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำงานประพันธ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ในแง่จดจำถ้อยคำสำนวนไปใช้เพื่อความสนุกสนาน ความไพเราะ ส่วนเนื้อหาสาระอาจนำไปใช้ในแง่ได้คติข้อเตือนใจ ได้ความคิดเห็นที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ

การนำคุณค่าของงานประพันธ์ไปใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้อ่าน ที่จะวิเคราะห์เพื่อเลือกจดจำ คิดและนำไปใช้ตามกำลังความคิดของตน

ตัวอย่างแนวการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยกรอง

การอ่านอย่างวิเคราะห์จะสามารถแยกข้อดี-ข้อเสีย และประเมินค่าของวรรณกรรมได้ ซึ่งผู้อ่านควรวิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ

๑. รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง

๒. ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง

๓. ความไพเราะ

๔. สาระของเนื้อหา

๑) รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง

ฉันทลักษณ์เป็นกฎข้อบังคับในการประพันธ์ เช่น โคลงสี่สุภาพบังคับว่า ต้องใช้คำที่มีวรรณยุกต์เอก วรรณยุกต์โทตามตำแหน่งที่กำหนด ฉันท์กำหนดเสียงหนักเบา (ครุ-ลหุ)และคำประพันธ์ทุกประเภทบังคับการส่งสัมผัสตามตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ เป็นต้น ฉันทลักษณ์ เป็นระเบียบข้อบังคับ ถ้าไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิด การพิจารณาวรรณกรรมร้อยกรองเกือบ

ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ฉันทลักษณ์ เพราะผู้ประพันธ์จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว

๒) ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง

คือกลวิธีในการประพันธ์ที่นิยมกันว่าดีงามและถือปฏิบัติสืบต่อกันมา บทประพันธ์ที่ไม่ สอดคล้องกับธรรมเนียมนิยมไม่ถือว่าผิดหากแต่จะเป็นคำประพันธ์ที่ไม่งามสมบูรณ์ในความนิยมของผู้อ่าน

๑. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำประพันธ์ประเภทโคลง โคลงนิยมใช้คำที่มีน้ำหนักศัพท์ค่อนข้างสูง บางคำเป็นศัพท์เก่า บางคำใช้คำศัพท์แผลง บางครั้ง

ตอนเสียง คำหน้าเป็นเสียงอะ กวีบางคนนิยมใช้คำภาษาถิ่น กลวิธีการแต่งโคลงที่นิยมว่าไพเราะสืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบันมีมากมาย เช่น นิยมสัมผัสอักษร นิยมซ้ำคำ ในที่บางแห่งนิยมเสียงสูงท้ายวรรคสุดท้าย เป็นต้น

๒. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและเลือกใช้คำประพันธ์ประเภทฉันท์ นิยมใช้ คำศัพท์สูง ได้แก่ คำโบราณ คำบาลี-สันสกฤต คำแผลง เป็นต้น กวีจะเลือกใช้คำฉันท์สำหรับเรื่องราวที่เป็นแบบแผนสูงส่งและสง่างาม เช่น คำบูชาพระรัตนตรัย คำบูชาพระเจ้า และบทสวดต่าง ๆ ส่วนเนื้อหาที่เป็นเรื่องราว เช่น นิทาน กวีจะเลือกเรื่องสำคัญที่เห็นว่า

ศักดิ์สิทธิ์ และสูงส่ง เช่น เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น นอกจากนี้ ฉันท์แต่ละชนิด ยังมีลักษณะเหมาะสมกับการพรรณนาเฉพาะเรื่องอารมณ์ของตัวละคร และบรรยากาศอีกด้วย กวีได้ถือเป็นธรรมเนียมนิยมปฏิบัติสืบกันมา เช่น สัททุลวิกกิฬิตฉันท์ เหมาะสำหรับใช้เป็นบทไหว้ครูหรือยอพระเกียรติ

๓. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำในการแต่งกาพย์การแต่งกาพย์มักใช้คำพื้น ๆ ธรรมดา หากเรื่องที่มีโครงเรื่อง เนื้อเรื่องที่แต่งก็ไม่สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เหมือนเรื่องที่แต่งเป็นคำฉันท์ กวีสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่งนิทานเป็นคำกลอน เช่น กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นต้น บางครั้งกวีใช้กาพย์และฉันท์แต่งปนกันในวรรณกรรม เรื่องเดียว โดยเลือกใช้กาพย์สำหรับบทพรรณนา สภาพเหตุการณ์ สภาพบ้านเมือง เป็นต้น

๔. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งร่ายมีธรรมเนียมคล้ายกาพย์และโคลง แต่ไม่นิยมแต่งร่ายทั้งเรื่อง ใช้แต่งประกอบกับโคลง นอกจากร่ายยาวทำนองเทศน์เท่านั้นที่แต่งด้วยร่ายตลอดทั้งเรื่อง

๕. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำในการแต่งกลอนนิยมใช้คำพื้น ๆ ธรรมดา บางครั้งกวีพลิกแพลง การใช้คำให้พิสดารเพื่อให้กลอนมีรสชาติ เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น การเล่นคำ การส่งสัมผัสด้วยคำตาย กลอนกลบทต่าง ๆ เป็นต้น

๓) ความไพเราะของวรรณกรรมร้อยกรอง

ความไพเราะของวรรณกรรมร้อยกรองขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ที่ควรพิจารณามีดังนี้

๑. การเลือกสรรคำมาใช้

เลือกคำที่มีเสียงเสนาะ คือ คำที่จะใช้แฝงลีลา จังหวะอ่อนเนิบ นิ่มนวลหรือเร่งเร้า รุนแรง ตามที่กวีต้องการร่ายทอดอารมณ์หรือบรรยากาศออกมาสู่ผู้อ่าน

ก. การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงหรือเห็นภาพ ทำให้เกิดความไพเราะและสะเทือนอารมณ์ตามไปด้วย เช่น

ตัวอย่าง ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่                ออดแอดแอดออดยอดไกว แพใบไล้น้ำลำคลอง

(คำหยาด เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

ข. ใช้คำน้อยแต่กินความมาก เป็นการกล่าวอย่างกระชับ แต่มีเจตนาจะให้สื่อ ความหมายคลุมกว้างขวางออกไปยิ่งกว่าที่กล่าวไว้นั้น เช่น

ตัวอย่างอันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ

คำว่าของสูง มีความหมายตามศัพท์ หมายถึง สิ่งที่อยู่สูง ๆ แต่เจตนาของผู้ส่งสาร มีความหมายกว้างออกไปอีก หมายถึง สิ่งที่สูงค่ายิ่ง

คำว่าปีนป่าย มีความหมายตามศัพท์ หมายถึง การไต่ไปสู่ที่สูง แต่เจตนาของผู้ส่งสาร มีความหมายกว้างออกไปอีก หมายถึง ความพยายาม ความมุ่งมั่น อดทน ต่อสู้อย่าง

ไม่ย่อท้อ

ค. การเล่นคำ คือการนำคำพ้องรูปพ้องเสียง มาร้อยกรองเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดเสียงไพเราะน่าฟัง ถ้านำมาใช้ในบทพรรณนา หรือบทคร่ำครวญ ก็จะทำให้เกิดความสะเทือน อารมณ์ เช่น

ตัวอย่าง                 รอนรอนสุริยะโอ้    อัสดง

เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง               ค่ำแล้ว

รอนรอนจิตจำนง                    นุชพี่ เพียงแม่

(กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง)

ง. การใช้คำอัพภาส คือ การซ้ำคำชนิดหนึ่ง โดยใช้พยัญชนะซ้ำเข้าไปข้างหน้า เช่น ริก เป็นระริก ยิ้ม เป็น ยะยิ้ม แย้ม เป็น ยะแย้ม เช่น

ตัวอย่างเพื่อชื่นชมรมณีย์กับชีวิต     ที่จะคิดที่จะทำตามคิดเห็น

ระเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉ่ำลืมลำเค็ญ           ลืมความเป็นปรัศนีย์ขอชีวิต

(วารีดุริยางค์ ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

จ. การเล่นเสียงวรรณยุกต์ คือ การนำคำที่มีพยัญชนะต้น สระ ตัวสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต่างวรรณยุกต์กัน นำมาเรียงไว้ใกล้กัน ทำให้เกิดเสียงไพเราะดุจดนตรี เช่น

ตัวอย่าง สกัดไดใดสกัดน้อง              แหนงนอนไพรฤา

เพราะเพื่อมาราญรอน                          เศิกไซร้

สละสละสมร เสมอชื่อ                           ไม้นา

นึกระกำนามไม้                                     เหม่นแม้นทรวงเรียม

(ลิลิตตะเลงพ่าย)

ฉ. การสัมผัสอักษร - สัมผัสสระ

สัมผัสอักษร หมายถึง การนำคำที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกันมาเรียบเรียงไว้ใกล้กัน

สัมผัสสระ หมายถึง การสัมผัสของคำที่มีเสียงสระเดียวกัน เช่น

๒. กวีโวหารและสำนวนโวหาร

การใช้กวีโวหารและสำนวนโวหารจะช่วยสร้างความไพเราะ ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในจิตหรือจินตภาพขึ้น ผู้แต่งอาจกล่าวอย่างตรงไปตรงมา หรือกล่าวเป็นโวหารภาพพจน์ก็ได้ ซึ่งอาจใช้ได้หลายลักษณะ ดังนี้

ก. การเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย อาจทำได้ ๒ วิธีคือ

วิธีที่ ๑ การเปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีคำแสดงความหมาย อย่างเดียวกันกับคำว่าเหมือน ปรากฏว่า ได้แก่คำว่า เสมือน เปรียบเหมือน ดุจ ประดุจ ดั่งดุจดัง เพียง ราว เป็นต้น

ตัวอย่าง                "แม้มีความรู้ดั่ง       สัพทัญญู

ผิบ่มีคนชู                ห่อนขึ้น"

วิธีที่ ๒ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักจะมีคำว่า คือ หรือ เป็น ปรากฏ อยู่ เช่น

ตัวอย่างเงินตราหรือคือกระดาษ ผู้สร้างขึ้นมาซิอนาถ หลงใหลเป็นทาสอำนาจเงิน

ข. การใช้บุคลาธิษฐาน หมายถึง การสมมุติสิ่งต่าง ๆ ให้มีกิริยาอาการของมนุษย์ เช่น

ตัวอย่าง มองซิมองทะเลเห็นลมคลื่นเห่จูบหิน บางครั้งมันบ้าบิ่นกระแทกหินดังครืน ๆ

หางนกยูงระย้าเรี่ยคลอเคลียน้ำ แพนดอกฉ่ำช้อยช่อวรวิจิตร

ค. การใช้สัญลักษณ์หรือสิ่งแทนสัญลักษณ์ หมายถึง สิ่งหนึ่งที่ใช้แทนอีกสิ่งหนึ่ง

ตัวอย่าง สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา

ง. การกล่าวเท็จ (อธิพจน์)เป็นการเน้นความรู้สึกบางอย่างให้ชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความแปลก และเรียกร้องความสนใจได้ดี

ตัวอย่าง จะเอาโลกมาทำปากกา จะเอานภามาแทนกระดาษเอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ

จ. การใช้โวหารปฏิพากย์ (โวหารขัดแย้ง) คือ การนำคำที่มีความหมายขัดแย้งกันมาเรียงต่อกัน

ตัวอย่าง ความหวานชื่นอันขมขื่น

๔) สาระของเนื้อหา

สาระของวรรณกรรม คือ ประโยชน์อันเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับจากวรรณกรรม นอกเหนือจากความบันเทิงใจ

๑. แนวคิดและค่านิยมจากวรรณกรรม

แนวคิดที่ปรากฏในวรรณกรรม หมายถึง ความคิดสำคัญของเรื่องที่ให้ประโยชน์ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่มนุษยชาติและสังคม เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องบุญกรรม ความรักชาติ ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์ เป็นต้น

ค่านิยม หมายถึง ความรู้สึก ความคิด หรือความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เชื่อว่า มีความหมายหรือมีความสำคัญต่อตนหรือกลุ่มของคน ค่านิยมจะเป็นตัวกำหนด พฤติกรรมแบบแผนการดำเนินชีวิตของบุคคล เช่น ค่านิยมเรื่องการทำบุญทำทาน การชอบ ความสนุกสนานรื่นเริง การนิยมใช้ของต่างประเทศ ความจงรักภักดีต่อชาติ ฯลฯ

๒. สาระด้านหลักฐานความเป็นจริง

เนื้อหาที่เป็นหลักฐาน ทำให้ผู้อ่านได้ทราบความจริงเกี่ยวกับความ เปลี่ยนแปลง ทุก ๆ ทางของสังคม ค่านิยมและทัศนะของบุคคลในสมัยที่วรรณกรรม เรื่องนั้นเกิดขึ้น เช่น ในเสภาขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงพิธีโกนจุกว่า 

การศึกษา วรรณคดี มีคุณค่าอย่างไร

๑. วรรณคดี ให้ความรู้หลายด้านที่จะช่วยเสริมสติปัญญาแก่ผู้อ่าน… ๒. วรรณคดีให้คุณค่าทางด้านอารมณ์… ๓. วรรณคดีช่วยสะท้อนสภาพชีวิต สังคมและวัฒนธรรมในสมัยของกวี…. ๔. วรรณคดีช่วยขัดเกลาจิตใจและยกระดับจิตใจของผู้อ่านให้สูงขึ้น….

คุณค่าวรรณคดีด้านสังคมประกอบด้วยอะไรบ้าง

๔. คุณค่าด้านสังคม คือ ภาพสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่สะท้อนมาจากวรรณคดี และวรรณกรรมโดยกวีนิยมแทรกไว้ในเนื้อเรื่อง เช่น ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ วรรณคดีและวรรณกรรมจึงเป็นเสมือนกระจกสะท้อนสภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย ซึ่งเป็นหลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตแก่คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี ตัวอย่าง ...

ความสําคัญของวรรณคดี มีอะไรบ้าง

วรรณคดีเป็นวรรณกรรมที่ถูกยกย่องว่าเขียนดี มีคุณค่า สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความคิดเป็นแบบแผน ใช้ภาษาที่ไพเราะ เหมาะแก่การให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะสามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น รู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร และทรงคุณค่า

วรรณกรรมที่ควรค่าแก่การศึกษามีลักษณะอย่างไรบ้าง

๑. ถูกต้องตามลักษณะภาษาไทย คือ ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทย เช่น ใช้คำราชาศัพท์เหมาะสม ใช้ลักษณนามถูกต้อง เป็นต้น ๒. สื่อความหมายได้ตามที่ต้องการ คือ ใช้คำได้ตรงความหมาย ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย ลำดับประโยคและข้อความได้ดี ไม่ก่อให้เกิดความสับสน แบ่งวรรคตอนถูกต้อง