ความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร

คำว่า “Biological diversity” ความหลากหลายทางชีวภาพ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย Raymond F. Dasman นักวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและนักอนุรักษ์ และในปี ค.ศ. 1988 คำว่า Biodiversity ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย Edward O. Wilson นักกีฏวิทยา จะเห็นได้ว่าความรู้และความสนใจต่อความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด

ตลอดระยะเวลากว่า 4,000 ปี ที่มนุษย์ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์เพื่อผลิตเป็นอาหารและการค้าโดยให้ความสำคัญกับพันธุ์พืชและสัตว์เพียงไม่กี่ชนิด ได้ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมถูกละเลยและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก  กรณีประเทศไทย คือ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า การลดน้อยหรือสูญหายไปของพันธุ์ทุเรียนพื้นเมือง

ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นผลกระทบจากกระแสโลก เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อครั้งที่ประเทศไทยเข้าร่วมลงนามในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development) การประชุมครั้งนั้นทำให้เกิดความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีเป้าหมายในการควบคุมและลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นความตกลงระดับโลกฉบับแรกที่กล่าวถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งนานาประเทศต่างก็ให้การยอมรับกันถ้วนหน้า โดยมีรัฐบาลของกว่า 150 ประเทศร่วมลงนามรับรอง ณ การประชุมดังกล่าว ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย  ต่อมา ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้ เมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2003 และมีผลรับรองเมื่อ 29 มกราคม ค.ศ. 2004 เป็นประเทศภาคีอนุสัญญาในลำดับที่ 188  ปัจจุบันมีประเทศร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้ทั้งหมด 193 ประเทศ

ผลของการลงนามในกรอบอนุสัญญา ฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 ณ นครรีโอเดจาเนโร และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 และตามข้อ 23 วรรค 2 ของอนุสัญญา ฯ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับต่อประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม รับหน้าที่ดำเนินการภายใต้อนุสัญญาฯ

ลักษณะสำคัญของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ”

ความหลายหลายทางชีวภาพมีทั้งความแตกต่างในระดับพันธุกรรมหรือยีน (gene) ระดับชนิดหรือสปีชีส์(species) ไปจนถึงความแตกต่างในระดับของกลุ่มสิ่งมีชีวิตในเชิงนิเวศ (ecological community) ดังนี้

1) ความหลากหลายทางพันธุกรรม (ภายในชนิดพันธุ์) (genetic diversity)

Genetic คือ ความหลากหลายในสายพันธุ์เดียวกัน เช่น เสือ เป็นชนิดเดียวกัน แต่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ทั้งนี้ ความหากหลายทางพันธุกรรม บ่งชี้ความแข็งแรง และความทนต่อโร กล่าวคือ พันธุกรรมต่างกันมีความแข็งแรงและทนทานต่อโรค หรือความสามารถในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ถ้าพันธุกรรมไม่หลากหลาย มีโอกาสที่ชนิดพันธุ์นั้นจะอ่อนแอ และอาจสูญพันธุ์ ความหลากหลายของยีน (genes) ทั้งด้านจำนวนและการผสมผสานของยีนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดแตกต่างกัน หรือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันแตกต่างกัน สิ่งมีชีวิตชนิดที่มีความใกล้เคียงกันทางพันธุกรรมมากจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมากกว่าสิ่งมีชีวิตที่มีความห่างไกลกันในทางพันธุกรรม

ความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร

2) ความหลากหลายระหว่างชนิดพันธุ์ (species diversity)

ในประเทศไทย มักมีการพูดถึง “ชนิดพันธุ์” เพื่อระบุถึงความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้มีบทบาทหลักในการศึกษาชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ลักษณะการสูญพันธุ์ และแนวทางการปกป้องรักษา นับจนถึงปี 2554 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตรวมแล้วมากกว่า  8.7 ล้านชนิด และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ที่อยู่ในกลุ่มแบคทีเรียเพิ่มเติมอีก 1,000 ล้านชนิด ในแง่นี้ ทำให้เห็นว่า การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพจำเป็นต้องมองร่วมกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ด้วย เช่น เชื้อโรคต่างๆ ไม่ใช่มองเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เพียงอย่างเดียว

3) ความหลากหลายของระบบนิเวศ (ecosystem diversity)

ระบบนิเวศที่แตกต่างมีหน้าที่และบริการที่แตกต่างกัน เช่น “ระบบนิเวศตึก” โดยรอบจะมีระบบนิเวศสระน้ำ ระบบนิเวศเกษตร ซึ่งทุกระบบถูกตั้งอยู่ จัดวางให้อยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสม ไม่มีระบบนิเวศใดสามารถแยกตัวอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว แต่ล้วนมีความเชื่อมโยงกัน

หากมองจาก “ความมั่นคงทางอาหาร” จะอยู่ใน “การบริการด้านการจัดสรรทรัพยากร” (เสบียง) คือ การผลิตในระบบเกษตร อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายทางชีวภาพจะมีความเชื่อมโยงกับ การบริการทางนิเวศวิทยาด้านอื่นๆ ด้วย คือ บริการด้านการควบคุม บริการด้านวัฒนธรรม หมายถึง จิตวิญญาณ ศาสนา สำนึก

กล่าวโดยสรุป การมอง “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่เชื่อมโยงกับ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” จำเป็นต้องขยายมุมมองให้รอบด้านจากมุมพิจารณา “บริการทางนิเวศ” ทั้ง 4 ด้าน ที่กล่าวไปข้างต้น จึงจะทำให้การเชื่อมโยงความมั่นคงทางอาหารกับความหลากหลายทางชีวภาพ เปิดมุมมองที่กว้างออกไปและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ตัวชี้วัด ความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ พิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

ความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต

• การรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยให้มีความหลากหลาย

• การรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพได้แก่ ผลผลิต การจัดการน้า มลภาวะ อุณหภูมิ ความชื้น

• การเชื่อมต่อของแหล่งที่อยู่อาศัย

• ความยืดหยุ่นต่อภัยคุกคามและการเปลี่ยนแปลง

• ระดับของภัยคุกคามที่มีอยู่หรือที่คาดการณ์ไว้

• ภัยธรรมชาติในพื้นที่

สวัสดิภาพของสิ่งมีชีวิต

• รักษาความหลากหลายของชนิดพันธุ์ที่มีอยู่รวมถึงชนิดพันธ์ที่สำคัญในพื้นที่

• ชนิดพันธ์ที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมีจำนวนที่คงที่หรือเพิ่มขึ้น

• สถานการณ์การล่า การรุกล้ำพื้นที่ ชนิดพันธ์ต่างถิ่นหรือการตั้งอาณาจักรใหม่

• การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

• การจัดการหรือการตอบสนองต่อภัยพิบัติ

สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม

• แรงกดดันต่อที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์จากชุมชนท้องถิ่น อาทิ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร

• การเพิ่มขึ้นของภัยคุกคามหรือการพัฒนาจากภายนอก

• แนวคิดการใช้วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

• ผลกระทบจากกิจกรรมการบริการท่องเที่ยวและการคุกคามต่างๆ

• ระดับของการอนุรักษ์และการสนับสนุนและการจัดการร่วมจากภาคส่วนต่างๆในการป้องกันเฝ้าระวัง การศึกษาวิจัยหรือการป้องกันไฟป่า

หากพิจารณาจากกระแสโลก พบว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” เป็นประเด็นที่สังคมโลกให้ความสำคัญ แต่ในส่วนของสังคมไทย การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ จะมีผลกระทบต่อสังคมไทยมากกว่า ซึ่งการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การร่อยหรอของทรัพยากรทุกรูปแบบที่เป็นปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย การลดลงของบริการทางนิเวศในฐานะเป็นแหล่งของปัจจัย 4 อันเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งนี้ “สิ่งแวดล้อมที่ดี” เป็นฐานสำคัญที่เอื้อหนุนต่อวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของสังคมต่อไป

ความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร

การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้นทุกหัวระแหง หรือทุกหย่อมหญ้า จากโลกถึงท้องถิ่น และจากท้องถิ่นกระทบต่อโลก การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพต้องอาศัยหลายวิชา ได้แก่

• การจัดการทรัพยากร (ป่าไม้ ประมง เกษตร เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว)

• วิชาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ (ชีววิทยา นิเวศวิทยาฯลฯ)

• วิชาการปกป้องฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

• วิชาการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น

• วิชาการวางมาตรการปฏิบัติร่วมกันระดับโลก (อนุสัญญาต่าง ๆ)

• วิชาการวางมาตรการร่วมกันระดับท้องถิ่น (กลไกการมีส่วนร่วมระดับท้องถิ่น)

ท้ายที่สุดแล้ว การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพจึงต้องมีการ “สุมหัวกัน” ของคนหลากหลายประเภท ร่วมกับต้องมี “แผนการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ” โดยพบว่า ประเทศอังกฤษ มีแผนการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในระดับท้องถิ่น ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่มีแผนหลักเพียงแผนเดียวแล้วใช้ปฏิบัติทั้งประเทศ แต่แนวโน้มในอนาคต คือ ต้องมี “แผนการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในระดับท้องถิ่น” โดยเฉพาะ

พลวัตของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ในระบบเกษตร

ก่อนที่จะมีความเคลื่อนไหวความหลากหลายทางชีวภาพในระบบเกษตร เป็นเพียงแนวคิดหรือมุมมองความหลากหลายในทางวิทยาศาสตร์ เช่น จุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ฯลฯ โดยพบว่ามีตัวอย่างความหลากหลายทางชีวภาพในระบบเกษตร ดังนี้

  • ภูมินิเวศ-ภูมิสังคมของที่ราบภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น ระบบนิเวศข้าว เป็นระบบนิเวศที่สามารถเลียนแบบพื้นที่ชุ่มน้ำได้มากที่สุด
  • ระบบนิเวศเกษตร มีการปลูกป่าที่มีการผสมระหว่างพันธุ์ไม้พื้นถิ่นและต่างถิ่น ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่าอย่างกระทิง ช้างป่า ที่พบว่ามีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นตัวอย่างของการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพโดยมนุษย์
  • ภูมิผสมเกษตรกระทิง ระบบวนเกษตรที่อยู่ร่วมกันในป่าเขาใหญ่ ลำธารน้อยใหญ่บริเวณพื้นที่เกษตรของเขาแผงม้า อ. วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทั้งระบบบก (แมงมุมใยทอง) ระบบดิน (แมลงหางดีด) ระบบน้ำ    (กุ้งฝอย) กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ การสื่อความหมายความหลากหลายทางชีวภาพใน “ระบบภูมิผสมเกษตรกระทิง”
  • วนเกษตรภาคราชการและประชาชน เป็นการขยายมุมมองของระบบเกษตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวคือ นิยาม “วนเกษตร” ของภาคราชการ จะหมายถึง ป่าธรรมชาติที่มีการปลูกป่าเสริมในลักษณะของไร่นาสวนผสม ในขณะที่ ระบบวนเกษตรของภาคประชาชน หมายถึง ระบบเกษตรกรรมที่มีพืชป่ากระจายพันธุ์ในพื้นที่ และปล่อยให้ระบบนิเวศจัดการตนเอง

การมอง “เชิงพื้นที่” มีความสำคัญมาก เพราะหากเรามอง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” เป็นตัวตั้ง จะพบว่า เกี่ยวข้องกับทุกศาสตร์สาขา ซึ่งต่างจากการมอง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ในทางชีววิทยา ที่มุ่งการสร้างและเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยอาจขาดความเข้าใจความสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมไปซึ่งส่งผลต่อวิถีชุมชนท้องถิ่น ในขณะที่มุมมองทางมานุษยวิทยาทำให้เห็นว่ามนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น คือ อยู่ใน “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่สิ่งมีชีวิตอื่นจะสอนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันให้กับมนุษย์