การศึกษาไทยในปัจจุบัน 2565

กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมความพร้อมให้การศึกษา เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพทางการศึกษา

ผ่านความพร้อมใน 3 ด้าน

#นักเรียนพร้อม

1. พาน้องกลับมาเรียน – ติดตามตัวเด็กตกหล่นและหลุดออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยสามารถพาเด็กกลับมาเรียนได้สำเร็จกว่า 95% และเดินหน้าพาน้องกลับมาเรียนให้ได้ครบทุกคน ในปี 2565

2. MOE Safety Center – ความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เราต้องทำให้โรงเรียนเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ที่มีความปลอดภัยอย่างแท้จริง โดยมีช่องทางแจ้งปัญหาความไม่ปลอดภัยที่สามารถสั่งการแก้ไขและติดตามได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3. ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และ ศูนย์ CVM – ยกระดับหลักสูตรอาชีวะให้มีความเป็นเลิศ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ทันต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ และอาชีพใหม่ ๆ โดยดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เด็กอาชีวะเรียนจบมาแล้วพร้อมทำงานมากที่สุด

#ครูพร้อม

4. แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา – ปลดหนี้ปลดภาระให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้และช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ครูมีเวลาดูแลนักเรียนมากขึ้น พร้อมติดอาวุธความรู้วินัยทางการเงินให้กับครูทั่วประเทศ

#โรงเรียนพร้อม

5. โรงเรียนคุณภาพ – ปรับรูปแบบการสอนแบบ Active Learning ให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับห้องเรียนมากขึ้น และ Sharing Resources ผนึกกำลังโรงเรียนแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพื่อดึงศักยภาพแต่ละด้านที่โดดเด่น มาร่วมสร้างการศึกษาที่มี ‘คุณภาพ’ ให้กับเด็กไทยทั่วประเทศ

เปิดฉากการศึกษาในรอบปี 2565 ภายใต้การนำของสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งวังจันทรเกษม “เสมา1” น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครบ 1 ขวบปีเต็ม พร้อมประกาศนโยบายเดินหน้าการบริหารจัดการศึกษาขจัดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสให้แก่ผู้เรียนครบทุกมิติ เริ่มตั้งแต่นโยบาย “สถานศึกษาปลอดภัย” หรือ MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย โดยมีการนำแอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว หรือแจ้งมาที่ส่วนกลาง หรือ ศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกและทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ได้มีการเปิดตัวไปแล้วที่ส่วนกลาง ตอนนี้ก็เป็นการขยายผลไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความตระหนักและให้เกิดการรับรู้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

การศึกษาไทยในปัจจุบัน 2565
การศึกษาไทยในปัจจุบัน 2565

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ในสถานศึกษาของรัฐ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 88 แห่งทั่วประเทศ รองรับนักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมด้านคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนสายอาชีพที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาให้มีทักษะวิชาชีพ สามารถทำงานประกอบอาชีพได้

การศึกษาไทยในปัจจุบัน 2565

มาต่อที่โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมกับ 11 พันธมิตรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่จะบูรณการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กในปัจจุบัน เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และจะมีการลงพื้นที่ติดตามถึงบ้าน เพื่อตามเด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยจากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในปี 2564 รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 238,707 คน ซึ่งหลังจากดำเนินการเชิงรุกสามารถตามเด็กกลับมาเรียนได้แล้ว 127,952 คน ยังเหลือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา รวมจำนวน 110,755 คน

การศึกษาไทยในปัจจุบัน 2565

รวมถึงนโยบาย “โรงเรียนคุณภาพ” ซึ่ง “ตรีนุช” ให้ความสำคัญการยกระดับสถานศึกษาเดิมให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 10,480 แห่ง ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1,155 แห่ง และโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร หรือโรงเรียน Stand Alone จำนวน 1,303 แห่ง รวมทั้งสิ้น 12,938 แห่ง เน้นขับเคลื่อนยกระดับเรื่องสำคัญ เช่น การเพิ่มจำนวนครูให้ครบชั้นครบวิชาเอก อาคารสถานที่เรียนปลอดภัยมีครุภัณฑ์อุปกรณ์อินเทอร์เน็ต ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และทันสมัย เป็นต้น โดยขณะนี้ได้โรงเรียนคุณภาพที่เป็นโรงเรียนหลักแล้ว จำนวน 183 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงเรียนแต่ละแห่งจะมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เป็นโรงเรียนเครือข่ายครอบคลุมโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด

การศึกษาไทยในปัจจุบัน 2565
การศึกษาไทยในปัจจุบัน 2565

สำหรับนโยบาย “การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา” นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 2.ควบคุมยอดหนี้ 3.จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ 4.ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย 5.ปรับโครงสร้างหนี้ 6.กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการช.พ.ค และ 7.ติดอาวุธให้ความรู้และทักษะด้านการเงินแก่ครู

การศึกษาไทยในปัจจุบัน 2565

ทั้งนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ยังได้เปิดเผยถึงทิศทางการศึกษาไทยในปีการศึกษา 2566 ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการศึกษาไทยได้เจอกับพายุโควิดอย่างหนัก เนื่องจากเราพบเด็กหลุดจากระบบการศึกษา และภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้นในปี 2566 จะเป็นปีแห่งการสร้างโอกาสทางการศึกษาของเด็กทุกคน และเติมทักษะความรู้ของผู้เรียนทุกช่วงวัย รวมถึงการเดินหน้าสร้างเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพ นอกจากนี้ยังต้องขับเคลื่อนนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย โดยเฉพาะการเพิ่ม 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย และในปีการศึกษา 2566 เด็กนักเรียนจะต้องรู้จักการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือ การทำซีพีอาร์ให้ได้ ขณะนี้ครูจะมุ่งการอบรมพัฒนาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนสู่การเรียนแบบ Active learning เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ของโลกในศตวรรษที่ 21 ขณะที่อาชีวศึกษาจะต้องเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับสถานศึกษาให้มากขึ้นเป็น 50% รวมถึงการฟื้นการเรียนทวิศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนที่จบการศึกษาแล้วได้สองวุฒิ คือ วิชาชีพ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้แม้แต่ละนโยบายจะมีการขับเคลื่อนมาแล้วในปีที่ผ่านมาแต่ตนต้องการให้ปีหน้ามีการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในปีการศึกษา 2565 ถือเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศชูธงลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างโอกาสการเรียนรู้ของเด็กทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม