การจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในด้านใด

ความหมาย และแนวทางการดำเนินงานศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

ความหมาย และแนวทางการดำเนินงานศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

ความเป็นมา
                    รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาโครงการที่เกิดจากศักยภาพของชุมชน และก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน โดยการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรของรัฐ ท้องถิ่น และจังหวัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของสมาชิกกลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ประจำหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน และประชาชนในหมู่บ้านเพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาอาชีพ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนองค์ความรู้การเข้าถึงแหล่งทุน และพัฒนาขีดความสามารถการบริหารจัดการในการประกอบอาชีพ
                    กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมีเป้าประสงค์คือ ประชาชนในหมู่บ้านมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยใช้กลยุทธ์ที่สำคัญคือ บูรณาการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนกลยุทธ์ให้ตอบสนองต่อนโยบาย จึงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก (ศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร) ขึ้นและในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ กรมการพัฒนาชุมชน ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ที่มีเป้าหมายสูงสุดภายใต้วิสัยทัศน์ “ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง” จากศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร เป็น “ศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก”

ความหมาย
                    ศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก หมายถึง ศูนย์กลางการให้บริการทางวิชาการและพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน โดยเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรจากแหล่งทุน แหล่งผลิต แหล่งตลาด แหล่งความรู้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และเป็นกลไกขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการแหล่งทุน กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ สำหรับการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อส่งผลต่อประชาชนในหมู่บ้าน ให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานรากด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมเชื่อมโยงการพัฒนาชุมชน ระหว่างภาคีการพัฒนาในระดับอำเภอ
                    การให้บริการของศูนย์ฯ หมายถึง การให้บริการตามภารกิจของศูนย์ฯอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง หรือทุกภารกิจแก่บุคคล/กลุ่มเป้าหมายที่ขอรับบริการของศูนย์ฯตามความต้องการของผู้รับบริการนั้น ๆ ทั้งในเชิงรับ คือ ให้บริการ ณ ที่ตั้งของศูนย์ฯ และเชิงรุก คือให้บริการเคลื่อนที่ ตามความต้องการของชุมชนและตามสถานการณ์เร่งด่วน โดยการบริหารจัดการและให้บริการในรูปคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนเครือข่าย OTOP แกนนำชุมชน ผู้เชี่ยวชาญปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและภาคีหน่วยงานภาครัฐ

วัตถุประสงค์
          ๑.เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่และแหล่งเงินทุน
          ๒.เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการประกอบอาชีพเพื่อก่อให้เกิดรายได้

ประโยชน์ของศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
          ๑.ประชาชน กลุ่ม องค์กร ในพื้นที่ มีแหล่งในการขอรับคำปรึกษา แนะนำ และศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ สามารถนำไปใช้พัฒนาอาชีพและรายได้ให้ดีขึ้น
          ๒.เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจในระดับฐานราก ทำให้ประชาชน กลุ่มองค์กรที่มาขอรับบริการมีข้อมูลเพียงพอเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจประกอบอาชีพ ทำให้ลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เช่น วัตถุดิบ การตลาด ทุนดำเนินการ เป็นต้น
          ๓.เป็นสถานที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภูมิปัญญา ฝีมือ ทักษะ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในระดับฐานราก อันเป็นการกระตุ้นให้ประชาชน กลุ่ม องค์กร เกิดการพัฒนาและเรียนรู้ให้เท่าทันสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจตลอดเวลา
          ๔.เป็นเวทีให้ผู้นำชุมชน มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
          ๕.เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และการทำงานร่วมกันเกิดการพัฒนาการทำงานในรูปแบบเครือข่ายชุมชน กับภาคีการพัฒนาภาครัฐ และภาคเอกชน

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่
          ๑.กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์ชุมชน
          ๒.กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP
          ๓.กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
          ๔.กองทุน กขคจ./กองทุนหมู่บ้าน
          ๕.กลุ่ม/องค์กร/เครือข่ายอื่น ๆ ในชุมชน
          ๖.ประชาชนในหมู่บ้าน/ตำบล
          ฯลฯ

(Visited 3,163 times, 1 visits today)