แนวทาง การ ปฏิบัติ ตน เป็น พล โลก

ฮิวจ์ อีแวนส์ (Hugh Evans) นักมนุษยธรรมชาวออสเตรเลีย พูดด้วยน้ำเสียงจริงจังบนเวที TED Talk และพยายามบอกพวกเราทุกคนว่าโลกของเรากำลังมีปัญหา มีผู้คนที่สนใจปัญหาส่วนรวมของโลกน้อยจนเกินไป เนื่องมาจากพวกเราขาดสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นพลเมืองโลก (Global citizenship)”

“อนาคตของโลกนั้น ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เรื่องเหล่านี้เป็นสุดยอดปัญหาของโลก แต่มันจะถูกแก้ไขได้ จากความเป็นพลเมืองโลกของเราทุกคน”

ฮิวจ์มองว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือแก้ไขได้ในเชิงปัจเจก (individual) เพราะปัญหาของโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจำเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทางเพศ หรือปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ล้วนมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้น ทางออกที่สำคัญคือการทำให้ทุกคนรับรู้ถึง “ความเป็นพลเมืองโลก” แต่ละคนสามารถมองออกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาร่วมของทุกคน และเราทุกคนจะต้องมีส่วนในการแก้ไขไปด้วยกัน

แต่คำถามสำคัญในฐานะครูก็คือ เราเข้าใจในความเป็นพลเมืองโลกแล้วหรือยัง และเราจะทำอย่างไรให้นักเรียนของเรารับรู้ว่าพวกเขาเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่ง

ความเป็นพลเมืองโลก (Global citizen) คืออะไร?

ความเป็นพลเมืองโลก (Global citizenship) หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งนิยามว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกไปพร้อม ๆ กับการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศหรือพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ไปพร้อม ๆ กัน

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของคุณครูคือการทำให้นักเรียนได้รับรู้ว่า นอกจากเขาจะรับบทบาทลูกในครอบครัว หรือนักเรียนในโรงเรียนแล้ว เขายังอยู่ในบทบาท “พลเมืองคนหนึ่งบนโลกใบนี้” อีกด้วย ซึ่งถ้านักเรียนรับรู้ถึงความเป็นพลเมืองโลกได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดูเหมือนจะอยู่ไกลตัว เช่น สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย ผู้คนบนหมู่เกาะตูวาลูที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำทะเลหนุนสูงจากภาวะโลกร้อน หรือปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศห่างไกล เด็ก ๆ จะตระหนักและใส่ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าเดิม

“ไม่ใช่แค่นักเรียนในห้องเรียน แต่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของโลกใบนี้”

แต่โจทย์ที่สำคัญคือ แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ ที่จะทำให้นักเรียนรับรู้ได้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบใหญ่ที่เขาอาศัยอยู่ ได้รับรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ เขาเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบหรือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข

การบอกเล่าเนื้อหาต่าง ๆ ที่นักเรียนควรรับรู้ หรือการจัดการเรียนรู้ที่อิงกับเนื้อหา (Content-based learning) อาจจะไม่เพียงพอต่อการสร้างความเป็นพลเมืองโลกให้เกิดขึ้นภายในตัวนักเรียนได้ เนื่องจากการเป็นพลเมืองโลกนั้นจำเป็นต้องอาศัยทักษะการคิดขั้นสูง ไม่ว่าจำเป็นการวิเคราะห์โครงสร้างของปัญหา ประเมินผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้

แต่การจัดการเรียนรู้เชิงสมรรถนะ (Competency-based learning) อาจจะตอบโจทย์มากกว่า เนื่องจากจะช่วยให้นักเรียนเกิดความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และเจตคติ (Attitude) ที่ประสานเข้าด้วยกันเป็นสมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active citizen) ซึ่งเป็น 1 ในสมรรถนะ 6 ประการที่จำเป็นต่อนักเรียนในการใช้ชีวิตในอนาคต

แต่คำถามต่อไปคือ แล้วเราจะจัดกิจกรรมเชิงสมรรถนะอย่างไรที่จะช่วยเสริมสร้างความเป็นพลเมืองโลกของนักเรียนได้ละ ถ้าคุณครูอยากรู้แล้ว ลองไปดูตัวอย่างกิจกรรมกัน

ตัวอย่างกิจกรรมเชิงสมรรถนะที่ช่วยส่งเสริมความเป็นพลเมืองโลกของนักเรียน

📌 กิจกรรมที่ 1 ทำไม-ทำไม-ทำไม (Why-why-why chain)

กิจกรรมนี้จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดสมรรถนะการคิดขั้นสูงในการค้นหาเหตุผลของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วยคำถามง่าย ๆ อย่างคำว่า “ทำไม (Why)” โดยคุณครูสามารถแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มละ 2-3 คนเพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาคำตอบที่คุณครูกำหนดให้ และใช้คำถามว่า “ทำไม” ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เห็นต้นตอของปัญหา

นอกจากนี้การแบ่งกลุ่มในการทำกิจกรรมยังช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดสมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร และยังช่วยทำให้นักเรียนได้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนั้นเกี่ยวข้องกับสังคมในภาพใหญ่ระดับโลก ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังตัวอย่างเช่น การที่ผู้คนจากประเทศต่าง ๆ ต้องลี้ภัยไปยังประเทศอังกฤษ เพราะบ้านของพวกเขาเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากร

“กิจกรรมนี้ช่วยทำให้นักเรียนได้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนั้นเกี่ยวข้องกับสังคมในภาพใหญ่ระดับโลก ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง”

คุณครูสามารถนำกิจกรรมนี้ไปใช้กับประเด็นที่นักเรียนกำลังให้ความสนใจ เช่น ราคาน้ำมันที่กำลังพุ่งสูงขึ้น ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่แน่ว่าการเริ่มต้นจากปัญหาภายในประเทศของเรา อาจจะเชื่อมโยงไปได้ไกลจนเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาระดับโลกเลยก็ได้

สมรรถนะหลักที่เกิดขึ้น : การคิดขั้นสูง การรวมพลังทำงานเป็นทีม การสื่อสาร

📌 กิจกรรมที่ 2 เชือกแห่งความคิดเห็น (Opinion continuum)

กิจกรรมที่จะชวนนักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่กำลังถกเถียงในสังคมโลกผ่านการใช้คลิปหนีบบนเส้นเชือกในตำแหน่งที่แสดงจุดยืนของตนเอง ถ้านักเรียนเห็นด้วยจะต้องใช้คลิปหนีบกระดาษไปทางซ้าย และถ้าไม่เห็นด้วยจะต้องใช้คลิปหนีบกระดาษไปทางขวา

กิจกรรมนี้จะแสดงให้นักเรียนเห็นว่าความคิดเห็นที่คนในสังคมมีต่อประเด็นต่าง ๆ นั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน มากกว่าการแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน (เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)

“โลกใบนี้ไม่ได้มีคำตอบแค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย"

คุณครูสามารถเพิ่มขั้นตอนพิเศษ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนอภิปรายความคิดเห็นของแต่ละคน และให้นักเรียนมีสิทธิในการเปลี่ยนจุดยืนหลังจากการอภิปราย ทำให้นักเรียนได้เห็นมุมมองความคิดเห็นของแต่ละคน และทำให้นักเรียนเห็นว่าคนเราสามารถเปลี่ยนความคิดได้ เมื่อได้รับข้อมูลที่มากขึ้น

สมรรถนะหลักที่เกิดขึ้น : การคิดขั้นสูง การสื่อสาร และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง

📌 กิจกรรมที่ 3 ต้นไม้เจ้าปัญหา (Issue tree)

พานักเรียนค้นหาผลกระทบจากสถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมโดยใช้แผนภาพต้นไม้ เริ่มต้นจากการเขียนปัญหาที่นักเรียนสนใจเป็นลำต้นของต้นไม้ เขียนผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นกิ่งก้านสาขา และเขียนวิธีแก้ปัญหาเป็นผลของต้นไม้

กิจกรรมนี้จะแสดงให้นักเรียนเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นสามารถส่งผลกระทบได้ในหลายมิติ และในแต่ละมิตินั้นจะมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน โดยไม่สามารถใช้แนวคิด “one size fit all” หรือการใช้คำตอบเดียวในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ ซึ่งจะจำลองสภาพปัญหาจริงที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไม่ได้มีคำตอบเพียงคำตอบเดียวเท่านั้น”

สมรรถนะหลักที่เกิดขึ้น : การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และสมรรถนะการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน

องค์ความรู้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเป็นพลเมืองโลกที่เข้มแข็ง

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมานั้น นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดสมรรถนะหลักทั้ง 6 ประการแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความคิดเชิงวิพากษ์ต่อประเด็นต่าง ๆ ที่จะทำให้นักเรียนดำรงอยู่บนโลกนี้ในฐานะพลเมืองโลกที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

คุณครูคนไหนที่มีไอเดียการสอนเชิงสมรรถนะที่จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความเป็นพลเมืองโลกอีก อย่าลืมมาแบ่งปันกันในเว็บไซต์ insKru กันนะ มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้เป็นพื้นที่บ่มเพาะความเป็นพลเมืองโลกของนักเรียนกันเถอะ

คุณครูคนไหนที่มีไอเดียการสอนเชิงสมรรถนะที่จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความเป็นพลเมืองโลกอีก อย่าลืมมาแบ่งปันกันในเว็บไซต์ insKru กันนะ มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้เป็นพื้นที่บ่มเพาะความเป็นพลเมืองโลกของนักเรียนกันเถอะ

หรือลองเข้าไปชมตัวอย่างไอเดียการสอนเชิงสมรรถนะ

จากครูในพื้นที่ EEC ได้ในลิงก์นี้เลย!

https://inskru.com/tag/สมรรถนะกับEEC

🔎 อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.ted.com/talks/hugh_evans_what_does_it_mean_to_be_a_citizen_of_the_world/transcript?language=th

https://prachatai.com/journal/2020/01/85770

https://cbethailand.com/หลักสูตร/หลักสูตรฐานสมรรถนะ/สมรรถนะหลัก-5-ประการ/

https://oxfamilibrary.openrepository.com/bitstream/handle/10546/620105/edu-global-citizenship-teacher-guide-091115-en.pdf?sequence=9&isAllowed=y