ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี

วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1944 เป็นวัน D-Day ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดี ทางเหนือของฝรั่งเศส โจมตีป้อมปราการยุโรป (Fortress Europe) ของนาซีเยอรมนี เปิดฉากแนวรบที่สอง (Second Front) ที่รอมานานในยุโรปตะวันตก เป็นปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ก่อนฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมันได้สั่งให้เตรียมสร้างแนวป้องกันชายฝั่งยุโรปตะวันตก มาอย่างน้อยตั้งแต่ปี ค.ศ.1941 หลังถูกหน่วยคอมมานโดอังกฤษแทรกซึมเข้ามาหลายครั้ง โดยในช่วงแรกฝ่ายเยอรมันจะเน้นสร้างแนวป้องกันเฉพาะบนเกาะต่างๆในช่องแคบอังกฤษและพื้นที่บริเวณเมืองท่าสำคัญๆ แต่หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีอู่เรือที่เมืองท่าแซ็ง-นาแซร์ (Saint-Nazaire) และพยายามยกพลขึ้นบกที่เมืองเดียปป์ (Dieppe Raid) ในปี ค.ศ.1942 เยอรมันก็ทำการขยายแนวป้องกันที่เรียกว่ากำแพงแห่งแอตแลนติก (Atlantic Wall) ให้ครอบคลุมชายฝั่งยุโรปตะวันตกทั้งหมดตั้งแต่ประเทศนอร์เวย์ไล่ลงมาจนถึงชายแดนติดกับสเปน อย่างไรก็ตามเนื่องจากฝ่ายเยอรมันไม่รู้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกที่จุดไหน รวมถึงขาดแคลนวัตถุดิบเช่นคอนกรีตที่จะใช้สร้างแนวป้องกันตลอดแนวชายฝั่ง และขาดแคลนทหารที่จะมาประจำแนวป้องกันเป็นแนวยาว นอกจากนี้ประสบการณ์ของนายทหารเยอรมันส่วนใหญ่มาจากแนวรบด้านตะวันออกที่ลักษณะการรบเป็นสงครามเคลื่อนที่ (Maneuver warfare หรือ Mobile warfare) ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบกว้างขวาง ยุทธวิธีที่ฝ่ายเยอรมันวางแผนจะใช้ป้องกันชายฝั่งยุโรปตะวันตกจึงยังเน้นป้องกันเฉพาะพื้นที่สำคัญๆเช่นเมืองท่าต่างๆโดยเฉพาะที่เมืองท่าคาเลส์ (Calais) ซึ่งนายทหารเยอรมันหลายคนเชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกเพราะอยู่ใกล้อังกฤษที่สุด ส่วนพื้นที่ชายหาดอื่นๆจะวางกำลังไว้เท่าที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็จะรวมกำลังยานเกราะไว้ที่แนวหลังเพื่อเข้าตีโต้หลังฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกแล้ว

ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ภาพจอมพลเออร์วิน รอมเมลและคณะขณะตรวจเยี่ยมแนวกำแพงแอตแลนติก วันที่ 21 ธันวาคม ปี 1943
(Bundesarchiv, Bild 101I-295-1596-12 / Kurth / CC-BY-SA 3.0)

ในปี ค.ศ.1943 ฮิตเลอร์แต่งตั้งจอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) เจ้าของฉายาจิ้งจอกทะเลทราย (Desert Fox) เป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพ บี (Army Group B) มีหน่วยในสังกัดได้แก่กองทัพที่ 7 (7th Army) และกองทัพที่ 15 (15th Army) รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือของฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ รอมเมลทำการตรวจเยี่ยมแนวป้องกันของทหารเยอรมันและสั่งการให้สร้างบังเกอร์ รังปืนกล และเครื่องกีดขวางต่างๆตามแนวชายฝั่งเพิ่มเติม รอมเมลมีความแตกต่างจากนายทหารเยอรมันส่วนใหญ่เนื่องจากเขามีประสบการณ์สู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกมายาวนานจากสมรภูมิทะเลทรายแอฟริกาเหนือ และรู้ขีดความสามารถของกำลังทางอากาศของอีกฝ่ายดี รอมเมลมองว่าถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรสถาปนาหัวหาดได้แล้ว ฝ่ายเยอรมันจะไม่มีทางตอบโต้ได้เลย เพราะหน่วยยานเกราะที่เยอรมันคิดจะใช้ตีโต้นั้นจะะถูกโจมตีทางอากาศตั้งแต่ยังอยู่ในจุดรวมพล รอมเมลจึงต้องการวางกำลังส่วนใหญ่รวมถึงยานเกราะอยู่ใกล้ชายฝั่งให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกได้ตั้งแต่ต้น ส่งผลให้ขัดแย้งกับนายทหารเยอรมันคนอื่นๆรวมถึงจอมพลเกิร์ด ฟอน รุนด์ชเต็ดต์ (Gerd von Rundstedt) ผู้บัญชาการสูงสุดในแนวรบตะวันตก (Commander-in-Chief in the West) และพลเอกลีโอ เกียร์ ฟอน ชเวปเปนบูร์ก (Leo Geyr von Schweppenburg) ผู้บัญชาการกลุ่มยานเกราะตะวันตก (Panzer Group West) ซึ่งต้องการรวมกำลังยานเกราะไว้ในแนวหลัง เมื่อเรื่องนี้ถูกส่งไปถึงฮิตเลอร์ แทนที่จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด็ดขาด ฮิตเลอร์กลับแบ่งหน่วยยานเกราะเยอรมันเป็น 3 ส่วนแทน โดยกองพลยานเกราะ 3 กองพลจะอยู่ใต้บังคับบัญชาของชเวปเปนบูร์ก, 3 กองพลอยู่ใต้บังคับบัญชาของรอมเมล และอีก 4 กองพลเป็นกำลังสำรองอยู่ใต้บังคับบัญชาของฮิตเลอร์โดยตรง ห้ามใช้งานใดๆถ้าฮิตเลอร์ไม่อนุมัติ การตัดสินใจของฮิตเลอร์ส่งผลให้รอมเมลมียานเกราะไม่พอที่จะใช้ป้องกันแนวชายฝั่งตามแผนได้ และจากยานเกราะ 3 กองพลใต้บังคับบัญชาของรอมเมลนั้นมีเพียงกองพลเดียวคือกองพลยานเกราะที่ 21 (21st Panzer Division) ที่มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองก็อง (Caen) อยู่ใกล้หาดนอร์มังดีพอจะตอบโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทันที

ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ภาพจอมพลเออร์วิน รอมเมล (ขวามือ) ตรวจเยี่ยมกองพลยานเกราะที่ 21 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1944
(Bundesarchiv, Bild 101I-300-1865-06 / Speck / CC-BY-SA 3.0)

สำหรับฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มมีแนวคิดจะเปิดแนวรบที่สองในยุโรปตะวันตกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1941 โดยสหภาพโซเวียตเป็นผู้ผลักดัน เพื่อจะดึงกำลังทหารเยอรมันออกจากแนวรบด้านตะวันออก ลดแรงกดดันต่อโซเวียตลง อย่างไรก็ตามความล้มเหลวของการยกพลขึ้นที่เดียปป์แสดงให้เห็นว่าฝ่ายสัมพันธมิตรยังไม่พร้อม จึงหันไปทำการยกพลขึ้นบกในแอฟริกาเหนือชื่อปฏิบัติการทอร์ช (Operation Torch) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1942 แทน ส่วนการยกพลขึ้นบกในยุโรปตะวันตกพึ่งจะเริ่มเตรียมการอย่างจริงจังในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1943 ชื่อปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord) การเตรียมการใช้เวลานานกว่า 1 ปี ทั้งการหาข่าว การปล่อยข่าวลวง การต่อเรือยกพลขึ้นบกจำนวนมาก การพัฒนายุทโธปกรณ์ต่างๆที่จะใช้ฝ่าแนวป้องกันของทหารเยอรมันโดยเฉพาะเช่นรถถังสะเทินน้ำสะเทินบก เป็นต้น กำลังพลของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะยกพลขึ้นบกประกอบด้วยทหารสหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดาเกือบ 160,000 นาย (จากกำลังพลทั้งหมดในอังกฤษกว่า 3 ล้านนาย) สนับสนุนโดยเครื่องบินรบมากกว่า 5,000 ลำ เครื่องร่อนมากกว่า 2,600 ลำ เรือรบ เรือลำเลียง และเรือยกพลขึ้นบกรวมกันกว่า 6,000 ลำ อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพลเอก ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ฝ่ายสัมพันธมิตรเลือกหาดนอร์มังดีเป็นพื้นที่เป้าหมายในการยกพลขึ้นบก เนื่องจากอยู่ในระยะที่กำลังทางอากาศจากอังกฤษสามารถสนับสนุนได้สะดวก และมีการป้องกันไม่แน่นหนาเท่าบริเวณเมืองท่า ได้บทเรียนมาจากการยกพลขึ้นบกที่เดียปป์

พื้นที่หาดนอร์มังดีที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกถูกแบ่งเป็น 5 ส่วน เรียงจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกคือหาดยูทาห์ (Utah), หาดโอมาฮา (Omaha), หาดโกลด์ (Gold), หาดจูโน (Juno) และหาดซอร์ด (Sword) โดยทหารสหรัฐฯจะยกพลขึ้นบกที่หาดยูทาห์และโอมาฮา, ทหารอังกฤษยกพลขึ้นบกที่หาดโกลด์และหาดซอร์ด ขณะที่ทหารแคนาดายกพลขึ้นบกที่หาดจูโน นอกจากนี้ในคืนก่อนการบก ฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะส่งทหารพลร่มกว่า 18,000 นายโดดร่มลงหลังแนวรบเยอรมันเพื่อยึดถนนและสะพานต่างๆ ป้องกันไม่ให้กำลังเสริมของทหารเยอรมันเข้ามาที่ชายหาดได้

ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ภาพพลเอกไอเซนฮาวร์ตรวจเยี่ยมทหารพลร่มสหรัฐฯก่อนวันยกพลขึ้นบก
(U.S. Army photograph. No. SC 194399)

เดิมฝ่ายสัมพันธมิตรวางแผนจะเริ่มยกพลขึ้นบกในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1944 แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ส่งผลให้ต้องเลื่อนออกไปชั่วคราว ขณะเดียวกันฝ่ายเยอรมันก็ตายใจ คิดว่าฝ่ายสัมพันธมิตรไม่น่าจะยกพลขึ้นบกได้ในช่วงเวลานี้ แม้แต่จอมพลรอมเมลก็เดินทางกลับไปเยี่ยมภรรยาที่เยอรมนี ไม่ได้ประจำอยู่ในกองบัญชาการที่ปราสาทราลอช กือยง (La Roche-Guyon) ทางเหนือของฝรั่งเศส แต่สุดท้ายพลเอกไอเซนฮาวร์ก็ตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ดในวันที่ 6 มิถุนายน

ช่วงกลางคืนวันที่ 5 มิถุนายนถึงช่วงเช้ามืดวันที่ 6 มิถุนายน ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้เครื่องบินลำเลียงกว่า 1,200 ลำส่งทหารพลร่มลงหลังแนวรบเยอรมัน ขณะที่กองเรือยกพลขึ้นบกหลายพันลำก็เคลื่อนออกจากท่าเรือในอังกฤษมุ่งหน้าไปยังชายฝั่งฝรั่งเศส แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะเตรียมการยกพลขึ้นบกมานาน แต่การโดดร่มในเวลากลางคืนก็เต็มไปด้วยความสับสน ประกอบกับสภาพอากาศที่ไม่ดีและการระดมยิงของปืนต่อสู้อากาศยานเยอรมันส่งผลให้ทหารพลร่มจำนวนมากถูกแยกออกจากหน่วยของตัวเอง โดดร่มลงกระจัดกระจายไปทั่ว แต่พลร่มเหล่านี้ก็สามารถรวมกลุ่มกันทำภารกิจไม่ว่าจะเป็นการยึดครองถนนหรือสะพานเพื่อสกัดกำลังเสริมของทหารเยอรมัน หรือการทำลายฐานปืนใหญ่ของทหารเยอรมันในแนวหลังได้

หลังค่ำคืนแสนวุ่นวายผ่านไปแล้ว ช่วงเช้าตรู่วันที่ 6 มิถุนายน กองเรือยกพลขึ้นบกขนาดมหึมาก็ปรากฏตัวนอกชายฝั่งฝรั่งเศส แล้วเรือรบที่ประกอบด้วยเรือประจัญบาน 5 ลำ เรือลาดตระเวน 20 ลำ และเรือพิฆาต 65 ลำก็เริ่มเปิดฉากยิงปูพรมถล่มที่มั่นของทหารเยอรมันริมชายฝั่ง ร่วมกับการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินรบมากกว่า 2,200 ลำ อย่างไรก็ตามการโจมตีทางอากาศโดยภาพรวมไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากสภาพอากาศไม่ดี และนักบินกลัวว่าทหารฝ่ายเดียวกันจะถูกลูกหลง จึงทิ้งระเบิดเลยที่มั่นของทหารเยอรมันไป

ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ภาพป้อมปืนของรถถัง Panzer IV รุ่นติดปืนใหญ่ 75 มิลลิเมตรลำกล้องสั้น ที่ทหารเยอรมันนำมาดัดแปลงเป็นบังเกอร์ที่หาดโอมาฮ่า
(Wikimedia Commons)

กองพลทหารราบที่ 4 ของสหรัฐฯ (4th Infantry Division) ยกพลขึ้นบกที่หาดยูทาห์ โดยมีรถถัง M4 Sherman สนับสนุน และสามารถยึดชายหาดได้ไม่ยาก มีทหารเสียชีวิตไม่ถึง 200 นาย แต่ที่หาดโอมาฮา สถานการณ์กลับแตกต่างออกไป เนื่องจากการระดมยิงปูพรมถล่มที่มั่นของทหารเยอรมันที่หาดนี้ไม่ได้ผลมากนัก รถถังสะเทินน้ำสะเทินบกถูกปล่อยลงน้ำห่างจากฝั่งมากเกินไป ส่งผลให้รถถังจำนวนมากจมน้ำก่อนจะขึ้นฝั่งได้ กองพลทหารราบที่ 1 ของสหรัฐฯ (1st Infantry Division) ต้องยกพลขึ้นบกโดยที่มีอาวุธหนักสนับสนุนไม่เพียงพอ เผชิญหน้ากับทหารเยอรมันจากกองพลทหารราบที่ 352 (352nd Infantry Division) ซึ่งมีทหารผ่านศึกจากแนวรบด้านตะวันออกรวมอยู่ด้วย ส่งผลให้ทหารสหรัฐฯถูกตรึงอยู่ที่ชายหาดและประสบความสูญเสียอย่างหนัก มีทหารเสียชีวิตเกือบ 4,000 นาย จนเกือบจะต้องถอนกำลังแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปทหารสหรัฐฯก็ค่อยๆเจาะผ่านแนวป้องกันของทหารเยอรมันที่เริ่มขาดแคลนกระสุนเข้าไปได้ และสามารถยึดหาดโอมาฮาได้ในที่สุด

กองพลทหารราบที่ 50 นอร์ธัมเบรีย (50th (Northumbrian) Infantry Division) และกองพลน้อยยานเกราะที่ 8 (8th Armoured Brigade) ของอังกฤษยกพลขึ้นบกที่หาดโกลด์ แม้จะมีอาวุธหนักครบครัน แต่เนื่องจากคลื่นลมแรง ส่งผลให้การประสานงานระหว่างเรือยกพลขึ้นบกเป็นไปอย่างยากลำบาก ประกอบกับการโจมตีทางอากาศก่อนหน้านี้ไม่สามารถสร้างความเสียหายให้ที่มั่นของทหารเยอรมันได้มากนัก โดยเฉพาะที่หมู่บ้าน Le Hamel ซึ่งทหารเยอรมันเตรียมปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตรจำนวนหนึ่งไว้รับมือการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตร สามารถทำการยิงได้ครอบคลุมทั้งหาด นอกจากนี้ตามอาคารต่างๆยังมีพลปืนกลและพลซุ่มยิงของเยอรมันซุ่มอยู่ด้วย ส่งผลให้ทหารอังกฤษต้องใช้เวลาถึงช่วงบ่ายกว่าจะยึดหาดโกลด์ได้ มีทหารอังกฤษเสียชีวิตประมาณ 1,000 นาย

ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ชายหาด น อ ร์ มั ง ดี
ภาพทหารอังกฤษยกพลขึ้นบกที่หาดโกลด์ (© IWM B 5246)

การยกพลขึ้นบกของกองพลทหารราบที่ 3 ของแคนาดา (3rd Canadian Division) ที่หาดจูโนล่าช้ากว่ากำหนดเนื่องจากทะเลมีคลื่นมาก ทหารราบมาถึงชายฝั่งก่อนหน้ารถถัง ประกอบกับการยิงปูพรมที่มั่นของทหารเยอรมันไม่ได้ผลมากนัก ทหารราบแคนาดาจึงต้องเผชิญกับการต้านทานที่แข็งแกร่งของทหารเยอรมันโดยไม่มีอาวุธหนักสนับสนุน แต่สุดท้ายทหารแคนาดาก็สามารถฝ่าแนวป้องกันของทหารเยอรมันเข้าไปได้ โดยเสียทหารไปเกือบ 1,000 นาย

การยกพลขึ้นบกที่หาดซอร์ดของทหารอังกฤษเป็นไปอย่างง่ายดาย รถถังส่วนใหญ่สามารถขึ้นฝั่งได้ และก่อนการยกพลขึ้นบก พลร่มอังกฤษก็สามารถทำลายป้อมปืนใหญ่เยอรมันที่ Merville ได้ตามแผน จึงไม่มีอุปสรรคมากนัก

ขณะที่การยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรดำเนินไปนั้น กองพลยานเกราะที่ 21 ของเยอรมันก็พยายามโจมตีตอบโต้ แต่เนื่องจากผู้บังคับบัญชาไม่ได้อยู่ในที่ตั้งตอนที่พลร่มฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มโดดร่มลงมาในฝรั่งเศส ส่งผลให้เสียเวลาไปถึงช่วงสายกว่ากองพลน้อยจะเริ่มปฏิบัติการได้ แต่ก็ประสบปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยต่างๆทั้งหน่วยในสังกัดและหน่วยทหารใกล้เคียง ส่งผลให้การตีโต้เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ทหารเยอรมันบางหน่วยเน้นเข้าตีตอบโต้ทหารพลร่มสัมพันธมิตรแทนที่จะรีบรุกไปที่ชายหาด สุดท้ายจึงมีกรมยานเกราะในสังกัดกองพลยานเกราะที่ 21 เพียงกรมเดียวที่รุกไปถึงหาดซอร์ด ก่อนจะต้องถอนกำลังกลับเพราะขาดการสนับสนุน

เมื่อสิ้นสุดวันที่ 6 มิถุนายน ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถสถาปนาหัวหาดที่ชายฝั่งนอร์มังดี ยึดครองพื้นที่ประมาณ 200 ตารางกิโลเมตร และเริ่มนำกำลังเสริมขึ้นฝั่งอย่างรวดเร็ว ขณะที่ฝ่ายเยอรมันยังคงสับสนว่าการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีเป็นการเข้าตีจริงหรือการเข้าตีลวงเพื่อดึงความสนใจของเยอรมันออกจากเมืองท่าคาเลส์ ส่งผลให้ต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่ากำลังเสริมและหน่วยยานเกราะอื่นๆของเยอรมันจะมาถึงนอร์มังดี การตีฝ่าออกจากหัวหาดนอร์มังดีและการปลดปล่อยฝรั่งเศสได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว