เหตุใดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้รับพระราชสมญานามว่า

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 1  มกราคม  พ.ศ. 2423  ทรงพระนามเดิมว่า  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  กรมขุนเทพทวาราวดี

ใน พ.ศ. 2436  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ กรมขุนเทพทวาราวดีเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ประเทศอังกฤษ  ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  สยามมกุฎราชกุมารสวรรคต  จึงทรงได้รับสถาปนาเป็น  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  สยามมกุฎราชกุมารแทนขณะยังประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ  ใน พ.ศ.2453 สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต  จึงได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์ทรงพระนามว่า  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งยังทรงพระเยาว์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษา  ภาษาไทย  และขนบธรรมเนียมประเพณีไทยจาก พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร)  พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว.หนู  อิศรางกูร ณ อยุธยา)  ฯลฯ   ส่วนวิชาภาษาอังกฤษนั้นทรงศึกษาจากเซอร์ โรเบิร์ต  มอแรนต์ ( Sir  Robert  Morant ) 

ครั้นพระชนมายุได้  13  พรรษาเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษทั้งในด้านวิชาการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน    ทรงศึกษาวิชาการทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิรสต์ ( Sandhurst )   เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วได้เสด็จเข้าประจำการในกองทหารราบเบาเดอรัม ( Durham  Light  Infantry ) ต่อมาสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาการฝ่ายพลเรือน  คือวิชาการปกครองและวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไคร้สต์  เชิร์ช ( Christ  Church College)  มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ( Oxford  University )  หลังจากทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ได้ประมาณปีเศษ  มีพระราชประสงค์จะทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ( Staff  College )  แต่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต  เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  ถึงเวลาที่สมควรเสด็จกลับมาทรงเรียนรู้กิจการต่าง ๆ ของบ้านเมือง  ดังนั้นจึงเสด็จนิวัตพระนครใน พ.ศ.2445

นับตั้งแต่ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปฏิบัติพระราชภารกิจสำคัญ ๆ แทนพระองค์    อาทิ เสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีต่าง ๆ ของราชสำนักยุโรป  เช่น ใน พ.ศ. 2445  เสด็จฯไปในพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าอัลฟองโซแห่งเสปน  และเสด็จฯ ไปในพระราชพิธีฝังพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ  ฯลฯ  และในระหว่างที่เสด็จนิวัตประเทศไทย  ก็ได้ทรงเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นด้วย

ครั้นเสด็จนิวัตประเทศไทยก็ทรงเข้ารับราชการทหาร  ต่อมาได้รับพระราชทานยศนายพลเอกราชองครักษ์บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์  ทั้งยังทรงช่วยเหลือกิจการสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์  และโดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถเข้าร่วมประชุมเสนาบดีด้วย  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  สยามมกุฎราชกุมารก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  2  ครั้ง    ครั้งแรกเป็นการพระราชพิธีราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเทียรตามโบราณราชประเพณี  ครั้งหลังเป็นการพระราชพิธีสมโภชซึ่งจัดเป็นรัฐพิธียิ่งใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง  ได้ทรงเชิญพระราชวงศ์และประมุขของประเทศต่าง ๆ  ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย  เช่น  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  รุสเซีย  เยอรมนี  ญี่ปุ่น  ฯลฯ  มาร่วมในพระราชพิธีด้วย

ตลอดระยะเวลา  15  ปีที่ทรงครองราชย์    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปฏิบัติพระราชภารกิจและพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนนานัปการ  อาทิ  ด้านการเมืองการปกครอง  การศึกษา  เศรษฐกิจและการคลัง  การคมนาคม  การต่างประเทศ  การแพทย์และสาธารณสุข  กิจการเสือป่าและลูกเสือ    ศิลปวัฒนธรรม  ฯลฯ

ในด้านการเมืองการปกครอง  เนื่องจากเสด็จฯไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ทรงพระเยาว์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างดียิ่ง  เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ได้ดำเนินพระบรมราโชบายในการปฏิรูปและจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินทางการปกครองตามแบบที่สมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงวางไว้    ได้ทรงนำการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาทดลองใช้ในประเทศไทย  เช่น  ทรงสร้างเมืองจำลองดุสิตธานีขึ้นในพระราชวังดุสิต  เพื่อฝึกอบรมบรรดาเสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารให้เข้าใจซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและวิธีการปกครองระบอบนี้  เช่นจัดให้มีการเลือกตั้ง มีการออกหนังสือพิมพ์  ฯลฯ ในเมืองดุสิตธานี  แต่ในที่สุดดุสิตธานีก็ต้องสลายตัวไปเพราะแม้แต่บรรดาเสนาอำมาตย์ก็ยังไม่เข้าใจ  ดังนั้นจึงมีพระราชดำริว่าจะต้องพัฒนาในด้านการศึกษาของประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก  

ในด้านการศึกษา   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางรากฐานการศึกษาแผนใหม่ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นอุดมศึกษา  เช่น  ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นใน พ.ศ. 2464  ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนแทนวัดประจำรัชกาลคือ  โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  (ต่อมา คือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในสมัยรัชกาลที่ 7)  ใน พ.ศ.2465  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในสมัยรัชกาลที่ 5  ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

ในด้านเศรษฐกิจและการคลัง  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคลังออมสิน  คือธนาคารออมสินในปัจจุบัน  ให้ตราพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดและการใช้มาตราเมตริก  ตรากฏหมายว่าด้วยการจดทะเบียนสหกรณ์  และทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทย  ฯลฯ

ในด้านการคมนาคม    ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงและขยายกิจการรถไฟ  และให้รวมกรมรถไฟ  2  กรมเข้าเป็นกรมเดียว  เรียกว่า  กรมรถไฟหลวง   ในรัชกาลนี้มีการสร้างสะพานข้ามคลองและถนนสายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น  มีการตั้งกรมอากาศยาน  และเริ่มมีการขนส่งไปรษณียบัตรทางอากาศเป็นครั้งแรก

ในด้านการต่างประเทศนั้นพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ  ในสงครามโลกครั้งที่ 1  พ.ศ. 2460  ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน  ออสเตรีย – ฮังการี  เพื่อรักษาสิทธิของประเทศและเพื่อความเป็นธรรมของโลก  ทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งทหารไทยไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรปด้วย  ซึ่งผลจากการเข้าร่วมสงครามครั้งนี้  ในฐานะประเทศชนะสงครามไทยจึงสามารถเจรจาขอแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและด้านการจำกัดอำนาจการเก็บภาษีของไทยกับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศได้เป็นผลสำเร็จ

ในด้านการแพทย์  การสาธารณสุข  และการสาธารณูปโภคนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และวชิรพยาบาล  ทรงเปิดสถานเสาวภาใน พ.ศ. 2465   และใน พ.ศ. 2454 ได้ทรงเปิดการประปากรุงเทพฯ  

ในด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้นใน พ.ศ. 2455  เพื่อฝึกอบรมข้าราชการให้มีระเบียบวินัย  มีความสามัคคี  และมีน้ำใจเป็นสุภาพบุรุษ   รู้จักรักชาติ  ศาสนา  และพระมหากษัตริย์  รวมทั้งได้มีการฝึกซ้อมเพื่อเป็นกำลังของประเทศในยามคับขัน  ส่วนกองลูกเสือนั้นจัดตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่อฝึกเยาวชนให้มีความสามัคคี  รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม  และช่วยรบได้ในยามคับขัน  ซึ่งในเวลาต่อมากิจการเสือป่าและลูกเสือก็ได้ขยายไปทั่วราชอาณาจักร

ในด้านศิลปวัฒนธรรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสนพระทัยและโปรดศิลปะการแสดงโขนละครเป็นพิเศษ  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหรสพขึ้นเพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย  ในทางสถาปัตยกรรมก็โปรดสถาปัตยกรรมไทย  เห็นได้จากพระที่นั่งแบบไทยหลังแรกที่สร้างขึ้นคือพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ในพระราชวังสนามจันทร์   และตึกอักษรศาสตร์ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นต้น

ส่วนในด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์นิทานเรื่อง “ไม่กลัวผี” ตั้งแต่พระชนมายุได้ 12 ปี  ครั้นเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ  ได้ทรงออกวารสารรายสัปดาห์สำหรับเด็กชื่อว่า “เดอะ  สครีช  เอาล์” (The Screech  Owl)    และหนังสือประจำสามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ)   ชื่อ  “เดอะ  ลุคเคอร์  ออน”  ( The  Looker  on )  หลังจากเสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษก็ได้ทรงตั้ง  “ทวีปัญญาสโมสร”  และทรงออกหนังสือพิมพ์รายคาบชื่อ “ทวีปัญญา” ด้วย   ต่อมาได้ทรงออกหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีก เช่น  อัมภวสมัย  ดุสิตสมิต   เป็นต้น  ในรัชกาลนี้กิจการหนังสือพิมพ์เฟื่องฟูและแพร่หลาย  นักเขียนได้รับสิทธิเสรีภาพมากในด้านแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน พระมหากษัตริย์เองทรงเป็นทั้งเจ้าของหนังสือพิมพ์และทรงพระราชนิพนธ์บทความในหนังสือพิมพ์อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมการกวีและการแต่งหนังสืออย่างยิ่ง  ทรงใช้พระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ สื่อแนวพระราชดำริและพระราชนิยม  ทั้งยังทรงใช้เป็นเครื่องมือในการอบรมและปลุกใจข้าราชบริพาร  ประชาชนให้ตระหนักถึงหน้าที่ที่พึงมีต่อชาติ  ศาสนา  และพระมหากษัตริย์  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรขึ้นเมื่อ พ.ศ.2457 โดยทรงดำรงตำแหน่งสภานายก  มีหน้าที่สำคัญคือพิจารณายกย่องหนังสือไทยประเภทต่าง ๆ ที่แต่งได้ดีเยี่ยม  ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศในทางอักษรศาสตร์  จึงทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”  ซึ่งหมายถึงกษัตริย์นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่  ทรงใช้ทั้งพระนามจริงและพระนามแฝงซึ่งทรงริเริ่มใช้เป็นนามปากกาในการทรงพระราชนิพนธ์  เช่น  ศรีอยุธยา   อัศวพาหุ   รามจิตติ   นายแก้วนายขวัญ   M.V. ,  Young   Tommy,   Carlton  H. Terris,   Pha  Khan   Bejra   ฯลฯ  พระราชนิพนธ์มีจำนวนมากทั้งแบบโบราณสมัยและสมัยใหม่  มีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ  ทั้งที่ทรงพระราชนิพนธ์เอง  ทรงแปล  และทรงเรียบเรียงจากงานเขียนของผู้อื่น  ทำให้พระราชนิพนธ์มีความหลากหลายทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบ  บางเรื่องได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร  เช่น   เรื่อง “มัทนะพาธา”  ได้รับการยกย่องเป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์  เรื่อง “หัวใจนักรบ” ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของบทละครพูดร้อยแก้ว  เป็นต้น

นอกจากนี้  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศมีลักษณะเป็นสากลและเหมาะแก่สมัยยิ่งขึ้น  อาทิ  เริ่มใช้นามสกุล  การใช้คำนำหน้านาม  การใช้ธงไตรรงค์แทนธงช้าง  เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ได้ 15 ปีเสด็จสวรรคตในวันที่  25  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2468   สิริพระชนมพรรษาได้ 45 พรรษา   เมื่อครบรอบ  100 ปีแห่งวันพระบรมราชสมภพใน พ.ศ. 2524   องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณพระองค์ในฐานะทรงเป็นนักปราชญ์  กวีและนักแต่งละคร

หมวดโขน – ละคร

โขน – เบิกโรง

1. พระคเณศร์เสียงา

2. พระนรสิงหาวตาร 

3. พระพรตเบิกโรง 

4.ฤษีเสี่ยงลูก

5. มหาพลี

6. รามสูรชิงแก้ว                        ฯลฯ

โขน

1. จองถนน 

2. ธรรมาธรรมะสงคราม

3. เผาลงกา 

4. พระรามตามกวาง

5. สุครีพหักฉัตร

6. สูรปะนขาหึง                       ฯลฯ

ละครรำ

1. ขอมดำดิน 

2. ท้าวแสนปม 

3. พระยาราชวังสัน 

4. แต่งงานพระไวย

5. ศกุนตลา

6. พระนาละ                       ฯลฯ

ละครร้อง

1. ตั้งจิตรคิดคลั่ง 

2. ธรรมะมีชัย 

3. พระร่วง 

4. สาวิตรี

5. พระยศเกตุ

6. พระเกียรติรถ                       ฯลฯ

ละครสังคีต

1. มิกาโด 

2. วั่งตี่ 

3. วิวาหพระสมุท

4. หนามยอกเอาหนามบ่ง

ละครพูด

1. กลแตก 

2. เจ้าข้า, สารวัด ! 

3. ฉวยอำนาจ 

4. มัทนะพาธา

5. หัวใจนักรบ     

6. เห็นแก่ลูก                 ฯลฯ

ละครพูดแปล

1. คดีสำคัญ 

2. เจ้าคุณเจ้าชู้ 

3. ตบตา 

4.เวนิสวานิช 

5. วิไลเลือกคู่

6. ปรียทรรศิกา

7. หลวงจำเนียรเดินทาง

8. โรเมโอและจูเลียต                        ฯลฯ

ละครพูดภาษาอังกฤษ

1. Evelyn 

2. Lord  Vermont  V.C. 

3. A  Real  Ghost   

4. Sir  Herbert’s  Reward

5. The  King’s  Command

6. A  Statesman’s  Wife                       ฯลฯ

พระราชนิพนธ์เค้าโครงเรื่อง

1. พระหันอากาศ

2. ไม่โกรธ                       ฯลฯ

ละครพูดแบบภาพยนตร์

1. สร้อยคอไข่มุกด์

2. เนตรพระอิศวร                       ฯลฯ

ละครปริศนา (ดัมบ์แครมโบ)

1. ตึกผีดุ

2. ลูกสาวของน้า                       ฯลฯ

หมวดนิทานและบทชวนหัว

ภาษาไทย

1. ไม่กลัวผี 

2. ต้นหมาปลายหมา 

3. ศิษย์มีครู 

4. ตำนานแห่งหญ้าคา 

5. นิทานทองอิน 

6. สร้อยคอเพชรห้าร้อย 

7. คดีห้องเช่าราคาถูก

8. หัวใจชายหนุ่ม

9. นิทานทหารเรือ

10. ยาตัวเบา

11. วิชาของหมอคำ

12. เจ้าชู้ยักษ์                       ฯลฯ

ภาษาอังกฤษ

1. O  Hana  San 

2. Marcelle  and   the  Prince 

3. Isabel’s  Idea 

4. His  Majesty’s  Sweetheart

5. My  Friend  the  Traveller

6. How  Billy  Strangway  was  Captured                       ฯลฯ

หมวดร้อยกรอง

ภาษาไทย

1. แสนเสียดายดวงจันทร์อันทรงกลด 

2. สักรวาชายทะเล 

3. ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง 

4. พระนลคำหลวง 

5. สยามานุสสติ

6. โคลงนิราศประลองยุทธสามัคคีเสวก 

7. โคลงโลกนิติจำแลง

8. กาพย์เห่เรือยุคใหม่

9. ลิลิตพายัพ

10. ลิลิตนารายณ์สิบปาง

11. เครื่องหมายแห่งธงไตรรงค์                       ฯลฯ

ภาษาอังกฤษ

1. A  Lover’s  Converse 

2. Jolly  Jack 

3. Only  a  Dream 

4. Speak !  Speak !  

5. The  Lad  in  Blue

6. Love  of  Race  and  Fatherland                       ฯลฯ

หมวดสารคดี

ภาษาไทย

1. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์

2. การสงครามป้อมค่ายประชิด 

3. ยิวแห่งบูรพาทิศ 

4. เมืองไทยจงตื่นเถิด 

5. นารายณ์สิบปาง 

6. หลักราชการ 

7. ญี่ปุ่นกับรัสเซีย

8. เที่ยวเมืองพระร่วง

9. พระบรมราชาธิบายในการประพันธ์

10. บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์

11. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร                       ฯลฯ

ภาษาอังกฤษ

1. French  Revolution 

2. Financial  Policy 

3. Shakespeare  in  Siamese 

4. Power

5. The  Status  of  Woman  in  Siam

6. Wisdom  and  Progress                        ฯลฯ

หมวดบทความที่ลงหนังสือพิมพ์

1. กรุงสยามเข้าสงครามแล้ว 

2. ความเป็นกลางแห่งเมืองจีน 

3. กระต่ายตื่นตูม 

4. ครวญถึงภาษาไทย 

5. คุณและโทษแห่งการมีคู่ 

6. ความนิยมเป็นเสมียน

7. การยุทธในทะเลเหนือ

8. เป็นใหญ่ในโลกฤๅล่มจม

9. รักชาติหรือล้างชาติ

10. ศัพท์สันนิษฐาน “พินิศและพินิจ”

11. เครื่องหมายแห่งความรุ่งเรืองคือสภาพของสตรี    

12. ประโยชน์ของการสัก                                 ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีพระราชนิพนธ์หมวดอื่น ๆ อีก เช่น  หมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมราโชวาท หมวดพระบรมราชานุศาสนีย์ หมวดเทศนา หมวดปลุกใจเสือป่า หมวดพระราชบันทึก  หมวดพระราชหัตถเลขา  ฯลฯ

กรรภิรมย์   สุวรรณานนท์.  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการสร้างชาติไทย. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2525.

คณะอนุกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ ฯลฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จุลสารแผ่นพับรายชื่อพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  พระนคร : คุรุสภา,  2522 – 2524.

_. สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร : เจริญวิทยาการพิมพ์,  2523. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานเปิดหอวชิราวุธานุสรณ์วันที่  1  มกราคม  พ.ศ. 2454).

ทิพย์สุเนตร   อนัมบุตร.  วรรณกรรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง,  2523.

ประยุทธ   สิทธิพันธ์.   พระมหาธีรราชเจ้า.  กรุงเทพฯ : สยาม, 2514.

โสมทัต   เทเวศร์.  จดหมายเหตุพระราชประวัติรัชกาลที่ 6.  พระนคร : บำรุงสาสน์,  2523.

อมรดรุณารักษ์,  จมื่น [ แจ่ม   สุนทรเวช ].  พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  11 เล่ม.   พระนคร : คุรุสภา,  2511 – 2514.