หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ

เมื่อถึงฤดูนี้ คณะผมก็จะถูกถามถึงมากนะฮะ เพราะคะแนนมันไม่สูงมาก และใช้ GAT ล้วน
ในฐานะฝ่ายวิชาการ ปี 3 จึงเขียน FAQs นี้ขึ้นมาเพื่อตอบทุกคำถามที่มักจะชอบถามกัน
และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องจะเลือกคณะผมโดยคบหาดูใจกันให้ดีก่อน ไม่ใช่เพราะคะแนนมันถึง
ไม่งั้นอาจจะต้องจบแบบเจ็บ เลิกร้างกันไปในปีแรกที่เรียนให้เสี้ยนหนามยอกใจเปล่าๆ (กระซิกๆ)

Q : คณะนี้เรียนอะไร ?
A :
ที่มาที่ไปของมนุษย์โลก (โบราณคดี) วัฒนธรรมและการเข้าใจคนอื่น (มานุษยวิทยา) การจัดระเบียบสังคม โครงสร้างทางสังคม ประชากรศาสตร์(สังคมวิทยา) สถิติ ระเบียบวิธีวิจัย การทำวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ และการทำวิจัยภาคสนามรายบุคคลในชั้นปีที่ 4  ( สามารถอ่านอีกเยอะๆ ไดโดยการ
ดาวน์โหลดไฟล์นี้)


Q : เรียนจบไปทำมาหากินอะไรได้ ?
A : นี่มันคณะสายวิชาการ ไม่ใช่สายวิชาชีพอย่าง สังคมสงเคราะห์ หรือจิตวิทยา ซึ่งจะมีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนกว่า แต่คณะนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ซึ่งคุณอาจจะรู้สึกปวดใจเมื่อต้องนั่งคิดว่าชั้นจะจบไปทำงานอะไรฟะเนี่ย แต่อย่าได้ตระหนกไป เพราะในทางกลับกัน คุณสามารถสมัครงานได้หลากหลายมาก (ไปแย่งงานสาขาอื่นได้หลากหลายมาก) ในอดีตที่ผ่านๆ มาก็มีทั้งทำงานฝ่ายบุคคล การตลาด ซีอีโอ เปิดโรงเบียร์ บก.หนังสือพิมพ์ นักพากย์บอล หรือถ้าสวยพอคุณอาจเป็นภรรยาของเคน ธีรเดชได้ (โอเคอันนี้ไม่นับ)

เมื่อจบหลักสูตร(ไม่ว่าจะอย่างถูลู่ถูกังอย่างไรก็ตาม) คุณจะมีสกิลในการทำวิจัย สามารถออกแบบ วางแผนวิจัย และลงพื้นที่ หาวิธีหาคำตอบมาให้ได้ ซึ่งถ้าไม่ทำวิจัยในมหาวิทยาลัย ก็อาจจะไปทำกับบริษัทเอกชน ความเข้าใจด้านโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมจะช่วยให้คุณไปทำบ้าอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเครือข่ายคนจำนวนมากๆ เช่นบริหารองค์กร (ซึ่งคุณอาจจะเลือก “บริหาร” เป็นวิชาโทในขณะเรียน) ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการรู้จักยอมรับความแตกต่างจะช่วยให้คุณมีทัศคติที่กว้างขวางต่อผู้คน ซึ่งจะช่วยให้คุณทนกับสภาพแวดล้อมทางสังคมในที่ทำงานได้สารพัดสารเพ

งานสายตรงของคณะนี้คือนักวิชาการ คุณอาจจะเกิดติดใจอยากเป็นอาจารย์ หรือเป็นนักวิจัย หรือทำงานกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (แถวตลิ่งชัน) ก็ได้ถ้าไม่คิดว่าชีวิตนี้จะต้องร่ำรวยอะไร เพราะคุณจะไม่รวยแน่ๆ ๕๕๕

Q : สังคมวิทยาฯ/สังคมสงเคราะห์ต่างกันยังไง ?
A : อันนี้น้องก็ชอบถามครับ ก็จะขอย้ำอีกทีว่าสังคมวิทยาฯ เป็นคณะสายวิชาการ เรียนทฤษฎี เรียนการวิจัยเพื่อทดสอบทฤษฎีและสร้างความรู้ใหม่ ส่วนสังเคราะห์เป็นคณะสายวิชาชีพ เรียนเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้ยากไร้อย่างเป็นรูปธรรม เรียนการช่วยเหลือเหยื่อ ซึ่งสามารถจบไปประกอบอาชีพเป็นชิ้นเป็นอันได้เลย (ซึ่งก็ต้องมาลงเรียนวิชาของสังคมวิทยาฯ ด้วยบางตัว) ดังนั้นถึงสองคณะนี้จะเป็นญาติกันแต่มีเป้าหมายกันไปคนละทาง

Q : นอกจากธรรมศาสตร์แล้วมีที่ไหนอีกบ้าง ?
A : คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามีที่ธรรมศาสตร์ที่เดียว ส่วนที่จุฬา เชียงใหม่ เกษตร มศว. มอ. ขอนแก่น จะเป็นภาควิชา ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วคุณภาพนักศึกษาก็พอๆ กันครับ แต่ถ้าเกิดสนใจจะศึกษาในแนววิชาการจริงจัง ธรรมศาสตร์ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพราะสาขาย่อยมีหลากหลายกว่าที่อื่นมาก รวมถึงนักวิชาการระดับดารารุ่นใหม่ๆ ก็มารวมกันที่นี่อย่างคับคั่ง

Q : เรียนยากไหม ?
A : ยากครับ แต่ก็คงไม่เกินกำลัง (และความจริงคือทุกคณะก็มีส่วนที่ยากทั้งนั้น) คุณจะต้องเผชิญกับแนวคิดป่วงๆ ของนักคิดชาวยุโรปจำนวนมากใน text ซึ่งไม่มีแปลไทย ดังนั้นหากภาษาอังกฤษของคุณไม่ได้ประเสริฐเยี่ยงเจ้าของภาษา นี่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณเหนื่อยได้ นอกจากนี้คุณอาจจะต้องเจอวิชาแปลกๆ เช่นมานุษยวิทยากายภาพ (Physical Anthropology) ว่าด้วยวิวัฒนาการของมนุษย์ล้วนๆ หากเลือกเอกมานุษยวิทยา ซึ่งถ้าคุณไม่ชอบชีวะวิชานี้ก็เป็นดั่งยาขม  และสุดท้ายคือการทำวิจัยที่จะต้องใช้ความละเอียดอดทนเป็นอันมากในการเขียนงานให้อาจารย์ที่ปรึกษายอมให้ผ่านได้

Q : มีเรียนคณิตศาสตร์ป่ะ ?
A : มีครับ คือวิชาสถิติประยุกต์เพื่อการวิจัย ซึ่งคนที่เกลียดชังคณิตศาสตร์หนักหนาอาจจะเบือนหน้าหนี แต่มันมีแค่วิชาเดียวครับ  เว้นแต่ถ้าเลือกเอกสังคมวิทยาก็จะต้องเรียนประชากรศาสตร์ (demography) ซึ่งจะต้องใช้สถิติอีกครับ  แต่อย่าห่วงว่าจะต้องใช้มากขึ้นในปีสูงๆ เพราะเราไม่เน้นการคำนวณครับ แค่เรียนให้เข้าใจหน้าที่ของเครื่องมือทางสถิติต่างๆ จากนั้นก็ใช้ SPSS โปรแกรมคำนวณทางสถิติในการทำวิจัยเชิงปริมาณครับ

Q : สังคมในคณะ ?
A : คณะนี้เป็นคณะขนาดปานกลางครับ รุ่นหนึ่งจะมีราว 200 คน สังคมควบคุมด้วยระบบคล้ายเครือญาติ คือความศักดิ์สิทธิ์ของรุ่นพี่อยู่ในระดับเดียวกับพี่สาวพี่ชายตามปกติ คือควรจะเคารพตามจารีตของสังคมไทย  แต่ความตึงเครียดระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องจะมีน้อย เพราะไม่มีการว้ากเช้าว้ากเย็นเพื่อจัดระเบียบสังคม ดังนั้นคุณจะมีอิสระมากในคณะนี้ ถึงขั้นไม่เข้าร่วมกิจกรรมอะไรเลยก็ไม่เดือดร้อนอะไรเพราะถือว่านั่นเป็นสิทธิ์ของคุณ  สรุปคือมันจะเป็นองค์กรหลวมๆ ที่ประสิทธิภาพต่ำแต่ความอบอุ่นจะเหมือนครอบครัวครับ ช่วยให้อยู่สบาย สนิทกับรุ่นพี่ได้ทุกรุ่น

Q : ภาควิจัย คืออะไร ?
A : หลักสูตรการวิจัยทางสังคม เป็นหลักสูตรที่เปิดมาได้ 3 ปีแล้ว พูดง่ายๆ มันคือโครงการพิเศษที่คณะดำเนินการเอง รับสมัครเอง คัดเลือกเอง สอนเอง ค่าใช้จ่ายก็จะแพงกว่าภาคปกติเล็กน้อย (หรือไม่น้อยวะ)
หลักสูตรนี้มีข้อดีคือคุณจะจบไปเป็น “นักวิจัย” เต็มตัวเพราะจะโดนเคี่ยวให้ทำวิจัยหนักกว่าภาคปกติ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยขาดแคลนมาก คือถึงจะหานักวิจัยได้ก็ไม่ใช่คนที่จบมาตรงสาขา  แต่ในความเฉพาะทางของมันก็มีข้อเสียเหมือนวิชาชีพอื่นๆ คือเปิดกว้างน้อยกว่าภาคปกติ ไม่สามารถเลือกวิชาโทตามใจชอบ ไม่สามารถเลือกเอกสังคมฯ เอกมานุษย์ หรือสมดุลได้เหมือนภาคปกติ  การเรียนจะเรียนแยกจากกัน คือภาคปกติจะไม่มีทางเจอกับภาควิจัยเลยในห้องเรียน แต่ก็จะเจอกันตลอดที่ตึกคณะ และอยู่ร่วมกันได้ปกติดีครับ

Q : สีคณะ สัญลักษณ์ ?
A : สีคณะคือสีชมพูบานเย็นแสบทรวงที่สุด ซึ่งถ้าคุณเคยไปเทียวไปเทียวมาแถวงานรับปริญญาธรรมศาสตร์ก็จะเคยเห็นว่ามันดูเก๋ดีบนครุยสีดำ ส่วนสัญลักษณ์คือมด ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมขนาดใหญ่

Q : คะแนนสูงสุด-ต่ำสุด ?
A :

ปี 2553 : 21742.5 / 19583.6
ปี 2552
: 21568.5 / 19572
ปี 2551 : 23775 / 18925.5

Q : ใช้คะแนนอะไรยื่นบ้าง ?
A : GPA20 %  /  ONET 30% / GAT 50%

ถ้าอยากคุยกันมากขึ้น ใกล้กันมากขึ้น รู้จักกันมากขึ้น
เข้าไปที่
http://socio.tu.ac.th/ เว็บไซต์ของคณะ หรือเข้าไปพูดคุยกันได้ที่ 
http://www.facebook.com/socant48

และถ้าอยากคุยจริงๆ แอดเอ็มมาก็ได้ครับ

ผมพยายามเขียนให้เป็นกลางๆ นะครับ
ไม่อยากให้ดูโฆษณาชวนเชื่อมากจนเกินไป และพยายามจะไม่นำไปเปรียบเทียบกับสาขาอื่นในแง่ความดีความงาม เพราะทุกคณะก็มีแนวทางของตัวเอง ซึ่งมันขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบอะไร และพอใจที่จะเรียนอะไรมากกว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวคณะครับ

สำหรับน้องๆ ที่แอบมีใจให้กัน เลือกแล้วก็ขอให้ติดนะครับ
ตอนนี้พี่ๆ เตรียมงานแรกพบกันแล้ว หวังว่าจะได้เจอกันโดยไว

หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ






แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 9 เมษายน 2554 / 11:04
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 5 พฤษภาคม 2554 / 01:26
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 5 พฤษภาคม 2554 / 01:27
แก้ไขครั้งที่ 4 เมื่อ 5 พฤษภาคม 2554 / 15:40